ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (12): นักเขียนไส้แห้งฝรั่งเศสกับเหตุผลทางเศรษฐกิจในการล้มเจ้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
การขยายตัวของตลาดหนังสือและสิ่งพิมพ์ในฝรั่งเศสตลอดศตวรรษที่ 18 ทำให้มีผู้คนเริ่มทำมาหากินกับการเขียนหนังสือมากขึ้น อย่างไรก็ดีปลายทางของการเขียนหนังสือเลี้ยงชีพในช่วงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการเป็นนักเขียนไส้แห้ง ซึ่งนักเขียนหลายๆ คนก็หันเหไปรับใช้อำนาจรัฐศักดินาของระบอบเก่า และเป็นส่วนหนึ่งของระบบเซ็นเซอร์หนังสือและตำรวจวรรณกรรมอันใหญ่โตของฝรั่งเศส
 
นี่ทำให้โลกของนักเขียนในปารีสช่วงก่อนปฏิวัติฝรั่งเศสดูจะแบ่งเป็นสองโลกที่แยกขาดจากกัน [1] โลกใบแรกคือโลกของนักเขียนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของระบอบเก่านั้นมีกลไกการควบคุมสิ่งพิมพ์ที่ซับซ้อนมาก เพราะกลไกตั้งแต่การให้อภิสิทธิ์ผูกขาดการพิมพ์หนังสือและการเซ็นเซอร์ไปจนถึงแบนหนังสือถือเป็นหน่วยเดียวกันหมด [2]  กลไกเหล่านั้นก็ต้องการคนดำเนินการในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกองเซ็นเซอร์ที่ต้องผ่านตาสิ่งพิมพ์ถูกกฎหมายทุกชนิดที่จะตีพิมพ์ในราชอาณาจักรหรือตำรวจวรรณกรรมที่ต้องไปคอยตรวจสอบสิ่งพิมพ์ที่กระจายอยู่ในราชอาณาจักรว่าถูกกฎหมายหรือไม่ 
 
ผู้มีความรู้ความชำนาญในการเหล่านี้ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเหล่านักเขียนเอง ด้วยการนี้ทางราชสำนักจึงได้จ้างงานนักเขียนบางส่วนให้กลายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ การทำงานกับรัฐนอกจากจะเป็นการทำงานอันทรงเกียรติที่ทำให้นักเขียนสามัญชนได้ไปมีส่วนร่วมกับโลกของอภิชนแล้ว มันก็ยังสร้างความมั่นคงทางการเงินด้วย เพราะการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ได้เงินเดือนมากด้วย กลไกการควบคุมสิ่งพิมพ์อันใหญ่โตของระบอบเก่านั้นดูจะทำให้มีการจ้างงานนักเขียนมากมายที่ยินยอมทำงานให้รัฐ
 
แน่นอนว่านักเขียนเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ มันยังมีนักเขียนอีกจำนวนมากที่ทำงานรับจ้างเขียนไปเรื่อยๆ คนพวกนี้ถ้าจะเรียกภาษาปัจจุบันก็คงต้องเรียกว่านักเขียนไส้แห้ง พวกเขาจะอาศัยอยู่ตามแหล่งห้องเช่าแออัดของปารีสและมีเพื่อนบ้านเป็นทั้งโจรนอกกฎหมายและโสเภณีกันเป็นปกติ คนพวกนี้ทำงานตั้งแต่รับเขียนตามใบสั่งของนิตยสารและสำนักพิมพ์เขียนงานส่งๆ มาขายมวลชน ไปจนถึงเขียนหนังสือที่เนื้อหาล่อแหลมต้องไปตีพิมพ์เป็นหนังสือเถื่อนนอกฝรั่งเศสและนำกลับเข้ามาขายอีกที
 
โดยทั่วไปนักเขียนทั้งสองโลกนั้นไม่สังสรรค์และข้องแวะกัน พวกนักเขียนที่ทำงานกับรัฐนั้นจะไปสังสรรค์กันตามสถานที่หรูๆ ของปัญญาชนอภิชนปารีสอย่างซาลอน ส่วนพวกนักเขียนไส้แห้งทั้งหลายก็จะไปขลุกสำมะเลเทเมากันอยู่ในคาเฟ่อันเป็นแหล่งซ่องสุมของชนชั้นล่าง นอกจากไปสังสรรค์ในสถานที่ต่างกันแล้ว นักเขียนทั้งสองพวกยังเคารพบุคคลที่ต่างกันด้วย นักเขียนที่ทำงานกับรัฐจะยกย่องนักเขียนขบถที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐในบั้นปลายชีวิตอย่าง Voltaire ส่วนพวกนักเขียนไส้แห้งก็จะเคารพยกย่องคนที่แม้เคยทำงานให้รัฐ แต่สุดท้ายก็หันหลังให้รัฐและใช้ชีวิตบั้นปลายเยี่ยงนักเขียนใส้แห้งอย่าง Rousseau มากกว่า [3]
 
จะเห็นได้ว่านักเขียนทั้งสองแบบดูจะอยู่ในปารีสเหมือนกันแต่ใช้ชีวิตกันแบบคนละโลก หากินกับโครงสร้างที่ต่างกัน นักเขียนในกลไกรัฐคือพวกที่หากินกับระบบการควบคุมการพิมพ์ของรัฐตั้งแต่ระบบอภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมไปจนถึงระบบเซ็นเซอร์ ส่วนนักเขียนไส้แห้งนั้นก็หากินที่ชายขอบของระบบนี้ไปจนถึงนอกระบบ เพราะอย่างน้อยๆ พวกนิตยสารต่างๆ ที่เป็นแหล่งรายได้หลักของพวกนักเขียนไส้แห้งก็ไม่ได้มีความผูกพันใดๆ กับระบบอภิสิทธิ์ทางวรรณกรรมนัก ซึ่งต่างจากพวกสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่พิมพ์หนังสือภายใต้อภิสิทธิ์เป็นหลักและผูกพันกับระบบนี้อย่างใกล้ชิด พวกนักเขียนไส้แห้งพวกนี้ดูจะมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพวกโรงพิมพ์นอกฝรั่งเศสที่ตีพิมพ์งานได้ไม่มีข้อจำกัดมากกว่า 
 
ที่น่าสนใจและก็เข้าใจได้ไปพร้อมกันก็คือ หนังสือเถื่อนที่มีเนื้อหาท้าทายตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ยันระบบระเบียบของระบอบเก่าในช่วงปลายระบอบเก่านั้นมันก็ล้วนเป็นฝีมือของพวกนักเขียนใส้แห้งทั้งสิ้น และหนังสือพวกนี้แทบจะทั้งหมดก็ถูกตีพิมพ์นอกฝรั่งเศสและถูกลักลอบนำเข้ามาขายในฝรั่งเศสถึงปารีส คำถาม ณ ที่นี้คือคือนักเขียนไส้แห้งพวกนี้มีความคิดทางการเมืองอย่างไรถึงเขียนหนังสือเปล่านี้ออกมา? พวกนี้เป็นพวก “ล้มเจ้า” หรือ? พวกนี้เป็นพวกนิยมความเท่าเทียมแบบถึงรากถึงโคนแบบเหล่าผู้คนในสมาคมจาโคแบงหรือ?
 
ในเบื้องต้น พวกนักเขียนเหล่านี้ดูจะเป็นพวกที่ไม่พอใจในระบอบเก่าเนื่องจากพวกตนไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากเลยมากกว่าที่จะเป็นผู้รักความเท่าเทียมแบบถึงรากถึงโคน นักเขียนพวกนี้ก็พร้อมจะกระโจนไปรับตำแหน่งในกลไกรัฐหลังการปฏิวัติและกลายเป็นอภิชนใหม่กลายๆ ไปอย่างไม่เคอะเขินเลยแม้แต่น้อย จนทำให้มีคำครหาว่านักเขียนพวกนี้ก็แค่พวกไม่ประสบความสำเร็จทางอาชีพในระบอบเก่าเท่านั้นไม่ใช่พวกเสรีชนต่อต้านอำนาจจริงๆ
 
อย่างไรก็ดีถ้าหากพิจารณาแล้ว ปัญหาดูจะซับซ้อนกว่านั้น เพราะนักเขียนพวกนี้บางส่วนก็เขียนงานที่ท้าทายระบอบกษัตริย์เพื่อทำมาหากินด้วย (ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ตีพิมพ์โดยไม่ลงชื่อผู้เขียน) ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่นักเขียนพวกนี้จะประสบความสำเร็จในระบอบเก่า เพราะแค่ทางระบอบเก่ารู้ว่าพวกเขาเป็นเจ้าของงานเขียน เขาก็อาจได้ไปนอนเล่นในคุกบาสตีลล์ก็ได้ ดังนั้นถ้ามองว่าการเขียนงานท้าทายระบอบกษัตริย์และวิพากษ์สังคมการเมืองเป็นการเขียนที่แสดงถึงเจตจำนงของคนเหล่านี้ สิ่งที่คนพวกนี้ต้องการก็คือ “เสรีภาพในการแสดงออก” และพวกเขาก็ได้รับเสรีภาพนั้นพร้อมๆ กับการพังครืนของคุกบาสตีลล์อันเป็นฉากอันน่าจดจำของการปฏิวัติฝรั่งเศส
 
“เสรีภาพในการแสดงออก” ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่อะไรนอกจาก “เสรีภาพของแท่นพิมพ์” เพราะทันทีที่การปฏิวัติเกิดขึ้น ระบบการควบคุมตรวจตราการพิมพ์อันใหญ่โตของฝรั่งเศสก็พังครืนลงมาทันที และนี่ก็เป็นการล้มของระบบควบคุมแท่นพิมพ์ภายใต้อำนาจกษัตริย์ที่ดังกว่าที่อังกฤษอย่างเทียบกันไม่ได้ 
 
ในอังกฤษ เสรีภาพของแท่นพิมพ์เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาก เพราะหลังการปฏิวัติอังกฤษและเสรีภาพทางการพิมพ์ในช่วงสั้นๆ ระบบกษัตริย์ก็กลับมาพร้อมกับระเบียบของอภิสิทธิ์การพิมพ์แบบเก่า แต่การกลับมาคราวนี้ก็ไม่สามารถคุมปริมาณแท่นพิมพ์ได้เหมือนก่อนการปฏิวัติอีกแล้ว และระเบียบการพิมพ์ต่างๆ ก็หย่อนยานลงไปมาก สุดท้ายระเบียบของอภิสิทธิ์การพิมพ์ดังกล่าวจะจบไปเพราะสภาไม่ต่ออายุให้ภายหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และการผงาดขึ้นของอำนาจของสภาเหนืออำนาจกษัตริย์ และหลังจากนั้นอังกฤษก็มีเสรีภาพของแท่นพิมพ์มาโดยตลอด
 
เสรีภาพทางการพิมพ์ฝรั่งเศสไม่ได้มีความค่อยเป็นค่อยไปแบบนั้น การปฏิวัติฝรั่งเศสมันล้มระบบทั้งระบบอภิสิทธิ์ทางการพิมพ์ที่มีอยู่เดิมลงครืนไปหมดในคราวเดียว นี่หมายความว่าเพียงแค่ชั่วข้ามคืน สิทธิในการผูกขาดการพิมพ์ของพวกช่างพิมพ์ในปารีสที่ถือกันมาเป็นร้อยปีมันก็ได้มลายหายไปกับอำนาจกษัตริย์ แต่มันก็ไม่ใช่แค่นั้น ระบบควบคุมการพิมพ์อันหนักหน่วงของทางการฝรั่งเศสในระบอบเก่าที่ได้แบนหนังสือเนื้อหาล่อแหลมจำนวนมากไม่ให้มีการตีพิมพ์และซื้อขายในฝรั่งเศส ก็พังไปพร้อมๆ กับอำนาจกษัตริย์เช่นกัน นั่นหมายความว่าหลังปฏิวัติ ใครก็มีสิทธิจะพิมพ์อะไรก็ใด้ในปารีส (และที่อื่นๆ ในฝรั่งเศส) โดยไม่ต้องขอใครทั้งนั้น ผลก็คือหลังปฏิวัติไม่นานหนังสือเถื่อนที่เคยถือว่ามีเนื้อหาล่อแหลมทางการเมืองและเคยผิดกฎหมายต้องแอบขายก็กลายมาเป็นหนังสือที่ขายกันได้ทั่วไป
 
หลังปฏิวัติหนังสือเถื่อนที่เคยอยู่ “ใต้ดิน” ของปารีสก็ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” กันอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะงานทางความคิดที่เคยผิดกฎหมายอย่าง Social Contract หรือบรรดาหนังสือเถื่อนขายดีตั้งแต่นวนิยายทิ่จินตนาการถึงยุคที่ฝรั่งเศสไม่มีกษัตริย์ไปจนถึงหนังสือรวมเรื่องซุบซิบนินทาใต้สะดือของพระราชวังแวร์ซายล์ก็ล้วนกลายเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายและสามารถขายได้ทั่วไปในทันที และด้วยบรรยากาศของการเห่อการปฏิวัติในปารีส ก็ไม่แปลกอะไรที่ช่างพิมพ์หน้าใหม่สารพัดจะดาหน้ากันมาพิมพ์หนังสือเหล่านี้ขายกันเกลื่อน หนังสือต้องห้ามที่เคยขายดีแบบหลบๆ ซ่อนๆ ได้กลายเป็นหนังสือขายดีบนแผงทั่วไปในเวลาไม่นาน
 
แน่นอนว่าภายใต้ “เสรีภาพการพิมพ์” ที่ใครจะพิมพ์อะไรก็ได้ พวกบรรดานักเขียนไส้แห้งที่เขียนงานที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามเหล่านี้ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรใดๆ จากการพิมพ์ซ้ำเหล่านี้ทั้งสิ้น เหล่าช่างพิมพ์หน้าใหม่ที่ดาหน้ากันมาตีพิมพ์ทุกอย่างที่เคยพิมพ์ในฝรั่งเศสไม่ได้ในช่วงก่อนปฏิวัตินั้นก็ไม่น่าจะมีการตอบแทนใดๆ กับผู้เขียนทั้งนั้น เพราะขนบในสมัยนั้นการพิมพ์ซ้ำโดยทั่วไปเป็นเรื่องของสำนักพิมพ์ที่พิมพ์งานซ้ำและเจ้าของอภิสิทธิ์การพิมพ์ที่มักจะเป็นสำนักพิมพ์ที่เคยพิมพ์งานนั้นมาก่อน นอกจากหนังสือเถื่อนคือหนังสือที่ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ในระบอบเก่าคอยกำกับอยู่แล้ว การปฏิวัติยังได้เป็นการล้มระบบอภิสิทธิ์การพิมพ์ทั้งหมดลงอย่างที่กล่าว ดังนั้นในทางเทคนิค การพิมพ์งานเหล่านี้ซ้ำหลังการปฏิวัติจึงไม่เป็นการละเมิดใครทั้งนั้น
 
ผู้เขียนหนังสือเหล่านี้ที่เคยเป็นนักเขียนไส้แห้ง ในตอนนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกแห่งสาธารณรัฐอันทรงเกียรติไปแล้ว พวกเขาทำให้บรรดาอริเก่าอย่างนักเขียนที่รับใช้ระบอบเก่าตกงานกันเกือบหมด ขณะนี้พวกเขามีอำนาจที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การพิมพ์ในฝรั่งเศสได้ และพวกเขาก็ดูจะใส่ใจในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองในฐานะนักเขียนมากกว่าที่จะมองว่าการตีพิมพ์งานของพวกเขาโดยเสรีจะเป็นการส่งเสริมการปฏิวัติและสาธารณรัฐ ซึ่งก็ไม่แปลกเลยที่พวกเขาคือผู้สนับสนุนกฎหมาย “ลิขสิทธิ์” ฉบับฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
 
 
อ้างอิง
 
[1] Robert Darnton, "The High Enlightenment and the Low-Life of Literature in Pre-Revolutionary France", Past & Present, No. 51 (May, 1971), pp. 81-115
[2] สำหรับรายละเอียดของระบบการควบคุมวรรณกรรมในระบอบเก่าช่วงก่อนปฏิวัติ ดู  Carla Hesse, Publishing and Cultural Politics in Revolutionary Paris, 1789-1810, (Berkeley: University of California Press, 1991), pp. 6-33
[3] ทั้งนี้ Voltaire ก็ยังถือว่าเป็นคนที่ได้รับความเคารพอยู่ในภาพรวมของปัญญาชนฝรั่งเศสก่อนปฏิวัติแม้ว่าปัญญาชนรุ่นใหม่ๆ บางคนช่วงก่อนการปฏิวัติจะเกลียดมากๆ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท