Skip to main content
sharethis

กรณีปู่คออี้แพ้คดี จนท. เผาบ้านไล่ที่แก่งกระจาน โดยศาลปกครองถือว่า จนท.กระทำโดยชอบ และให้ชดใช้เฉพาะของใช้ครัวเรือนรายละหมื่นนั้น "ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี" นักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ชี้ว่าหน้าที่ฝ่ายข้าราชการเป็นการกีดกันสิทธิของชาวบ้านออกจากทรัพยากรโดยสิ้นเชิง และอำนาจนิยมของราชการที่ผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังรัฐประหาร

ปู่โคอี้และชาวบ้านกะเหรี่ยงแห่งป่าแก่งกระจาน เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลปกครอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เมื่อ 7 กันยายน 2559 ไม่ไกลกันนักมีเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาฟังคำพิพากษาด้วย (ที่มาของภาพ: เฟซบุ๊ก Pornpen Khongkachonkiet)

ชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่ที่ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (อ่านบทความประกอบที่: มอง 100 ปีกฎหมายสัญชาติไทย ผ่าน 100 ปีของ ‘ปกาเกอะญอเฒ่าโคอิ’ แห่งผืนป่าแก่งกระจาน, ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, 20 ต.ค. 2554)

8 ก.ย. 2559 หลังจากเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่  ส. 58/2555 หมายเลขแดงที่ ส. 660 /2557 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายแจ พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 3 นายหมี หรือกิตา ต้นน้ำเพชร ผู้ฟ้องคดีที่ 4 นายบุญชู พุกาด ผู้ฟ้องคดีที่ 5 นายกื๊อ พุกาด และ ผู้ฟ้องคดีที่ 6 นายดูอู้  จีโบ้ง กับ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

กรณีที่ในเดือนพฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เดินทางไปยังบ้านของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 และจุดไฟเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดี เนื่องจากถือว่าบุกรุกอุทยาน โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 เรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 9,533,090 บาท และยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

อย่างไรก็ตามศาลปกครองตัดสินว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและมีการล่าสัตว์ ถือว่ากระทำความผิดตามมาตรา 16 (1) (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิ่งพักและยุ้งฉาง ศาลตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6

แต่ในส่วนของเครื่องใช้ในครัวเรือน และสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว เป็นสิ่งของที่จำเป็นจะต้องมีไว้ใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งของในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือสิ่งต้องห้ามตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ อยู่ในวิสัยที่เจ้าหน้าที่จะทำการเก็บรวบรวมทรัพย์สิน แล้วนำมาเก็บรักษา เพื่อประกาศให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองมาติดต่อขอรับคืนในภายหลัง หรือจัดเก็บแยกออกจากสิ่งก่อสร้างที่จะเผาทำลายได้แต่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่กลับมิได้ดำเนินการดังกล่าว

โดยศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ  กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท และกำหนดค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวของผู้ที่อาศัยอยู่ในเพิงพักแต่ละคนรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และของใช้ประจำตัวอื่นๆ อีก เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท รวมชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 แต่ละคนเป็นเงินคนละจำนวน 10,000 บาทนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

คำพิพากษา 'ปู่คออี้' สะท้อนอำนาจราชการผูกขาดทรัพยากรทวีความรุนแรง

ต่อมา ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ต่อกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

"เมื่อหลายปีก่อน ดิฉันเคยได้มีโอกาสไปเป็นพยานให้การในชั้นศาล ในคดีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ฟ้องชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ จังหวัดตาก ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเพื่อตัดไม้ทำลายป่า ข้อต่อสู้ของทนายฝ่ายชาวบ้านจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แก่การยืนยันว่า ชาวบ้านทำกินในบริเวณนั้นมาก่อนที่จะประกาศเขตป่าสงวน และด้วยหลักการของสิทธิชุมชน ชาวบ้านควรมีสิทธิที่จะได้ทำกินในพื้นที่ที่ตนได้ทำมาหากินมานับแต่บรรพบุรุษ

ในคดีนั้น นอกจากดิฉันซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนแล้ว ยังมีนายอำเภออีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้ยืนยันเช่นกันว่า การทำไร่ของชาวบ้าน ไม่ใช่การบุกเบิกที่ทำกินใหม่ อย่างที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวอ้าง

ข้อที่น่าสังเกตคือ ความรู้/การรับรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรในเขตป่าของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีเลย แม้ว่าจะได้มีการยกกรณีงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม มีวิดีทัศน์ประกอบที่แสดงให้เห็นการหมุนเวียนใช้ที่ดินในเขตป่าของระบบเกษตรดังกล่าว ระบบสิทธิที่มีมาก่อนกฎหมายของรัฐ ฯลฯ อัยการก็ยังคงยืนยันว่า ไร่ของชาวบ้านนั้น เป็นการทำลายป่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้นั้นไม่ต้องพูดถึง หน้าที่ของข้าราชการเหล่านี้ คือการกีดกันสิทธิของชาวบ้านออกจากทรัพยากรโดยสิ้นเชิง

ในคดีแม่อมกิ ศาลชั้นต้น ได้ตัดสินยกฟ้อง แต่ไม่ได้ให้เหตุผลที่ยึดโยงกับหลักเรื่องสิทธิชุมชน ศาลให้เหตุผลว่า ชาวบ้านกระทำผิด แต่เป็นเรื่องของการขาดเจตนา สิทธิในป่าไม้ ยังคงเป็นของรัฐเช่นเดิม แต่ในศาลอุทธรณ์ ได้กลับคำพิพากษา ตัดสินว่าชาวบ้านผิด แต่ให้รอลงอาญาไว้

ดิฉันคิดว่า อำนาจนิยมของราชการที่ผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังรัฐประหาร การไม่มีแม้แต่หลักเรื่องสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศออกใช้ น่าจะผลักให้สถานการณ์การคุกคามสิทธิในการทำมาหากินในเขตป่าของชาวบ้านต้องตกอยู่ในขอบเหวที่แย่หนักกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัวนัก

กรณีแก่งกระจาน เป็นเพียงตัวอย่างแรก ในระลอกคลื่นแห่งการใช้กำลังกดบังคับเพื่อขับไล่ชุมชนออกจากที่ทำกิน ที่สาหัสสากรรจ์กว่าเดิม อาจจะหนักกว่าทศวรรษความขัดแย้งในทรัพยากรในยุค 40 อย่างน้อยในยุคนั้น สิทธิในการโต้แย้ง และชุมนุมประท้วง ยังเป็นเรื่องที่ทำได้

การปราศจากอำนาจ การถูกริดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการกำหนดชะตากรรมของชีวิตและทรัพยากร เป็นมูลฐานสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด น่าเสียดายที่บรรดาเอ็นจีโอ องค์กรอนุรักษ์ และกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่างๆ มองไม่เห็นภาพในเชิงโครงสร้างนี้ กลับเลือกที่จะประนีประนอมกับอำนาจ ลดทอนปัญหาลงเหลือเพียงเทคนิคทางเลือกเฉพาะกรณี หรือไม่ก็มุ่งเพียงแต่จะแก้ปัญหา "โครงการของตน" ให้ลุล่วงไปได้ โดยไม่สนใจคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่า ระบอบอำนาจแบบไหน ที่เอื้ออำนวยให้การบดขยี้ผู้คนลงเหลือเพียงเศษธุลีที่อาศัยแผ่นดินคนอื่นเขาอยู่ ทำงานได้อย่างตามอำเภอใจ?

หนักไปกว่านั้น บางกลุ่ม บางองค์กร ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ ที่มีบทบาทในการริดรอนและคุกคามสิทธิของชาวบ้านได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย และนี่เป็นเหตุผลที่เหตุใด การต่อสู้ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์จนๆในเขตป่าเหล่านั้น จึงโดดเดี่ยวและวังเวงยิ่งนัก"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net