ฟังประธานกรรมการสิทธิไทยแจงปมถูกลดเกรด

29 ม.ค. 2559  กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถูกลดระดับจากสถานะ A เป็น B หลังคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (International Coordinating Committee on National Human Rights Institutions: ICC) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มีมติเสนอให้ลดระดับ กสม. ของไทย จากสถานะ A เป็น B เมื่อปี 2557

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่พอใจกับผลการลดสถานะดังกล่าว เพราะมองว่า กสม. ชุดที่สอง ได้พยายามแก้ไขปัญหาเต็มที่แล้ว ทั้งเรื่องที่ ICC กังวลว่า กฎหมายของไทยไม่ได้เอื้อให้มีตัวแทนภาคประชาสังคมในคณะกรรมการสรรหา กสม.  และเรื่องที่กฎหมายไทยไม่ได้ให้การคุ้มกันแก่การทำงานโดยสุจริตของ กสม.ไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนืออำนาจของ กสม. เพราะเป็นอำนาจของสภานิติบัญญัติของไทย

วัส อธิบายว่า ข้อแรกที่ ICC อ้างว่า คณะกรรมการสรรหาตามกฎหมายไทยไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม ต้องย้อนถามว่าแล้วหลักการปารีสกำหนดไว้เช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งหลักการปารีสก็ไม่ได้กำหนดไว้ และในท้ายที่สุด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็เขียนไว้สอดคล้องกับหลักการปารีสอยู่แล้วว่าให้คณะกรรมการสรรหาคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมด้วย ซึ่งใน กสม. ชุดที่สาม ก็จะเห็นว่ามีตัวแทนจากเอ็นจีโอเด่นๆ 2 คนด้วยกัน ผลการสรรหาก็แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการสรรหา ภายใต้องค์ประกอบที่ ICC ตำหนิก็ยังได้ผล กสม. ที่น่าพอใจไม่ใช่หรือ ก็ไม่น่าจะมีข้อครหาเหล่านี้

ประธาน กสม. กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องกฎหมายที่ไม่มีความคุ้มกันนั้น เป็นความเข้าใจของ ICC เองว่าเราไม่มีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กฎหมายไทยจะไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน แต่ก็สามารถตีความได้ว่า ถ้ากรรมการฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตก็ไม่ต้องรับผิดอยู่แล้ว เพราะการจะให้องค์กรของรัฐรับผิดได้ก็เมื่อมีการละเลยหรือเพิกเฉยในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนที่กฎหมายของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการเขียนประเด็นนี้ไว้ชัดเจน ก็เพราะเขาสามารถแก้ไขกฎหมายได้สำเร็จ ขณะที่ กสม. เสนอแก้ไขกฎหมายไปตั้งแต่ปี 2551 จนปัจจุบัน (2559) ยังไม่เข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯ เลย ทั้งที่เปลี่ยนมาหลายรัฐบาลแล้ว

วัส กล่าวว่า ขณะที่เรื่องการทำรายงานสถานการณ์ประจำปีล่าช้าในช่วงปี 2553-2554 โดยทำเสร็จในปี 2556 นั้นก็เป็นเรื่องในช่วง กสม. ชุดก่อน อย่างไรก็ตาม กสม. ชุดนี้ก็มีนโยบายจะเร่งทำรายงานประจำปีให้เสร็จภายในกำหนด

