วิจารณ์บทความของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรื่องการแยกตัวของอังกฤษจากอียู

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนคิดว่าในบทความของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และนักการเมืองผู้คว่ำหวอด ของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง What Thailand needs to learn from Brexit  (สิ่งที่ไทยต้องเรียนรู้จากการแยกตัวของอังกฤษจากอียู)  ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี 2016 มีอยู่หลายประเด็นที่ใคร่อยากจะวิจารณ์ และแสดงความไม่เห็นด้วยดังต่อไปนี้

บทความของสุรินทร์ มีใจความสำคัญ คือ เขาเห็นว่ามีหลายสาเหตุที่ทำให้อังกฤษจัดการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ จนได้ผลลัพธ์ คือ อังกฤษควรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป แต่สาเหตุสำคัญที่สุดก็คือความรู้สึกไม่พอใจของคนอังกฤษต่อระบบราชการอันเทอะทะ และรวมศูนย์อำนาจของสหภาพยุโรป ซึ่งสามารถสะท้อนภาพความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือรู้สึกแปลกแยกของคนไทยในท้องถิ่นต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจอันไม่เท่าเทียมกันอันเกิดจากระบบราชการไทยยุคใหม่ซึ่งก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 สุรินทร์จึงแนะนำให้มีการกระจายอำนาจเพื่อความเท่าเทียมกัน อันจะช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้คนไทยในท้องถิ่นจะก่อกบฏหรือแยกตัวออกจากส่วนกลาง  ดังสามารถสรุปตามย่อหน้าหนึ่งในบทความของเขาต่อไปนี้

In this sense, Thailand is suffering from the same predicament as the European Union. The real and urgent lesson for Thailand from the recent catastrophic Brexit, then, is how the governance of the country should be re-calibrated in order to address the same problems that the people of Great Britain have been feeling for so long. And these is the sense of loss of control over their own affairs, loss of identity. It is high time that the Thai bureaucratic system be overhauled before a rebellion of the periphery. The high pitch of reform was heard during the street protests of 2013-2014 until the coup of May 22....

“ตามนัยนี้ ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาเช่นเดียวกับสหภาพยุโรป บทเรียนที่แท้จริงและเร่งด่วนสำหรับประเทศไทยจากการแยกตัวของอังกฤษที่ส่งผลหายนะเมื่อไม่นานมานี้ก็คือการบริหารประเทศควรถูกจัดระเบียบอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาแบบเดียวกับที่คนในเกรตบริเตน กำลังรู้สึกเป็นระยะเวลานาน  และนั่นคือสำนึกแห่งความสูญเสียความเป็นอิสระในการจัดการตัวเอง หรือความสูญเสียอัตลักษณ์ มันเป็นเวลาเหมาะยิ่งที่ระบบราชการไทยจะได้รับการยกเครื่องก่อนที่เกิดกบฏจากส่วนชายขอบ เสียงเรียกร้องการปฏิรูปอย่างเปี่ยมด้วยอารมณ์นั้น ได้รับความสนใจในช่วงที่มีการประท้วงช่วงปี 2013 ถึงปี 2014  จนถึงการทำรัฐประหารในวันที่ 22 เดือนพฤษภาคม...” (การแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้ ประโยคต่อไปถูกยกไปอยู่ท้ายบทความนี้)

คำเรียกร้องเช่นนี้ดูเหมือนจะสมเหตุสมผล แต่ทำให้เกิดการโต้แย้งได้ 2 ข้อใหญ่ๆ ต่อไปนี้

1.ผู้เขียนเห็นด้วยกับสุรินทร์ที่ว่า สาเหตุสำคัญ (ประการหนึ่ง) ของการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป เกิดจากปัญหาความเทอะทะของระบบราชการของสหภาพยุโรป หรือ Red tap  ดังที่บทความต่างประเทศได้ประสานเสียงกันวิจารณ์ แต่ปัญหาก็คือ สุรินทร์ใช้การเปรียบเทียบผิดประเภท เพราะสหภาพยุโรป คือ องค์การเหนือชาติ (Supranational Organization) ส่วนกรณีของไทยนั้นคือรัฐชาติ (Nation –State)   แน่นอนว่า ความรู้สึกของคนอังกฤษต่อสหภาพยุโรปย่อมแตกต่างจากคนท้องถิ่นต่อกรุงเทพฯ ด้วยการก่อตัวของทั้ง 2 องค์กรทางการเมืองดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบทอันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น การที่อังกฤษเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปในปี 1973  ก็ได้รับความเห็นชอบของคนในประเทศ เพราะภายหลังจากนั้น 2 ปี อังกฤษภายใต้นายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิลสัน ได้จัดให้มีประชามติรับรองการเป็นสมาชิกของอังกฤษ และมีเสียงเห็นชอบถึงร้อยละ 66   สำหรับกรณีประเทศไทยนั้น การที่หลายท้องถิ่นยอมเป็นรัฐอารักขาของกรุงเทพฯ ไม่ได้เกิดจากความเห็นชอบของประชาชน แต่จากการตกลงของชนชั้นปกครองของอาณาจักรเหล่านั้นกับทางกรุงเทพฯ เสียมากกว่า อีกทั้งท้องถิ่นหลายแห่งก็ถูกกรุงเทพฯ ใช้กำลังบีบบังคับอันนำไปสู่การสังหารและกดขี่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมากรวมไปถึงการครอบงำทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

นอกจากนี้ท้องถิ่นของไทยนั้นตกอยู่ในฐานะที่ด้อยกว่ากรุงเทพฯ มากจนถึงขั้นถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง อันแตกต่างจากกรณีของอังกฤษที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับสหภาพยุโรปบนฐานะเท่าเทียมกันกับสมาชิกประเทศอื่น และแต่ละประเทศยังคงเอกราชไว้เฉพาะตนอย่างสูง ที่สำคัญสหภาพยุโรปมีกฎหมายระหว่างประเทศมารับรองอย่างชัดเจน พร้อมกลไกการจัดตั้งและการรวมกลุ่มที่ซับซ้อน กับเป็นเวทีในการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างประเทศ แม้จะมีปัญหาก็เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐอิสระหลายรัฐมาอยู่รวมกัน  สำหรับการสร้างรัฐไทยนั้น ไม่ได้มีกฎหมายใดๆ นอกจากที่ถูกทางภาคกลางสร้างขึ้นมารับรองในภายหลัง  จนในที่สุดทางเหนือก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทย ที่สำคัญศูนย์กลางอำนาจคือกรุงเทพฯ ได้แย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นไปเป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเทศที่คล้ายเด็กขาดสารอาหารที่หัว (คือกรุงเทพฯ) โต ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่น (ท้องถิ่น) ผอมลีบ ในขณะศูนย์กลางของสหภาพยุโรปคือกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ไม่สามารถทำเช่นนั้นกับประเทศสมาชิกได้เท่า กระนั้น ในฐานะเป็นองค์กรเหนือชาติที่ต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศสมาชิกเสียยิ่งกว่าอาเซียน  ประเทศต่างๆ ก็ต้องยอมสูญเสียความเป็นอิสระของการกำหนดนโยบายของรัฐในระดับหนึ่ง(ซึ่งก็พบกับปัญหาอยู่หลายครั้งดังเช่นรัฐธรรมนูญของสหภาพยุโรปอันไม่สามารถเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้)  และแน่นอนว่าการรวมศูนย์อำนาจเช่นนั้นย่อมนำไปสู่ความซับซ้อนของระบบราชการของสหภาพยุโรปได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ข้อมูลที่สุรินทร์ไม่ได้ยกมาประกอบกับบทความของเขาคือผลจากการลงประชามติในอังกฤษ คะแนนของฝ่ายที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป (Leave) กับฝ่ายที่ต้องการอยู่กับยุโรปต่อไป (Remain)  คือร้อยละ 53.4 และ 46.6  อันถือได้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่ห่างกันมากนัก คือ ต่างกันเพียงล้านกว่าเสียงจากผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดประมาณ 33 ล้านคน ทั้งนี้ไม่นับรัฐย่อยในสหราชอาณาจักร เช่น สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือซึ่งคาดหวังจะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป  จนถึงขั้นที่นักการเมืองของสก็อตแลนด์ ประกาศจะดิ้นรนทำประชามติขอแยกตัวออกจากอังกฤษอีกรอบ ด้วยความไม่พอใจ นอกจากนี้ ภายหลังจากผลของประชามติออกมา พวกที่ต้องการอยู่กับสหภาพยุโรปก็ทำการประท้วงอยากให้มีประชามติอีกครั้งเป็นระลอกๆ  เช่นเดียวกับนักการเมืองชั้นนำ ต่างสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป ไม่ว่านายกรัฐมนตรี คือ เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นว่าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ เทเรซา เมย์ รวมไปถึงหัวหน้าพรรคฝ่ายแรงงาน คือ นายเจเรมี คอร์บิน อันสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างคนอังกฤษต่อสหภาพยุโรปนั้น ก็ไม่ได้เลวร้ายนัก  สุรินทร์จึงไม่สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับข้ออ้างผ่านบทความของเขา ถึงความรู้สึกอันเลวร้ายของคนท้องถิ่นของไทยต่อความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ภาคกลางยัดเหยียดให้

ผู้เขียนจึงเห็นว่า ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญกว่าความไม่พอใจเรื่องความซับซ้อนของระบบราชการเสียอีกนั่นคือ ลัทธิชาตินิยม (ซึ่งสุรินทร์มีการกล่าวถึงอยู่บ้างแต่ไม่ชัดเจนนัก) ดังเช่น กระแสความเชื่อซึ่งมีมานานแล้วว่าอังกฤษนั้นมีความยิ่งใหญ่เกินกว่าจะถูกลดบทบาท หรือความเป็นอิสระจากองค์กร หรือกลุ่มประเทศที่ด้อยกว่าตน ลัทธิชาตินิยมอังกฤษยังเพิ่มความก้าวร้าวมากขึ้น จากการผสมกับความรู้กลัวต่างชาติและการหลั่งไหลของผู้อพยพจากในหรือนอกยุโรป ซึ่งคนอังกฤษจำนวนมากเกรงว่าจะมีมากขึ้น จากข้อตกลงที่มีกับสหภาพยุโรป อันเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเสียมากกว่า ดังจะเห็นได้จากการที่อังกฤษรับผู้อพยพเข้าประเทศโดยเฉพาะชาวซีเรียน้อยมาก ถ้าเทียบกับเพื่อนสมาชิกด้วยกันอย่าง เช่น เยอรมนีและสวีเดน ทั้งหมดนี้นักการเมืองซึ่งสนับสนุนการออกของอังกฤษอย่างเช่นพรรคเอียงขวาคือพรรคอิสระของอังกฤษ (UKIP) โดยมีหัวหน้า (ซึ่งเป็นอดีตไปแล้ว) คือ นายไนเจล ฟาเรจ ใช้สำหรับการปลุกระดมมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสื่อมวลชน  ผู้เขียนจึงมองแตกต่างจากสุรินทร์ว่า ชีวิตประจำวันของคนอังกฤษส่วนใหญ่ น่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากระบบราชการของสหภาพยุโรป เท่ากับองค์กรภาครัฐ หรือธุรกิจ แต่การลงประชามตินี้ เป็นผลลัพธ์จากการตีความลัทธิชาตินิยมของอังกฤษอันหลากหลาย ซึ่งแบ่งเป็น 2  กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ระหว่างลัทธิชาตินิยมที่เน้นเกียรติยศของประเทศ กับผลประโยชน์จากการเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายของรัฐด้วยตัวเอง กับลัทธิชาตินิยมที่เล็งเห็นผลประโยชน์ในการรวมกลุ่มกับประเทศอื่น แม้ว่าอาจต้องเสียอิสระระดับหนึ่ง 

นอกจากนี้หากทฤษฎีความรู้สึกแปลกแยกของประเทศชายขอบของสุรินทร์เป็นจริง ก็ควรจะรวมถึงสมาชิกประเทศอื่นๆ ของสหภาพยุโรป ดังเช่น ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ โดยประเทศหลังน่าจะหนักหนากว่าอังกฤษเพราะมีขนาดเล็ก และมีอำนาจต่อรองกับกรุงบรัสเซลส์น้อยยิ่งกว่านัก กระนั้นการเคลื่อนไหวของทั้ง 2 ประเทศถือว่าเป็นการแอบอิงลัทธิชาตินิยม เพื่อผลทางการเมืองของพรรคขวาจัดเสียมากกว่า นอกจากนี้ ออสเตรียยังเป็นอีกประเทศซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า สหภาพยุโรปไม่ได้ทำให้คนในชาติสมาชิกเกิดความรู้สึกแปลกแยกเสมอไป ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 2 ซึ่งนอร์เบิร์ต โฮเฟอร์ ผู้สมัครของพรรคเสรีภาพ อันเป็นพรรคขวาจัด กลับเปลี่ยนแปลงคำสัญญาของเขาที่จะให้ออสเตรียแยกตัวจากสหภาพยุโรป เพราะว่ากระแสความนิยมในสหภาพยุโรปของคนออสเตรียมีสูง ดังเช่น มีโพลสำรวจพบว่ามีถึงร้อยละ 60 ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดประชามติแบบเดียวกับอังกฤษ และมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่อยากให้ประเทศแยกตัวออกไป

2. ด้วยความตั้งใจเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ ทำให้สุรินทร์ลดปัญหาของความขัดแย้งของคนในชาติไทยในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเหลือเพียงความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แท้ที่จริงแล้วความขัดแย้งหลักเกิดจากกลุ่มที่แสดงอัตลักษณ์ผ่านสีเสื้อ คือ เหลืองและแดง แม้จะได้รับการวิเคราะห์จากนักวิชาการบางกลุ่มว่า เกิดจากชนชั้นกลางกับชนชั้นกลางค่อนล่าง (รวมถึงชนชั้นรากหญ้า) กระนั้นหากเรามองสถานการณ์การเมืองไทยที่แท้จริงจะพบว่า กระแส หรือแนวโน้มการกบฏต่อภาคกลางโดยท้องถิ่น ถือว่าเบาบางมาก มีเพียงบางกรณีที่ไม่ชัดเจนสำหรับการปลุกกระแสท้องถิ่นนิยมอย่างเช่นติดป้ายประกาศขอแยกประเทศในบางจังหวัดทางภาคเหนือ โดยกลุ่มบุคคลบางพวกซึ่งถือได้ว่าขาดแรงสนับสนุนจากท้องถิ่น (ที่ก็มีการแสดงตนเป็นเสื้อเหลือง และเสื้อแดง ปะปนกันไปในแต่ละพื้นที่)  แม้ว่าข้อมูลความแตกต่างของกรุงเทพฯ และท้องถิ่นผ่านการเปรียบเปรย “นิยาย 2 นครา (A Tale of Two Cities)” นวนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกเกนส์ ในบทความสุรินทร์อ้างจะน่าเชื่อถือ แต่กระบวนการครอบงำของรัฐภาคกลางเหนือท้องถิ่นไทยนั้นมีประสิทธิภาพอย่างมากผ่านลัทธิราชาชาตินิยมไม่ว่าประเทศจะมีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการหรือประชาธิปไตย อันถือได้ว่าสุรินทร์อาจขยายความทฤษฎีของนักรัฐศาสตร์บางท่านอย่างเช่น อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ไปในทิศทางที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงของประเทศไทย

ดังนั้นบทความจึงไม่สามารถเสนอปัญหาที่แท้จริงของการเมืองไทยว่าเกิดจากการเรียกร้องประชาธิปไตยอันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนไทยแม้แต่คนกรุงเทพฯ อีกจำนวนมากกับรัฐบาลเผด็จการในประวัติศาสตร์ เสียยิ่งกว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างท้องถิ่นที่เรื้อรังมานานแต่ไม่มีพลัง เพราะไม่ได้รับความสนใจจากชนชั้นกลางและสื่อมวลชนเท่าที่ควร การต่อสู้ดิ้นรนของท้องถิ่นส่วนหนึ่ง จึงเปลี่ยนรูปเป็นการเมืองระดับประเทศเช่น การเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าเอื้อประโยชน์ต่อตนมากที่สุด เป็นเรื่องจริงที่ว่ารัฐบาลของไทยในหลายยุคนั้นมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้มีการกระจายอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กระนั้นสุรินทร์อาจจะลืมไปว่ายุคทักษิณก็มีความพยายามที่จะปฏิรูประบบราชการอย่างมาก อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาถูกกองทัพโค่นอำนาจ) แต่รัฐบาลเผด็จการกลับเป็นตัวขัดขวางการกระจายอำนาจเสียยิ่งกว่า นั่นคือ การรวมศูนย์อำนาจจากข้าราชการ โดยเฉพาะกองทัพ ที่เข้ามาแทรกแซงสังคม และละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีกว่า  เช่นเดียวกับการเล่นเกมแมวจับหนู คือ พยายามเล่นเกมทางจิตวิทยากับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ  ดังที่นักการเมืองท้องถิ่นผู้หนึ่งได้บอกผู้เขียนว่า เขาถูกเรียกตัวไปที่ค่ายทหารอยู่หลายครั้ง  โดยบทความของสุรินทร์ดูไม่มีปัญหาอะไร เขาจึงเหมือนกับนักวิชาการและผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนรวมไปถึงพวก กปปส. ซึ่งเชื่ออย่างมืดบอดว่า คสช. นั้น เข้ามาจัดการประเทศเพียงชั่วคราวเพื่อการปฏิรูป และการกระจายอำนาจ ดังประโยคของเขาที่ว่า

We should not be satisfied with just "the Road Map" leading to the "elections". We should be asking about "The Road Map after the Road Map" that the people were craving during the six month long street confrontation

เราไม่ควรพอใจเพียงแค่ “โรดแมป” ที่นำไปสู่ “การเลือกตั้งในคราวหลังๆ ” เราควรจะเรียกร้อง“โรดแมปหลังโรดแมป” ซึ่งประชาชนต่างปรารถนายิ่งในช่วงการประท้วงบนท้องถนนเป็นระยะเวลา 6 เดือน

ผู้เขียนคิดว่าประเด็นการกระจายอำนาจที่สุรินทร์ยกมาอ้าง ไม่ใช่ “ความปรารถนา” ที่แท้จริงของกลุ่ม กปปส. ที่ทำการยึดกรุงเทพฯ กว่า 6 เดือน หากเป็นแค่วาระที่ถูกกำหนดจากกลุ่มผู้นำซึ่งคิดมาในภายหลัง เพื่อเพิ่มความถูกต้อง ชอบธรรม ให้กับกลุ่ม เพราะประเด็นหลักของการกระท้วง คือ การกำจัดเครือข่ายทักษิณออกไปเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากปัจจุบัน ชนชั้นกลางซึ่งเคยอยู่กลุ่มกปปส. โดยส่วนใหญ่จะนิ่งเฉย หรือไม่ใส่ใจการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีเพียงการรณรงค์ต่อเนื่องของอดีตสังกัด กปปส. บางกลุ่ม ในประเด็นอื่น เช่น การแปรรูป ปตท.ให้กลับมาเป็นของรัฐ และการกำจัดการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสียงอันแผ่วเบา

นอกจากนี้ผู้เขียนยังไม่เชื่อตามสุรินทร์ว่า รัฐไทยในอนาคตแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือนตามโรดแมป แล้ว จะสามารถกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง จากการเป็นรัฐเผด็จการแอบแฝง (Dictatorship in disguise) ดังจะเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรากสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไปหลายอย่าง ตามความเห็นของนักวิชาการในการเสวนาหลายเวที ที่สำคัญโดยธรรมชาติขั้นพื้นฐานของเผด็จการ ไม่ว่าในรูปแบบใดจะไม่มีการกระจายอำนาจอย่างประชาธิปไตยเสรีนิยมอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความอ่อนแอของรัฐที่ขาดการยึดโยงกับประชาชนและอำนาจในการครอบงำสังคมมีปัญหา จากการสังเกตการณ์พื้นที่ทางความคิดบนเว็บไซต์และเฟซบุ๊คอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มอำนาจเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (กลุ่มอำมาตย์) เช่น คสช. ย่อมไม่มั่นใจว่าประชาชนจะสยบยอมตัวเองทั้งหมดหรือไม่  อันนำไปสู่การขยายตัวของระบบราชการและระบบเล่นพรรคเล่นพวก (cronyism) ซึ่งคสช.จำเป็นต้องดำรงไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของตนในระยะเวลานาน  นอกจากนี้อาจเกิดความกังวลในกลุ่มอำมาตย์ว่าความขุ่นเคืองต่อภาวะไร้ประชาธิปไตยของประชาชนอาจนำไปสู่การเลือกผู้นำท้องถิ่นซึ่งยังคงภักดีต่อขั้วอำนาจเก่าอยู่ และหันมาร่วมมือกับรัฐบาลพลเรือนเป็ดง่อย ในการกบฏต่อคสช. เว้นเสียว่าคสช.จะสามารถใช้กลไกทางการเมืองในการจัดการ เช่น ไปตกลง หรือข่มขู่ผู้นำของท้องถิ่น เพื่อให้สยบยอมตนโดยเด็ดขาด ดังนั้นถึงแม้จะมีการเลือกตั้งอย่างอิสระในระดับท้องถิ่น ผู้นำท้องถิ่นไม่ว่าใครก็ตาม ก็จะต้องสยบยอมต่อกลุ่มอำนาจเหนือรัฐบาลจากการเลือกตั้งในอนาคตอีกต่อหนึ่ง หรือในอีกกรณีหนึ่งกลุ่มอำมาตย์ก็จะใช้ต้นแบบการเลือกตั้งระดับของหมู่บ้านของจีน ซึ่งเป็นประเทศในอุดมคติของกลุ่มอำมาตย์  นั่นคือ มีการเลือกตั้งอย่างเสรีแต่ผู้ลงสมัครคนสำคัญจะอยู่ในสังกัด คสช. และระบบราชการจะเอื้อให้คนเหล่านั้น สามารถเอาชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่ยอมสงบต่อกลุ่มอำนาจ ไม่ต่างจากข้าราชการส่วนกลาง และภูมิภาค ซึ่งมักจะเชื่อฟังกลุ่มอำมาตย์ มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือก ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยของรัฐบาลสมชาย และยิ่งลักษณ์

