Skip to main content
sharethis

 

 

 

10 เม.ย.55  เวลา  13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์การเสียชีวิตของของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (รอง เสธ.พล.ร.2 รอ.) จากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 โดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ได้นำผู้เข้าร่วมไปววางดอกไม้ ณ จุดที่พลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่พลเอกร่มเกล้า ณ  บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ

จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. ได้เคลื่อนขบวนมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ เพื่อจัด “งานรำลึก 2 ปี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และเพื่อนมิตร” โดยก่อนจะมีเวทีเสวนา นางทิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ได้กล่าวแนะนำญาติพลทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์และเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดความรู้สึก ก่อนที่นางทิชาจะกล่าวถึงการปรองดองว่า การปรองดองมีหลายเงื่อนไขหลายหลายองค์ประกอบที่ คู่กรณีและฝ่ายต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การปรองดอง ไม่ใช่เฉพาะเหยื่อไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่หรือว่านั่งอยู่ในสภาหรือมีตำแหน่งแต่อย่างใด

นางทิชากล่าวว่า คำว่าปรองดองเป็นเรื่องของความรู้สึกของคน ความต้องการหรือจุดยืนของแต่ละคนก็ต่างกัน อย่างพวกเราในฐานะผู้เสียชีวิต ครอบครัวผู้เสียชีวิต สิ่งที่เราต้องการคงไม่มีอะไรที่มาทดแทนได้ สิ่งที่เราอยากได้คืนก็คือชีวิตของคนที่เรารัก แต่ยังไงมันก็ไม่มีวันได้คืน สิ่งที่เราอยากจะเรียกร้องก็คืออย่าให้คนอื่นต้องเสียชีวิตเหมือนอย่างที่พวกเราได้เจอ คนที่ยังอยู่นั้นเหมือนตายไปแล้วทั้งเป็น

“จะบอกไว้เลยคนที่อยู่นี้ เขาไม่ได้ฆ่าร่มเกล้าคนเดียวแต่เขาฆ่าเราด้วย มันตายไปด้วย เพราะฉะนั้นคือไม่อยากให้พวกเราต้องเจอกับสภาพสูญเสียแบบนี้อีก นอกจากว่าคนที่สูญเสียไปไม่เป็นทรัพยากรที่จะทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ร่มเกล้าเนถ้าอยู่ก็ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้อีกมาก” นางทิชากล่าว

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีต ผอ.หน่วยข่าวกรอง กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย.53 ว่าทหารจำเป็นต้องเข้ามาสลายการชุมนุมเนื่องจากการเดินทางสู่ฝั่งธนถูกปิดกั้น จึงต้องการพื้นที่บางส่วนคืนเพื่อเปิดเส้นทาง แต่กลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งมีไม้ไผ่เหลาแหลมเป็นอาวุธมีกำลังมากกว่า กำลังทหารจึงไม่สามารถรุกเข้าไปได้ และเมื่อเกิดการปะทะกับกองกำลังไม่ทราบฝ่ายทหารก็ไม่สามารถถอยหลังได้เพราะถูกปิดเส้นทาง แม้ทหารมีอาวุธก็ไม่กล้ายิงเนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวอาศัยประชาชนคุ้มกัน ความสูญเสียจึงเกิดขึ้น  จนมาถึงปัจจุบันนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอซึ่งเคยบอกว่าเสื้อแดงเป็นคนทำ วันนี้ก็สติฟั่นฟือนไปแล้ว

พล.ท.นันทเดชยังกล่าวถึงการปรองดองว่า  สิ่งที่ต้องทำก่อนการปรองดองคือการค้นหาความจริงของเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งประเทศต่างๆ ที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นก็ใช้เวลานับสิบๆ ปีกว่าจะค้นหาความจริงและนำไปสู่การปรองดอง

“มันจะเป็นไปได้อย่างไรในมื่อรอยแผลแห่งความแค้นยังปรากฏอยู่” อดีตผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกล่าว

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปอย่างไม่อาจคาดคิด โดยรัฐบาลพยายามจะอ้างการปรองดองโดยให้ตัวเองกลับมามีอำนาจเบ็ดเสร็จและบอกให้สังคมลืมการเสียชีวิตของประชาชน ทหารในเหตุการณ์ที่ผ่านมา

นายสมชายยังกล่าวถึงมติครม. 10 ม.ค.55 ที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิต 7.5 ล้านบาทว่า แม้ตนจะเข้าใจว่าการช่วยเหลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวผู้สูญเสีย แต่ก็นับเป็นการกระทำที่สองมาตรฐานเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ภาคใต้ หรือการชดเชยให้กับผู้ต้องขังที่ถูกยกฟ้อง ที่สำคัญ เงินดังกล่าวมีที่มาไม่ชอบมาพากล เนื่องจากนายจตุพร พรหมพันธ์ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ได้กล่าวตั้งแต่ตอนที่ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งว่าตกลงกันได้แล้วว่าจะจ่ายชดเชยผู้เสียชีวิต 10 ล้านบาท แต่ในที่สุดก็มีการต่อรองลดลง 25% เพื่อการปรองดอง

สมชายกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดในเวลาซึ่งเป็นหลักสากลและเป็นข้อเสนอที่ทั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดอง (คอป.) และสถาบันพระปกเกล้าเสนอก็คือ การค้นหาความจริงให้ปรากฏ แต่วันนี้รัฐบาลกลับรวบรัดตัดตอน ผู้ต้องหาที่จับได้ว่าเป็นผู้ยิง M79 วันนี้ก็ไม่แน่ว่านอนสบายอยู่เรือนจำใหม่บางเขนหรือไม่

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.สรรหากล่าวว่า ข้อผิดพลาดสำคัญคือ หลัง 19 ก.ย.49 นักการเมืองที่เราต่อสู้ด้วย ไม่ได้ถูกจัดการอย่างทันทีทันใด จึงฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกได้ และคนทำรัฐประหารในวันนี้ก็ไปอยู่ฝ่ายที่ตัวเองรัฐประหารเสียแล้ว

“ทหารที่ลุกมาปฏิวัตินั้นฉวยโอกาส ถ้าไม่ปฏิวัติ ประชาชนก็จัดการกับทักษิณไปได้นานแล้ว วันนั้นยังไม่มีเสื้อแดง และกำลังของทักษิณก็อ่อนล้า วันี้เป็นสงครามชิงเมือง สภาไม่สามารถทำอะไรได้ เขาอาศัยการยกมือเท่านั้น เลือกตั้งในเงิน 50,000 ล้านก็ยึดประเทศไทยได้แล้ว แล้วเข้ามาล้วงทรัพยากร” รสนากล่าว พร้อมระบุให้จับตาดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจะยิ่งตัดอำนาจประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 67 หรือ มาตรา 190

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านนี้ในช่วงเช้า ที่วัดบวรนิเวศวรวิหาร มีการจัดพิธีทำบุญครบรอบ 2 ปีการเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า โดยมี พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1  นายทหารชั้นผู้ใหญ่จาก พล.ร.2 รอ. และผู้บังคับหน่วยของกองทัพภาคที่ 1 ในกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมาร่วมงาน  และนางนิชา ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ผ่านไป 2 ปี มีสิ่งที่เราไม่เข้าใจเกิดขึ้น จนต้องสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคดีต่างๆ เพราะ 2 ปีก็เป็นเวลาที่เราให้มากพอสมควรกับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการ แต่ว่าคดีมีความคืบหน้าไประยะหนึ่งแล้ว ดูเหมือนกับว่ามีการเปลี่ยน ซึ่งเราไม่เข้าใจก็ต้องถามด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่อยากจะฟังคำตอบ

เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะหาตัวคนร้ายที่สังหาร พ.อ.ร่มเกล้าได้หรือไม่ นางนิชากล่าวว่า เป็นเรื่องยาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แต่อย่างน้อยที่สุดถ้าเราเห็นความตั้งใจหรือมีเจตนาที่จะป้องกันป้องปราม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก คงจะทำให้การตายของคนที่ตายไปไม่สูญเปล่า ไม่ว่าจะหาตัวได้หรือไม่ได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐแสดงให้เห็นว่าหลักนิติรัฐคืออะไร และยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนเรื่องการปรองดอง นางนิชากล่าวว่า ถ้ามองความปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่มีแค่การนิรโทษกรรม แต่มีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ การค้นหาความจริง การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การเยียวยา การนิรโทษกรรม ไม่สามารถจะแตะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วบอกว่านี่คือการปรองดอง ทุกอย่างต้องไปทั้ง 4 ตัวแปร แล้วควรต้องเรียงลำดับว่าจาก 1 ไปสู่ 2 3 และ 4 แต่วันนี้ต้องการคำอธิบายว่า ทำไมข้ามขั้นตอนการค้นหาความจริง แล้วกระโดดไปสู่นิรโทษกรรม อยากจะฝากว่า ความปรองดองสมานฉันท์เป็นเรื่องของคนในชาติ ประชาชนทุกคน เพราะฉะนั้นอาจต้องใช้เวลาในการเยียวยาเวลา มันเป็นโอสถที่ใช้ในการเยียวยา จะทำให้การพูดคุยกันในสังคม การเปิดใจความคิดเห็นรับฟังซึ่งกันละกัน ก็เป็นการเยียวยาไปในตัว หากรีบเร่งมากน่าจะนำไปสู่ผลเสียมากกว่าผลดี ประชาชนน่าจะมีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการสมานฉันท์

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net