Skip to main content
sharethis

ทบทวนปีแห่งสิทธิมนุษยชน เมื่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังเป็นเพียงแค่เปลือกนอก สำรวจท่าทีทหารที่มีต่อชุมชน หลังรัฐบาลเผด็จการประกาศเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง พบทหารลงพื้นที่ขอชาวบ้านเชียร์ประยุทธ์ ‘อดีต ส.ส. เพื่อไทย’ แฉ  จนท.รัฐ-ทหารร่วมกับ ‘สามมิตร’ แจกของให้ชาวบ้าน ขณะที่ยังเหยียบเบรกห้ามพรรคอื่นๆ หาเสียง

แม้ว่ารัฐบาลเผด็จการ คสช. จะกำหนดให้ ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 21 พ.ย. 2560  โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในช่วงที่ผ่านมาประชาชนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มักมีแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ที่ไม่ลงรอยกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอให้ประกาศใช้ วาระแห่งชาติ เรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อที่จะสร้างกลไกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ ปรับปรุงฐานข้อมูล กฎหมาย และทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐให้เหมาะ และลดสถิติการเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

แต่ดูเหมือนว่าการลงหลักปักฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย กำลังเดินไปอย่างเชื่องช้า และไม่แน่ใจนักว่าคำประกาศที่จะลดสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นไปได้จริงมาน้อยเพียงใด

ชูสิทธิมนุษยชนแค่เปลือก เนื้อในยังเป็นเผด็จการ

ในด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หากนับเฉพาะปี 2561 เป็นต้นมากลับพบว่า คสช. ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ชุมนุมกลุ่มคนอย่างเลือกตั้งที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าสู่การเลือกตั้งภายในปี 2561 ทั้งสิ้น 6 คดีในช่วงครึ่งปีแรก มีผู้ถูกตกดำเนินคดี 214 รายชื่อ(บางรายถูกแจ้งความมากกว่า 1 คดี) ทั้งที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งนั้นเป็นการดำเนินการตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรัฐประหาร/คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561

'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' รอบล่าสุด โดนมาแล้วกี่คดี ใครโดนแล้วโดนอีก โดนอีกและโดนอีก

สถิติคุกคามประชาชนยุค คสช. นับพัน ศูนย์ทนายความฯ ชี้ต้องจัดการกฎหมายที่ออกโดย คสช.

หากนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่า มีประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวและปรับทัศนคติ มีผู้ที่ถูกข่มขู่ คุกคามและติดตาม อย่างน้อย 1,138 คน กิจกรรมสาธารณะถูก คสช. หรือเจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นและแทรกแซง อย่างน้อย 264 กิจกรรม มีกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ชุมชน หรือประชาสังคม ที่ถูกปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม แล้วอย่างน้อย 66 กลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อย่างน้อย 378 คน ถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 214 คน และถูกดำเนินคดียุยงปลุกปั่นหรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 92 คน

ไม่เพียงผู้เห็นต่างการเมืองที่ถูกทหารคุกคาม ชาวบ้านร้องปมที่ทำกิน ปัญหาลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ-เอกชนก็โดนด้วย

แม้เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในฐานประธานเปิดงานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ 4 หน่วยงาน ถึงการปฏิรูประบบราชการว่า “...จะเห็นว่าไม่มีประชาชนออกมาชุมนุม ปิดทำเนียบรัฐบาลเหมือนอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไปปิดกั้นการแสดงออก แต่ว่าทุกจังหวัดล้วนมีศูนย์ดำรงธรรม ที่ประชาชนสามารถไปร้องเรียนได้ เมื่อร้องเรียนแล้วก็ให้การช่วยเหลือ...” (ดู มติชนออนไลน์)

แต่ปรากฎการณ์ที่เห็นตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา เหมือนไม่ใช่เพราะมีกลไกอย่างศูนย์ดำรงธรรมที่วิษณุให้เครดิต แต่เป็นเพราะการคุกคามมากกว่า และไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับ คสช. เท่านั้นที่ถูกดำเนินคดี หากแต่ยังไม่การเข้าไปคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น การเดินหน้านโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งในหลายพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปปักป้ายให้ประชาชนที่มีพื้นที่ทำกินทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ขนของออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน แม้จะมีกระบวนการเจรจากับรัฐบาลชุดก่อนมาแล้วก็ตาม หรือในบางพื้นที่กำลังอยู่ในช่วงของการส่งมอบพื้นที่ตามนโยบายโฉนดชุมชนก็ไม่วายที่จะถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่ วุ่นวายกันจนต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ทหารทบทวนการกระทำดังกล่าว

พูดได้ว่าภาคประชาสังคม หรือกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวต่อสู้ ต่อรอง เรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐ ทั้งในประเด็นเรื่องที่ดินที่ทำกิน หรือประเด็นผลกระทบจากโครงการพัฒนา โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชน ต่างก็เป็นผู้ถูกกระทำทางตรงภายหลังจากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จากเดิมที่ขาดพื้นที่ของการมีส่วนร่วมอยู่แล้ว แต่หลังจากรัฐประหารพื้นที่ในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องการการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเองก็ถูกตัดทอนลงไปด้วย

พื้นที่ภาคอีสานดูจะเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการ ใช้อำนาจเข้าจัดการของเจ้าหน้าที่ทหาร ในช่วงปีแรกของการรัฐประหารมีไม่น้อยกว่า 10 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น  ปัญหาการไล่รื้อชุมชนใน สวนป่าโนนดินแดง บ้านเก้าบาตร จ.บุรีรัมย์  ปัญหาเหมืองทอง จ.เลย ปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม หลุ่มเจาะดงมูล-บี จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ขอนแก่น การหยุดขบวนเดินเพื่อสายน้ำ เครือข่ายแม่น้ำชี จ.ร้อยเอ็ด  ปัญหากรณีเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ปัญหาไร่ลื้อชุมชนบ่อแก้วและชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ปัญหากรณีโครงการเขื่อนโป่งขุนเพชร ภายใต้การประกาศใช้กฏอัยการศึก ปัญหากรณีโครงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เป็นต้น

เปิดตัว 'อีสานใหม่' อีสานที่จะไม่สยบยอม

แถลงผลกระทบ 3 ปี (หลังรัฐประหาร) ของประชาชนเหนือจรดใต้

ท่าทีทหารเปลี่ยนเมื่อการเมืองเข้าสู่โหมดเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญหน้าอยู๋ในช่วง 4 ปีนี้เวียนวนซ้ำไปซ้ำมาไม่รู้จบ แต่ดูเหมือนท่าทีของทหารที่เคยมีต่อชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน และพื้นที่ต่างๆ จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป แม้จะยังคงมีการสกัดกั้นการแสดงออกของชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็พบว่าปริมาณคำหวานที่หัวหน้าคณะรัฐประหารโปรยหว่านให้กับชาวบ้านระหว่างลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) เป็นสิ่งที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นไปด้วย

นับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาล คสช. ได้ออกไปประชุม ครม.สัญจรแล้ว ทั้งสิ้น 10 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งผู้นำเผด็จการก็ไม่พลาดที่จะสื่อสารทางการเมืองโดยตรงกับชาวบ้าน ประชาชน และสื่อมวลชนที่ติดตามไปรายงานข่าว

แต่สิ่งที่น่าสนใจคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ คือท่าทีของทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่ จากกรณีที่มีการจัดเวทีประชุมร่วมระหว่างรัฐกับชาวบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างฝายร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ซึ่งจัดขึ้นที่ในพื้นที่โครงการฝายร้อยเอ็ด การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการตั้งอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการโครงการตามที่กล่าวมาข้างต้น ในช่วงที่มี ครม. สัญจร ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2561 แม้ชาวบ้านจะไม่ได้ยืนหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง แต่ผ่านมาเพียงหนึ่งเดือนเศษเวทีดังกล่าวก็ถูกจัดขึ้น

ในเวทีดังกล่าวมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในที่ประชุม แม้เวทีประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาผลกระทบให้ชาวบ้านจะเป็นเรื่องระหว่าง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานราชการระดับจังหวัด กับชาวบ้านในพื้นที่ แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารในนาม คสช.ร้อยเอ็ด เข้ามาสังเกตการประชุมด้วย

ผลจากเวทีการพูดคุยได้ข้อตกลงตามการเรียกร้องขอชาวบ้านที่ต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยมีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทำหน้าที่ศึกษาวิจัยผลกระทบทั้งหมด 20 กว่าประเด็น จากนั้นจะมีกระบวนการแก้ไข ฟื้นฟู และเยียวยาผลกระทบต่อไป

แต่ภายหลังเวทีประชุมเสร็จสิ้น ในส่วนของการชี้แจงผลประชุมกับชาวบ้านกว่า 200 คนที่รอฟังผลอยู่ด้านนอกห้องประชุม เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งได้พูดคุยกับชาวบ้านว่า

“รัฐไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน เราเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้อง ตามแนวทางนโยบายประชารัฐ” 

นอกจากนี้ยังมีการพูดในตอนท้ายด้วยว่า  “รักทหารไหมครับพี่น้อง ถ้ารักทหารต้องเชียร์ลุงตู่ด้วย ปัญหาของพี่น้อง ท่านประยุทธ์ ท่านประวิตร และผบ.ทบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ”

นอกจากท่าที และการสื่อสารของทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้แล้ว เมื่อตรวจสอบข่าวสารในเว็บไซต์ กองกำลังรักษาความมั่นคงภายราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ยังพบว่า กอ.รมน. มีมิติงานต่างๆ ที่เข้าไปมีส่วนสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดอบรมเยาวชน อบรมเครือข่ายข่าวภาคประชาชน จัดการปัญหาหนี้นอกระบบ จัดทำโครงการจิดอาสาทำความดีด้วยหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการทำให้ทหารกับประชาชนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น รวมทั้งในหลายโครงการที่ กอ.รมน. จัดขึ้นนั้นมักมีชื่อห้อยท้ายด้วยว่า “ตามแนวทางประชารัฐ”

อีกทั้งยังมีกรณีที่สมาชิกในกลุ่มสามมิตร พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ทหาร ในนามกองทัพบก ได้เข้าไปพบปะประชาชนในพื้นที่ และแจกของให้กับประชาชน โดยใช้ทหาร และรถขนของจาก มณฑลทหารบกที่ 22 เรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ว่าก่อนหน้านี้ได้พบเห็นการกระทำที่ดูเหมือนเป็นการร่วมมือระหว่างเจ้าหน้ารัฐ ทหาร และกลุ่มสามมิตร ในการเข้าไปพบปะพูดคุยกับชาวบ้านมาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้มีการแจกของให้กับชาวบ้านซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ประเจิดประเจ้อเกินไป หวังว่า คสช. และ กกต. จะดำเนินการตรวจสอบ เพราะไม่ต้องการให้มีกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดใช้งบประมาณของรัฐในทางที่เป็นการหวังผลทางการเมือง (ดู ข่าวสดออนไลน์)

ส่องแผนที่ทัวร์นกขมิ้นรัฐบาล คสช. โปรยงบประมาณ-คำหวานลงแต่ละจังหวัด

ซุปเปอร์ กอ.รมน. กับบทบาททหารในอนาคต โดย สุรชาติ บำรุงสุข

พวงทอง ภวัครพันธุ์: ‘มวลชนจัดตั้ง’ ของทหารในยุคต้านประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาอยู่รอบตัวเรา

พรรคหนุนทหารหาเสียงล่วงหน้า แต่เหยียบเบรกพรรคอื่น พร้อมจ่อคุมเข้มหาเสียงออนไลน์

เมื่อมองออกมาที่โรดแมปสู่การเลือกตั้ง ช่วงกลางเดือน ส.ค. 2561 รัฐบาล คสช. ประกาศว่าจะมีการใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ในเดือน ก.ย. เพื่อคลายล็อคให้พรรคการเมืองเริ่มดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองได้ เช่น การจัดประชุมพรรคการเมือง แก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง ตั้งกรรมการบริหารพรรค ดำเนินการจัดตั้งสาชาพรรค เปิดรับสมัครสามาชิกพรรค แต่ยังไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองหาเสียง

ส่วนฝั่งของ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยหลังจากการประชุมคณะกรรมการยกร่างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ว่า จะกำหนดกรอบการควบคุมการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียในภาพรวม เช่น ลักษณะใดจะเข้าข่ายกระทำความผิด โดยจะดำเนินการออกระเบียบได้ทันทีหลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้

เลขาธิการ กกต. เผยเตรียมตั้งวอร์รูม คุมเนื้อหาการหาเสียงออนไลน์

ดูเลือกตั้งกับอินเทอร์เน็ตรอบไทย เมื่อ ‘กกต. - คสช.’ ส่งสัญญาณคุมโซเชียลมีเดีย

เนื้อหาโดยรวมจะกำหนดขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัครว่าจะดำเนินการในลักษณะใดได้บ้าง และต้องแจ้งต่อ กกต. ล่วงหน้า ต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net