Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
สังคมไทยเป็นสังคมที่ฝากความหวังสูงส่งไว้กับบทบาทของนักวิชาการมหาวิทยาลัย ในแง่หนึ่งนั้นอาจเป็นเพราะสังคมไทยยังมีแนวคิดโบราณว่าความรู้ในตัวหนังสือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในอีกแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมไทยขาดแคลนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลวัต จึงหันไปฝากความหวังไว้กับกลุ่มบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวทางคำพูดหน้าจอทีวีเป็นครั้งคราว
 
แต่หากพิเคราะห์ดูให้ดีแล้ว ความหวังกับความเป็นจริงยังมีช่องว่างที่โหว่แหว่งไม่น้อย นักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มิใช่ผู้มีความคิดทางการเมืองหรืออุดมการณ์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้น หลายคนก่อรูปความคิดของตัวเองโดยผูกกับสำนักความคิดที่ครอบงำในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ตนได้รับทุนการศึกษา หลายคนออกมาเคลื่อนไหวและพยายามตอบสนองความคาดหวังของสังคมด้วยเจตนาที่ดีก็จริง แต่ในเมื่อขาดแคลนจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน การแสดงคิดเห็นต่อสาธารณะก็มีโอกาสแกว่งไกวแปร่งเพี้ยนไปตามกระแสสังคมในห้วงเวลานั้น ๆ 
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะปัญหาการเมืองการปกครองในระดับชนชั้นนำ การเขียนหนังสือและแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะในประเด็นปัญหานี้สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชน สร้างชื่อเสียงและสถานะให้ตนเองได้มากกว่าความสนใจในเรื่องอื่น จริงอยู่ ปัญหานี้สร้างความไร้เสถียรภาพให้แก่สังคมไทยในปัจจุบันอย่างมาก แต่มันเป็นแค่ปัญหาพื้นผิวของมหาสมุทรที่กระเพื่อมอยู่ข้างใต้ เพราะถึงที่สุดแล้ว ชนชั้นนำไทยสามารถครองอำนาจหรือผลัดเปลี่ยนเวียนหน้าในเกมอำนาจได้ ก็เพราะเหตุที่สามัญชนส่วนใหญ่ยังขาดการจัดตั้งและไร้อำนาจต่อรองนั่นเอง
 
การที่เรามีนักวิชาการรุ่นใหม่อย่างเกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร หรือชื่อเล่นที่เพื่อน ๆ เรียกเขาว่าเกี๊ยง ซึ่งเป็นนักวิชาการที่มีความสนใจจริงจังต่อปัญหาที่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจนัก กล่าวคือ ปัญหาของชนชั้นแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เกรียงศักดิ์เคยทำงานในองค์กรเอกชน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันศึกษาต่อต่างประเทศ เขาเป็นคนเลือกคณะ มหาวิทยาลัยและสำนักความคิดที่ตนต้องการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองที่เขามีอยู่ มิใช่ปล่อยให้ทุนการศึกษาเป็นผู้เลือกตัวเขา นอกจากนี้ เขาไม่ได้เรียนรู้เฉพาะในมหาวิทยาลัย แต่ยังออกไปเรียนรู้จากนักกิจกรรมทางสังคม และนำความรู้/ประสบการณ์กลับมาถ่ายทอดให้ผู้สนใจในเมืองไทยอีกต่อหนึ่ง
 
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักพิมพ์คนทำงานที่รวมบทความของเกรียงศักดิ์ในชื่อ “ทุนนิยมไม่มีหัวใจ: จากเศรษฐศาสตร์การเมือง สู่ภูมิศาสตร์แรงงานในทุนนิยมโลก” สะท้อนให้เห็นจุดยืนของเกรียงศักดิ์ที่สนใจปัญหาของชนชั้นแรงงานและเลือกที่จะยืนข้างชนชั้นนี้ บทความของเขาสำรวจทั้งข้อเท็จจริงและแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ สภาพการจ้างงาน การแปรรูปการศึกษา ความขัดแย้งทางชนชั้น ตลอดจนตัวอย่างรูปธรรม เช่น บริษัทแอปเปิ้ล วอลมาร์ทและอิเลคโทรลักซ์ เป็นต้น ปรากฏการณ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความแปรผันที่เกิดมาจากการรุกคืบของลัทธิเสรีนิยมใหม่นั่นเอง
 
เกรียงศักดิ์สนใจทั้งประเด็นภายในและภายนอกประเทศ เพราะปัญหาชนชั้นไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่ในเส้นเขตพรมแดนของประเทศใดประเทศหนึ่ง บางทีการมองออกไปข้างนอกจะช่วยให้เราย้อนกลับมามองภายในได้มากยิ่งขึ้น ดังที่เขาเขียนไว้ในบทความหนึ่งว่า
 
"ผมเชื่ออย่างจริงจังว่าการเรียนรู้จากความอยุติธรรมที่ปรากฏให้เห็นในรูปแบบอื่น ทั้งที่ซับซ้อน เพราะใช้ภาษาและแสดงท่าทีที่ “มีอารยะ” หรือที่เปลือยเปล่า กักขฬะและไม่เขินอายสายตา มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้เรามองเห็นตรรกะที่เป็นสากลของอำนาจและการครอบงำ ที่ถูกแปลให้เห็นและเข้าใจเพียงในวัฒนธรรมของเรา"
 
เชื่อว่าเกรียงศักดิ์จะช่วยถมช่องว่างของความเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางสังคมต่อไป เพื่อกระตุ้นให้สังคมสนใจปัญหาแรงงาน และกระตุกให้สังคมฉุกคิดว่า การเพิกเฉยต่อชะตากรรมของชนชั้นแรงงาน หรือกระทั่งใช้เพื่อนมนุษย์แรงงานสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองอย่างเลือดเย็น ที่แท้แล้วก็คือต้นตอรากเหง้าของการสังหารหมู่ทางการเมืองในสังคมไทย อันเกิดจากการไม่ตระหนักในคุณค่าของเพื่อนมนุษย์นั่นเอง.
 
 
คำนิยมจากหนังสือ "ทุนนิยมไม่มีหัวใจ: จากเศรษฐศาสตร์การเมือง สู่ภูมิศาสตร์แรงงานในทุนนิยมโลก"
 
โดย เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net