Skip to main content
sharethis

ตร.ปปป. คาดสรุปสำนวนคดีอธิบดีกรมอุทยานฯ เรียกรับเงินลูกน้อง ส่ง ป.ป.ช.ได้กลางเดือน ม.ค. 66 นี้ ด้าน จนท.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี ผู้เสียหาย ทยอยเข้าให้ปากคำ ยืนยันถูกเรียกรับเงินโดยไม่เต็มใจจ่ายให้

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 ว่าตลอดทั้งวันมีเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะผู้เสียหายจำนวน 11 คน และอีก 3 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกรับเงิน ทยอยเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป. เพื่อให้ปากคำปมถูกนายรัชฎา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับเงิน

สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เดินทางมาวันนี้ อยู่ในระดับหัวหน้าหน่วย และเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม 19 คน ที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี นำข้อมูลมาให้เจ้าหน้าที่ ปปป.เมื่อวันก่อน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 13 คน ที่นำเงิน 98,000 บาท ส่งให้นายรัชฎา กลุ่มที่ 2 จำนวน 6 คน คือ พยานที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเดือดร้อน จากการเรียกรับเงินรับเงินของอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยวันนี้กลุ่มแรก มาให้ปากคำ 11 คน ส่วนอีก 2 ติดภารกิจและป่วย ส่วนกลุ่มที่ 2 มาให้ปากคำวันนี้ 3 คน

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ผบก.ปปป. เปิดเผยว่า หลังพนักงานสอบสวน สอบปากคำพยานในกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดนายชัยวัฒน์ จากการสอบปากคำทุกคนให้ การเป็นประโยชน์และเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าถูกบังคับ โดยส่วนใหญ่ไม่ยินยอมและไม่สมัครใจ แต่สาเหตุที่ยินยอมเพราะเกรงกลัวอำนาจ จึงยอมทำตาม

ส่วนรายชื่อที่ปรากฏในซองภายในห้องทำงานอธิบดีกรมอุทยานฯ จากการตรวจสอบ พบมี 21 ซอง ไม่ใช่ 13 ซอง สามารถตรวจสอบทราบบุคคลได้แล้ว 14 คน ซึ่งเป็นระดับหัวหน้าของหน่วยงานนั้นๆ ที่กล่าวอ้างว่าถูกเรียกเก็บเงิน ล่าสุดออกหมายเรียกแล้ว 6 คน ให้มาให้ปากคำวันที่ 11 มกราคม และจะออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 8 คน ให้มาในวันที่ 12 มกราคม เวลา 10:00 น. ซึ่งมีบางส่วนยินยอมจะเข้ามาให้ปากคำในฐานะพยาน ส่วนใครจะมาไม่มาพบพนักงานสอบสวนก็เป็นสิทธิของพยาน แต่ในทางคดี อนาคตพยานก็จะถูก ป.ป.ช.เรียกสอบปากคำในภายหลังเพิ่มเติมเช่นกัน

ส่วนกรณีการสอบเส้นทางการเงินอยู่ระหว่างดำเนินการ เบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงปลายทางของเงินที่ถูกเรียกเก็บไปถึงบุคคลอื่น แต่ยืนยันว่าหากเชื่อมโยงถึงใคร จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นเดียวกัน เบื้องต้นในชั้นพนักงานสอบสวน ผู้ถูกกล่าวหายังปฏิเสธที่จะให้ปากคำ แต่ขอให้การในชั้นศาลเท่านั้น

นอกจากนี้ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยังชี้แจงกับสื่อมวลชนถึงกรณีที่มีการกระแสข่าว หลักจากที่นายรัชฎา ได้รับการประกันตัว ว่าเข้าไปยุ่งเหยิงข่มขู่กับพยานหลักฐาน ยืนยันว่าให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ยังไม่พบการไปยุ่งเหยิงหรือข่มขู่พยานแต่อย่างใด และกลางเดือนมกราคม 2566 คาดว่าพนักงานสอบสวน ปปป.จะส่งสำนวนไปที่ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาชี้มูล พร้อมกับส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาให้ ป.ป.ช ในคราวเดียวกัน

ด้านหนึ่งในพยาน เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า วันนี้เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน บก.ปปป. โดยเรื่องคดีความที่เกิดขึ้นก็เป็นตามที่หัวหน้าชัยวัฒน์ ให้ข้อมูลไว้ และส่วนตัวเห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ใครทำความผิดก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานกรมอุทยานฯ จึงอยากให้สังคมเข้าใจการทำงานของบุคลากรกรมอุทยานฯ คนอื่นๆ ด้วย เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างมีความอุดมการณ์ ความตั้งใจในการทำงานดูแลพิทักษ์ผืนป่าทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากการทำงานที่มีความยากลำบากแล้ว งบประมานการดูแลสัตว์ป่าถูกตัดออกไปมากถึง 70% ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าต้องไปกู้หนี้ยืมสิน หยิบยืมญาติพี่น้อง เพื่อนำเงินมาใช้ในการดูแลลูกน้อง สัตว์ป่า และยังต้องแบ่งจ่ายให้กรณีดังกล่าวด้วย ยอมรับว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้อาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคต แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ จำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ส่วนกรณีที่มีข่าวลือว่า มีการข่มขู่พยานในคดี สำหรับตนเองนั้นยังไม่ได้รับการข่มขู่จากใครแต่อย่างใด และไม่มีการกดดันจากผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ส่วนคนอื่นตนก็ไม่ทราบ ทั้งนี้ ตนเองไม่ได้กลัวการถูกข่มขู่ แต่กลัวที่เจ้าหน้าที่ปกป้องผืนป่ามาจะสูญเปล่า

เปิดปากพยานคดีรับสินบน "ถูกรีดหั่นงบ-จ่ายเงินค่าตำแหน่ง" พบถูกรีดเงินหั่นงบดูแลป่า-สัตว์ป่าร้อยละ 70 

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2566 ว่ากรณีคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรณีถูกชี้มูลความผิดเรียกรับสินบน  

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2566 หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 14 คน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) เพื่อให้ปากคำ ในคดีที่นายรัชฎา ถูกกล่าวหารับสินบน โดยพยานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

หนึ่งในพยานยอมรับการให้ข้อมูลครั้งนี้ อาจมีผลกระทบต่อหน้าที่การงานในอนาคต แต่จำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูล ที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องของการถูกตัดงบประมาณการดูแลป่าและสัตว์ป่า ทำให้การทำงานมีความยากลำบากมากขึ้น และหลายคนมีปัญหาเรื่องหนี้สิน

เนื่องจากงบประมาณการดูแลสัตว์ป่าถูกตัดออกไปมากถึง 70% ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้า ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำเงินมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และดูแลลูกน้อง

Thai PBS ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากอดีตข้าราชการในกรมอุทยานฯ ที่อ้างว่าถูกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของอธิบดีกรมอุทยานฯ คนนี้ สั่งย้ายออกนอกพื้นที่

โดยไม่ระบุตำแหน่งใหม่ ทั้งที่มีภารกิจทำคดีบุกรุกป่าต้องขึ้นศาลกว่า 300 คดี การย้ายออกส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิต เรื่องนี้ได้ร้องเรียนไปแล้วไม่สำเร็จจึงขอลาออก

บางครั้งเรื่องพวกนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการนำเสนอ ในการชี้แจงเพื่อให้ศาลได้รับรู้ รับฟังว่าถูกไหม บางคนถ้าบอกว่าให้คนอื่นไปแทนได้แล้วไปตามมีตามเกิดผลเสียหาย เรื่องพวกนี้ต้องอยู่ในสำนึกของผู้บริหาร

"โยกย้ายไม่เป็นไรเข้าใจ อยู่นานแล้วให้คนอื่นบ้างเป็นธรรมดา แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นต้องพิจารณาว่าเกิดผลเสียหายต่อประเทศหรือไม่"

อดีตข้าราชการ คนนี้ยังอ้างว่า ล่าสุดกรมอุทยานฯ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เลื่อนกำหนดการสอบสัมภาษณ์ ประเมินเพื่อเลื่อนการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส หรือเทียบเท่าระดับ 8 ซึ่งรอบนี้เปิดรับ 31 ตำแหน่ง โดยมีการจ่ายเงินตำแหน่ง 1-2 ล้านบาทด้วย

"พอจ่ายแล้วเพื่อให้อยู่ที่เดิม อันนี้เป็น 3.1 แต่ 3.2 นี่สุดๆ คือจ่ายเพื่อให้ได้ เพื่อไปเตะเขาและหาผลประโยชน์ได้ ไปอยู่ที่ใหญ่ที่จะหาเงิน อุทยานทางทะเลที่เขาพูดกัน กี่ล้านก็ยอมลงทุนนี่คือ 3.2 หรือแม้แต่จ่ายเพื่อให้ควบหลายตำแหน่ง"

ขณะที่นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประธานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เปิดเผยว่า  คาดว่าน่าจะนัดประชุมตรวจสอบพยานหลักฐานได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 30 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net