สิริพรรณ นกสวน : ชวนกันไปจ่ายตลาดทางความคิด ท่ามกลางความขัดแย้ง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความกลัวมวลรวมของมวลชนแต่ละฝ่ายคืออะไร? (เน้นว่าของมวลชน ไม่ใช่ของชนชั้นนำ เพราะชนชั้นนำที่เป็นคู่ขัดแย้งต่างมีวาระและเป้าหมายของตน จึงจะวิเคราะห์แยกกัน)

1.กลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์: กลัวเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบและไม่มีกลไกตรวจสอบ จึงไม่ไว้วางใจการเลือกตั้ง

กระบวนการแก้ไขและเนื้อหา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นหลักฐานอ้างอิงที่ดี

ส่วนการแก้ รัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ สว. (แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา) โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.ทั่วไป

แต่เมื่อรัฐบาลเลือกที่จะใช้กระบวนการที่ผิดหลักนิติรัฐ ความกลัวการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลเสียงข้างมากยิ่งถูกตอกย้ำ เพราะหากยึดรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดแล้ว ใครเล่าจะตรวจสอบกระบวนการที่ไม่ชอบนี้ได้

ถึงแม้ในสายตาของนักกฎหมายบางท่านมองว่าการผิดกระบวนการเพียงน้อยนิดนี้ไม่ใช่สาระที่จะล้มการแก้ไข รัฐธรรมนูญ แต่ขอแย้งว่า โดยหลักกฎหมายเองมิใช่หรือ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเป็นเบื้องต้น เพราะกระบวนการจะเป็นหลักประกันความเป็นธรรมของเป้าหมายที่ดีที่สุด

2. กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาล: กลัวสูญเสียรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กลัวการแทรกแซงของขุนทหาร อำมาตย์และวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ ที่สุดแล้ว คือ กลัวประชาธิปไตยและการเลือกตั้งถูกทำลาย

การรัฐประหารในอดีต+ข้อเรียกร้องของคุณสุเทพที่ไม่เอาการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่เป็นหลักฐานอ้างอิงที่ดี

การตีความรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยไทยแนวทางใหม่โดยนักวิชาการบางกลุ่ม ว่าไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเป็นการตอกย้ำความกลัวนี้

หากเราไม่ปิดตาข้างหนึ่ง จะเห็นได้ว่าความกลัวทั้งสองด้านมีเหตุและปัจจัยรองรับ ทั้งนี้ต้องออกมาจากหลุมดำของวาทะกรรม คนดีโดยสถานภาพ ชาติกำเนิด vs. ถ้ามาจากการเลือกตั้งแล้วทำอะไรก็ถูกไปหมด เสียก่อน

ฉันทามติในข้อตกลงแม้เพียงหนึ่งหรือสองข้อที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกันได้มากที่สุด จะช่วยให้เราก้าวพ้นวิกฤตินี้และความขัดแย้งที่จะมีในอนาคต การหักหาญเอาชนะด้วยกำลังไม่ว่าโดยฝ่ายจำนวนมากกว่า หรือฝ่ายเสียงดังกว่า มีแต่จะทำให้เลือดนองแผ่นดิน

การยุบสภา เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถึงแม้จะถอน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้ว และสัญญาว่าจะไม่นำกลับมาพิจารณาอีก รัฐบาลก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแต่อย่างใด

สายไปไหมที่จะยุบสภา ยังไม่สาย และในทางยุทธศาสตร์การเมืองจะเร็วเกินไปด้วย เพราะต้องรอให้สมาชิก 109 เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครอบ 30 วันก่อน จึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ดังนั้น คิดว่ารัฐบาลเองน่าจะพิจารณาทางเลือกนี้อยู่เช่นกัน เพียงแต่รอเวลา

การยุบสภา จะช่วยไม่ให้ข้อเรียกร้องของคุณสุเทพถูกลากไปไกลกว่าสิ่งที่รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบ และนอกเหนือขอบเขตที่รัฐธรรมนูญและวิถีทางประชาธิปไตยจะรองรับได้

ในอีกด้านหนึ่งคือข้อเสนอของกลุ่มผู้ประท้วงเรื่องสภาประชาชน หากจะนำมาปรับใช้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบคิดว่า

1.ไม่ใช่การแทนที่รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นการล้มเลิกระบอบประชาธิปไตย และไม่ได้เกิดโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือตีความรัฐธรรมนูญแบบพิสดาร

2.เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย (มากกว่าสองฝ่ายข้างต้น) เข้าร่วม ต้องไม่ใช่สภาของนักวิชาการ

3. มีกฎหมายรองรับ เช่น แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 หรือออก พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. จัดตั้ง มีที่มา ขอบเขต อำนาจหน้าที่ และระยะเวลาในการดำรงอยู่ชัดเจน กล่าวคือ มีขึ้นเพื่อหาฉันทามติในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฎิรูปการเมือง โดยไม่มีอำนาจในการบริหารหรือแต่งตั้งผู้นำประเทศ

ทั้งนี้ หากจะปรับใช้รูปแบบสภาประชาชน รัฐบาลต้องทำก่อนการยุบสภา เพื่อเป็นหลักประกันว่าสภาดังกล่าวจะสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง และข้อเสนอมีผลผูกพันบังคับใช้ตามกฎหมาย ซึ่งจะป้องกันไม่ให้รัฐบาลในอนาคตไม่ว่าพรรคใดเป็นแกนนำ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงทิศทางของประเทศโดยปราศจากฉันทามติในสังคม

หากสภาดังกล่าว มีข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่ ให้นำประเด็นที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง

ประเด็นพื้นฐานที่ควรพิจารณาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่น

1. รัฐธรรมนูญควรแก้ไขได้ยาก (rigid constitution) ด้วยเสียงข้างมากอย่างมาก เช่น 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 ของรัฐสภา และควรต้องผ่านประชามติ ซึ่งเท่ากับให้ประชาชนเห็นชอบ เกณฑ์ประชามติหากคงไว้ที่เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะมีความชอบธรรมสูง หากเห็นว่าเป็นไปได้ยากในความเป็นจริง อาจปรับให้เป็นเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของผู้มาใช้สิทธิ+เสียงข้างมากของประชาชนในทุกจังหวัด หรือ ในทุกภาค เป็นต้น

2. เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เช่น หากไม่ชอบเนื้อหาของร่างกฎหมายโดยรัฐสภา สามารถเสนอกฎหมายแข่งได้ โดยให้ประชาชนลงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย หรือให้มีการเลือกตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (recall election) ที่ประชาชนใช้สิทธิถอดถอนพร้อมกับการเลือกตัวแทนคนใหม่

3. ให้มีความชัดเจนในเรื่องอำนาจของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจของศาล ควรจำกัดอยู่เพียงเรื่องร่างกฎหมายทั่วไปจริง ๆ หากเป็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจของสภาและการทำประชามติโดยประชาชน เมื่อให้อำนาจประชาชนตัดสินใจแล้ว จึงไม่ควรมีองค์กรอื่นใดมาล้มล้างการตัดสินใจนั้นได้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท