Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขยะเป็นปัญหาโลกแตก...จะจัดการอย่างไงดี?

นอกจากขยะในหมู่บ้านที่มีเยอะแล้ว ขยะที่ไหลมาพร้อมกับคลื่นทะเลก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับชาวปัตตานีด้วยเช่นกัน
วันนี้ ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดปัตตานี ชื่อ ม.บางตาวา ม. 1 ได้ทำกิจกรรมเก็บขยะขึ้น โดยมีนักเรียนในหมู่บ้าน ชาวบ้าน ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ปลัด อบต. อบต. คุณครู แกนนำชุมชน มาช่วยกัน โดยมีอาจารย์จาก มอ.ปัตตานี และทีมงาน TPBS เป็นสื่อกลางที่ทำให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้เวลาเข้าไปเยี่ยมชุมชนทุกครั้ง เราก็คุยกันเรื่องขยะ แต่ยังไม่ได้คุยกันว่า เราจะจัดการกับมันอย่างไร ตัวเองสนใจเรื่องขยะ เพราะโยงกับประเด็นเรื่องภัยพิบัติในชุมชน หมู่บ้านนี้เผชิญกับภาวะน้ำท่วม และพายุบ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ติดทะเล เมื่อน้ำมาพร้อมขยะ ก็นำพาโรคต่างๆ มาด้วย เช่น ตาแดง โรคน้ำกัดเท้า

แต่ประเด็นหลักที่เราคุยร่วมกันคือ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า "ขยะ" ในหมู่บ้านของฉันเป็นปัญหา นอกจากจะทำให้วิวทิวทัศน์ดูไม่สวยงามแล้ว ขยะยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวันและยุง ส่งผลต่อสุขภาพและสุขภาวะของชุมชนอีกด้วย ที่สำคัญหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่อง ปลาตากแห้ง และปลากุเลาเค็ม ถ้าแมลงวันเยอะๆ จะส่งผลกระทบกับธุรกิจของท้องถิ่นนั้นเอง

อีกอย่าง ตอนนี้บางตาวาเริ่มมีชื่อเสียง หมู่บ้านกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ถ้าใครจะไปใครจะมา พอมาเห็นสภาพขยะเยอะแยะเต็มไปหมด ชุมชนก็ดูไม่น่ามอง คนข้างนอกอยากจะมาซื้อของช่วยอุดหนุนชาวบ้าน แต่ก็กล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์จะสะอาดพอหรือไม่

ในอดีตหมู่บ้านเเห่งนี้เคยมีโครงการ "ขยะแลกไข่" โครงได้ผลดีมาก ขยะหายเกลี้ยงทั้งหมู่บ้าน แต่มีแค่แป๊ปเดียว จากนั้นก็ไม่มีอีกเพราะงบประมาณหมด สุดท้ายขยะก็กลับมาอีก

อบต. มีรถขนขยะ ต้องนำขยะในหมู่บ้านไปขนทิ้งในที่ๆ เช่าไว้ วันละ 1 ตัน ตันละ 500 บาท ลองคำนวนคร่าวๆ ว่า หมู่บ้านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการขยะเพียงอย่างเดียว คือ 1 เดือน x 30 วัน = 15,000 บาท ถ้า 15,000 บาท x 12 เดือน = 180,000 บาท ใช่!! หมู่บ้านต้องเสียค่ากำจัดขยะถึง 180,000 บาท/ปี และเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้จ่ายหมวดอื่นๆ ได้ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน การดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของแม่และเด็ก

ปลัดแก้ม อบต.บางตวาบอกว่า ถ้าอบต.ไม่ต้องเสียงบประมาณส่วนนี้ ก็จะนำเงินมาใช้พัฒนาในด้านอื่นๆ อีก
คุณครูโรงเรียนบ้านบาตาวาบอกนักเรียนว่า ขยะพวกพลาสติก ขวดน้ำขายได้ราคากิโลละ 15-18 บาท ขยะพวกกระดาษขายได้กิโลละ 1 บาท นักเรียนจะได้ตังค์กินขนมไปโรงเรียนโดยไม่ต้องขอผู้ปกครอง

แกนนำชาวบ้านกระซิบว่า จริงๆ แล้ว ขยะสามารถจัดการได้ในช่วงฤดูมรสุม เพราะเวลานี้ชาวบ้านจะออกเรือหาปลาไม่ได้ น่าจะมาช่วยกันเก็บขยะ

ชาวบ้านบางคนตั้งคำถามไว้ดีมากๆ เขาถามอาจารย์ว่า การเก็บขยะในครั้งนี้จะยั่งยืนหรือไม่? เพราะเมื่อเก็บหมดแล้ว ขยะก็มาอีก แต่ขยะที่ว่าไม่ได้มาจากหมู่บ้าน แต่มาจากทะเล!!

มันทำให้นึกถึงว่าขยะเป็นเรื่องที่ไร้พรมแดนจริงๆ เพราะจำได้ว่าเพื่อนนักวิชาการนักชีววิทยาทางทะเลชาวออสเตรเลีย ต้องเริ่มเก็บขยะในทะเล ก่อนทำวิจัยพวกปลาหายาก หรือปะการังแถบ Great Barrier Reef แล้วก็บ่นๆ ว่า ขยะที่ว่าก็ลอยมาจากประเทศแถบเอเชีย และประเทศไทยนั้นเอง


บรรยายให้นักเรียนฟังเกี่ยวกับปัญหาขยะและผลกระทบ

กิจกรรมในวันนี้ นักเรียนและชาวบ้านช่วยกันเก็บขยะกันมาคนละชิ้น เเละเราได้ขยะกองโต ซึ่งมีทั้งที่ย่อยสลายได้และย่อยสลายไม่ได้ ส่วนที่ย่อยสลายได้ เช่น กากมะพร้าว ส่วนที่ย่อยสลายไม่ได้ เช่น ถุงพลาสติก และบรรจุภัณฑ์ใส่ขนม made from กรุงเทพ!! แต่มาไกลถึงปัตตานี ตอนไปเก็บขยะริมชายหาดวันนี้ เห็นชัดเลยว่าหาดทรายไม่สวยเหมือนเมื่อ 6 ปี ทีแล้วจริงๆ!! เมื่อก่อน แถวนี้สวยมาก มีเปลือกหอยเล็กๆ น่ารักมากมาย ทรายสีขาว เนียน สะอาด

วันนี้จึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชุมชนและนอกชุมชน วันที่ชาวบ้านบางตาวา เริ่มส่งสัญญาณสู่โลกภายนอกหมู่บ้านว่า ชุมชนจะเริ่มต้น (อีกครั้ง) กับการจัดการปัญหาขยะ และขอความร่วมมือจากเพื่อนๆ ทุกคน ให้ช่วยกันลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อนำชายหาดสวยๆ ชุมชนสะอาด กลับคืนมายังหมู่บ้านเหมือนเดิม

 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net