เขาชี้ว่า สถานะเหล่านี้ไม่ใช่จะคงที่ตลอดไป โดยอาจเปลี่ยนได้หากมีการแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายตามที่ ICC เรียกร้อง ซึ่งก็ได้พยายามเต็มที่แล้ว หากแต่ก็ไม่สามารถจูงใจ ICC ได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าถ้าได้เวลามากขึ้น ข้อกฎหมายที่กังวล น่าจะแก้ไขสำเร็จ เพราะไม่ยุ่งยากเท่าใด พร้อมชี้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อาจมีข้อความที่ ICC อยากใส่ไว้ในกฎหมายไทยก็ได้ เนื่องจาก กสม.ได้เข้าพบและชี้แจงประเด็นดังกล่าวกับ กรธ. ไปเมื่อ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าในข้อกังวลของ ICC มีการกล่าวถึงบทบาท กสม.ที่ผ่านมาในการตอบสนองสถานการณ์รัฐประหารและสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย กสม.จะมีแนวทางอย่างไร วัสตอบว่า กสม.ชุดปัจจุบัน คงไปเคลื่อนไหวหรือเรียกร้องให้คณะรัฐประหารแก้ไขปัญหาหรือสลายรัฐประหารไม่ได้ พร้อมย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารอยู่แล้ว แต่คำถามคือ เมื่อเกิดแล้ว จะมีวิธีทำให้ปัญหายุติได้อย่างไร การที่ กสม. จะเรียกร้องให้คณะรัฐประหารปล่อยอำนาจเข้าสู่มือประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ตั้งคำถามว่า หากจะมีการเลือกตั้งในสองสามเดือนข้างหน้าจะเป็นผลดีหรือไม่ ทั้งนี้ชี้ว่าต้องดูสถานการณ์ของแต่ละประเทศ การเลือกตั้งไม่ใช่สูตรสำเร็จทำให้ปัญหาของประเทศแก้ไขไปได้ โดยประเทศตะวันตกที่เป็นประชาธิปไตยจ๋าก็อยู่ในภาวะถดถอยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เขากล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยของไทยล้มลุกคลุกคลานมาตลอด สิ่งเหล่านี้อยู่ที่จิตสำนึกในการทำหน้าที่ของ กสม.แต่ละชุด ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าชุดปัจจุบันมีความตั้งใจและมีคุณภาพพอ แต่เรื่องการเมือง ยากที่จะเอามาชี้ขาดว่า ประเทศหนึ่งสถานะดีกว่าอีกสถานะหนึ่ง โดยชี้ว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศกลับมาสู่สถานะ B บางประเทศคงสถานะ A ไว้ได้ แต่เขามองว่าสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าใด

กรณีที่มีการแยกอนุกรรมการสิทธิทางการเมืองและอนุกรรมการสิทธิพลเมืองออกจากกัน เขาชี้แจงว่า เป็นการทดลองดูว่าจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุฯ จะมีผลถึง 30 ก.ย. 2559 เท่ากับบ่งบอกแล้วว่ายังมีระยะเวลาที่จะปรับเปลี่ยน สำรวจผลได้ ก่อนที่จะออกคำสั่งใหม่

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าไม่ว่าจะแบ่งหรือรวม การตั้งอนุกรรมการก็ไม่ใช่เพื่อให้ตรวจสอบและมีอำนาจในการเสนอแนะเด็ดขาด เนื่องจากโครงสร้างของอนุกรรมการแต่ละคณะไม่ได้เอื้อต่อการทำหน้าที่เช่นนั้น โดยจะเป็นเพียงการทำความเห็นว่าควรแก้ไขปัญหาอย่างไร ท้ายที่สุดอนุกรรมการฯ ต้องส่งเรื่องเข้า กสม. ทั้งเจ็ดคน ลงมติชี้ขาดว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะหรือไม่ ทั้งนี้ กสม.ทั้งเจ็ดคน มีที่มาจากกลุ่มวิชาชีพและตัวแทนสังคมที่หลากหลาย ทำให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

เขากล่าวว่า แม้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะอยู่ในกติกาฉบับเดียวกัน (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง - ICCPR) แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมีอนุฯ อยู่ในคณะเดียวกัน ถามว่าหากในอนาคตมีงานเยอะ จะไม่แยกเนื้องานออกมาหรือ

"การแบ่งอนุก็เพื่อประโยชน์ในการดำเนินเรื่อง แต่ที่สุดไม่ใช่คนชี้ขาด เพราะฉะนั้นจะกลัวอะไร" เขากล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท