ภัควดี วีระภาสพงษ์: ถ้า 'ความรุนแรง' ยังไม่ใช่ทางเลือก ทำไมต้อง 'ยกระดับ'

ความชุลมุนที่หน้า สน.ปทุมวันเมื่อวันที่ 10 ก.พ. และหน้าศาลฎีกาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่เริ่มจากเสียงระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมนุมโดยที่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนนักว่าวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงระเบิดเหล่านี้เป็นชนิดใดบ้าง เพราะอาจเป็นได้ทั้งประทัดหรือระเบิดปิงปอง

แม้จะยังไม่มีใครได้รับบาดเจ็บร้ายแรงจากสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังเกิดเสียงระเบิดเหล่านั้นทำให้สถานการณ์ในการชุมนุมแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการไม่รู้ที่มาที่ไปของผู้ก่อเหตุอีกทั้งยังเกิดขึ้นในเวลากลางคืนทั้งสองครั้ง ไปจนถึงการใช้ความรุนแรงอย่างสะเปะสะปะของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปรากฏการทุบตีเพื่อเอาคืนด้วยความแค้นเกินกว่ากรอบกฎหมายให้ทำได้ในกรณีที่หน้าศาลฎีกา

ในสายตาคนทั่วไปดูจะกังวลต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นและมองว่าเกิดความรุนแรงในการชุมนุมแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยแต่ก็มีคนยุยงส่งเสริมทั้งที่ปรากฏในที่ชุมนุมและการ “ยกระดับ” ที่ถูกพูดถึงในโซเชียลเน็ตเวิร์กด้วยเช่นกัน

ประชาไทชวนภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนและนักแปลอิสระซึ่งมีผลงาน อาทิ ความขัดแย้งสิบเจ็ดประการกับจุดจบของระบบทุนนิยม, ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่ และศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มาคุยกันว่าอะไรคือความรุนแรงและจำเป็นต้องใช้มันเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ สำหรับสถานการณ์ในไทยยังมีความหวังที่จะไม่ต้องไปถึงจุดที่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกันหรือไม่

วิดีโอเหตุการณ์ที่หน้าศาลฎีกาเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564

ทำไมถึงสนใจประเด็นเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการใช้หรือไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง?

เดิมทีความสนใจของเราเกี่ยวกับขบวนการประชาชนในประเทศต่างๆ เราสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่แล้ว มีแนวคิดแบบฝ่ายซ้าย ต้องการต่อสู้กับทุนนิยมอะไรแบบนี้ ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบทางเศรษฐกิจโครงสร้างทางการเมือง ทีนี้ถ้าต้องการเปลี่ยนมันเนี่ย สิ่งที่มาคู่กันที่เราต้องสนใจก็คือขบวนการประชาชน พอมาสนขบวนการประชาชน การประท้วงการต่อสู้ต่างๆ มันก็มีประเด็นเรื่องความรุนแรงกับเรื่องไม่ใช้ความรุนแรงเข้ามา

ไม่ได้ศึกษาเป็นวิชาการ แต่ก็ได้อ่านข้อถกเถียง แล้วก็ดูจากการประท้วงในต่างประเทศ ติดตามวิธีการต่อสู้ของเขาก็จะเห็นบรรทัดฐานของความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงต่างๆ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น

เราเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นความรุนแรงได้หรือไม่ อะไรบ้างที่จะถูกนับรวมว่าเป็นการใช้ความรุนแรง?

เวลาเราพูดเรื่องการใช้ความรุนแรง อันที่จริงแล้วเส้นแบ่งมันไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่หรอก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของฝ่ายรัฐหรือของผู้ชุมนุมก็ตาม อย่างฝ่ายรัฐก็มักจะบอกว่ามีกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพียงแต่รัฐถือว่าเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงพอถึงเวลาก็เหมารวมว่าตัวเองไม่ได้ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นเรื่องของดุลอำนาจที่ไม่เท่ากัน ฝ่ายผู้ชุมนุมโดยทั่วไปเวลาพูดถึงเรื่องความรุนแรงของผู้ชุมนุมเองก็มีเส้นแบ่งที่ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ อย่างเช่น ตำรวจเริ่มต้นก่อนยิงแก๊สน้ำตาใส่วิ่งไล่ตี ถ้าผู้ชุมนุมสักคนด้วยความตกใจ ตื่นกลัว โกรธปาขวดน้ำหรือหินใส่จะถือว่าเป็นความรุนแรงไม๊ อันนี้ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่เถียงกันเยอะมากในต่างประเทศว่าปฏิกิริยาป้องกันตัวถือเป็นความรุนแรงไม๊

แต่ประเด็นของเราตอนวันที่สน.ปทุมวัน หรือกรณีที่หน้าศาลฎีกา จากที่ติดตามและประมวลมาบอกว่าผู้ชุมนุมเริ่มต้นก่อน เริ่มต้นก่อนด้วยการเอาอะไรไปตีตำรวจ ซึ่งไม่ใช่ของที่แรงอย่างเก้าอี้หรือกรวยพลาสติกอะไรแบบนี้ ถามว่ามันทำร้ายตำรวจที่ใส่ชุดอุปกรณ์ครบได้ไม๊ มันก็คงไม่ แต่ขณะเดียวกันก็ถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ มันก็มีโอกาสให้ตำรวจใช้ความรุนแรงออกมาแล้วเหตุการณ์ก็บานปลายไป

แต่ถ้าเป็นจุดที่ถือว่ามีการใช้ความรุนแรงก็คือการใช้ระเบิดปิงปองที่เกิดขึ้น อันนี้ถ้าเป็นโดยทั่วๆ ไปไม่มีที่ไหนบอกว่าระเบิดปิงปองไม่ใช่ความรุนแรงเพราะมันทำให้บาดเจ็บได้

การไม่ใช้ความรุนแรงของฝ่ายพวกที่ใช้สันติวิธีหรือพวกที่ถือเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง (non-violence action) คือต้องไม่ทำให้คนและสัตว์ให้มีอาการบาดเจ็บล้มตาย เพราะฉะนั้นระเบิดปิงปองถือว่าเป็นความรุนแรงแน่นอน

แต่ในส่วนที่ผู้ชุมนุมไปเริ่มฝ่ายตำรวจก่อนเป็นการยั่วยุ คุณอาจจะตีความว่าเป็นความรุนแรงก็ได้ เส้นแบ่งตรงนี้มันไม่ได้ชัดเจนมากอย่างที่เราคิด

แต่ก็ไม่สามารถดูแค่การกระทำของผู้ชุมนุม แต่ต้องดูปฏิกิริยาของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยว่าดุลในการใช้ความรุนแรงที่อาจจะไม่เท่าเทียมกันด้วย?

ใช่ แล้วก็บางทีก็ต้องดูความเป็นมาต่างๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ค่อยนิยมหรือสนับสนุนให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง สาเหตุก็เพราะว่ามันจะทำให้ถูกตอบโต้แล้วก็บานปลาย แล้วก็จะทำลายฝั่งผู้ชุมนุมเอง คือไม่ใช่ผลดี

เราจะสามารถทำความเข้าใจความต้องการใช้และเป้าหมายของการใช้ความรุนแรงในทางการเมืองได้อย่างไรบ้าง อย่างในบางประเทศก็มีการใช้ไปถึงขั้นระเบิดขวด?

กรณีระเบิดขวดเท่าที่ทราบมาคือมีบางพื้นที่เท่านั้นที่ผู้ประท้วงเขาชอบใช้กัน แต่เป็นเฉพาะพื้นที่โดยทั่วไปก็ไม่มีใครอยากใช้ เพราะมันควบคุมยาก มันใช้ยาก มันอาจจะเผาตัวเองหรือเพื่อนข้างๆ ก็ได้ มันทำให้เกิดปัญหาของไฟไหม้ลามไปถึงบ้านของคนที่ไม่รู้เรื่องก็ได้ จริงๆ ไอ้ระเบิดขวดก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ก็นับว่าเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งเพราะอาจทำอันตรายเจ้าหน้าที่ได้

แล้วก็ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงทั้งหมดมันคือการขัดขวางก่อกวนระบบไม่ว่าคุณจะใช้สันติวิธีหรือไม่ใช้สันติวิธีมันต้องสร้างความเดือดร้อนแน่นอน การไปนั่งกลางถนนเฉยๆ มันก็ใช่ สันติวิธีมันไม่ได้หมายความว่าไม่ทำให้คนเดือดร้อน การประท้วงทุกชนิดถึงจะไม่ใช้ความรุนแรงก็ตามก็ทำให้คนเดือดร้อน เพราะมันเป็นแบบนั้นมันต้องการให้คนเดือดร้อนก็คือก่อกวนปั่นป่วนระบบ

ส่วนคนที่ใช้ความรุนแรงก็อาจจะคิดว่าการใช้ความรุนแรงอาจจะปั่นป่วนระบบที่สุดโดยหวังว่าการใช้ความรุนแรงจะไปก่อกวนให้ระบบมันทำงานต่อไปไม่ได้แล้วตัวเองก็จะได้ชัยชนะ อันนี้เป็นเป้าหมายของเขา ถ้ายังไม่นับเรื่องแรงจูงใจส่วนบุคคล ความโกรธแค้นควบคุมตัวเองไม่ได้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่หมายถึงคนที่ตั้งใจอย่างเป็นระบบ

ทีนี้มันก็จะมีว่าใช้แล้วบรรลุเป้าหมายมั้ย คือ เราก็ต้องดูว่าโดยทั่วไปความรุนแรงที่เรียกว่าการติดอาวุธสู้กับรัฐส่วนใหญ่เป้าหมายของมันคือเปลี่ยนระบบการปกครองกับแบ่งแยกดินแดน พวกนี้จะจัดตั้งกองกำลังแบบกองทัพ อย่างที่เราเห็นก็พรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายในประเทศต่างๆ ที่ต่อสู้ด้วยจรยุทธ์ทั้งหลาย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาจจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นสเปน หรือในไทย หรือเมื่อก่อนในฟิลิปปินส์ เป็นต้น อันนี้ก็คือมันจะมีลักษณะการใช้ความรุนแรงแบบต่างๆ

แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่เปลี่ยนแปลงทั้งระบอบ ต้องการยึดประเทศแล้วเปลี่ยนแปลงทั้งระบอบ ที่ทำสำเร็จก็น่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เนปาล หรือจีน รัสเซีย นอกนั้นเนี่ยก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จแล้วหลังๆ มาก็ไม่ค่อยมี

ลักษณะการต่อสู้แบบกองทัพต่อกองทัพแบบนั้นมันมักจะได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ในระดับหนึ่ง จะเห็นได้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตอนหลังก็ต้องล่มสลายไปตั้งแต่จีนเปลี่ยนนโยบาย ที่นี้มาตอนหลังก็เป็นประเภทของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งมักจะเป็นช่วงชาติพันธุ์หรือศาสนาก็จะใช้ยุทธวิธีแบบก่อการร้ายไป

พอทำไปแล้วก็มุ่งหวังการเจรจาภายหลังเป็นต้น แต่มันจะต้องมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงระบอบหรือแบ่งแยกดินแดนออกไปที่จะใช้วิธีการนี้อย่างจริงจัง แต่ที่แน่ๆ ต้องมีการฝึกต้องมีการอบรมต้องมีการจัดตั้งมีอาวุธ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการมีอาวุธก็ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก

ที่กระโดดขึ้นไปตรงนั้น (ระดับการใช้อาวุธ) เพราะต้องการให้เห็นว่าที่มีการพูดถึงมันมักจะเป็นในระดับนั้น แต่พอถอยกลับลงมาเพียงแค่เปลี่ยนรัฐบาล เรียกร้องประชาธิปไตย โดยส่วนใหญ่แล้วหลายประเทศไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากหน้ามือเป็นหลังมือ เลยไม่ค่อยมีใครรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงจะได้ผล เพราะการต่อสู้ในระดับนี้ในฟิลิปปินส์ ในแอฟริกาใต้ ของอินเดียก็มาจากการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นหลัก ก็เพื่อที่จะสร้างฉันทามติให้คนในสังคมลุกขึ้นมากดดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูปบางอย่าง

วิดีโอเหตุการณ์ที่บริเวณ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2564

ความรุนแรงในฐานะที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อรองทางการเมือง ข้อจำกัดของมันคืออะไร?

การใช้อาวุธบ้านๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร ทำให้ตำรวจบาดเจ็บคนสองคนมันไม่ได้ช่วยให้เป้าหมายบรรลุผล แล้วบางทีการไม่มีประสิทธิภาพในการใช้ (ความรุนแรง) มันก็จะมีปัญหาทำให้พวกเดียวกันเองบาดเจ็บ ถ้าเราดูในกรณีนี้ก็เช่นว่ามีนักข่าวบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งมันเป็นการใช้ที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพ มันต้องมีการฝึกฝนมาแบบทหารฝึก มันมีมากกว่าที่เราจินตนาการกันว่าใช้กันได้ง่ายๆ มันไม่ใช่ ขนาดทหารไทยฝึกมายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเลย แล้วประชาชนอย่างเราจะไปหาประสิทธิภาพจากเรื่องพวกนี้ได้จากที่ไหน

และเมื่อทำไปแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา มันกลับกลายเป็นว่าทำให้พื้นที่ชุมนุมไม่ปลอดภัย พอไม่ปลอดภัยแล้วผู้ชุมนุมคนอื่นที่เขาไม่ต้องการความรุนแรงเขาก็ไม่อยากมา มันก็ทำให้จำนวนคนลดน้อยลงไป เป้าหมายที่เราต้องการผลักดันก็กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถผลักดันไปได้อย่างนี้เป็นต้น

ยังมองไม่เห็นว่าการใช้อาวุธบ้านๆ หรือทำให้ตกใจเล่นเช่นการใช้ประทัดซึ่งทำให้ตกใจกันทั้งสองฝ่ายทั้งตำรวจทั้งผู้ชุมนุมกันเองมันช่วยอะไร หรือมันช่วยผลักดันเป้าหมายอย่างไร มันกลับกลายเป็นการสร้างความกลัวในหมู่พวกเดียวกัน ให้เกิดความรู้สึกว่าถ้ามาชุมนุมแล้วไม่มีความปลอดภัยกับตัวเอง มีการไปยั่วยุให้ตำรวจมาทำร้ายเราหรือบางครั้งผู้ที่ใช้อาวุธบ้านๆ พลาดพลั้งทำให้พวกเดียวกันเองบาดเจ็บเนี่ยมันก็ทำให้ที่ชุมนุมกลายเป็นที่ไม่ปลอดภัยไป ก็ไม่มีประโยชน์

10 ปีล้อมปราบเสื้อแดง: บทเรียน(?) จากแกนนำ - นักสันติวิธี - คอป.- ส.ว.

แต่มันก็อาจจะมีประเด็นว่า เราจำเป็นต้องยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในระดับที่ถ้าถูกตบแก้มซ้ายมาเราต้องหันแก้มขวาไปให้เขาตบด้วยหรือไม่?

สันติวิธีในลักษณะที่ว่าเดินไปให้เขาตีแบบที่อินเดียสมัยของคานธีเราไม่ได้จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้ เราไม่ได้หมายความว่าเรียกร้องการใช้สันติวิธีคือพอตำรวจมาแล้วคุณนั่งให้ตำรวจตีอย่างนี้มันไม่ใช่ เราไม่ได้ปฏิเสธการที่จะต้องหนีไปตั้งหลัก ไม่ได้ใช้วิธีที่เขาเรียกว่าสัตยาเคราะห์ เราก็ไม่ได้เรียกร้องขนาดนั้น

แต่การให้เขาตบซ้ำมันก็อาจจะมองเป็นสันติวิธี ยอมให้อีกฝ่ายทำร้ายตัวเองซ้ำซากมันคงไม่ได้เรียกร้องกันขนาดนั้น แต่เราก็ยังคงมีลักษณะเป็นเชิงรุกเข้าหาฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ใช่การทำร้ายเขา เช่นไปถอดล้อทำลายรถเกราะของตำรวจ อะไรแบบนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นการประท้วงเชิงรุกที่เป็นสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงเพราะว่าเราไปทำลายอาวุธที่จะใช้ทำร้ายประชาชน อันนี้ก็เป็นถือว่าเชิงรุกไป

