Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา การคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในภาคใต้เริ่มปรากฏชัดมากขึ้น และได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อโต้ตอบการเปิดฉากรุกเดินหน้าโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล หรือโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ในการคัดค้าน ทางนักกิจกรรม นักพัฒนาเอกชน และนักวิชาการท้องถิ่น ได้ถ่ายทอดข้อมูลด้านผลกระทบไปสู่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายจนเกิดการตื่นตัวและรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านจนถึงเครือข่ายระดับจังหวัดและระดับภาค ประชาชนที่เข้าร่วมมีหลากหลาย ทั้งเกษตรกร ชาวประมงรายย่อย ผู้รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าในเขตเทศบาล นักการเมืองท้องถิ่น ครู ฯลฯ ขณะที่กิจกรรมการคัดค้านก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีขนาดเล็กให้ข้อมูลความรู้ตามหมู่บ้าน การจัดขบวนแห่และเวทีรณรงค์ในระดับอำเภอและจังหวัด การกดดันและเรียกร้องจริยธรรมทางวิชาการต่อสถาบันการศึกษาที่รับจ้างทำงานวิจัยหรือประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้แก่โครงการเหล่านี้ การเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ใช้อำนาจสั่งระงับโครงการฯ เป็นต้น ล่าสุดมี ”ปฏิบัติการเพชรเกษม 41” ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่มีสีสันจากการ planking หมู่กลางถนนเพชรเกษม ยังมีข้อเสนอคู่ขนานในวันแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยมีใจความสำคัญคือ ก่อนเดินหน้าแผนพัฒนาภาคใต้ รัฐบาลจะต้องทำตัวอย่างที่ชัดเจนของการโครงการพัฒนาที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในกรณีนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกให้ได้เสียก่อน โครงการพัฒนาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาภาคใต้ชุดใหญ่ภายใต้การวางแผนของสภาพัฒน์ฯ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักในอนาคต ประกอบด้วยการถมทะเล การสร้างเขื่อน การตัดเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอันดามันและอ่าวไทย การสร้างท่าเรือน้ำลึก การก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่นๆ คลังน้ำมัน การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน กลุ่มผู้คัดค้านกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อฐานทรัพยากรอันจะมีผลต่อการประกอบอาชีพ ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของผู้คนในพื้นที่ ประสบการณ์เลวร้ายจากการสร้างโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ชี้ชัดถึงชีวิตที่ยากลำบากมากขึ้นของชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ ขณะเดียวกันวิธีการสกปรกไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ทำร้าย การหว่านเงินซื้อตัวผู้นำ การทุ่มเงินมหาศาลเพื่อการประชาสัมพันธ์และจ้างสถาบันการศึกษามาทำงานให้ ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่สามารถไว้วางใจแผนพัฒนาภาคใต้ได้ ในสถานการณ์ปกติ การคัดค้านโครงการพัฒนาในลักษณะเช่นนี้มักถูกมองในแง่ลบจากสาธารณะอยู่แล้วในข้อหาต่อต้านความเจริญ ส่วนชาวบ้านที่ไม่ยินยอมให้โครงการพัฒนามาลงในพื้นที่บ้านตนก็ถูกมองว่าเป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่เสียสละ ขณะที่ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคมในปัจจุบัน ท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายอื่นกับกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาฯ ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น การที่ผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้บางส่วนเคยกระโจนเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่รัฐบาลทักษิณ ออกบัตรเชิญการรัฐประหาร ขับไล่รัฐบาลสมัครและสมชาย รวมทั้งสนับสนุนขบวนการปฏิรูปประเทศไทย ประกอบการจัดกิจกรรมที่คึกคักทันทีตั้งแต่ก่อนหน้าที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะได้เริ่มต้นการบริหารประเทศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่กลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้จะถูกตั้งข้อสังเกตอย่างเหมารวม โดยเฉพาะจากกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วนว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บ้างก็สงสัยไปไกลว่ามีพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งมีการโยงการคัดค้านการพัฒนาเข้ากับการสนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งโยงใยไปถึงกลุ่ม “เจ้า” ขณะเดียวกันกลุ่มคนเสื้อแดงก็ถูกบางส่วนในกลุ่มผู้คัดค้านเหมารวมว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการพัฒนาเหล่านี้ รวมทั้งถูกมองว่าดีแต่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเสื้อแดงด้วยกันแต่ละเลยความทุกข์ของผู้คนอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนานี้ เป็นที่น่ากังวลว่าสภาพการณ์เช่นนี้จะยิ่งนำไปสู่การแบ่งขั้วที่เน้นการเผชิญหน้าแบบเหมารวมและทำให้ต้นตอหรือประเด็นปัญหาที่ควรจะถกเถียงกันเรื่องแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมถูกละเลย สถานการณ์ดูแย่ลงไปอีกเมื่อกลุ่มพันธมิตรฯ พยายามหาจุดขายใหม่ด้วยการเปลี่ยนสีตัวเองจากเหลืองมาเป็นเขียวในนาม ‘กลุ่มการเมืองสีเขียว’ อันเป็นสีที่ขบวนเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก รวมทั้งผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ ใช้เป็นสัญลักษณ์อันหมายถึงระบบนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แม้จะมีแนวโน้มที่ดีว่าล่าสุดในปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เน้นย้ำประเด็นการสลายสีเหลือง-แดงมาเพื่อมาร่วมกันคัดค้านแผนพัฒนาที่ไม่เหมาะสม ขณะที่คนเสื้อแดงในภาคใต้หลายคนก็มีบทบาทอย่างแข็งขันในปฏิบัติการนี้ ขณะเดียวกันสำหรับชาวบ้านจำนวนมากที่ร่วมการคัดค้านแล้วนั้น การเมืองสีเสื้อยังดูห่างไกลจากการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้องในชีวิตประจำวัน กระนั้นยังไม่มีหลักประกันว่าการเหมารวม การแบ่งขั้ว และการเผชิญหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองมีความแหลมคมร้อนแรงขึ้น คงจะเป็นเรื่องไร้เดียงสาหากจะบอกให้สองฝ่ายซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันหันมาสมานฉันท์ร่วมกันคัดค้านโครงการพัฒนาที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน สำหรับคนเสื้อแดงนั้นเจ็บปวดที่คนตาย 92 ศพ คนเจ็บและพิการอีกกว่า 2,000 คน และคนที่ติดคุกโดยไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกเกือบ 200 คน ดูจะยังไม่สำคัญมากเพียงพอที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ รวมทั้งยังไม่สามารถทำให้พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานผ่านทางการเลือกตั้งว่า มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและเป็นรูปแบบหนึ่งในการกำหนดอนาคตของตนเองเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้บางส่วนมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากถูกหลอกลวงหักหลังใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งหลายชุด พวกเขาจึงรู้สึกสิ้นหวังกับระบบการเมืองการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์และการผูกขาดทางอำนาจของนักการเมือง กระนั้นความแตกต่างของจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย สิ่งสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้ความต่างนี้นำสู่ความเกลียดชัง การแบ่งขั้ว และการเผชิญหน้าโดยปราศจากเหตุผล รวมทั้งจะต้องมีเกณฑ์ที่ยึดถือได้ร่วมกันบนฐานของความเป็นประชาธิปไตย ที่สำคัญแต่ละฝ่ายควรจะตระหนักถึงลักษณะร่วมของประเด็นที่ตนให้ความสำคัญ “อำมาตย์” ของคนเสื้อแดงกับชนชั้นนำที่ได้รับผลประโยชน์และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการต่างๆ ในแผนพัฒนาภาคใต้แท้จริงแล้วก็คือส่วนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงข้าราชการ เทคโนแครต สถาบันการเมืองแบบจารีต ฯลฯ ที่มีสายสัมพันธ์ในทางธุรกิจจากหน่วยงานหรือบรรษัทข้ามชาติที่ดำเนินการ ขณะเดียวกันการที่คนเสื้อแดงถูกเข่นฆ่าปราบปรามและไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมืองตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็คือสภาพการณ์ที่ไม่แตกต่างจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ ที่แทบไม่เคยได้เข้าถึงความยุติธรรมเท่าเทียมในการต่อรองเพื่อหยุดยั้งโครงการหรือเพื่อเรียกร้องการชดเชยต่อความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน ควรถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจังจากทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกลุ่มผู้คัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้ ควรมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในฐานะทางออกที่สอดคล้องกับสภาพชีวิตที่เป็นจริงที่พ้นไปจากการวาดภาพโรแมนติกบนฐานแนวคิดแบบชุมชนนิยม โดยจะต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทและฐานทรัพยากรในปัจจุบัน รวมทั้งการเสนอทางออกที่สามารถตอบคำถามในระดับมหภาคได้ อาทิ การจัดหาพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่พึงปรารถนา การขจัดความยากจนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงการพัฒนา เป็นต้น ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงก็ต้องมองถึงทางเลือกในการพัฒนาที่จะนำมาสู่ความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริงและไม่ต้องมีใครที่ถูกบังคับให้เสียสละหรือจ่ายในราคาแพงมากกว่าคนอื่นๆ หากกระบวนการประชาธิปไตย หมายถึงการส่งเสริมให้เกิดรูปแบบของสังคมที่มีความเท่าเทียมเป็นพื้นฐานบนความตระหนักว่า สมาชิกในชุมชนการเมืองต่างมีศักดิ์และสิทธิเสมอกันภายใต้การอำนวยให้เกิดความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะต่อคนที่ถูกขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรม การคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้และการเรียกร้องความเป็นธรรมทางการเมืองของคนเสื้อแดงจึงมีจุดร่วมกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเสริมสร้างประชาธิปไตย ภาพประกอบ: กิจกรรม “แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41: คนใต้กำหนดอนาคตตัวเอง” เมื่อวันที่ 21-22 สิงหาคม 2554 ที่วนอุทยานเขาพาง (วัดภูพางพัฒนาราม) ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร (ภาพโดยวันชัย พุทธทอง) ............................ หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 2-8 กันยายน 2554)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net