Skip to main content
sharethis

นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาเผยแพร่จดหมายเปิดผนึก วอนให้ถอนร่างกฎหมายปรองดอง-นิรโทษกรรม หวั่นคนไทยปะทะกัน ขอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเร่งช่วยทั้งพันธมิตรฯ และ นปช.ออกจากคุก

30 ก.ค.56 มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันนี้นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเรื่องความปรองดองแห่งชาติส่งถึงประชาชน ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และตุลาการ มีใจความโดยสรุปว่า

ในฐานะทำงานการเมืองมานาน มีความห่วงใยกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันอย่างยิ่งที่ประชาชนและผู้มีอำนาจทั้งหลายในแผ่นดิน กำลังสับสนในเรื่องของความสามัคคี เสนอกฎหมายในลักษณะ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ หรือพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหตุการณ์ความผิดทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน

ผมเห็นว่าแทนที่จะก่อให้เกิดความปรองดอง หรือความสามัคคีของคนในชาติ กลับจะทำให้ความแตกแยกขยายวงความรุนแรง จนอาจเกิดความไม่สงบที่ยากจะเยียวยาได้ ซึ่งเริ่มตั้งเค้าต่อต้านการเสนอกฎหมายทั้ง 2 รูปแบบ หากพิจารณาให้ดีและมองเรื่องนี้อย่างไตร่ตรองแล้ว จะเห็นว่าเรื่องที่เสนอนี้ไม่มีความจำเป็นเลย เพราะมองว่าสังคมปัจจุบันเป็นปกติอยู่แล้ว

นายอุทัยกล่าวว่า มีความจำเป็นใดที่จะเสนอ พ.ร.บ.ทั้ง 2 เรื่องให้เกิดเรื่องขึ้นมา ได้โปรดอย่าทำได้ไหม ถอนญัตติทั้ง 2 รูปแบบออกจากสภาฯ เสีย ถ้าเห็นแก่ความสามัคคีปรองดองอย่างจริงใจ แต่ยอมรับว่ายังมีคนประมาณ 200-300 คน ถูกจับกุมคุมขัง ถูกดำเนินคดีในศาล บางส่วนเดือดร้อนอยู่ คนเหล่านี้รักชาติ ไม่ว่าจะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนไม่เกิน 300 คนนี้ต่างหาก ที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะดำเนินการอย่างไรกับเขาให้จบๆ โดยไม่ต้องเอาคนทั้งประเทศมาตั้งขบวนปะทะกัน ดังนั้นควรรีบเร่งพิจารณาโดยด่วน

กระบวนการยุติธรรมต้องอย่าเช้าชามเย็นชาม เอาคดีเหล่านี้มาเป็นคดีสำคัญของสังคม เมื่อเขาขอประกันก็ควรใช้ดุลยพินิจให้ประกันทันที โดยไม่ต้องเรียกหลักทรัพย์

อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากร หากผิดกฎหมายก็ว่าไปตามความเหมาะสมของโทษและการกระทำ อย่างนี้บ้านเมืองจึงจะได้ชื่อว่ามีขื่อมีแปและการเมืองภาคประชาชนก็จะเข้มแข็ง ความแตกแยกที่ตั้งเค้าอยู่จะได้สลายไป อย่าทำแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net