ขณะเดียวกันการใช้วิธีอย่างการสาดสี การยืนด่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือการบอยคอตไม่ขายสินค้าให้ การแสดงความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบอะไรแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ก็คือทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เองมีความอึดอัดในการอยู่ในสังคมเหมือนกัน ก็เป็นวิธีประท้วงแบบหนึ่งเหมือนกัน

“แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ตัวเลอะสีที่ตัวเขาเองเอาไปสาดใส่ตำรวจที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563

“แอมมี่ The Bottom Blues” หรือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ ที่ตัวเลอะสีที่ตัวเขาเองเอาไปสาดใส่ตำรวจที่หน้า สน.สำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563

ที่มีการพูดถึงการ “ยกระดับ” กันในโซเชียลเน็ตเวิร์กกัน เอาจริงๆ แล้วเราก็ยังใช้เครื่องมือในการประท้วงไม่หมด?

ใช่ ก็ยังไม่รู้ว่าใช้ความรุนแรงแล้วจะได้อะไร กลับกลายเป็นว่าไปสร้างความชอบธรรมให้รัฐปราบเรามากขึ้น สิ่งที่เราต้องการมากคือให้สังคมเห็นด้วยกับเรามากที่สุดและออกมาร่วมกับเรามากที่สุด ออกมาส่งเสียงบอกกับรัฐให้มากที่สุด แต่ว่าในตอนนี้เหมือนเป็นจุดที่ยังก้ำกึ่งกันอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราไปยกระดับด้วยความรุนแรงแล้วเนี่ยมันก็จะทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการปราบปราม

แล้วประเด็นก็คือว่า วิธีการคิดแบบรัฐไทยก็จะไม่ปราบคนที่ใช้ความรุนแรงเป็นอันดับแรก มันจะไปทำกับคนที่ไม่ได้ใช้ก่อน แล้วก็ปล่อยให้คนที่ใช้ความรุนแรงหรือคนที่อยากยกระดับยังอยู่เพื่อก่อกวนไปเรื่อยๆ ให้มันยิ่งมีความรุนแรงไปเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายเมื่อมีการปราบก็จะกลายเป็นการสังหารหมู่ไป แล้วรัฐไทยก็ทำมาหลายครั้ง

ถ้าจำประวัติศาสตร์ใกล้ๆ นี้กันได้ดูวิธีการทำลายความชอบธรรมคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงเขาก็ใช้สันติวิธีมาตลอดจนวันสุดท้ายเลย มันก็อาจจะมีบางส่วนบ้างที่มีการตอบโต้แล้วรัฐก็ใช้ตรงนี้แหละที่ยกระดับการปราบปรามขึ้นมา รัฐไทยเขาก็ยั่วยุเรามาตลอดหรือมักจะส่งเจ้าหน้าที่อะไรเข้ามาปะปนแบบนั้นอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นจริงๆ ถ้าเราไปยกระดับความรุนแรงก็จะไปเข้าทางรัฐพอดีเพราะรัฐต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว เขาก็รอให้เราทำแล้วก็ยั่วยุไปเรื่อยๆ

แล้วตอนนี้เราก็ต้องการการยอมรับจากต่างประเทศด้วย และตลอดมาเราก็มุ่งหวังให้ต่างประเทศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารไทย แต่ถ้ามีการใช้ความรุนแรงเมื่อไหร่ต่างประเทศก็จะไม่ช่วยในการกดดัน

มีสถานการณ์แบบไหนหรือไม่ ที่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง?

ประชาชนสามัญธรรมดานี่ไม่มีใครอยากจะใช้ความรุนแรงหรือติดอาวุธต่อสู้ ส่วนใหญ่มักจะถูกกดดันจนไม่มีทางเลือก ในความหมายที่ว่าต้องมีความเจ็บแค้นอะไรมากๆ แบบนี้ ถ้าจะไปถึงจุดนั้นก็รัฐไทยนี่แหละกดดัน ตอนนี้ที่รัฐไทยกำลังทำก็คือกีดกันคนจำนวนมากออกจากความเป็นพลเมือง ทำให้เป็นพลเมืองชั้นสอง ลิดรอนสิทธิ์ไปเรื่อยๆ ถ้ารัฐไทยยังทำไปมากๆ มันก็ไม่แน่หรอกว่าอาจจะมีคนบางกลุ่มลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้แบบในปัตตานี

อันนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถจะไปควบคุมอะไรได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ถ้ารัฐไทยกดดันจนทำให้คนเป็นแบบนี้จริงๆ เราก็คงทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราคิดว่าวิธีการแบบนั้นไม่ได้ส่งผลดีให้กับสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังเท่าไหร่ บางครั้งเราจะสังเกตว่าหลายประเทศที่เกิดกองทัพจรยุทธ์ขึ้นมาด้วยความเจ็บแค้นต่อการกระทำของรัฐจนชนกลุ่มน้อยตั้งกองกำลังขึ้นมา มันก็มีการฆ่ากันไปฆ่ากันมาจนทำให้ผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตายไปด้วย แล้วก็บางทีในกองทัพจรยุทธ์หลายที่พอจำเป็นต้องหาอาวุธมาสู้กับรัฐบางทีก็ใช้วิธีการนอกระบบ เช่น ค้ายาหรือเป็นโจรจับคนเรียกค่าไถ่ ตอนแรกอาจจะทำไปด้วยความมุ่งหวังว่าจะนำเงินตรงนั้นมาผลักดันเป้าหมายที่ดีของตัวเอง แต่ไปๆ มาๆ ทำไปนานๆ เข้าก็จะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพเป็นเหมือนแก๊งโจร ก็เป็นไปได้แล้วก็เกิดขึ้นในหลายประเทศ มันไม่ได้ส่งผลดี แล้วถ้ามันมีลักษณะของการใช้ความรุนแรงมากๆ เข้ามันจะทำให้รัฐค่อยๆ ล่มสลายไปกลายเป็นรัฐที่เรียกว่ารัฐล้มเหลว (Failed State) ไป ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับรัฐด้วย

ตอนนี้สิ่งที่เราต้องการคือต้องการให้รัฐถอยแล้วก็คืนความเป็นพลเมือง ทำให้คนเท่าเทียมกันจะช่วยแก้ปัญหาทั้งในฝ่ายชนชั้นนำและชนชั้นล่างได้มากกว่า

พอจะยกตัวอย่างประเทศที่เกิดสภาวะรัฐล้มเหลวจากสถานการณ์ความรุนแรงได้ไหม?

ถ้าให้ยกตัวอย่างก็มีกรณีโคลอมเบียที่มีกลุ่ม FARC (Fuerzas Armadas Revolucionarias de Colombia หรือ The Revolutionary Armed Forces of Colombia) ที่เป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งจริงๆ ในช่วงหลัง FARC เองก็มีการเจรจาวางอาวุธ แต่มันก็ทำให้โคลอมเบียเป็นประเทศที่ประสบปัญหา เพราะการเกิดกองทัพจรยุทธ์อย่าง FARC ทำให้พื้นที่ทางภาคใต้ของโคลอมเบียประสบปัญหาที่รัฐไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยเป็นระยะเวลานาน มันก็ทำให้พัฒนาอะไรแทบไม่ได้ พอรัฐไม่สามารถควบคุมพื้นที่อะไรได้มาก การค้ายาเสพติดที่มีอยู่แล้วหรือแก๊งต่างๆ ก็มีขึ้นมากมาย

แต่พอระยะหลังมีการเจรจาสันติภาพก้าวหน้า การแก้ปัญหายาเสพติดก็ดีขึ้น รัฐเองก็เข้ามาพัฒนาในส่วนของคนยากจนมากขึ้น แล้วก็จะเห็นว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งเลย ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนก็เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นรัฐก็ต้องเป็นคนที่ปลดชนวนสถานการณ์ความขัดแย้งนี้เอง?

ใช่ แต่ถ้าเราไม่กดดันรัฐก็คงไม่ทำ แต่ว่าในสภาวะที่รัฐเข้มแข็งมากๆ แล้วไม่ถอยเลยก็จะผลักคนและกีดกันคนออกจากความเป็นพลเมือง มากๆ เข้าก็มีโอกาสที่คนจะตอบกลับมาด้วยความรุนแรงมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท