Skip to main content
sharethis

ชาวกระเหรี่ยงกว่า 1,000 ชีวิต ร่วมงานพหุวัฒนธรรมซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและเครือข่าย นิธิกล่าวในเวทีเสวนาชี้ พหุวัฒนธรรจะเกิดได้ ระบบการศึกษาและสื่อต้องเห็นความสำคัญและยอมรับในความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ไม่ทำให้เป็นเรื่องตลก

เมื่อวันที่ 21-23 กันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จัดงาน “พหุวัฒนธรรมเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง” ขึ้นเพื่อเพื่อเผยแพร่ สร้างความเข้าใจ ชีวิตวิถีทางวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง และระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนสนับสนุนชีวิตและวัฒนธรรม กะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสังคม สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับสังคมไทย

ในวัน 21 กันยายน “ศ.ดร. อภินันท์ โปษยานนท์” รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานและกล่าวถึงการทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมด้านนโยบายการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้ ยั่งยืนตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่ากระทรวงวัฒนธรรมเห็นความสำคัญในการทำงานด้านแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงและดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ครอบคลุม กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยให้เตรียมการจัดตั้งกลุ่มงานชาติพันธุ์ หรือสำนักพหุวัฒนธรรมภายใต้สังกัดของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  เพื่อให้เกิดกลไกการบริหารจัดการและทำงานเป็นระบบอย่างชัดเจนหรือแม้แต่ประเด็นการการดำเนินการจัดเวทีระดับชาติการประสานพลังท้องถิ่นเพื่อการผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงสู่การปฏิบัติเกิดการรับรู้สถานการณ์และปัญหาที่กระทบชุมชนกะเหรี่ยงทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกร่วมกันมีการทำความเข้าใจ มติ ครม. ในด้านโอกาสและข้อจำกัดในการนำมาใช้มีการกำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์และกลไกการขับเคลื่อนในกลุ่มองค์กร/เครือข่ายของคนกะเหรี่ยงและเกิดแนวนโยบายเพื่อ เสนอต่อรัฐบาลในการผลักดันมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553ให้เกิดการยอมรับและเกิดผลต่อปฏิบัติการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงต่อไป

“การจัดงานครั้งนี้จึงนับเป็นหนึ่งบทบาทหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่ดำเนินงานตามมติ ครม.  ดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมด้วยการส่งเสริมให้สังคม ได้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรมโดยให้เรียนรู้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์กะเหรี่ยง ผ่านการจัดงานในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเสวนาเพื่อเปิดมุมมองสร้างความความเข้าใจการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านนิทรรศการภาพถ่ายและมัลติมีเดีย เรื่อง วิถีชีวิตวัฒนธรรมกะหรี่ยงแก่งกระจาน จากเครือข่ายคณะทำงานทั้งหมด รวมทั้งการแสดงดนตรี ศิลปวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่แสดงในงานทั้งหมด”  รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว

นอกจากนั้นภายในงานยังมีการปาฐกกาเรื่อง “ชาวกะเหรี่ยงกับสังคมไทย” โดย อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม  และเวทีเสวนาเรื่อง “พหุวัฒนธรรมกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง” โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ อาจารย์วุฒิ  บุญเลิศ คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งเเวดล้อม ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะปราชญ์ของชุมชนกระเหรี่ยง และ นายพะตีจอนิ โอโดเชา ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอแห่งขุนเขา หรือ “ครูภูมิปัญญาไทย  สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”  แห่งบ้านหนองเต่า อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องของการอยู่ร่วมกันแห่งวัฒนธรรมอันหลากหลาย

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่ากะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นมีประมาณ 4-5 แสนคน นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่มาก และกระจายกันอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยหลายจังหวัดด้วยกัน ซึ่งกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนการถือครองที่ดิน ตั้งแต่สมัยที่มีการเริ่มออกเอกสารสิทธิ์ ทั้งๆ ที่ทุกคนอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาหลายร้อยปี ส่งผลให้ปัจจุบันความเป็นอยู่วิถีทางทำกินของกะเหรี่ยงที่ตกอยู่ในฐานะค่อนข้างลำบากมาก สิ่งที่นักวิชาประวัติศาสตร์อย่าง ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตขึ้น คือ ภาครัฐมีนโยบายอะไรกับ  ชนกลุ่มน้อยบ้าง เขาเห็นว่านโยบายที่ดูแลชนกลุ่มน้อยที่ผ่านมา จะเน้นไปที่การกลืนชนกลุ่มน้อยให้เข้ากับ ชนกลุ่มใหญ่ เช่น จีนให้กลายเป็นไทย แต่จีนไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะจีนอยู่ในเขตเมือง และเมื่อกลืนเข้าไปคนจีนก็ได้ประโยชน์เองด้วยในการที่ถูกกลืนเข้าไป แต่คนกะเหรี่ยงนั้นไม่ได้อยู่ในเขตเมืองแต่อยู่ในพื้นที่ซึ่งกฎหมายไทยเรียกว่าป่า และผลที่ออกมา คือ กะเหรี่ยงจะถูกเบียดเบียนมากจากกฎหมายออกมาโดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างในวิถีชีวิตคน ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับชนกลุ่มใหญ่

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมต้องรักษาวัฒนธรรมชนกลุ่มน้อยเอาไว้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า สังคม ชนกลุ่มน้อย เปรียบเหมือนสังคมธรรมชาติหรือผืนป่า มันจะมีความหลากหลายของชีวิต ทั้งพืช ทั้งสัตว์ ที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะความไม่เหมือนกันนั่นเอง ที่ทำให้ป่าหรือธรรมชาติมีความมั่นคงถาวรได้  ยิ่งมีความหลากหลายหรือแตกต่างในสังคมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง ซึ่งมีจำนวนสูงมากในประเทศไทยว่า ควรจะกลืนเขาเข้ามาในวัฒนธรรมชนกลุ่มใหญ่หรือไม่ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ บอกว่า หากสามารถกลืนได้ก็ทำไป แต่ควรให้กะเหรี่ยงมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ให้กะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างเดียวเท่านั้นเพราะจากสิ่งที่พบเห็นอยู่ในปัจจุบัน คือ กะเหรี่ยงไม่มีโอกาสที่จะถูกกลืนอย่างมีโอกาสทางเลือก ไม่เหมือนกับคนจีน ที่กลืนเข้ามาสักระยะหนึ่งก็พัฒนาเป็นเถ้าแก่

“ผมมองว่า การกลืนแบบจีนเป็นไปได้ในระยะยาว ร้อยหรือสองร้อยปี เราไม่รู้ แต่การที่เราจะกลืนใคร เราต้องให้โอกาสที่เขาจะถูกกลืนเข้ามาอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร ไม่ใช่กลืนเขาเข้ามาเพื่อที่เอามาเป็นแรงงานราคาถูก หรือว่าเอามาเป็นเพียงคนเก็บขยะในเมือง เพราะงั้นสิ่งที่ต้องทำในระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะตัดสินใจกลืนหรือไม่กลืนก็แล้วแต่  คือ การทำให้เขามีความเข้มแข็งพอที่เขาจะเลือก ในการพัฒนาตัวเองได้ เช่น ตอนนี้กะเหรี่ยงจำนวนมากในประเทศไทยทำเกษตรเลี้ยงยังเองอยู่ แต่เมื่อตลาดรุกเข้าไปจนเขาก็ต้องแปลงตัวเองเข้ามาสู่การ ผลิตเพื่อขาย หรือมิเช่นนั้นต้องขายแรงงาน ซึ่งปัญหาคือ ถ้าเขายังอยู่ในสภาพที่ต้องเลี้ยงตัวเองขณะที่ไม่มีโอกาสพัฒนาเลย เมื่อเขาเข้ามาขายแรงงาน แล้วจบแค่ ป.4 เขาจะไปขายแรงงานในฐานะอะไร ก็จะกลายเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ได้ค่าจ้างราคาถูก ก็ถูกสาปไปชั่วลูกชั่วหลานที่จะไม่มีโอกาสเงยหน้าอ้าปากขึ้นมา แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเปิดให้เขาได้มีเศรษฐกิจเลี้ยงตนเองที่มีความเข้มแข็งพอสมควร ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้ลูกเขาได้เรียนหนังสือมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อวันหนึ่งเขาจำเป็นต้องเข้าสู่ตลาดการขายแรงงานหรือการผลิต เขาจะเข้มแข็งพอที่จะทำให้ลูกเขา เข้ามารับจ้างได้ในราคาที่แพงขึ้น ไม่ได้แปลว่า ให้เขาอยู่อย่างนี้ตลอดไปชั่วกัลปาวสาน แต่แปลว่า  ถ้าจะให้เขาเปลี่ยน ก็ต้องให้เขาเปลี่ยนโดยมีพลังการต่อรองพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นพลังเศรษฐกิจ พลังการเมืองอะไรก็แล้วแต่”

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวด้วยว่า ความรู้ ความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญที่สุด คือ  การยอมรับความแตกต่างของกันและกัน เนื่องจากทีผ่านมาการศึกษา หรือสื่อ ไม่เห็นว่าความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญ นำเอาความแตกต่างมาเป็นเรื่องตลก เช่น คนกะเหรี่ยงพูดไม่ชัด ก็นำมาเสนอเป็นเรื่องตลก แทนที่จะพยายามเข้าใจ ว่ามันเกิดจากการแต่ละภาษาที่มีเสียงไม่เท่ากัน เช่น คนไทยเอง ก็ยากที่จะพูดภาษาอังกฤษได้ชัดเท่ากับเจ้าของภาษา เนื่องจากมีหน่วยเสียงในภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีในภาษาไทย คนไทยก็จะออกเสียงเหล่านั้นลำบาก

“อย่างเราจะไปพูดภาษากะเหรี่ยง ก็พูดไม่ชัดเหมือนกัน เพราะภาษากะเหรี่ยงก็มีหน่วยเสียงที่ไม่เหมือนกันกับภาษาไทย เพราะงั้น มันไม่ใช่เรื่องตลก มันเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ภาษาเนี่ย ที่เราจะพูดให้เหมือนกันกับเจ้าของภาษามันยาก เพราะเรามีหน่วยเสียงที่แตกต่างกันก็เท่านั้นเอง ถ้าเรามีการสร้างความเข้าใจตรงนี้ โดยผ่านระบบการศึกษา ผ่านสื่อ อะไรก็ตาม เราจะมีขันติธรรมต่อความแตกต่าง มองเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์เราก็แตกต่างกันทั้งนั้น อย่างคุณปู นายกรัฐมนตรี เวลาพูดภาษาไทยกลาง ก็จะเพี้ยนนิดๆ เพราะว่า นายกฯ โตมาด้วยคำเมือง (เชียงใหม่) มันมีหน่วยเสียงในคำเมืองที่ไม่ตรงกับภาษากลาง ซึ่งไม่แปลกอะไรเลย ผมเห็นว่า การที่จะไปย้ำว่า คนที่จะออกทีวีได้ ต้องได้ใบประกาศของกรมประชาสัมพันธ์ มันก็เท่ากับการตอกย้ำว่า ถ้าคุณพูดภาษากรุงเทพฯ ไม่ชัด คุณเป็นคนไทยไม่ได้ แทนที่จะทำให้ตรงกันข้ามให้คนเข้าใจว่า ภาษาไทยนั้นมีหลายสำเนียงมาก และเราจำเป็นต้องใช้ภาษากลางด้วยกัน ซึ่งภาษากลางที่คนแต่ละท้องถิ่นพูดก็จะโอนอ่อนให้สำเนียงท้องถิ่นแทรกเข้ามาได้พอสมควร”  ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวสรุปถึงการยอมรับการแตกต่างว่าจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในความแตกต่างของวัฒนธรรมเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมให้ได้

ส่วน อาจารย์วุฒิ  บุญเลิศ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง ทำไมจึงจำเป็นสังคมต้องเข้าใจวัฒนธรรมกะเหรี่ยงว่า  เนื่องจากสังคมเข้าใจและมองภาพลักษณ์ของคนกะเหรี่ยงว่าเป็นผู้ที่ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย มองว่ากะเหรี่ยงที่เป็นชาวเขา เมื่ออยู่ในกลุ่มชาวเขาก็ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และสุดท้าย คือ มองว่ากะเหรี่ยงหรือชาวเขาเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งเบื้องหลังของคำว่าชนกลุ่มน้อยในการรับรู้ของสังคม คือ เป็นคนจากนอกประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนใหญ่ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนไทย ทำให้กะเหรี่ยงถูกแยกส่วนออกมา นั่นคือภาพลักษณ์ที่สังคมเข้าใจอย่างนั้น ส่วนพี่น้องชาวเขาหรือกะเหรี่ยง ก็คิดว่าภาครัฐและสายตาที่สังคมมองเห็นกะเหรี่ยงหรือชาวเขาเป็นปัญหา มองว่าคนเหล่านี้คือปัญหาของสังคม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมจะต้องเรียนรู้และทำความใจเรื่องของความต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลายในสังคมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

“ผมคิดว่า การอยู่ร่วมกันพหุวัฒนธรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อพวกเราทุกคนยอมรับได้ว่า สังคมไทยเกิดขึ้นภายใต้ความหลากหลายทางชาติพันธ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งมันเกิดขึ้นและหลอมรวมให้เป็นวัฒนธรรมของไทย ถ้าเรายอมรับว่า วัฒนธรรมของพี่น้อง เชื้อสาย ลาว มอญ จีน ที่อยู่ในสังคมไทยนั้นถูกผนึกอยู่ในวัฒนธรรมของไทยได้ กะเหรี่ยงหรือชาวเขาซึ่งก็เป็นประชาชนคนไทย ก็ต้องได้รับการยอมรับว่าเรามีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ก็เป็นวัฒนธรรมของชาติไทยด้วยเช่นกัน หากเกิดเรามองเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ไม่แบ่งแยกส่วน พหุวัฒนธรรมก็จะเจริญเติบขึ้นได้ในสังคมไทยแน่นอน”  อาจารย์วุฒิ  บุญเลิศ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนั้นภายในงานยังมีทั้ง 3 วัน มีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นเรื่องราววิถีชีวิตของกะเหรี่ยงแก่งกระจานจากเครือข่ายคณะทำงาน พร้อมกับการเสวนาเรื่อง “วิถีชีวิตวัฒนธรรมกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” โดย  คุณกฤนกรรณ  สุวรรณกาญจน์ ช่างภาพสารคดีอิสระ อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งเเวดล้อม นายสันติ สำเภาทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน และนายแจ พุกาด ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน

พร้อมกับอีกหนึ่งวงเสวนาเรื่อง “กะเหรี่ยงวิพากษ์ (ปะทะ) อุทยานแห่งชาติ” โดย นายพฤ โอ่โดเชา ตัวแทนกะเหรี่ยงภาคเหนือ ตัวแทนกะเหรี่ยงแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี ดร.เพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์ สถาบันสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายสุรพงษ์ กองจัน-ทึก ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

นอกจากนั้น ยังมีการแสดงดนตรีวัฒนธรรมกะเหรี่ยง โดย ศิลปินปกาเกอะญอจากเมืองเชียงใหม่ ชิ สุวิชาน เพื่อถ่ายทอดวิถีปกาเกอะญอผ่านบทเพลง และการแสดงศิลปะรำตงกะเหรี่ยง รวมทั้งการแสดงดนตรีของวงจู่โจม แห่งเทือกเขาตะนาวศรี เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเสียชีวิตครบรอบหนึ่งปี 10 กันยายน 2555 อาจารย์ ป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม แกนนำเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน และปิดท้ายด้วยการร่วมกันทำพิธีกรรมผูกข้อมือกะเหรี่ยง โดย พ่อหลวงจอนิ  โอโดเชา  เพื่อให้เพื่อนพี่น้องกะเหรี่ยงที่เดินทางมาร่วมงานจากทั่วประเทศกว่า 1,000 คนอีกด้วย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net