Skip to main content
sharethis

ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนี้ ประชาไท มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะนำเสนอออกเป็น 2 ตอน ตอนแรก เป็นเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในมุมมองของคนนอกกรุงเทพฯ และข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจสำหรับท้องถิ่นทั่วประเทศ และตอนต่อไปจะเป็นเรื่องการคืนพื้นที่สาธารณะให้กับเมือง กรณีทุบเรือนจำที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อคืนพื้นที่ให้สาธารณะ โดยรายละเอียดของการสัมภาษณ์ตอนแรกมีดังนี้

 

ช่วงนี้เป็นช่วงที่สื่อมวลชนไทยให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก และพลอยทำให้คนในต่างจังหวัดซึ่งไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการของจังหวัดตัวเอง ต้องมาสนใจข่าวนี้ด้วย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราอย่างไรบ้าง

สะท้อนสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง เพราะว่า สื่อมวลชนแทบทุกแขนง แทบทุกหน่วยงานในประเทศของเราตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และคนที่ทำงานเกี่ยวพันกับสื่อมวลชนก็มีสิทธิเลือกตั้ง ก็เลยเป็นความสนใจ ทั้งสนใจเรื่องงานด้วย เรื่องส่วนตัวด้วย เพราะฉันไปติดตามผู้สมัครเหล่านี้ แล้วฉันจะเลือกใคร ฉันตัดสินใจ เพราะฉะนั้นข่าวเลยออกมาทุกวัน

เรื่องที่สอง ก็สะท้อนถึง อำนาจการตัดสินใจต่างๆ เรื่องสำคัญๆ ของประเทศรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ หมด เราไม่มีสถานีสำคัญๆ ในภาคอื่นเลย ทุกอย่างรวมศูนย์ที่นั่นหมด เพราะฉะนั้นเมื่ออำนาจการตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ หมด ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ การศึกษา ทุกอย่างก็รวมที่นั่น ก็ยังเป็นรัฐที่ยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ยังไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

 

จากที่เราเห็นการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครฯ และคนต่างจังหวัดก็ไม่มีโอกาสเลือกตั้งในระดับที่ใหญ่อย่างนั้น มีข้อเสนอสำหรับโมเดลการกระจายอำนาจสำหรับจังหวัดอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา มีระดับการปกครองเพิ่มขึ้นอีกอันหนึ่งคือส่วนภูมิภาค และหลังจากนั้นเราก็มีการปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาล ต่อมาก็มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต่อมาก็มีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเวลานี้ อบต. อบจ. กับเทศบาล ก็มีเต็มพื้นที่แล้ว ทุกระดับก็มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ก็ถือว่าเติบโตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือการปกครองส่วนภูมิภาคซ้ำซ้อนกับการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้วในประเทศที่ก้าวหน้าไปเช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น เกาหลี เขาไม่มีระบบการปกครองส่วนภูมิภาคแล้ว ที่ฝรั่งเศสเขาก็เปลี่ยนภูมิภาคมาเป็นการตรวจสอบกำกับดูแลท้องถิ่น ขอเราก็ควรเป็นแบบนี้ คือเอาภูมิภาคกับท้องถิ่นมารวมกัน เราจะเรียกว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป หรือจะเรียกเป็น อบจ. ก็ได้ แต่ควรจะมีหน่วยงานเดียว แล้วก็ดูแลท้องถิ่น ก็จะเป็นการปกครองท้องถิ่น 2 ระดับ คือระดับหนึ่งดูทั้งจังหวัดเรียกว่า ผู้ว่าฯ หรือนายกฯ อบจ. อีกอันหนึ่งก็เป็นเทศบาลอยู่ในเมือง ส่วน อบต. ก็ดูแลชนบท

ซึ่งตอนนี้มีข่าวว่าจะเปลี่ยนชื่อหมดเลยก็คือเป็นเทศบาลเมือง กับเทศบาลชนบท เพราะฉะนั้นนี่คือทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนในแต่ละจังหวัดควรจะมีโอกาสได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตน และตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต การบริหารงาน และการจัดการท้องถิ่นของเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net