ละคร ยากล่อมประสาทสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มา http://media.thaitv3.com 
 

ละคร ไม่ได้อยู่ในสถานะของสิ่งบันเทิงตา สำราญใจเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นตัวแทนของความปรารถนาที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง ชนชั้นวรรณะที่ใฝ่ฝัน สถานะการเงินที่ไม่มีวันเป็นไปได้ด้วยค่าแรงวันละ 360 บาท และหญิง - ชาย ในอุดมคติ ที่ประสงค์จะครองชีวิตคู่ ละครจึงเสมือนโลกที่ประกอบสร้างความเพ้อฝันอย่างไร้ที่ติ

ด้วยโครงสร้างสังคม ที่ไม่เอื้อให้ชนชั้นล่าง และชนชั้นกลางเติบโต หรือมีพัฒนาการทางชนชั้นสถานะได้แล้ว การอยู่กับโลกแห่งความเพ้อเจ้อ และเลอะเลือน เช่น หวย หรือ โลกละคร ย่อมเป็นทางออก

ทางออก ดังกล่าว ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือก ในการมีชีวิตอยู่บนสังคมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ยากแก่การจัดการปัญหาบนพละกำลังของคน ๆ หนึ่งซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและจำเขี่ย หรือสติปัญญาที่รัฐก็ไม่พึงพอใจจะส่งเสริมให้มีพัฒนาการในทางที่ดีนัก ดังนั้นทางออกที่ว่า จึงไม่ได้เป็นทางออกจากปัญหา แต่เป็นทางออกจากความเป็นจริง

ยิ่งไปกว่านั้น ละครยังเป็นเครื่องมือผลิตซ้ำวาทกรรมเชิงอำนาจของรัฐ บนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ที่ไม่พึงประสงค์ให้คนวิพากษ์ วิจารณ์ หรือยอมรับความเห็นต่าง ที่จักมาสั่นคลอนเสาหลักซึ่งยึดโยงกับผลประโยชน์ของทั้งรัฐ และวงการละครเอง ดังนั้นกระบวนการละครบนสื่อสารมวลชน จึงต้องสร้างสำนึกในการแสวงหาศัตรูร่วม กล่าวคือ เมื่อรัฐ และผู้ผลิตสื่อ มองผู้ชมในฐานะเครื่องมือทางการเมืองเพื่อรับใช้อุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแล้ว จึงจำเป็นต้องสร้างวาทกรรมบางอย่างเพื่อ ทำให้มวลชนเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือการผลิตซ้ำ ผู้ร้าย หรือ ตัวร้ายในละคร ที่ขัดแย้งต่ออุดมการณ์รัฐโดยสิ้นเชิง และต้องได้รับการลงโทษอย่างสาสมจมนรก

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่สังคมจะเกิดอาการโหยหา ใครสักคนที่จะมายืนยันว่า สิ่งที่ตัวเองปรารถนาจะทำนั้น ถูกต้องชอบธรรมแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดในเชิงกฎหมาย หรือมโนธรรม เช่น ถ้ามันค้ายาบ้า หรือถ้ามันโกงชาติบ้านเมือง ก็ฆ่ามัน ไม่ก็ไล่มันออกจากประเทศ โดยไม่สนใจว่า เขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่ ก็ต้องได้รับความยุติธรรม ผ่านกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ ละครจึงเปรียบเสมือนห้องเรียนนอกระบบ แต่ทว่าเป็นการเรียนภาคบังคับ ที่สถาบันหลักของชาติ อันประกอบด้วย รัฐ (อันหมายรวมถึง ฝ่ายความมั่นคง) ทุน และศาสนา ทำทุกวิถีทางเพื่อยัดเยียดโลกแห่งความเสมือนจริง เพื่อให้คนดู หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ คนไทย พึงพอใจ และยอมรับได้กับตรรกะทั้งหลายในโลกของละคร

ในทำนองเดียวกันนั้น ละครจึงไม่ต่างจาก pre - propaganda ที่ทำให้เรารู้สึกปกติ เฉยชา จนกระทั่งยินดี ต่อการตระบัตสัตย์ซึ่งความถูกต้องชอบธรรมของสถาบันหลักดังกล่าวในโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยกระบวนการทางละครไม่เอื้อให้เรามีความคิดเชิงวิพากษ์ หรือสร้างการรับรู้ให้เราว่า หากละครมีเนื้อหาไม่ชอบมาพากล จะมีช่องทางใดที่เราสามารถฟ้อง - ร้องเรียน ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดมรรคผลในเชิงปฏิบัติ

เมื่อ รัฐ ทุน และศาสนา ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในการสร้างสังคมให้พึงพอใจกับโลกประกอบสร้างบนจอโทรทัศน์ ที่เต็มไปด้วยสิ่งซึ่งถูกทำให้พึงปรารถนา เช่น ผู้ชายหล่อ รวย หลงสเน่ห์สาวบ้านนอกคอกนา หรือตัวละครชั่วช้าต้องโดนกรรมลิขิต ภาวะดังกล่าวราวกับประสบการณ์สำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ ของผู้ชม ซึ่งอยู่ในสถานะ passive อยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้กลายเป็นโครงสร้างที่ง่ายที่สุดในการบรรลุซึ่งฝันกลางวัน กล่าวคือ แค่อยู่นิ่ง ๆ นั่งดูทีวี ก็มีความสุข หรือ ความสุขโดยสังเกต ก็ว่า

ละคร ยังออกแบบให้เอื้อต่อคนดูที่ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ หรือวิธีคิดที่ซับซ้อน ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกสามารถพิชิต หรือเอาชนะได้ ด้วยการเดาเนื้อเรื่อง แล้วตบเข่าดังฉาด ‘ฉันว่าแล้วไง’ ซึ่งนั่นย้อนแย้งกับชีวิตจริงทั้งสิ้น เพราะเวลาซื้อหวย คนเหล่านี้ก็ตบเขาดังฉาดเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป สิ่งเหล่านี้จึงล้วนผลิตซ้ำความเชื่อที่ว่า การประสบความสำเร็จในชีวิตย่อมมีทางลัดที่รวดเร็วเสมอ เพียงแค่เราทำตามหนังสือ how to

และด้วยเนื้อเรื่องที่ทุกคนสามารถเดาตอนจบได้ รู้ความเป็นไปล่วงหน้า หรือแม้แต่อาจเขียนสคริปต์ได้เลย ละครจึงกลายเป็นโครงสร้างสำเร็จรูป เช่น ถึงจะจน โดนกลั่นแกล้ง แต่ถ้าเป็นคนดี ก็จะมีคนพร้อมเห็นใจ และจะทำให้เธอรวยในท้ายที่สุด ทั้งที่โลกแห่งความเป็นจริง ความรวย ต้องเอื้อด้วยปัจจัยแวดล้อมจำนวนมาก ยังไม่หมายรวมถึงระบบโครงสร้างสังคมที่กดขี่คนอย่างโงหัวไม่ขึ้น

อาการเสพติดละครยังเปรียบดั่งการปรารถนาสูตรสำเร็จในการจัดการปัญหา อันเป็นเหตุให้คนเหล่านี้พึงพอใจต่ออำนาจทหาร หรือการรัฐประหาร ยินดีต่อกฎระเบียบรุนแรง เช่นข่มขืนต้องประหาร ด้วยเห็นว่า สังคมที่ดีต้องปกครองด้วยความกลัว และการเบียดบังเสรีภาพ เมื่อเขาไม่เชื่อในเสรีภาพ เขาจึงไม่เชื่อในความเป็นมนุษย์ ที่สามารถประกอบสัมมาชีพได้โดยสุจริต โดยสามัญสำนึก หากแต่เขาเชื่ออย่างหนักแน่นว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยกิเลศ ตัณหา จำต้องถูกล้างบาป ขัดเกลาทางศีลธรรม วิธีคิดดังกล่าวจึงครอบงำสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมอนุรักษ์นิยมอย่างหน้ามืดตามัว หากแต่ทึกทักว่ามีความสุขดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท