Skip to main content
sharethis

ชี้ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ กทม. แทนที่จะต้องผลาญภาษีของประชาชนส่อขัด กม.ฮั้วประมูล 24 มิ.ย. 54 - นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าสมาคมฯได้ยื่นจดหมายให้ผู้ว่า กทม.ค้านแนวทางการฮั้วประมูลขยะชุดใหม่ที่กทม.กำลังจะเปิดให้มีการว่าจ้างในโครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากสถานีขนถ่ายมูลฝอยระบบใหม่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม (ท่าแร้ง) และนำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบอย่างเดียววงเงิน 2,920 ล้านบาทจากมูลฝอยกว่า 2,000 ตันต่อวัน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ว่า ให้ใช้วิธีฝังกลบขยะเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงว่า การกำหนดเงื่อนไขในทีโออาร์ ของกทม. ครั้งนี้ ส่อไปในทางล็อคสเปคให้เอกชนกลุ่มเดิม ๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับข้าราชการและผู้บริหารของกทม. บางคนเท่านั้น การกำหนดวิธีการกำจัดขยะโดยวิธีฝังกลบเพียงอย่างเดียวแบบนี้ ถือเป็นวิธีการที่ล้าสมัย ซึ่งในต่างประเทศเลิกใช้วิธีดังกล่าวแล้ว เพราะการฝังกลบขยะจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนที่อยู่บริเวณบ่อฝังกลบ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขลักษณะ การส่งกลิ่นเหม็น ขยะปนเปื้อนสารเคมี ไหลลงสู่ดินและแม่น้ำลำคลอง ทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายอย่างมาก ที่สำคัญจะเป็นแหล่งปลดปล่อยก๊าซมีเธน ที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนยาวนานกว่า 400 ปีเลยทีเดียว ในขณะที่นวัตกรรมของการกำจัดขยะสมัยใหม่นั้น สามารถนำขยะมาแปลงเป็นมูลค่าเป็นเงินเป็นทองให้กับท้องถิ่นได้อย่างมหาศาล เช่น นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า นำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำชีวภาพ รวมถึงการนำไปผลิตน้ำมันด้วยกระบวนการ Pyrolysis ซึ่งเป็นการนำพลาสติกเข้าสู่กระบวนการหลอมเป็นไอ โดยใช้อุณหภูมิต่ำหรือไม่เกิน 500 องศาเซลเซียส ผลผลิตที่ได้ประกอบด้วยน้ำมันดีเซล 50% น้ำมันเบนซิน 20% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นน้ำมันเตา พลาสติกวัตถุดิบที่ใช้ก็สามารถใช้ได้เกือบทุกประเภททั้งโพลิโพรพิลีน (เช่น ถุงบรรจุอาหารร้อน กล่องบรรจุอาหารนำเข้าไมโครเวฟได้) และโพลิเอธิลีน (เช่น ถุงหิ้ว ขวดน้ำดื่ม ถังน้ำ) ซึ่งขยะ กทม.มีขยะพลาสติกเหล่านี้ปะปนอยู่มากกว่า 20% เลยทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นกทม. พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อเฉไฉให้สังคมต้องยอมรับแนวปฏิบัติของกทม.เท่านั้นโดยตั้งทีโออาร์ประกวดราคาใหม่ที่ราคาตันละ 800 บาท หากเปิดให้มีการประมูล แต่ถ้าจ้างเอกชนรายเดิมจะได้ราคาถูกลงมาที่ 600 บาท/ตัน/วัน จากสัญญาเดิมที่เคยกำหนด 435 บาท/ตัน/วันหรือโดยเฉลี่ย กทม. จะต้องจ้างเอกชนถึงวันละกว่า 5 ล้านบาท หากคิดรวมตลอดทั้งปีหรือ 365 วันจะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนในกทม. เป็นค่าจ้างให้เอกชนในการกำจัดขยะเฉพาะแห่งเดียวที่ท่าแร้งกว่า 2,000 ล้านบาท/ต่อปี ทั้งนี้ทราบว่ามีเอกชนหลายราย ให้ความสนใจที่จะนำเสนอนวัตกรรมการกำจัดขยะสมัยใหม่ให้กับกทม.แบบฟรีๆโดยกทม. ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่ง กทม. สามารถประหยัดงบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างกำจัดขยะแบบฝังกลบให้เอกชนรายเดิมเป็นวงเงินร่วม 2,000 ล้านบาท/ต่อปี แต่ผู้บริหาร กทม. กลับปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ทั้งๆ ที่ กทม. ไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้บริหาร กทม. ที่ดูแลการกำจัดขยะ จะมีผลประโยชน์กับกลุ่มเอกชนที่รับจ้างกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบรายเดิม ๆ หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวส่อขัดต่อ พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 และพรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 อีกด้วย หาก กทม.ยังเพิกเฉยก็ต้องหาข้อยุติกันที่ศาลปกครองเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสกทม. ควรเปิดกว้างให้เอกชนรายต่าง ๆ มานำเสนอนวัตกรรมการกำจัดขยะแบบใหม่ๆ พร้อมเสนอราคาหรือผลประโยชน์ให้กับกทม.ได้มากกว่าแทนที่ กทม. จะต้องเสียเงินด้วยภาษีอาการของประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด ข้อมูลประกอบ ในอดีต กทม.จ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยและนำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบ แบ่งออกเป็น 3 โครงการ คือ โครงการที่ 1 เป็นโครงการกำจัดมูลฝอยที่โรงงานกำจัดมูลฝอยอ่อนนุช วงเงิน 3,546 ล้านบาท ระยะเวลา 11 ปี (ปี 2546-2556) นำขยะไปฝังกลบที่ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พาณิชย์ มีครอบครัวเจริญพจน์ เป็นเจ้าของ (ตันละ 512 บาท) มีขยะ 2,500 ตัน/วัน โครงการที่ 2 โครงการกำจัดมูลฝอยที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยท่าแร้ง วงเงิน 2,993 ล้านบาท ระยะเวลา 13 ปี (2546-2558) นำขยะไปฝังกลบที่ ต.สระสี่มุม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ บริษัท วัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด มีนายอนุรัตน์ และ น.ส.สุรัชดา สะสมทรัพย์ เป็นกรรมการบริษัท (ตันละ 435 บาท) มีขยะ 2,000 ตัน/วัน โครงการที่ 3 โครงการกำจัดมูลฝอยที่โรงงานกำจัดมูลฝอยหนองแขม วงเงิน 3,050 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี นำขยะไปฝังกลบที่ ต.สระสี่มุม บริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด มีนายวราวิชช์ และนายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ เป็นกรรมการบริษัท (ตันละ 418 บาท) มีขยะ 3,000 ตัน/วัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net