ทหารอบรมข้าราชการ นักเรียน กับภาพจำ “ระเบียบวินัย” ในสังคม ทางออกอยู่ที่ประชาธิปไตย

คุยกับวินัย ผลเจริญ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ เรื่องทหารฝึกข้าราชการ นักเรียน ระบุ ปัญหาเพราะสังคมไทยยอมรับทหาร สมยอมการกดความเห็นต่าง ประชาธิปไตยคือทางออกของการแก้ไขปัญหา ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมตรวจสอบระบบราชการ ถ่วงดุลอำนาจรัฐ ระเบียบวินัยไม่ต้องมาจากทหาร พลเรือนสามารถอบรมกันได้ตั้งแต่สถาบันครอบครัว

จากกรณีการฝึกข้าราชการสาธารณสุขเขต 5 กับโรงเรียน จปร. และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรนำทหารมาฝึกสอนระเบียบวินัยกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 3-4 สร้างข้อกังขาเกี่ยวกับภาพจำของสังคมเรื่องการมองทหารเป็นสัญลักษณ์ของระเบียบวินัย ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน หรือทหารกับข้าราชการ รวมถึงสภาวะการยอมรับการมีอยู่ของทหารตามสถาบันต่างๆ ภายใต้สภาวะปรกติของสังคม

ประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ ผศ.วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ดินแดนแห่งโมเดลการศึกษาที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษาเมืองไทย  เพื่อเจาะลึกระบบราชการและทางแก้ไขของโครงสร้างระบบที่เป็นปัญหา รวมถึงนัยเรื่อง “ระเบียบวินัย” ที่ควรจะเป็นในสังคม ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องให้ทหารเป็นคนที่เดินเข้ามา ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านได้ให้ข้อแนะนำในเรื่องการแก้ไขโครงสร้างสังคม เช่น กฎหมายและกระบวนทัศน์ความคิดที่ยอมรับความหลากหลาย การสอนระเบียบวินัยเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ของทหาร

หลักอำนาจนิยมที่เป็นอยู่ย้อนแย้งไทยแลนด์ 4.0 เปรย สังคมยอมรับให้ทหารฝึกระเบียบวินัย

 

Image may contain: 1 person

วินัย ผลเจริญ (ที่มา: Facebook)

วินัย กล่าวว่า การนำข้าราชการสาธารณสุขมาอบรมผ่านการฝึกทหารหรือการนำทหารมาฝึกระเบียบวินัยสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทยที่มีลักษณะเป็นอำนาจนิยม

การนำทหารมาฝึกอบรมข้าราชการสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของคนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการในลักษณะชื่นชมทหาร คิดว่าทหารมีระเบียบวินัยเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ดังนั้นการเป็นข้าราชการหรือนักเรียนที่ดีจึงกลายเป็นนำทหารเข้ามานำฝึกอบรม เพื่อรักษาระเบียบวินัยให้กับข้าราชการและเด็กนักเรียน เป็นเพราะคนในสังคมเชื่อและคิดแบบนั้นโดยมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม

นักรัฐศาสตร์กล่าวว่า การนำนักเรียนและข้าราชการเข้าอบรมกับทหาร เป็นการปลูกฝังความคิดข้าราชการหรือระบบอำนาจนิยมให้กับนักเรียนผ่านภารกิจต่างๆ ของการอบรมข้าราชการใหม่ตามที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นอกจากนี้คนที่มีหน้าที่อบรมข้าราชการใหม่มีความคิดแบบอำนาจนิยมเพราะระบบราชการมีสั่งการลำดับขั้นบังคับบัญชา ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นความคิดที่ติดตัวข้าราชการและคนอื่นๆที่ไม่ใช่ข้าราชการจำนวนไม่น้อย ความคิดที่เสริมสร้างอำนาจแบบนี้เอาไว้ไม่ได้มามาจากเจตนาของผู้บังคับบัญชาโดยตรงเท่านั้น แต่คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมมีความคิดรูปแบบอำนาจนิยม ทำให้เห็นเนื้อหาการอบรมในแนวทางการคล้อยตาม เช่น ข้าราชการห้ามตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ หรือการเชื่อฟังผู้ใหญ่  เป็นต้น

วินัยกล่าวว่า  นโยบายข้าราชการที่เห็นจากกรณีศึกษาย้อนแย้งกับนโยบาย 4.0 ของรัฐ  ที่เน้นนวัตกรรม สร้างสิ่งใหม่ สิ่งใหม่เกิดขึ้นไม่ได้หากควบคุมคน หากการแสดงความคิดเห็นออกมาเป็นภัยความมั่นคงไม่เหมาะสมที่จะแสดงออก เพราะฉะนั้นจึงไม่คิดว่าเราจะสามารถอยู่ด้วยนโยบายที่เป็น 4.0 ตามความตั้งใจความหวังที่อยากให้เป็น

ฝึกระเบียบด้วยทหารไม่จำเป็น เริ่มได้ในครอบครัว สถานศึกษา ยกตัวอย่างฟินแลนด์ทำให้ดู(อีก)แล้ว

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ (ที่มา: admission premium)

กุลธิดาเห็นว่า การฝึกทหารส่วนใหญ่ของประเทศไทย เป็นการฝึกระเบียบวินัยภายใต้นิยามว่ามีคนสั่งแล้วทำตาม เพื่อให้เกิดระเบียบ แต่แท้จริงแล้วระเบียบคือการอยู่ด้วยกันได้ในสังคมโดยไม่วุ่นวาย นักเรียนมีความจำเป็นขนาดไหนต้องแถวตรงตลอดเวลา ซึ่งสุดท้ายแล้วเราสามารถทำให้เขารู้จักรับผิดชอบพื้นที่ส่วนรวมในโรงเรียน ให้เข้าแถวเป็น เท่านั้นสังคมก็เป็นระเบียบแล้วหรือเปล่า

กุลธิดาเห็นว่า คิวที่เป็นระเบียบ เหมือนของเรียงกันแล้วสวยงาม แต่ก็มีวิธีที่คนสามารถเรียงกันโดยไม่ทะเลาะกัน อาจไม่จำเป็นต้องสวยงาม ไม่ตรงแถวอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถจัดการโดยไม่มีใครสั่ง ผ่านกฎสังคมต่างๆ สามารถทำได้ในห้องเรียน ไม่ต้องมีทหาร พ่อแม่ก็สอนได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา กล่าวถึงการแก้ไขระเบียบวินัยในเชิงนิยามว่า ควรแก้ไขตั้งแต่สถาบันครอบครัว ผู้ปกครองยังสั่งลูกซ้ายหันขวาหันหรือไม่ คุยกันบ้างหรือไม่ ฟังความเห็นของลูกหรือเปล่า ถ้าในบ้านเป็นแบบที่กล่าว ภาวะนอกบ้านที่ผิดไปจากในบ้าน จะทำให้เกิดการตั้งคำถามได้ว่า ทำไมไม่เคารพซึ่งกันและกัน ทำไมไม่ฟังเสียงฉัน ก็จะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เช่นนั้นก็เริ่มที่โรงเรียน ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน-ผู้สอน เลิกคิดว่าครูเป็นคนชี้เป็นชี้ตาย ยกตัวอย่างเช่น การขอความเมตตาจากครูหลังสอบเสร็จ แท้จริงแล้วการขอความช่วยเหลือควรขอแต่ในห้องเรียนหรือเปล่า แต่ก็ไม่ค่อยมีการตั้งคำถามในห้องเรียน ไม่มีใครยกมือ

กุลธิดาเสนอว่า ควรปรับแก้ทัศนคติครูไทยให้มีการสื่อสารสองทาง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ดีกว่าการสื่อสารทางเดียว คือบรรยายให้ผู้เรียนฟังอย่างเดียว  เปลี่ยนจากบทบาทของคนถ่ายทอด เป็นบทบาทคนทำให้เด็กขวนขวาย หรือให้เด็กได้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามบริบทปัจจุบันที่เป็นยุคของอินเทอร์เน็ตที่ข้อมูลหาได้ฟรีตาม Google

นักวิชาการอิสระกล่าวว่า กระบวนการสั่ง การมีสิทธิเหนือร่างกายมีผลทางจิตวิทยา เป็นออโต้ไพล็อต ก็ทำตามกันไป จนทำให้ความเงียบเป็นสภาวะสมดุลของที่นี่ คือการไม่มีใครพูดอะไรเป็นเรื่องปกติ ใครแสดงความคิดเห็นหรือไม่ทำตามเท่ากับคนนั้นนอกคอก คนที่ไม่ยอมตามกฎกลายเป็นคนไม่ดี ดังนั้นจึงเลือกที่จะอยู่เฉยๆดีกว่า

กุลธิดายังได้กล่าวถึงกรณีระเบียบวินัยของประเทศฟินแลนด์ว่า ฟินแลนด์แทบไม่เคารพธงชาติ มีแค่ตามวันสำคัญครั้งสองครั้ง วันอื่นไม่ได้มีการเคารพธงชาติ การปลูกฝังเริ่มจากทำตั้งแต่ในบ้าน ทำให้เด็กมีหน้าที่ต่อครอบครัว ต้องดูแลตนเอง ครอบครัว พื้นที่ชุมชนรอบตัวเขาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ยกตัวอย่างเช่น การแยกขยะอย่างละเอียด เขาทำกันจนเป็นธรรมชาติ ที่บ้าน ที่โรงเรียนทำเป็นปรกติโดยไม่ต้องบังคับ เป็นตัวอย่างให้กับทุกที่ในสังคม ชาวฟินแลนด์เคร่งครัดกับกฎหมายมากๆ ความเคารพกฎหมายมาจากความรับผิดชอบของเขา โดยเป็นหนึ่งในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกติกามารยาท ถ้ากฎหมายไม่ยุติธรรมก็มีกระบวนการท้วงติงตามปกติ เรื่องการเดินข้ามถนน ฟินแลนด์แทบไม่มีสะพานลอย จะมีไว้ก็เพื่อให้จักรยานข้ามไปได้ สิ่งเหล่านี้คนทุกคนปฏิบัติเป็นปกติในสังคม

ราชการถูกตรวจสอบได้และสังคมประชาธิปไตยคือจุดตั้งต้นของทางออก

วินัยกล่าวในประเด็นทางออกการแก้ไขระบบราชการไทยว่า ข้าราชการควรตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง ระบบราชการควรตรวจสอบกันเองได้ ซึ่งในหน่วยงานของข้าราชการควรถูกตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ข้าราชการที่มีอำนาจนำไม่ถูกตรวจสอบเลย เพราะการที่ข้าราชการสายทหารมีอำนาจปกครอง  ทำให้ข้าราชการอื่นกลัวและเกรงใจ ผู้นำทางทหารเขามีอำนาจ ไม่ค่อยมีการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ในความเป็นจริง นักวิชาการกล่าวว่า ข้าราชทหารกับพลเรือน หรือพลเรือนด้วยกันเองก็ควรมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน  ภาคประชาชนเป็นส่วนสำคัญมากที่จะตรวจสอบนักการเมืองและข้าราชการ แต่สิทธิการตรวจสอบถูกกดทับไว้ ผ่านกฎหมายพิเศษมาตรา 44 แม้ว่ามีรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้แล้วแต่ยังมีการใช้ ม.44 ทำให้ประชาชน หรือภาคประชาสังคมเองอ่อนแอ

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน วินัยกล่าวว่า ประเด็นที่ควรแก้ไข ความสัมพันธ์ระหว่างบริหารราชการส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่นก็จะเปลี่ยนไป ส่วนท้องถิ่นจะมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งเดิมส่วนท้องถิ่น ต้องขึ้นต่อภูมิภาค  โดยนายอำเภอมีอำนาจมากในการควบคุมส่วนท้องถิ่น ในกรณีเทศบาลตำบล นายอำเภอเป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดในการควบคุมท้องถิ่น  ควรให้อำนาจของตัวแทนภูมิภาคถอยห่างออกไปจากท้องถิ่น โดยมีหน้าที่เพียงคอยกำกับให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ไม่ใช่การควบคุม  ต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น ส่วนท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ต่อเมื่อประชาชนมีหน้าที่ตรวจสอบผู้แทนตัวเอง เพื่อให้มีระบบราชการที่ดีขึ้น และสร้างสังคมที่น่าอยู่

วินัยให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนความคิดคนภายใต้โครงสร้างสังคมที่ไม่เอื้อต่อการแสดงความเห็นเต็มที่เป็นเรื่องยาก จึงเรียกร้องให้เกิดสังคมที่เปิดกว้าง ใครอยากแสดงความเห็นอะไรก็สามารถพูดได้ กรณีการเอานักเรียนเข้าฝึกวินัย หรือการเอาข้าราชการไปอบรมกับทหารนั้นไม่เอื้อต่อการเปิดความคิดของคน เป็นเพียงนัยการสมยอมต่อผู้มีอำนาจ ดังนั้นการแก้ไขโครงสร้างและความคิดต้องทำไปพร้อมๆกัน ซึ่งมันไม่หลุดจากความเป็นประชาธิปไตย และปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือการไม่เป็นประชาธิปไตย

วินัยทิ้งท้ายว่า  เป็นเรื่องปรกติที่ผู้มีอำนาจปกครองจะรักษาอำนาจการปกครองของตนเองให้ได้นานที่สุด เดิมอำนาจถูกรักษาไว้ได้ด้วยกำลัง การกดขี่และการบังคับ ซึ่งไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในปัจจุบันที่ต้องอาศัยการชักจูงโน้มน้าวให้ผู้มีคน ผ่านการแต่งเพลง สร้างละคร เพื่อให้คนถูกกล่อมเกลา แต่ก็ถูกตั้งคำถามโดยสื่อ กับประชาชนมากขึ้น ประชาชนรู้ทันจนอำนาจนำตอนนี้ไม่สามารถสร้างได้อย่างมั่นคง การที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ หรือไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตได้ทำให้คนที่มีอำนาจในปัจจุบันอยู่ยากขึ้น จึงฝากความหวังไว้ที่พลังประชาชนในการสะท้อนและวิพากษ์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ระบบได้จริงมากขึ้นจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท