Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในขณะที่ “รัฐสภา” กำลังพิจารณาว่าจะ “แก้รัฐธรรมนูญ” หรือไม่และจะแก้อย่างไร ล่าสุด “สถาบันพระปกเกล้า” ก็ได้เสนอ “แนวทางการปรองดอง” ที่อาจคล้ายแต่ก็ไม่เหมือนกับข้อเสนอ “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ที่เสนอโดย “นิติราษฎร์” ไปก่อนหน้านี้ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่ถกเถียงในรายละเอียดว่า การแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรทำหรือไม่อย่างไร และสังคมไทยควรยึดแนวทาง “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” แบบใด แต่จะเสนอแนวคิดว่า หากสุดท้ายจะมีการร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” (ซึ่งอาจมีผู้นำไปโยงกับ “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร”) แล้วไซร้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “การไม่ดูถูกประชาชน” 1. คำถาม: ทำไมดูถูกประชาชน ? เรา “ประชาชน” สงสัยหรือไม่ว่า “นักการเมืองไทย” กล้าดีแค่ไหน ที่ออกมาพูดจาปิดมัดรัดมือพวกเราตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ!? มี “นักการเมือง” (หรือบางกรณีก็พรรคการเมือง) หลายขั้ว ที่ออกมาดักขู่ดูถูก “ประชาชนคนไทย” ว่าคิดเองไม่เป็น จึงต้องเชื่อฟัง “นักการเมือง” ว่า การแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีข้อห้าม เช่น 1) ไม่แตะต้องมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ 2) ไม่ยุบหรือแทรกแซงองค์กรอิสระหรือศาล 3) ไม่แก้กฎหมายเพื่อคนเพียงคนเดียว ผู้เขียนในฐานะ “ประชาชน” ขอย้อนถาม “นักการเมือง” เหล่านี้ว่า 1) หาก “ประชาชน” เห็นว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” อันเป็นที่รักและศรัทธากำลังเผชิญกับอุปสรรค หรือถูกนำไปแอบอ้างให้สังคมแตกแยกแล้วไซร้ ไฉน “ประชาชน” จะไม่มีสิทธิแสดงเจตจำนงให้รัฐธรรมนูญมีมาตรการสนับสนุนคุ้มครองให้ “สถาบันพระมหากษัตริย์” ดำรงคู่แผ่นดินไทยต่อไปอย่างเข้มแข็ง มั่นคง และประจวบกับยุคสมัยยิ่งขึ้นกว่าเดิม ? ในขณะเดียวกัน เป็นไปไม่ได้หรือ ที่ “ประชาชน” จะฉลาดพอที่จะร่วมรับฟัง ถกเถียงและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง และหากพบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นกระทบต่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างไม่บังควร ก็แสดงพลังโดยการออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ปฏิเสธข้อเสนออันไม่บังควรดังกล่าวทิ้งไปเสีย? 2) ฉันใดก็ฉันนั้น หาก “ประชาชน” เห็นว่า “ศาล” หรือ “องค์กรอิสระ” ทำงานไม่ดี ซ้ำซ้อนไม่มีประสิทธิภาพ ปล่อยให้งานหรือคดีความคั่งค้างไม่สมประโยชน์เงินภาษีแล้วไซร้ ประชาชนจะแสดงเจตน์จำนงให้ปรับปรุงแก้ไข หรือยุบเลิกองค์กรเหล่านี้มิได้หรือ? 3) และฉันใดก็ฉันนั้น หากประชาชนเห็นว่า ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายเล่นงานหรือทำร้ายคนๆ เดียว หรือ กลุ่มๆ เดียว อย่างไม่เป็นธรรมไซร้ ประชาชนจะแก้ไขกฎหมายที่ผิด เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับ คนๆ เดียว หรือ กลุ่มๆ เดียว มิได้หรือ ? หรือ ประชาชนคนไทยคิดอ่านแยกแยะเองไม่ได้ว่า การปรองดอง การนิรโทษกรรม การล้างรัฐประหาร หรือ วิธีอื่นใด คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ? ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขหรือสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ต้องเริ่มจากการเคารพสติปัญญาและโอกาสที่จะมีส่วนร่วมและเรียนรู้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองของประชาชน มิใช่รวมศูนย์รวบรัดตัดตอนยัดถอนความคิดของประชาชน จนสุดท้าย แทนที่ประชาชนจะได้ตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองในฐานะผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยอย่างเสรี กลับมีแค่หน้าที่ไปเข้าคูหา เลือกว่า รับ หรือ ไม่รับ สิ่งที่มีผู้เลือกมาให้แล้วเท่านั้น พวกเรา “ประชาชน” ก็เช่นกัน เราต้อง “เลือกว่าเราคิดเองเป็น” และให้โอกาสคนไทยด้วยกันใช้สติปัญญาและวุฒิภาวะที่จะร่วมกันพิจารณาเรื่องบ้านเมืองของตนเอง ด้วยตนเอง และเพื่อตนเอง เรา “ประชาชน” และ “สื่อมวลชน” ต้องร่วมกันโต้แย้งและปฏิเสธวาทกรรม “ข้อห้าม” ที่ “นักการเมืองบางส่วน” พยายามยัดเยียดเบียดบังว่า แก้รัฐธรรมนูญนั้น แก้ได้ แต่ห้ามแก้เรื่องนั้น ห้ามแตะเรื่องนี้ เพราะหากร่างมาไม่ดี เราย่อมออกเสียงได้ว่าจะไม่ยอมรับ แต่หากเราตัดสินใจผิดพลาด เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดเพื่อตัดสินใจให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป แต่หากพวกเรา “เลือกดูถูกกันเอง” ว่าคนไทยคิดเรื่องบางเรื่องไม่ได้ หากปล่อยให้คิดให้คุยแล้วย่อมกลายเป็นมนุษย์ถ้ำตีฆ่ากัน และหาก “สื่อมวลชน” ถูกจูงเข้าถ้ำไปพร้อมกันแล้วไซร้ ก็ขอให้เราทำใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ “นักการเมือง” ก็ “เลือกได้สบาย” เหมือนทุกครั้ง และวาทกรรมปีศาจ “คนไทยยังไม่พร้อม” ก็จะถูกหยิบใช้อย่างสะดวกเพื่อให้ประเทศนี้ตกเป็นของผู้ที่เพียบพร้อมเหนือมนุษย์ และความอึดอัดที่เกิดจากการดูถูกดูแคลนนี้เอง ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในที่สุด 2. ข้อเสนอ: ประชามติ ที่ไม่ดูถูกประชาชน ย่อมมีผู้ถามต่อว่า หลักการที่กล่าวมาฟังดูดี แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้ “ประชาชน” มีส่วนร่วมในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เพราะสุดท้ายเรา “ประชาชน” ก็ได้แต่รอให้คนที่เราเลือก (ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม) ไปจัดทำร่าง จากนั้นพอร่างเสร็จ เราก็ไปเข้าคูหากาบัตร เลือกว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” หรือไม่ออกเสียง ก็เท่านั้น หากไม่ไปออกเสียงก็อาจโดนบังคับตัดสิทธิเสียอีก? คำตอบมีอยู่หลายประการ แต่ผู้เขียนขอยกเรื่อง “การลงประชามติ” ที่ดูเหมือนเป็นขั้นตอนปลายทาง มาตั้งเป็นประเด็นให้สังคมไทยพิจารณาตั้งแต่ต้นทาง ดังนี้ 2.1 การลง “ประชามติ” มีได้มากกว่า 1 คำถาม การลงประชามติโดย “ประชาชน” นั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับ “การเข้าคูหากาบัตรใบเดียว” ว่า “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” (รับ หรือ ไม่รับ) “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เท่านั้น แต่เราสามารถมีทางเลือกอื่น หรือ “ทางเลือกเสริม” ที่สามารถตัดสินใจไปพร้อมกับการ รับ หรือ ไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ได้ในเวลาเดียวกัน หากจะกล่าวให้เห็นภาพ อาจเปรียบ “การลงประชามติ” เหมือนกับการตัดสินใจซื้อรถยนต์ว่าจะซื้อรถคันใหม่ทั้งคันหรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน ก็มี “ตัวเลือกเสริม” ว่าต้องการให้รถคันใหม่คันนี้ มี “อุปกรณ์พิเศษ” หรือ “ตัวเลือกเสริม” ไปพร้อมกันในวันซื้อรถ หรือไม่ ? ตัวอย่าง เช่น ในวันที่มีการลงประชามติ แทนที่เราจะได้รับบัตรมาใบเดียว เพื่อกาว่า รับ หรือ ไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” อาจมี บัตรอีกใบ ที่ให้เราเลือกได้ว่า ต้องการให้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” มีหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” หรือมีบัญญัติเพื่อแก้ไขปัญหา “มาตรา 112” หรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ หากประชาชนมีมติไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ผลก็คือ การลงมติหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ย่อมตกไปโดยอัตโนมัติ แต่หากประชาชนมีมติรับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ก็ต้องดูต่อไปว่า ประชาชนได้ลงมติเพื่อแสดงเจตน์จำนงว่า ต้องการให้มีหมวดพิเศษว่าด้วย “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ด้วยหรือไม่ 2.2 ประโยชน์ของ “ประชามติ” ที่มีมากกว่า 1 คำถาม ย่อมมีผู้สงสัยว่า หากเรื่อง เช่น “การล้างผลพวงรัฐประหาร” นั้นสำคัญจริง เหตุใดจึงไม่บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพื่อให้ประชาชนลงมติในคราวเดียวกันไปเลย? ผู้เขียนคิดว่ามีเหตุผลอย่างน้อยสามประการ ประการแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวาทกรรมปีศาจปิดโอกาสประชาชน ทำนองว่า หากบรรจุหมวด “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ไว้ใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพื่อให้ประชาชนลงมติในคราวเดียวกันไปเลยแล้วไซร้ ก็จะเกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ลงประชามติ เช่น ถูกเหมารวมว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เป็นการทำเพื่อช่วยคุณทักษิณ หรือถูกหยิบนำมาเป็นประเด็นเพื่อไม่ให้บรรจุเป็นตัวเลือก หรือแม้บรรจุได้ ก็กลายเป็นข้ออ้างให้ไม่ลงมติไม่รับ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ทั้งฉบับ เพียงเพราะหมวดที่เป็นปัญหาหมวดเดียว ในทางตรงกันข้าม ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจที่มีส่วนได้เสียจากการรัฐประหาร พยายามยัดเยียดแนวทางการรอมชอมประโยชน์เพื่อเอาตัวรอด และมัดมือประชาชนโดยบรรจุแนวทาง “ปรองดองปลอมๆ” ใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่สุดท้ายผู้เรืองอำนาจทุกฝ่ายรอดพ้นจากความผิด และไม่มีใครรับผิดชอบต่อประชาชน และประชาชนก็ได้แต่จำใจรับสิ่งที่ยัดเข้ามาใน “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ดังนั้น การแยกเรื่อง “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ให้เป็นประเด็นสำหรับลงมติแยก ย่อมเป็นการส่งเสริมและปกป้องการยกร่างและลงประชามติ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” (ที่ไม่ได้บรรจุ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” โดยอัตโนมัติ) ในเวลาเดียวกัน ประการที่สอง เพื่อเป็นโอกาสให้คนไทยทั้งประเทศ ได้ลงมติให้ชัดเจนในประเด็นที่เจาะจงว่า เราต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งไปสู่อนาคตอย่างไร เพราะ “การปรองดอง” หรือ “การล้างผลพวงรัฐประหาร” ย่อมมีหลายวิธี และย่อมโยงไปถึง คุณทักษิณ ผู้กระทำรัฐประหาร และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะเกิดผลอย่างไร จะปล่อยไว้ตามเดิม หรือให้อภัย หรือบังคับให้ต้องมีการพิจารณาคดีใหม่ ทั้งฝ่ายที่ถูกยึดอำนาจ และฝ่ายที่ทำการยึดอำนาจ ดังนั้น เมื่อประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและมีความคิดเห็นที่หลากหลาย การจัดให้เป็นประเด็นสำหรับลงมติแยก ก็ย่อมเป็นการส่งเสริมให้กระบวนการตัดสินใจของสังคมรัดกุมชัดเจนมากขึ้น ประการที่สาม เพื่อเป็นการสนับสนุนการหาทางออกร่วมกันของกลุ่มอำนาจโดยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ทั้งนี้ เมื่อมีการร่างหมวดดังกล่าวเพิ่มมาเป็นตัวเลือกให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มอำนาจที่มีส่วนได้เสีย ย่อมถูกบังคับให้ออกแบบทางเลือกที่รัดกุม เป็นธรรม และสมเหตุสมผลมากที่สุด เพราะหากเสนอสิ่งที่สุดโต่งหรือเอื้อประโยชน์ผู้ใด ก็ย่อมเสี่ยงที่จะถูกประชาชนต่อต้านโดยการออกเสียงไม่รับข้อเสนอในหมวดดังกล่าว 3. ความท้าทายของ “ประชามติ” ที่มีมากกว่า 1 คำถาม แนวคิด “การลงประชามติ” ที่เสนอมาข้างต้น มี “ข้อท้าทาย” ที่สมควรกล่าวถึงอย่างน้อย ดังนี้ ข้อท้าทายแรก: ความขัดแย้งของการแยกแยะ (Separability Problem) ข้อท้าทายลักษณะนี้มีวิธีการมองได้หลายแบบ ผู้เขียนขอยกแบบหนึ่งมาเสนอดังนี้ การเสนอประเด็นให้ประชาชนลงประชาชมติมากกว่า 1 ข้อ อาจเกิดปัญหาว่า การลงประชามติใน “ประเด็นแรก” มีความเกี่ยวพันกับ “ประเด็นที่สอง” โดยประชาชนคนหนึ่งอาจประสงค์ออกเสียง “เห็นชอบ” ให้มติ “ประเด็นแรก” ผ่าน แต่มีเงื่อนไขในใจว่า “ประเด็นที่สอง” ต้องไม่ผ่าน เมื่อเป็นดังนี้ ประชาชนคนดังกล่าวอาจไม่สามารถตัดสินใจลงมติได้อย่างสมบูรณ์ เพราะไม่รู้อนาคตว่า หากตนลงมติ “เห็นชอบ” ประเด็นแรกไปแล้ว ประชาชนทั้งประเทศจะลงมติให้ประเด็นที่สองผ่านหรือไม่ โดยหากประเด็นที่สองผ่านการเห็นชอบ ตนย่อมไม่อยากให้ประเด็นแรกผ่านการเห็นชอบ เป็นต้น ผู้เขียนขอตัวอย่างดังนี้ ประเด็นที่ 1 : “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ประเด็นที่ 2 : “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ให้ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร จากตัวอย่างนี้ หาก “นาย ก” ผู้ไปออกเสียง เชื่อว่า ประเทศไทยควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ควรแตะต้องผลพวงรัฐประหาร หากมองในมุม “นาย ก” คนเดียว “นาย ก” ย่อมออกเสียงดังนี้ - ประเด็นที่ 1 : ออกเสียง “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - ประเด็นที่ 2 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ให้เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร แต่หาก “นาย ก” กังวลว่า มีประชาชนคนไทยจำนวนมากที่จะสบับสนุนให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหารจนอาจผ่านความเห็นชอบได้ “นาย ก” อาจคิดว่า ตนยินดียอมใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับเดิม” เพื่อจะไม่ต้องมีหมวดใหม่เรื่องการล้างผลพวงรัฐประหาร (เพราะหากประเด็นที่ 1 ไม่ผ่านความเห็นชอบ ประเด็นที่ 2 ก็ย่อมไม่ผ่านโดยอัตโนมัติ) หาก “นาย ก” คิดเช่นนี้ “นาย ก” ย่อมออกเสียงดังนี้ - ประเด็นที่ 1 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - ประเด็นที่ 2 : ออกเสียง “ไม่เห็นชอบ” ให้เพิ่มหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร ปัญหาความขัดแย้งของการแยกแยะ (Separability Problem) ก็คือ หาก “นาย ก” ล่วงรู้อนาคตได้ว่า ประเด็นที่ 2 (หมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหาร) จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ “นาย ก” ก็ย่อมพอใจที่จะออกเสียง “เห็นชอบ” ให้กับประเด็นที่ 1 เพื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ที่ไม่มีการล้างผลพวงรัฐประหาร) แต่เมื่อไม่มีผู้ใดล่วงรู้อนาคตได้ ผลที่ตามมาอาจทำให้ประชาชนหลายฝ่ายไม่ได้พอใจสูงสุด เช่น “นาย ก” เองก็ไม่ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนผู้ที่ต้องการหมวดพิเศษเกี่ยวกับการล้างผลพวงรัฐประหารก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการเช่นกัน ในเบื้องต้น ข้อท้าทายนี้อาจก้าวข้ามได้โดยการยึดหลักการพื้นฐานว่า การตัดสินใจร่วมกันในทางประชาธิปไตย มิได้มีเพื่อให้ประชาชนแต่ละคนได้รับความพึงพอใจสูงสุด อีกทั้งการลงประชามติก็มิใช่กระบวนการตัดสินใจที่สมบูรณ์แบบ หากแต่การตัดสินใจร่วมกันในทางประชาธิปไตย คือ การแสวงหาจุดร่วมที่ปวงชนทั้งประเทศสามารถยอมรับและลองผิดลองถูกร่วมกันได้ และในท้ายที่สุด ประโยชน์โดยรวมจากการเพิ่มตัวเลือกให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจร่วมกัน ย่อมดีกว่าการจำกัดตัวเลือกซึ่งทำให้ประชาชนลงมติเฉพาะ “รัฐธรรมนูญฉบับหลัก” ซึ่งมีความเสี่ยงจากการถูกแทรกแซงดังที่กล่าวไปแล้ว ข้อท้าทายที่สอง: ความชอบธรรมในการเพิ่มประเด็นในการลงประชามติ อาจมีผู้สงสัยว่า หากอนุญาตให้มีประเด็นอื่นนอกจากประเด็นหลัก (“เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ” ร่าง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”) ก็จะมีความพยายามเพิ่มประเด็นอื่นจนอาจมีการเรียกร้องให้ลงประชามติหลายเรื่อง และจะจำกัดหรือคัดเลือกประเด็นอย่างไรให้เกิดความเหมาะสมที่จะนำไปลงประชามติ เรื่องนี้สามารถบริหารจัดการได้ในเบื้องต้นหลายวิธี เช่น การกำหนดวิธีการอาศัยเสียงข้างน้อยที่มีนัยสำคัญของผู้ร่างก็ดี หรือ รัฐสภาในฐานะผู้แทนประชาชนก็ดี เช่น อาศัยเสียง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 5 เพื่อเสนอญัตติให้มีการกำหนดประเด็น “ตัวเลือกเสริม” สำหรับลงประชามติได้ โดยอาจมีการจำกัดว่าต้องมีประเด็นลงประชามติทั้งสิ้นไม่เกินสามประเด็น เป็นต้น ข้อท้าทายที่สาม: เวลาที่ใช้ในการยกร่าง อาจมีผู้กังวลว่า การลงประชามติหลายประเด็นอาจทำให้การร่างต้องใช้เวลาและยืดเยื้อ ข้อนี้ตอบได้ว่า คุณภาพของรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดโดยระยะเวลาในการร่าง ข้อสำคัญ คือ เรา “ประชาชน” อย่าไปปักใจว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเสร็จในครึ่งปี หรือหนึ่งปี แน่นอนว่าการมีเวลามาก ย่อมทำให้การเปิดเวทีรับฟังและพิจารณาความเห็นประชาชนทำได้ทั่วถึงมากขึ้น แต่หากมากไปก็อาจกลายเป็นเครื่องประวิงต่อรองหรือปัญหาระหว่างผู้ร่างกันเอง ผู้เขียนเห็นว่า อาจกำหนดให้ผู้ร่าง ไม่ว่าจะเป็น สสร. หรือ ผู้ใด มีสิทธิลงมติขยายกรอบเวลาการร่างได้หากจำเป็น แต่ไม่เกินกรอบใหญ่ที่จำกัดไว้ เพื่อความหยืดหยุ่นในการทำงานตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต โดยกรอบเวลาควรยึดที่ความทั่วถึงของการรับฟังความเห็นของประชาชน และโอกาสของสังคมที่จะได้ถกเถียงกันเป็นสำคัญ มิใช่ยึดตามกรอบการทำงานที่สะดวกต่อผู้ร่างเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะคุณค่าของการลงประชามติ มิได้อยู่ที่การกาบัตรในวันลงประชามติ แต่อยู่ที่กระบวนการทั้งหมด ที่นำมาสู่การกาบัตรในวันดังกล่าว บทส่งท้าย ผู้เขียนขอส่ง “แนวคิดเบื้องต้น” ในบทความนี้แทนกำลังใจไปยังผู้แทนประชาชนในสภาที่กำลังหารือว่า “จะแก้” รัฐธรรมนูญ อย่างไร โดยโปรดอย่าบอกปัดอย่างเกียจคร้านเพียงว่า ยุ่งยากเกินไป แต่ขอให้รับไว้เป็นความท้าทายในหน้าที่ที่ต้องเผชิญเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะสุดท้าย การแก้รัฐธรรมนูญที่ง่ายและสะดวก แต่จำกัดทางเลือกของประชาชน คือ การดูถูกประชาชน และยึดความสบายของผู้ร่างเป็นสำคัญ อนึ่ง แนวคิดที่เสนอในบทความนี้ ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์บางส่วนไว้ในรายการ Intelligence ชมได้ทาง http://shows.voicetv.co.th/intelligence/33394.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net