Skip to main content
sharethis

'จิรายุ' ร้อง สตง. สอบการจัดซื้อ 'เรือเหาะ-GT200' ด้าน สตง. จ่อประสานสายตรวจกลาโหม เก็บข้อมูลเรือเหาะ คุ้มหรือไม่ 'อนุพงษ์' หนุนสอบ แต่จะสอบเฉพาะสมัยตนไม่ได้ ขณะที่ 'ประยุทธ์' ไม่ตอบ

15 ก.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (14 ก.ย.60) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า เรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 40D S/ N 21 หรือ sky dragon ที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่ นั้น

จิรายุ ร้อง สตง. สอบการจัดซื้อ 'เรือเหาะ-GT200' 

วันนี้ Voice TV รายงานว่า จิรายุ ห่วงทรัพย์ รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการยกเลิกการใช้ เรือเหาะดังกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการใช้เงินงบประมาณอันมาจากภาษีประชาชนจึงควรจะมีหน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระทำความจริงให้ปรากฏและเป็นตัวแทนของประชาชนได้  

รายงานข่าวระบุด้วยว่า รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เรียกร้องให้สตง.ช่วยทำความจริงให้ปรากฏ และสรุปผลออกมาเพื่อเป็นบทเรียนของประเทศ และจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ว่ามีความจำเป็นหรือเหมาะสมกับสภาพการใช้งานของภารกิจนั้นหรือไม่  ที่สำคัญประเทศชาติจะได้รับประโยชน์จากการใช้เงินงบประมาณ ที่เก็บภาษีมาจากประชาชนได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น

จิรายุ กล่าวอีกว่ากรณีจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 ที่ศาลอาญากลาง กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตัดสินเอาผิดในข้อหาฉ้อโกงกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือดังกล่าว และให้ประเทศที่รับซื้อแจ้งยอดความเสียหายไป เพื่อเรียกรับค่าชดเชยสินค้า แต่ปรากฎว่าประเทศไทยกลับ ไม่แจ้งยอดตัวเลขความเสียหายกลับไปใช่หรือไม่ เรื่องแบบนี้ประชาชนหวังให้สตง.เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะทำให้ประเทศชาติมีบรรทัดฐานในการใช้ภาษีของพี่น้องประชาชนได้

สตง. จ่อประสานสายตรวจกลาโหม เก็บข้อมูลเรือเหาะ คุ้มหรือไม่ 

ขณะที่ ครอบครัวข่าว รายงานว่า พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯ สตง.ระบุว่าเรือเหาะที่ปลดประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่ากองทัพบก จะให้เหตุผลว่าหมดอายุการใช้งานแล้ว แต่ด้วยหน้าที่ของ สตง. ยังคงต้องตรวจสอบว่าการใช้งานเป็นอย่างไร มีความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน โดยสตง.จะประสานข้อมูลจากสายตรวจประจำกระทรวงกลาโหม และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับการอนุมัติจัดซื้อตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ การดำเนินการไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเข้ามาเพราะ สตง.สามารถติดตามตรวจสอบได้ทันที หากพบว่าการใช้งานไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป สตง.จะต้องจำแนกตามช่วงการใช้งานจริง และดำเนินการตรวจสอบแยกภายหลัง

อนุพงษ์ หนุนสอบ แต่จะสอบเฉพาะสมัยตนไม่ได้ ประยุทธ์ไม่ตอบ

สำนักข่าวไทย รายงานท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. ที่เสนอจัดซื้อเรือเหาะดังกล่าวในปี 52 โดย พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงกรณีนี้ที่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงงบประมาณจัดซื้อที่สูง และประสิทธิภาพการใช้งานที่ไม่คุ้มค่า ว่า ไม่ทราบใครเป็นผู้ประเมินประสิทธิภาพของเรือเหาะ 

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า มูลค่าจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ รวม 350 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวกล้อง จำนวน  5 ตัว  ราคา 250 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ตัวกล้องยังสามารถใช้การได้ดี โดยติดไว้กับแท่น ฮ 3 ลำ ส่วนอีก 2 ตัวติดอยู่ที่เรือเหาะ ซึ่งยังใช้การได้ ขณะที่ ตัวเรือเหาะและโรงเก็บ ราคาอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งการประมินคุณภาพใช้การได้หรือไม่ อยู่ที่กองทัพบก รวมถึง อาจมีการพิจารณาเรื่องการทุจริต ซึ่งเป็นอีกเรื่อง หากมีการร้องเรียน

พล.อ.อนุพงษ์  เห็นด้วย หากมีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบทุจริต เพราะจะได้ไม่นำมาวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีข้อมูล แม้การจัดซื้อเรือเหาะจะเกิดขึ้นในสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่เมื่อตรวจสอบ ก็ต้องไปดูว่า ใครเกี่ยวข้องบ้าง ทั้งการรับของ การทำสัญญา รวมถึง ผู้ใช้งาน  

“ผมพ้นจากตำแหน่งนานแล้ว จึงบอกไม่ได้ว่า หากมีการปรับเปลี่ยนสภาพการใช้งานของเรือเหาะตรวจการณ์ จะทำได้ในรูปแบบใดบ้าง เพราะช่วงของการจัดซื้อ ผมไม่ได้เป็นผู้พิจารณาโดยตรง  ดังนั้น จะต้องตรวจหาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จะตรวจสอบเฉพาะเกิดในสมัยผมอย่างเดียวไม่ได้" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีต ผบ.ทบ. และรับผิดชอบในการอนุมัติงบประมาณซ่อมบำรุงเรือเหาะตรวจการณ์ 50 ล้านบาท ก็ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเช่นเดียวกัน

ขณะที่เมื่อย้อนไปเมื่อ 9 มี.ค. 2553 ผู้จัดการออนไลน์รายงาน คำให้สัมภาษณ์ถึงการจัดซื้อเรือเหาะตรวจการณ์ที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสดังกล่าว โดย พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งเป็นผบ.ทบ.ขณะนั้นให้สัมภาษณ์อย่างมีอารมณ์ ว่า ตนอยากจัดให้สื่อมวลชนลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจะได้ซักถามเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะของกองทัพบกให้ชัดเจน เรือเหาะดังกล่าวจัดซื้อในวงเงิน 300 กว่าล้านบาท กล้อง 5 ตัว ก็ 200 กว่าล้านบาทแล้ว ที่เหลือเป็นตัวเรือเหาะ ระบบรับ-ส่งภาพ โรงเก็บ รถรับ-ส่งสัญญาณ 100 กว่าล้านบาท แต่มีการนำไปพูดจนเกิดความเข้าใจผิด

“ความจริงสำนักงานเลขานุการกองทัพบกเสนอเรื่องมาแล้ว ให้ผมนำสื่อมวลชนลงไปในพื้นที่ เพื่อจะได้สอบถามได้เต็มที่ แต่เห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ยังวุ่นอยู่ จึงขอให้เสร็จเรื่องตรงนี้ไปก่อน แต่ก่อนที่จะไปเรียนรู้การปฏิบัติจะต้องเรียนรู้รายละเอียดก่อน หากชี้แจงแล้วไม่เคลียร์ก็ไปบอกให้ สตง.มาตรวจสอบได้เลย แล้วจะลงจิกอีกก็ได้ ผมไม่กลัว ตรงไหนโกง ไม่ต้องลงข่าวให้เสียเวลา ไปบอก สตง. ป.ป.ช.ได้เลย ผมเข้าคุกทันที” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวในสมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.
       
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรือเหาะดังกล่าวบินได้ไม่สูงตามมาตรฐาน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวในสมัยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ว่า “ไม่ต้องถามว่าบินขึ้นหรือไม่ เพราะบินที่อู่ตะเภา จนนักบินบินได้ทุกคนแล้ว ไม่ต้องห่วง ที่เขาห่วงคือ การส่งสัญญาณ ซึ่งขณะนี้ก็เรียบร้อยหมดแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่พอใจเรื่องการบิน จึงยังไม่ยอมตรวจรับ เพราะผมยืนยันไปแล้วว่า ใครลงนามตรวจรับก็ต้องรับผิดชอบ ผมสั่งการอะไรไม่ได้” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net