ส่วนความเป็นไปได้ที่จะกระจายทรัพยากรและความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในอนาคตตามความคิดของสุรินทร์นั้น ผู้เขียนเชื่อว่าหาก คสช. และกองทัพ ยังคงสกัดกั้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชาสังคมดังที่เห็นในปัจจุบัน ก็คงเป็นแค่ลมปากหรือการโฆษณาชวนเชื่อที่สุรินทร์มอบให้กับคสช.ในรูปแบบของการเสนอแนะ เพราะพฤติกรรมในปัจจุบันของคสช.หมายถึง การปิดปากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างแท้จริง จนกลายเป็นว่าการกระจายดังกล่าวเกิดจากความเมตตาของรัฐบาลกลาง เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตนเสียมากกว่าระบบอันยั่งยืน (ในอนาคต หากมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็คงช่วยในประเด็นนี้ได้น้อยมากเพราะเป็นเพียงเป็ดง่อยและรอวันเป็นแพะรับบาป)  ตัวอย่างเช่น การปิดเหมืองทองเกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลต้องการลดแรงกดดันจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง สื่อบางแหล่งอย่างโพสต์ทูเดย์ซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อเครือข่ายทักษิณยังเห็นว่าเพื่อเป็นการแสร้งทำเพื่อปูทางให้กับกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ที่อิงกับคสช.มากกว่าเป็นการเปิดโอกาสแก่ประชาชนอย่างแท้จริง  นอกจากนี้กลุ่มในเครืออำมาตย์ยังประกอบด้วยข้าราชการทั้งปัจจุบันและอดีต รวมไปถึงกลุ่มนายทุนกับกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งโลกทัศน์ยังคงแช่แข็งอยู่ในรัฐไทยยุคโบราณและยังได้รับประโยชน์จากการรวมศูนย์กลางการตัดสินใจอยู่ที่กรุงเทพฯ  และในคราวนี้กลุ่มอำมาตย์จะใช้กลไกการปกครองรัฐผ่านองค์กรส่วนท้องถิ่นซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของตนและได้ทำให้ไทยมีการกระจายอำนาจแบบจอมปลอมซึ่งสุรินทร์ไม่น่าจะหลงใหลได้ปลื้มด้วยเป็นอันขาด

จากทั้งหมดที่บทความได้กล่าวมานั้นสามารถเป็นคำอธิบายต่อมุมมองของสุรินทร์ว่าเหตุใด

Since then there has been very little real effort to bring genuine reform to the most urgent institution, the Thai bureaucracy.

“ตั้งแต่บัดนั้น (วันการทำรัฐประหาร) มีความพยายามที่แท้จริงเพียงเล็กน้อยในการปฏิรูปที่แท้จริงต่อสถาบันสำคัญที่สุดนั่นคือระบบราชการไทย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท