Skip to main content
sharethis
11 ก.ค 2557 รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) เปิดเผยถึงกรณีปัญหาเรื้อรัง 15 ปีของการบริหารระบบพนักงานมหาวิทยาลัย ว่า ถึงเวลาแล้วที่ คสช. ต้องหันมาคืนความสุขให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะอาจารย์และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ที่ปฏิบัติงานในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวถึงความเป็นมาว่า ในอดีตมีการกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในสถาบันอุดมศึกษา มีสถานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับอาจารย์ และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า สำหรับบุคลากรสายสนับสนุน โดยจะไม่ได้รับสวัสดิการของระบบข้าราชการเดิม  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดอัตราพนักงานมหาวิทยาลัย ทดแทนอัตราข้าราชการ และปัจจุบันในสถาบันอุดมศึกษาไม่มีการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว โดยจะใช้การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการเดิม  ปัจจุบันมีบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษากว่า 1 แสน 7 หมื่นคน มีข้าราชการเหลือเพียง 3 หมื่นคน และระบบที่กำหนดไว้ในอดีตดูเหมือนจะราบรื่นแต่ความจริงมีปัญหามาโดยตลอด คือ พนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการปฏิบัติตามตามมติ ครม. ดังกล่าวจริง มีเพียงไม่กี่มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ให้เงินเดือนเต็ม 1.7  และให้สัญญาจ้างไปจนอายุ 60 ปี
 
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวต่อว่า ที่น่าตกใจมากคือศูนย์ประสานงานฯ ได้รับทราบข้อมูลของอาจารย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนใต้ ว่าได้รับเงินเดือนในอัตตราสูงสุดไม่เกิน 1.5  บางแห่ง ได้ 1.3 และมหาวิทลัยบีบสัญญาจ้างลงเหลือเพียง 3 ปี 4 ปี และสูงสุดไม่เกิน 5 ปี อาจารย์หลายคนได้ลาออก หลายท่าน ถูกบีบออกจากงาน  ในสายอาจารย์ที่สอนรัฐศาสตร์สังคมศาสตร์ ต้องออกพื้นที่เพื่อทำวิจัย ทำการเรียนการสอน เสี่ยงต่อการลอบสังหาร และยังมีความไม่มั่นคงในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอีก ด้วยสัญญาที่สั้น เงินเดือนไม่เป็นตามข้อตกลง จึงได้ร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ประสานงานฯ จำนวนมาก
 
“เราขอให้ คสช. ใช้โอกาสนี้ คืนความสุขให้พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แก้ปัญหาระบบพนักงานมหาวิทยาลัยให้เหมือนกันทั่วประเทศ  สำนักงบประมาณจัดสรรงบมาตามมติ ครม. อยู่แล้ว ก็ขอให้ทุกคนได้เงินเดือนค่าตอบแทนและอายุสัญญาจ้างเท่ากันตามเจตนารมย์ของมติ ครม. เมื่อปี 42 และหลายมหาวิทยาลัยทำดีอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎชัยภูมิ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ฯลฯ แต่มีมากกว่า 50 มหาวิทยาลัยที่แก้ไขปัญหายังไม่ได้ และไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าว ซึ่งปัญหาเกิดจากความไม่เข้าใจในระบบ และการให้อิสระในการบริหารจัดการพนักงานฯ”  รศ. ดร. วีรชัยกล่าว
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net