Skip to main content
sharethis

กรรมการร่วม MRC เลื่อนกำหนดพิจารณาแสดงจุดยืนยอมรับ-ไม่รับ โครงการเขื่อนไซยะบุรี จาก 21 เป็น 19 เม.ย.นี้ ด้านชาวบ้านรวบรวม 2 หมื่นรายชื่อไปยื่นกับนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี วานนี้ (5 เม.ย.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคเหนือ กว่า 400 คน รวมตัวกันหน้าวัดหาปทุม เขตเทศบาลเมือง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จัดเวทีเสวนาและแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากพรมแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร โดยจะผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ และ 95% ของไฟฟ้าผลิตเพื่อส่งขายมายังประเทศไทย นายนิวัต ร้อยแก้ว เครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวในการจัดงานครั้งนี้ว่า “พวกเรากำลังรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน โดยในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงจากทุกจังหวัดจะนำรายชื่อกว่า 2 หมื่นรายชื่อไปยื่นกับนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และภาคประชาชนไทยคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่จะส่งผลกระทบกับคนลุ่มน้ำโขงตลอดทั้งสายน้ำ ตอนนี้ในพื้นที่สร้างเขื่อนไซยะบุรีมีการเร่งสร้างโดยระเบิดหินและนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปทำงาน นี่สะท้อนให้เห็นว่าการเร่งสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล ทั้งที่กระบวนการต่างๆ ร่วมในประเทศลุ่มน้ำโขงยังไม่เห็นชอบด้วย” นายมนัส ปานขาว ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวเรียกร้องให้ธนาคารไทยทั้ง 4 แห่งที่ให้กู้เงินสร้างเขื่อนทบทวนการให้กู้เงินครั้งนี้ พร้อมขอเรียกร้องให้ ช.การช่าง ที่เป็นบริษัทไทยหยุดการก่อสร้างและยุติโครงการ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการลงนามกับรัฐบาลลาวในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และสุดท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นปากเป็นเสียงทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของพลเมืองไทยและพลเมืองลุ่มน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งท่าทีของรัฐบาลเวียดนาม เขมรมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แต่ท่าทีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไม่นำความเห็นของภาคประชาชนที่เสนอในที่ประชุมการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง คือทุกเวทีไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นในลุ่มน้ำโขง เพราะผลกระทบตอนนี้จาก 4 เขื่อนในจีนมีปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้ว รวมถึงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขามีมากพอแล้ว แต่ละประเทศจึงไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำโขง “ที่สำคัญคือการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามในครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย อีกทั้งการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับแต่ละประเทศได้รับทราบ” ต่อมาในเวลา 13.30 น. ชาวบ้านได้ร่วมกับชูป้าย ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยหันป้ายไปทางสำนักงานใหญ่กองเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (MRC) ซึ่งเจ้าหน้าที่MRC ต่างวิ่งลงจากอาคารสำนักงานเพื่อมาดูการชุมนุม และจับกลุ่มวิจารณ์ ผู้สื่อข่าวแจ้งว่าการประชุมกรรมการร่วมMRC เพื่อพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรีเลื่อนกำหนดเป็นวันที่ 19 เมษายน โดยแต่ละประเทศต้องแสดงจุดยืนว่ายอมรับโครงการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งกำหนดเดิมคือวันที่ 21 เมษายน นายหาญณรงค์ กล่าวว่าการเลื่อนประชุมให้เร็วขึ้นอาจมีเหตุผลเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ช.การช่าง เนื่องจากการประชุมสามัญประจำปีของบริษัทจะจัดขึ้นในวันที่ 22 เมษายน \การที่เลื่อนประชุมตัดสินใจเขื่อนไซยะบุรีให้เร็วขึ้นมีเลศนัย อาจทำให้บริษัทได้กำไรจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นเนื่องจากมีโครงการใหม่มูลค่านับแสนล้าน เป็นการเร่งรัดกระบวนการทั้งที่ประชาชนคัดค้านมาโดยตลอด \"หากรัฐบาลยังไม่หยุดโครงการก็จะหาช่องทางพึ่งกระบวนการศาลเพื่อระงับโครงการต่อไป เนื่องจากโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ\" นายหาญณรงค์กล่าว ที่มา: INN"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net