Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หนึ่งเดือนหลังการ “ยึดวอลล์สตรีท” (Occupy Wall Street) ได้เริ่มต้นขึ้น ดูเหมือนกระแสตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ และ ตื่นตูม กับขบวนการ “ยึดวอลล์สตรีท” นับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ตามแต่ว่าผู้สังเกตการณ์จะเป็นฝ่ายใด ในขณะที่ฝ่ายขวาอเมริกันหลายคนเลือกที่จะตื่นตูมกับขบวนการนี้จนล่าสุดถึงกับต้องเข็นโครงการ ‘We are the 53%’ มาสู้กับสโลแกน‘We are the 99%’ ของขบวนการยึดวอลล์สตรีท บรรดาแอคทิวิสต์หลายต่อหลายคนก็ยังคงกระแสตื่นเต้นกับการยึดวอลล์สตรีทกันต่อไป และแน่นอน นักวิชาการชื่อดังหลายคนต่างก็เข้าร่วมวงอวยชัยให้แก่การยึดวอลล์สตรีทตามๆกันไปด้วย [อาทิ บทความของ Zizek และ Wallerstein ในประชาไท] สิ่งที่น่าสังเกตในการวิเคราะห์อวยชัยของนักวิชาการบางท่านคือ แนวคิดที่นำเสนอการยึดวอลล์สตรีทว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เป็นอุบัติการณ์ใหม่ เช่น Zizek อธิบายการยึดวอลล์สตรีทว่าเป็นการเริ่มต้นที่เราจะจินตนาการถึงโลกอื่นที่มิได้ครอบงำด้วยทุนนิยม เรากำลังจะติดอาวุธด้วยหมึกแดงหมึกน้ำเงิน ฯลฯ ในขณะที่วอลเลอชไตน์ถึงกับเรียกการยึดวอลล์สตรีทครั้งนี้ว่า เป็นอุบัติการณ์ทางการเมืองในสหรัฐฯที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ ปี 1968 เลยทีเดียว ตามจริงแล้ว มิใช่เฉพาะปูชนียปัญญาชนเหล่านี้ที่เน้นย้ำถึงความ “ใหม่” ของขบวนการยึดวอลล์สตรีท บรรดาแอคทิวิสต์ร่วมเจตนารมณ์และผู้สนใจต่างๆ จำนวนมากก็อยู่ในบรรยากาศของความคิดที่ว่า เรากำลังพบเห็นการประท้วงแบบ “ใหม่” อยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องการเสนอว่า วัฒนธรรมการเมืองของขบวนการยึดวอลล์สตรีท ไม่ว่าจะเป็นยุทธวิธี การอ้างความชอบธรรม แนวคิด ฯลฯ มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดเลย หากแต่เป็นหนังโป๊เรื่องเก่าตั้งแต่ยุค 1990s จนถึงต้น 2000s กลับมาฉายซ้ำใหม่ในเวลาสิบปีให้หลังเท่านั้น ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และ ขบวนการยึดวอลล์สตรีท คล้ายกันอย่างไรบ้าง? หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง บรรดาแอคทิวิสต์ฝ่ายซ้ายเริ่มเปลี่ยนเข็มทิศการต่อสู้ จากการต่อต้านจักวรรดินิยมอเมริกันและทุนนิยมในสภาวะโลกสองขั้ว กลายมาเป็นการรวมตัวเพื่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “โลกาภิวัตน์” ซึ่งเป็นการเบนเข็มทิศมาหาศัตรูที่มีลักษณะคลุมเคลือ (vague) และคลอบคลุมความหมายกว้าง (broad) ยิ่งไปกว่าจักรวรรดินิยมอเมริกันในยุคสงครามเย็นอีก สิ่งที่น่าสนใจคือ การต่อต้าน “โลกาภิวัตน์” ในโลกหลังสมัยใหม่ (postmodernist) นี้ คลุมเครือเกือบๆ เท่ากับโลกาภิวัตน์ของพวกเขาเลยทีเดียว ตามจริงแล้ว ความคลุมเครือนี้เองคือธีม (theme) สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวในโลกหลังสมัยใหม่มาตลอด ตั้งแต่การต่อต้านโลกาภิวัตน์ยันการยึดครองวอลล์สตรีท ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์มักจะมีเป้าหมายที่เรียงกันยาวเกือบจะเป็นย่อหน้าหนึ่งๆ ได้ เช่น สิทธิแรงงาน การรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนชนบท สิทธิของชาวบ้านท้องถิ่นและ “คนชายขอบ” สิทธิของคนร่วมเพศ สิทธิผู้หญิง สิทธิของคนผิวสี นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดสนับสนุนสิ่งแวดล้อม สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ฯลฯ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแถลงการณ์ต่อต้านทุนนิยมฉบับหนึ่งของซาปาติสต้า ซึ่งบรรดานักต่อต้านโลกาภิวัตน์ถือว่าเป็นขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ “ตัวพ่อ” นั้น ในแถลงการณ์นั้นประกาศยืดยาวว่าซาปาติสต้ายืนอยู่เคียงข้าง องค์กรทางการเมือง, นักศึกษา, ชนเผ่า, ปัญญาชน, นักดนตรี, กรรมาชน, ครูบาอาจารย์, ชาวนา, คนหนุ่มคนสาว, สื่อทางเลือก, ผู้รักสิ่งแวดล้อม, เลสเบี้ยน, คนรักร่วมเพศ, นักสิทธิสตรี, และผู้ต่อต้านสงคราม… นี่คือตัวอย่างความคลุมเครือและกว้างขวางอย่างมหาศาลของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ พวกเขาชื่นชอบที่จะอ้างว่าขบวนการของตนประกอบด้วยคนหลายต่อหลายกลุ่มที่มาร่วมกันต่อต้านศัตรูตัวเดียวกัน เป็นการรวมกันโดยการสร้างศัตรูร่วมกันมากไปกว่าจะสร้างเป้าหมายหรือข้อเรียกร้องร่วมกัน ผลที่ได้คือขบวนการที่เต็มไปด้วยตัวแทนหลายกลุ่มและหลายข้อเรียกร้อง – คล้ายกับขบวนการยึดวอลล์สตรีท ที่โฆษณาความหลากหลายของขบวนการของตนมาตลอด นอกจากนี้ ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ยังมีแนวคิดที่คล้ายกับขบวนการยึดวอลล์สตรีทอีกประการหนึ่งคือ การอ้างว่าตนเองคือคนทั้งโลก บรรดาผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในยุคปลาย 1990s และต้น 2000s มักถือเอาแนวคิด “จักรวรรดิ ปะทะ มหาชน” อันบุกเบิกโดยสองนักคิด Hardt และ Negri เป็นแนวคิดสำคัญในการอธิบายการต่อสู้ของพวกตนต่อโลกาภิวัตน์ แนวคิด “จักรวรรดิ ปะทะ มหาชน” นี้พัฒนาขึ้นจากงานของ Michael Hardt และ Antonio Negri อันโด่งดังที่ชื่อ Empire (จักรวรรดิ) ตีพิมพ์ในปี 2000 ซึ่ง จักวรรดิ ตีความโลก (ในยุคสมัยนั้น) ว่าคือโลกที่แบ่งด้วยการต่อสู้ของคนสองกลุ่ม ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “จักรวรรดิ” (Empire) อันประกอบด้วยมหาอำนาจทุนนิยมและบรรษัททุนนิยมทั้งหลายรวมกัน แต่จักรวรรดินี้ถือเป็นส่วนน้อย เพราะอีกฝ่ายหนึ่งคือ “มหาชน” (Multitude) อันประกอบด้วยประชาชนทั้งโลกนั่นเอง “มหาชน” นี้ก็คือผู้ที่อยู่ภายใต้ระบอบจักรวรรดิทุนนิยมและต่อต้านระบอบนั้นๆ ประกอบด้วยคนหลายชาติและหลายกลุ่ม แนวคิดแบบ “โลกสองขั้ว” ว่าตนเองคือตัวแทนประชาชนทั้งโลกที่กำลังต่อสู้กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนมหาอำนาจจักรวรรดิทุนนิยมนั้น จึงก่อให้เกิดสโลแกนของบรรดาแอคทิวิสต์ต่อต้านโลกาภิวัตน์ในสมัยนั้นว่า “One No, Many Yeses – หนึ่งเสียงที่ไม่เอา(ความเปลี่ยนแปลง) หลายเสียงที่เอา (ความเปลี่ยนแปลง” และ “We Are Everywhere – พวกกูอยู่ทุกที่” สโลแกนที่ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์เหล่านี้ใช้เวลาไปประท้วงกลุ่มประเทศ G8 ก็ใช้คำว่า “You are G8. We are Six Billion – พวกมึงเป็นแค่แปดจี พวกกูคือคนหกพันล้าน” โปรดสังเกตความเหมือนกันในการอ้างตนว่าคือคนทั้งโลกของทั้งสองขบวนการ สำหรับขบวนการยึดวอลล์สตรีทเองก็มีสโลแกนที่โด่งดังไปทั่วแล้วตอนนี้ว่า “We are the 99% - พวกกูคือคน 99%” นอกจากการอ้างพวกของทั้งสองขบวนการแล้ว ยุทธวิธีของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ยังคล้ายคลึงกับขบวนการยึดวอลล์สตรีทด้วยเช่นกัน คือ ยึด การยึดในที่นี้ของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ส่วนใหญ่คือการยึดพื้นที่เมื่อมีการประชุมของสถาบันการเงินหรือกลุ่มองค์การที่เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยมข้ามชาติต่างๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) หรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 8 ประเทศ (Group of 8 หรือ G8) การยึดของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ก็ประกอบด้วยการจัดให้มีห้องสมุดประชาชนหรือห้องเรียนประชาชนไม่ต่างจากที่ขบวนการยึดวอลล์สตรีทกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่แนวคิดการประท้วงโดยไม่มีอำนาจส่วนกลาง ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีส่วนชี้นำ ไม่มีสามัคคีภาพใดๆทั้งสิ้นในเชิงองค์กร ก็มีเหมือนกันในทั้งขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์และขบวนการยึดวอลล์สตรีท มิใช่เรื่องใหม่หรืออุบัติการณ์แห่งทศวรรษเราแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันมากที่สุด – และมีปัญหาที่สุดในความเห็นของผู้เขียน – ระหว่างขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์และขบวนการยึดวอลล์สตรีทคือ ความสามารถ(?)ในการเชื่อมโยงจุดต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวกันให้เป็นรูปภาพได้เสมอ พวกเขาทั้งสองขบวนมีความสามารถในการเชื่อมโยงเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ทั่วโลก ให้เป็นเนื้อเรื่องเดียวกันได้ คือ การปฏิวัติทั่วโลกอันเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่ขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ตีความว่า โลกกำลังปะทุด้วยการต่อต้านจักวรรดิทุนนิยมจากมหาชน เห็นได้จาก การจลาจลที่ Seattle การเรียกร้องของบรรดาแรงงาน ไปจนถึง การต่อสู้ของซาปาติสต้า ขบวนการยึดวอลล์สตรีทก็กำลังอ้างว่า โลกกำลังปะทุด้วย “โลกาปฏิวัติ” (Global Revolution) โดยอ้างเนื้อเรื่องที่ประกอบด้วยการเชื่อมโยงของการประท้วงในสเปนไปจนถึงการปฏิวัติอาหรับและอัฟริกาเหนือ โดยไม่ต้องสนเนื้อหาสาระและความแตกต่างของแต่ละเหตุการณ์ ขอให้อ้างเป็นหนึ่งเดียวได้ก็พอ บางคนที่สนับสนุนแนวคิด “โลกาปฏิวัติ” ถึงกับนับการจลาจลและปล้นสะดมภ์ที่ลอนดอนเข้าไปด้วยว่าเป็นอีกหนึ่งการต่อต้านทุนนิยม ชวนให้ผู้เขียนนึกสงสัยว่าถ้าหากประเทศยังอยู่ในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ผู้สนับสนุนการยึดวอลล์สตรีทอาจจะสรรเสริญไปด้วยกระมังว่า เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อต้านทุนนิยมสามานย์ (!) ความสามารถแบบพิศดารของทั้งสองขบวนการนั้น ผู้เขียนขอเรียกว่าคือการ “เห็นผี” ชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “พาไรโดเลีย – Pareidolia” การ “เห็นผี” แบบพาไรโดเลียนั้น กล่าวกันว่าเป็นการเห็นผีที่พบบ่อยที่สุด กล่าวคือ เป็นการเห็นหน้าคนโดยอัตโนมัติในที่ที่ไม่มีหน้าคนอยู่ เพียงแค่มีจุดไม่กี่จุด สมองของเราก็ปะติดปะต่อเป็นหน้าคนแล้ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคงคุ้นเคยดีกับอิโมติค่อน : - ) ที่เราเห็นเป็นหน้าคนยิ้ม ทั้งที่ความเป็นจริง เป็นเพียงเครื่องหมายวรรคตอนเรียงติดกันเท่านั้น นอกจากนี้ ภาพถ่ายกลุ่มควันขณะที่ Central World ถูกเผาเมื่อปีที่แล้วก็มีคนมองเห็นหน้าคน(หรือหน้าปีศาจ)ในกลุ่มควันดังกล่าว และที่โด่งดังไปทั่วโลกคือ “ใบหน้าบนดาวอังคาร” ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงมุมกล้องและแสงเงาที่เล่นตลกทำให้เราเห็นหน้าคนบนพื้นดาวอังคารเท่านั้น ทำไมปรากฏการณ์พาไรโดเลียจึงเกิดขึ้น? หลายท่านอธิบายว่าเป็นเพราะสมองของมนุษย์ในฐานะที่เป็นผู้ถูกล่าในสมัยดึกดำบรรพ์ถูกบังคับให้ต้องมองหาใบหน้าของผู้ล่าเสมอ ไม่ว่าจะในร่มไม้ตามป่ารกชัฎหรือในความมืด แค่มีจุดเล็กน้อยที่เราปะติดปะต่อว่าเป็นใบหน้า สมองของเราก็สังเกตเห็นแล้ว (ผู้ที่สมองไวไม่พอที่จะปะติดปะต่อใบหน้าได้ ถูกจับกินจนหมดสิ้นไปนานแล้ว) ปรากฏการณ์ “เห็นผี” ของแอคทิวิสต์และผู้ที่สนับสนุนแนวคิด “โลกาปฏิวัติ” ซึ่งนำโดยการยึดครองวอลล์สตรีทนี้ ก็ไม่ต่างจากแอคทิวิสต์ที่ตื่นเต้นกับขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์เมื่อสิบปีที่แล้ว สำหรับบางคนแล้ว สมองของพวกเราถูกบังคับให้ดิ้นรนหาใบหน้าของโลกใหม่ที่พวกเขาอยากเห็นตามแฟนตาซีที่พวกเขามีเสมอ ทั้งขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์และขบวนการยึดวอลล์สตรีท จึงเป็นเสมือนหนังโป๊ที่กลับมาฉายใหม่ เพื่อตอบสนองแฟนตาซีของคนกลุ่มนี้ได้เรื่อยๆ นั่นเอง … ตอนแรกผู้เขียนตั้งใจจะจบการแสดงความเห็นตรงนี้ แต่ผู้เขียนเริ่มได้ยินคำถามบ้างแล้วว่า ขบวนการยึดวอลล์สตรีทครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าขบวนการยึดวอลล์สตรีทก็ไม่ต่างจากขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ ผู้เขียนจึงอยากชี้ให้เห็นว่าขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ลงเอยด้วยการหมดบทบาทลงเรื่อยๆ ในการประท้วงการประชุมกลุ่ม G8 ในปี 2001 นั้น มีผู้เข้าร่วมการประท้วงถึง 250,000 คน ในขณะที่ประท้วง FTA ที่เมืองไมอามี่ในปี 2003 หรือเพียงไม่กี่ปีให้หลัง มีผู้เข้าร่วมการประท้วงเหลือเพียง 10,000 และในการประท้วงแต่ละครั้งหลังจากนั้น ก็เริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวต่างๆ ก็มิได้เป็นไปตลอด หรือยิ่งใหญ่จนนำไปสู่การล่มสลายของโลกาภิวัตน์ตามที่ได้เคยวาดฝันกันไว้ จนในปัจจุบันเหลือเป็นเพียงการรวมตัวเพื่อประท้วงการประชุม G8 หรือ WTO เป็นครั้งคราว จนมีผู้เรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น “ตั๊กแตนที่กระโดดไปตามที่ประชุม” (summit-hopper) เท่านั้น ถ้าขบวนการยึดวอลล์สตรีทไม่ต่างนักจากขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ตามที่ผู้เขียนวิเคราะห์จริง จุดจบก็คงคล้ายกัน คือลดบทบาทกลายเป็นเงาที่คอยหลอกหลอนระบบทุนนิยมที่ยังตั้งตระหง่านอยู่ต่อไปเท่านั้น คำพูดของนักปราชญ์เยอรมันท่านหนึ่งที่เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อประวัติศาสตร์ซ้ำรอยนั้น เหตุการณ์ครั้งแรกคือโศกนาฎกรรรม ครั้งที่สองคือเรื่องโปกฮาแป้กๆ ก็คงกลับมาหลอกหลอนหลายคนอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net