ปวงชน อุนจะนำ: รัฐไทยในมุมมองกุลลดา วิพากษ์หนังสือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย

ทำความเข้าใจหนังสือ ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ ของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด ผ่านมุมมองของปวงชน อุนจะนำ นักวิชาการรุ่นใหม่จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์

  • ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ ว่าด้วยการเกิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการล่มสลายลงในปี 2475
  • งานชิ้นนี้ของกุลลดาสร้างคุณูปการต่อแวดวงวิชาการ 5 ประการ เช่น สร้างความเข้าใจต่อกระบวนการก่อรูปของรัฐไทย ท้าทายความเข้าใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นต้น
  • ข้อวิพากษ์ 5 ประการ เช่น เน้นบทบาทชนชั้นนำจึงไม่มีเสียงของชาวบ้าน ต้องการขับเน้นเรื่องเศรษฐกิจจนขาดมิติการล่าอาณานิคมในประเทศ เป็นต้น

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด: ความขัดแย้งจากทุนนิยม จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงการเมืองไทยปัจจุบัน, 28 เม.ย. 2562

(ที่มาของภาพ: Facebook/คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘มองรัฐไทยในมิติสังคมศาสตร์’ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดตัวหนังสือคลาสสิกของกุลลดา เกษบุญชู มี้ด เรื่อง ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ โดยภายในงาน ปวงชน อุนจะนำ จากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร บรรยายในหัวข้อ ‘รัฐไทยในมุมมองกุลลดา’ โดยกล่าวถึงคุณูปการและวิพากษ์วิจารณ์งานชิ้นนี้ของกุลลดาไปพร้อมๆ กัน

ผมพูดในนามผู้อ่านงานของอาจารย์กุลลดา แล้วก็มีอิทธิพล แรงบันดาลใจ และคำถามในใจมากมาย ผมเคยพูดกับอาจารย์กุลลดาว่า ถ้าหนังสือของอาจารย์ออกมาแวดวงวิชาการไทยต้องอวยแน่ๆ ไม่มีการวิพากษ์ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย

สิ่งที่ผมจะพูดในวันนี้คือรัฐไทยในมุมมองของกุลลดา โดยตั้งอยู่บนการปริทรรศน์หนังสือเล่มสำคัญของอาจารย์กุลลดาคือ ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย’ ผมจะพูดถึง 2 ประเด็น หนึ่ง คุณูปการหรือจุดขายของหนังสือเล่มนี้ สอง ผมจะทำการวิพากษ์ในมุมมองผมว่าหนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญบางประเด็นน้อยไปและละเลยประเด็นไหนบ้าง

เรื่องย่อว่าด้วยการเกิดและล่มสลายของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ผมขอเล่าเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ก่อน หนังสือเล่มนี้ต้องการตอบคำถามหลัก 2 คำถามใหญ่ คำถามแรกคือรัฐไทยก่อรูปหรือพัฒนาการขึ้นมาได้ยังไง คำตอบของอาจารย์กุลลดาคือรัฐไทยสมัยใหม่เกิดจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากยุคที่อาจารย์กุลลดาใช้คำว่า Pre Modern State ก่อนไปสู่รัฐสมัยใหม่ที่อาจารย์กุลลดาเรียกว่ารัฐชาติ ข้อสังเกตคืออาจารย์กุลลดาไม่ใช่ศัพท์มาร์กซิสต์ อาจารย์กุลลดาชี้ให้เห็นว่าองค์ประกอบของรัฐชาติสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจ ความชอบธรรมในการปกครอง ระบบข้าราชการสมัยใหม่ การศึกษาแบบสมัยใหม่ และแนวคิดเรื่องประชาชาติ ทั้งหมดนี้มันมีพัฒนาการชัดเจนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

คำถามที่ 2 ที่หนังสือเล่มนี้พยายามจะตอบให้ได้คือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดได้ยังไง อาจารย์กุลลดาให้คำตอบว่าปัจจัยที่สำคัญคือเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 19 อังกฤษเป็นหัวขบวนในการนำ ไทยต้องปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกให้ได้ เศรษฐกิจโลกดูดกลืนรัฐไทยเข้าไป ตะวันตกทำให้ไทยต้องเปิดเสรีทางการค้า รับหน้าที่ปลูกข้าวเป็นหลักเพื่อตอบสนองหลักการแบ่งงานกันทำในระดับโลก ซึ่งสร้างผลสะเทือนต่อการเมืองในประเทศ ก่อนนี้วังหรือพระมหากษัตริย์มั่งคั่งร่ำรวยผ่านการผูกขาด เมื่อเปิดให้มีเสรีทางการค้ามากขึ้น เงินก็ชักจะร่อยหรอ ทางออกก็คือต้องหาทางเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพให้ได้ และนำไปสู่การสร้างระบบราชการสมัยใหม่

อาจารย์กุลลดาใช้คำว่าระบบราชการสมัยใหม่มันคือสัตว์ประหลาดที่ถูกสร้างขึ้นมา เมื่อเวลาผ่านไประบบราชการที่ถูกสร้างขึ้นมานี้แหละจะมีปัญหาทีหลัง เพราะข้าราชการรุ่นใหม่เชื่อในความสามารถส่วนบุคคล ความรู้ การทำงานหนัก และมีพื้นฐานมาจากไพร่ ซึ่งจะชนกับพระมหากษัตริย์ในเวลาต่อมา เพราะว่าพระมหากษัติรย์เองแม้จะมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่สุดท้ายแล้วพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ยังนึกถึงผลประโยชน์ของพระราชวังเป็นหลัก และยึดกับสายโลหิตแทนที่จะยึดกับความสามารถส่วนบุคคล

บทสรุปของหนังสือเล่มนี้จะพูดถึงเหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 ตรงกับ ค.ศ. 1912 ซึ่งเป็นการต่อต้านขัดขืนครั้งแรกของกลุ่มข้าราชการกระฎุมพีที่ไม่พอใจการปกครองของกษัตริย์ภายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจารย์กุลลดาบอกว่านี่แหละคือจุดตกต่ำ และเราจะเข้าใจ 2475 ได้ต้องเข้าใจเรื่องราวตรงนี้ด้วย

คุณูปการ 5 ประการ

อะไรคือคุณูปการสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ผมคิดว่ามีอยู่ 5 ประการ หนึ่ง-หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจกระบวนการการก่อรูปรัฐในแบบของไทย ถ้าเรียนเจาะลึกรัฐศาสตร์สาขาการเมืองเปรียบเทียบจะมีหัวข้อสำคัญคือรัฐและการก่อตัวของรัฐ บางทีก็พาไปดูการก่อตัวของรัฐในอเมริกา ในเอเชีย ในแอฟริกา เรารอคอยมานานแล้วว่าเมื่อไหร่จะมีงานเกี่ยวกับการก่อสร้างรัฐไทยในเวอร์ชั่นไทย ผมคิดว่างานชิ้นนี้อธิบายสิ่งนี้

แต่งานชิ้นนี้ไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียว มันมีงานของนักวิชาการสายก้าวหน้าที่มีข้อเสนอคล้ายๆ กัน อย่างงานของเบนเนดิก แอนเดอร์สัน อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ไชยันต์ รัชกูล ที่นำเสนอข้อเสนอคล้ายๆ กัน นักวิชาการกลุ่มนี้ต่อต้านการเข้าใจรัฐไทยแบบคัดแคบ แบบชาตินิยม และแบบกษัตริย์นิยม แทนที่จะมองว่ารัฐไทยเกิดมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย นักวิชาการกลุ่มนี้ให้ข้อเสนอที่ต่างไป มองว่ารัฐไทยเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน มีพัฒนาการของมัน ที่สำคัญกระบวนการนี้มันทุลักทุเล อัปลักษณ์ รุนแรง และยังไม่เสร็จสิ้น ถ้าใครสนใจการก่อตัวของรัฐ หนังสือเล่มนี้ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

คุณูปการที่ 2 หนังสือเล่มนี้ท้าทายความเข้าใจทั่วไปเรื่องการก่อตัวของรัฐ ทฤษฎีหลักในการเข้าใจเรื่องรัฐ รัฐเกิดขึ้นจากสงคราม ยึดอาณาเขต ต่อสู้ ปลดแอกประเทศ อาจารย์กุลลดาให้มุมมองที่ต่างไป เธอบอกว่าเศรษฐกิจโลก ทุน และตลาดต่างหากที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดรัฐ นอกจากนั้น แทนที่จะเน้นเรื่องความสามารถส่วนบุคคลขอพระมหากษัตริย์หรือตัวแสดงทางการเมือง อาจารย์กุลลดาเน้นไปที่โครงสร้าง เน้นทุนมากกว่าการกดขี่ ขูดรีด

คุณูปการที่ 3 งานของอาจารย์กุลลดาท้าทายความเข้าใจต่อบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจารย์กุลลดามองว่าต้องเข้าใจพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวแสดงทางการเมืองหรือนักการเมือง ซึ่งสนใจผลประโยชน์ของราชวงศ์เป็นหลัก แทนที่จะสนใจผลประโยชน์ของบ้านเมือง นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ไม่ได้มองการณ์ใกล้ขนาดนั้น บางทีนโยบายที่ใช้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วผลเสียมาเกิดทีหลัง เช่น การริเริ่มระบบราชการ โดยความเข้าใจทั่วไป เรามองกษัตริย์เป็นเทวราชา แต่งานอาจารย์กุลลดามองต่างออกไป เราจะเห็นว่าพระมหากษัตริย์มีการปะทะ ต่อสู้กับตระกูลขุนนางต่างๆ และบางครั้งก็เสียหน้าที่ขุนนางไม่ยอมทำตาม

คุณปการข้อที่ 4 วิธีการศึกษาของอาจารย์กุลลดาสร้างมาตรฐานให้กับการศึกษารัฐไทย อาจารย์ไม่อาศัยงานชั้นรองทางประวัติศาสตร์ แต่พาไปดูงานชั้นต้นเสมอในหอจดหมายเหตุ ตัวอย่างเอกสารชั้นต้นที่ใช้ประกอบเล่มนี้ เช่น จดหมายเหตุ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ อัตชีวประวัติส่วนบุคคลจดหมายที่โต้ตอบระหว่างพระมหากษัตริย์กับลูก วารสารของกระทรวง ทบวง กรม บันทึกการเดินทางของชาวต่างชาติ แบบเรียนในโรงเรียน บทพระราชนิพนธ์ของกษัตริย์ หรือกระทั่งคำให้การของกบฏในศาล ในแวดวงวิชาการเข้าใจอาจารย์กุลลดาเป็นนักรัฐศาสตร์สายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าคนให้เครดิตอาจารย์กุลลดาน้อยไปในแง่ประวัติศาสตร์ ไทยศึกษา และเชี่ยวชาญการเมืองการปกครองไทย

คุณูปการประการสุดท้าย ที่ผมชอบ หนังสือเล่มนี้มีการโต้ตอบ สนทนา เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการตะวันตกชื่อดัง ปกติเวลาที่ทำงานวิชาการด้านไทย เรามักจะมักง่าย ทำเรื่อง 6 ตุลา ทำเรื่อง 2475 บทที่ 1 เข้าเรื่องเลย ไม่สนใจทฤษฎีตะวันตกที่มีมาก่อน เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องของไทยสำคัญอยู่แล้ว แต่งานของอาจารย์กุลลดาต่างออกไปที่พยายามสนทนากับนักวิชาการระดับโลก โดยจะปรากฏในหนังสืออาจารย์กุลลดาตลอด เหมาะกับคนที่ต้องการเปิดโลกออกจากกะลาหรือความคับแคบทางปัญญา
บทวิพากษ์

นั่นก็เป็นคุณูปการของอาจารย์กุลลดา ผมจะชมอย่างเดียวก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะเป็นมวยล้มต้มคนดู อวยไส้แตกตลอดเวลา ผมอยากจะให้บทวิพากษ์ไว้ด้วย หนังสือเล่มนี้ผู้อ่านจำต้องพึงระวังไว้ ระลึกถึงในบางประเด็นต่อไปนี้ ประการที่ 1 นักคิดคนสำคัญที่ชื่อชาร์ล ทิวลี่ อาจารย์กุลลดาพูดถึงไว้เยอะว่าไม่เห็นด้วยกับชาร์ล ทิลลี (Charles Tilly) เป็นนักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เขานำเสนอทฤษฎีสำคัญว่าสงครามเป็นตัวก่อให้เกิดรัฐ กระบวนการในการก่อสงครามนำไปสู่อีก 3 กระบวนการคือต้องการทุนในการทำสงครามก็ต้องดูดทรัพยากรจากประชาชน แต่การจะดูดทรัพยากรจากประชาชนได้ผู้ปกครองก็ต้องให้ความปกป้องคุ้มครองประชาชนด้วย กระบวนการต่อมา ในรัฐยังมีตระกูลขุนนางต่างๆ ด้วยที่อ้างว่าตนให้การคุ้มครองได้และเก็บทรัพยากรจากประชาชนเหมือนกัน กระบวนการสุดท้ายคือการกำจัดคู่แข่ง ขุนนางที่เป็นศัตรู และรวมศูนย์อำนาจให้ได้ สร้างระบบการเก็บภาษีให้ได้ นี่คือทฤษฎีของทิลลี

อาจารย์กุลลดาไม่เห็นด้วย รัฐไทยสงครามไม่ได้สร้าง เศรษฐกิจโลกต่างหากที่เป็นตัวสร้าง แต่ผมเห็นต่าง ทิลลีศึกษารัฐในยุโรปตะวันตกโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา และเขาไม่เคยบอกว่าทฤษฎีนี้ใช้ได้นอกบริบทยุโรป ทิวลี่ยังบอกเองว่ารัฐยุโรปไม่มีทางทำใหม่ได้แล้วนอกยุโรป ดังนั้น การบอกว่าทฤษฎีของทิวลี่ใช้ไม่ได้กับรัฐไทย ผมว่าผิดฝาผิดตัว นอกจากนั้น ที่น่าสนใจคือทิวลี่บอกว่ารัฐนอกยุโรปไม่ต้องทำสงครามแล้วในศตวรรษที่ 19 และ 20 รัฐสมัยใหม่ในโลกที่สามกระบวนการสร้างสงครามจบลงแล้ว เพราะประเทศมหาอำนาจแบ่งดินแดนต่างๆ ไม่ต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้าน อย่างไทยเราก็ใช่ที่มีทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษมาอยู่ขนาบข้าง ยึดเพื่อนบ้านเราไปหมด

ทิวลี่บอกว่าปัญหาของรัฐในโลกที่สามคือตรงนี้ กองทัพไม่ได้รบกับใคร เลยหันมากดขี่ประชาชนเสียเอง รัฐโลกที่สาม บทบาทของกองทัพน่าเกลียดมากในการเล่นการเมืองในประเทศเสียเอง ผมคิดว่าทิวลี่มีประโยชน์ตรงนี้ในการเข้าใจรัฐไทย ทิวลี่ไม่ได้เป็นศัตรูกับอาจารย์กุลลดาเสียทีเดียว แต่เป็นเพื่อนร่วมทางมากกว่าในแง่นที่ว่าทิวลี่เคยเสนอทฤษฎีสำคัญอีกชิ้นหนึ่งว่ารัฐไม่ต่างจากพวกอันธพาลที่เรียกเก็บค่าคุ้มครอง ผู้ปกครองแข่งขันกันว่าใครกันแน่ที่สามารถเก็บค่าคุ้มครองและให้ความคุ้มครองประชาชนได้ รัชกาลที่ 5 กับตระกูลบุนนาคคล้ายกันเลย คือพระมหากษัตริย์แข่งกับขุนนางในการสร้างธุรกิจเรียกค่าคุ้มครองจากประชาชน ผมคิดว่าไปกันได้

ข้อวิพากษ์ประการที่ 2 สืบเนื่องจากประเด็นแรก เนื่องจากอาจารย์กุลลดาต้องการขับเน้นเรื่องเศรษฐกิจ และลดบทบาทของสงคราม ความรุนแรง การขูดรีด ทำให้ขาดมิติการล่าอาณานิคม สงคราม ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับบ้านเรา การปราบปรามกบฏทั้งหลายในปัตตานี ล้านนา อีสาน ถ้าพูดแบบเบนเนดิก แอนเดอร์สันคือขาดมิติการล่าอาณานิคมในประเทศ ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาจารย์กุลลดาต้องการตอบโต้กับทิวลี่

ประการที่ 3 งานนี้เน้นบทบาทชนชั้นนำ อาจารย์กุลลดายอมรับว่ามันเป็นงานประเภท Elitism พาไปดูว่าเจ้า คนในวัง คุยอะไรกัน ในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐไทย ที่ขาดไปคือเราแทบไม่ได้ยินเสียงชาวบ้าน ชนชั้นล่าง ยกตัวอย่างคนอีสานคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์บอกให้ปลูกข้าว คนอีสานเห็นด้วยหรือเปล่า ถ้าให้ความเป็นธรรมกับอาจารย์กุลลดา เธอก็บอกไว้แล้วว่าสนใจการมองรัฐจากด้านบน

ประการที่ 4 อาจารย์กุลลดาเริ่มต้นได้ดีในการอธิบายหนังสือเล่มนี้ก็คือเน้นอธิบายเศรษฐกิจโลก แต่พอบทท้ายๆ มิติเศรษฐกิจจะค่อยๆ ลดบทบาทลง กลายเป็นมิติการเมืองเยอะ ความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับข้าราชการที่เป็นจุดตกต่ำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมกลับมองตรงข้ามว่าน่าเสียดาย บทท้ายๆ น่าจะกลับไปที่เศรษฐกิจโลกเหมือนเดิม เพราะผมไม่เชื่อว่าความตกต่ำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะเป็นความขัดแย้งระหว่างอีลีทอย่างเดียว น่าจะมองว่ารัฐไทยในตอนนั้นไม่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังไง พระมหากษัตริย์ละเลยสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบอย่างไร แล้วกษัตริย์เองลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยละเลยนายทุนต่างๆ อย่างไร ผมคิดว่ามิติตรงนี้ขาดไปอย่างน่าเสียดาย

ข้อวิจารณ์สุดท้าย แนวคิดสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือกระฎุมพีข้าราชการ อาจารย์กุลลดาเลี่ยงศัพท์มาร์กซิสต์ตลอด และอาจารย์กุลลดาก็เลี่ยงการวิเคราะห์เรื่องชนชั้น แต่ผมสนใจว่าในตอนนั้นคำว่ากระฎุมพีมีมากน้อยแค่ไหนในเรื่องการเป็นชนชั้น อาจารย์กุลลดาอาจเลี่ยงใช้คำอื่นได้ เช่น ข้าราชการสายก้าวหน้า ข้าราชการสาย Liberal ก็ได้ แต่อาจารย์กุลลดาใช้ศัพท์นี้ที่เป็นศัพท์มาร์กซิสต์ในเรื่องชนชั้น ผมเลยสงสัยว่าที่อาจารย์กุลลดาใช้แนวคิดนี้เพราะมันเป็นแนวคิดที่มีพลังใช่หรือไม่ ดูก็รู้ว่าไม่ช้าก็เร็วจะชนกับพระมหากษัตริย์แน่นอนและก็นำไปสู่ 2475

เวลาผมหมดแล้ว ขออนุญาตปิดท้ายสั้นๆ อาจารย์กุลลดาเคยพูดในงานเสวนาที่หนึ่งว่ารู้สึกเสียใจที่เวลาเสนองานอะไรไป ไม่ต่างจากการโยนหินไปในบ่อน้ำ ไม่สร้างแรงกระเพื่อมอะไร จากการที่ผมเห็นในวันนี้ ผมเชื่อว่างานของอาจารย์กุลลดากำลังสร้างผลกระทบต่อแวดวงวิชาการไปเรื่อยๆ และผมขอแสดงความยินดีต่ออาจารย์กุลลดาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท