Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านบางสะพานเดินสาย ค้านนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมอุตสาหกรรมเหล็กทำลายเศรษฐกิจของชุมชน ชี้ปัญหาทั้งรุกที่ป่า- EIA ที่ยังไม่ผ่าน ต่อด้วยบุกกระทรวงอุตฯ เบรกขยายสวนอุตสาหกรรมทับที่ป่าสงวนฯ

 
2 พ.ค.56  – ชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน ประมาณ 100 คนจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ทวงถามความตระหนักของนักลงทุนญี่ปุ่นในการลงนามบันทึกข้อตกลงของบริษัท JFE Steel และบริษัท Marubeni-Itochu Steel Inc. (MISI) เพื่อขยายอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าสงวนแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท สหวิริยา สตีลอินดัสตรี (SSI) จำกัด (มหาชน) และบริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย
 
 
 
 
ชี้ทุนต่างชาติควรรับรู้ปัญหา ก่อนความขัดแย้งบานปลาย
 
“ก่อนจะเดินหน้าลงทุน มีปัญหาที่ JFE และ MISI ต้องรับรู้ การรุกที่ป่าสงวน การทำลายธรรมชาติ และ EIA ที่ยังไม่ผ่าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความขัดแย้งบานปลายขึ้น” นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน กล่าว
 
นางจินตนา ให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน บริษัท SSI เจ้าของโรงรีดเหล็กในอำเภอบางสะพาน ถูกกรมที่ดินดำเนินคดีฐานครอบครองเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง และถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว 52 แปลง รวมพื้นที่ 798 ไร่ และบริษัทฯ ยังมีปัญหาครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สั่งให้เช่าพื้นที่เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
 
ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโรงถลุงเหล็กยังไม่ผ่านคณะผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะผู้ชำนาญการตั้งคำถามกว่า 100 ข้อเนื่องจากไม่มั่นใจว่าการสร้างโรงถลุงเหล็กจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน
 
อีกทั้ง ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ยกเลิกการลงนามเบื้องต้นที่จะร่วมทุนกับ SSI เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กในอำเภอบางสะพานแล้ว
 
นางจินตนา กล่าวว่า การร่วมลงทุนดังกล่าวจะเป็นการต่ออายุให้กับบริษัทเอกชนซึ่งมีมาตรฐานย่ำแย่ และซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่ให้รุนแรกมากยิ่งขึ้น
 
ส่วนผลการเจรจา นายยูกิฮิโกะ คาเนโกะ เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ตัวแทนสถานทูต ระบุทางสถานทูตญี่ปุ่นเองยังไม่เคยได้รับเรื่องการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานหรืออุตสาหกรรม  อย่างไรก็ตาม จะส่งหนังสือที่ได้รับมอบไปยังบริษัทเอกชนญี่ปุ่นเพื่อให้รับทราบว่ามีชาวบ้านมาคัดค้านกรีดังกล่าว แต่จะให้ถอนหุ้นหรือยกเลิกการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันของบริษัทเอกชนนั้นคงไม่ได้
 
 
ร้องกระทรวงอุตฯ อย่าปล่อย ‘อุตสาหกรรมเหล็ก’ ขยายทับป่าสงวน
 
ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าแม้จะไม่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก แต่บริษัท SSI จะดำเนินการขอเปิดเขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการขยายอุตสาหกรรมเหล็กทับพื้นที่ป่าสงวนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามทางกระทรวงอุตสาหกรรมยืนยัน ยังไม่มีการยื่นเรื่อง และการประกาศไม่ใช่เรื่องง่ายต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน
 
นางจินตนา กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิจะกังวล เพราะสิ่งที่บริษัทเอกชนทำนั้นเหมือนกับเป็นการโยนหินถามทางในหลายๆ วิธีการที่มีความเป็นไปได้ จึงขอยื่นเรื่องคัดค้านไว้ก่อน โดยขอให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมโรงงาน และผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ร่วมกันลงนามเป็นการยืนยันว่าได้รับทราบการมาคัดค้านครั้งนี้ของชาวบ้าน ซึ่งหากมีการดำเนินการใดๆ โดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านก็จะถือเป็นหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป     
 
จากนั้นชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบางสะพาน เดินทางไปที่สำนักโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ติดตามความคืบหน้าการประกาศผังเมืองบางสะพาน ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการผังเมือง โดยขอมีส่วนร่วมในกระบวนการในฐานะเจ้าของพื้นที่
 
ทั้งนี้ ความต้องการของชาวบ้านคือให้บางสะพานเป็นพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับเกษตรกรรม ชุมชน และปลอดอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ
 
อนึ่ง ชาวประมง เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดย่อม มีความเห็นว่า การขยายอุตสาหกรรมเหล็กจะทำลายเศรษฐกิจของชุมชนในภาคเกษตร ประมงและท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดเป็นเศรษฐกิจสามขาในแผนพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และห่วงใยว่าจะถูกคุกคามในสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เนื่องจากแผนการขยายอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วยโรงถลุงแร่เหล็กและโรงงานอีกหลายชนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง
 
ขณะที่ อ.บางสะพานเป็นพื้นที่วางไข่ของปลาทูในอ่าวไทย และมีป่าสงวนแห่งชาติพรุแม่รำพึง ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เมื่อ พ.ศ.2009 นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจสวนมะพร้าวอินทรีย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก และส่งออกผลิตภัณฑ์แก่สหภาพยุโรป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net