Skip to main content
sharethis

“คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและการบริการของประเทศ” เล็งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาประกวดราคาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 3 สาย กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-ระยอง และ กรุงเทพ-อุบล เมื่อวันที่ 11 เม.ย. เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ครั้งที่ 2/2554 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหนึ่งในหัวข้อซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณา คือโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ - ระยอง โดยที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้ หนึ่ง การพัฒนารถไฟความเร็วสูงนอกจากเส้นทางที่ได้มีการหารือร่วมกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเบื้องต้นใน สอง เส้นทางแล้ว เห็นควรให้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจากทุกประเทศสามารถเข้ามาประกวดราคาในการร่วมดำเนินโครงการในเส้นทางที่เหลือทั้งหมดได้แก่ กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - ระยอง และกรุงเทพฯ – อุบลราชธานี สอง สำหรับขอบเขตการดำเนินงานนั้น การพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่มากกว่า 250 กม. ต่อ ชม. ในต่างประเทศจะใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว ซึ่งในประเทศไทยการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะดำเนินการในอนาคตอาจต้องพิจารณาให้สามารถใช้กับการขนส่งสินค้าด้วย เพื่อให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น โดยอาจต้องมีการออกแบบความเร็วในการให้บริการที่เหมาะสม รวมทั้งแนวเส้นทางที่จะดำเนินการด้วย สาม ในกรณีที่จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการควรจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องที่ดินที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างให้แล้วเสร็จโดยเฉพาะในเส้นทางที่เขตทางรถไฟไม่เพียงพอ และต้องทำการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม เพื่อป้องกันความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชนที่เข้าร่วมลงทุน ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการจัดทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชน (Market Sounding) ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ - ระยอง และกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ Public Private Partnerships โดยเห็นควรให้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนจากทุกประเทศสามารถเข้ามาประกวดราคาในการร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรุงเทพฯ - ระยอง และกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม รับไปศึกษาความเป็นไปได้โครงการ (Feasibility Study) ในการพัฒนาเส้นทางเพื่อการขนส่งสินค้าด้วยรวมทั้งควรศึกษาถึงความเหมาะสมของกำหนดเส้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเส้นทางกรุงเทพฯ - ระยองไปจนถึงจังหวัดตราด เพื่อรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าชายแดน รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมของโครงสร้างการบริหารจัดการระบบรถไฟความเร็วสูงของประเทศ และการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่เหมาะสมก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ที่มา: เว็บไซต์นายกรัฐมนตรีไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net