มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์ (2) ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

เวทีเสวนา "มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์" ที่ ม.เชียงใหม่ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นำเสนอเรื่องหนังสือ "ว่างแผ่นดิน" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่นิยามการล่มสลายของอาณาจักร 3 แห่งในศตวรรษที่ 18 ได้แก่อยุธยา อังวะ และไดเวียด ว่าเกิดขึ้นจากความล้าสมัยความตายตัวที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก อำนาจใหม่ บารมีใหม่และความใฝ่ฝันใหม่ สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในระบบเก่าไม่ได้ ทำให้อาณาจักรทั้งสามล่มสลายลงในที่สุด

การอภิปรายจากเวทีเสวนา "มองประเทศไทยจากโลกของอุษาคเนย์ : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ 3 อาณาจักร และเปิดตัวหนังสือ “ว่างแผ่นดิน” ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 5 มิถุนายน 2562 โดยแผนงานคนไทย 4.0 ร่วมกับคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ร่วมถกเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการมองอาณาจักรอยุธยา อังวะ และไดเวียด ผ่านหนังสือ "ว่างแผ่นดิน" ผลงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์

โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ  นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์และอดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น  รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย, University of Wisconsin-Madison ดำเนินรายการโดย ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชามานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยต่อจากนี้เป็นการนำเสนอของไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

จริง ๆ ก็อยากจะเริ่มต้นว่าขอบคุณอาจารย์ชัยพงษ์ที่ได้เชิญเรามาร่วมแลกเปลี่ยนในงานวันนี้ ก็เป็นเกียรติอย่างยิ่งและทุกครั้งที่มีโอกาสกลับมาถึงเชียงใหม่ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสที่ดี มาครั้งแรกตอนที่เพิ่งจบปริญญาตรีและไปเรียนที่ศูนย์สตรีศึกษาที่ มช. ในตอนนั้นเดือนสิงหาคมปีนี้ก็จะ 20 ปีแล้ว และก็เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ร่วมวงเสวนากับอาจารย์นิธิ แม้ว่าจะไม่เคยมาเรียนด้วย แต่งานเขียนของอาจารย์มีอิทธิพลต่อความคิดมาตั้งแต่เริ่มเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และอิทธิพลอีกอย่างหนึ่งของอาจารย์นิธิในงานของไทเรลเองก็คือตอนที่เริ่มเรียนปริญญาเอกและยังเรียนภาษาไทยอยู่ บทความสามชิ้นแรกที่อ่านแล้วก็ต้องบอกว่าดิ้นรนอ่านมาก ได้แก่ ใครเป็นใครใน 6 ตุลา ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชิ้นที่สองคือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมของธงชัย วินิจจะกูล และบทที่สามคือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยโดยนิธิ

ต้องบอกว่างานสามชิ้นนี้ได้มาเป็นกรอบที่มีผลต่อทั้งวิธีการทำวิจัย วิธีการคิด วิธีการทำข้อมูลรากฐานที่จะใช้ในการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำถามที่สนใจ  20 ปีที่ผ่านมาระหว่างเพิ่งเริ่มอ่าน สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนคือการอ่านงานวิชาการภาษาไทยราบรื่นมากขึ้น ไม่ต้องเปิดพจนานุกรมอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังคงใช้อยู่อันนี้ก็ต้องบอกกันตรง ๆ

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแม้ว่ากระบวนการอ่านราบรื่นมากขึ้นคือความรู้สึกตื่นเต้น ความรู้สึกแบบที่ได้เจอสิ่งใหม่ ๆ ตอนที่อ่านหนังสือเล่มใหม่ และสองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่คือ "ว่างแผ่นดิน" ของอาจารย์นิธิ ก็มีความรู้สึกแบบนั้นและเห็นด้วยกับอาจารย์ชัยพงษ์ สำเนียง ว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันนี้อย่างมากที่รัฐสภาไทยเป็นเช่นนี้

ในวันนี้จะพูดอยู่สามประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรกคือความสำคัญและความยากลำบากในการศึกษาและการเขียนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงการเปรียบเทียบ ประเด็นที่สองคืออยากพูดถึงหนังสือว่างแผ่นดินและตั้งคำถามว่าวิธีการเขียนในเล่มนี้และวิธีการเลือกว่าจะเขียนช่วงว่างแผ่นดินหรือที่อาจารย์เขียนว่าว่าง ขนบน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้เราคิดว่า จะเขียนประวัติศาสตร์ไทย หรือสยาม หรือพม่า หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับประชาชน เราว่าการเลือกช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงการล่มสลายก็เป็นโอกาสพิเศษเพื่อได้เขียนถึงคนเล็กคนน้อย  และประเด็นที่สามที่อยากจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบัน สรุปสั้น ๆ คือทำไมทุกคนควรจะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์

ขอเริ่มต้นด้วยการสรุปประเด็นสำคัญในหนังสือที่ตัวเองเข้าใจที่สำคัญที่สุดในสายตาตัวเองคือ อาจารย์นิธิวิเคราะห์การล่มสลายของอาณาจักรสามแห่งในศตวรรษที่ 18 คือ ราชอาณาจักรอยุธยาในสยาม ราชอาณาจักรอังวะในพม่า และสุดท้ายคือราชอาณาจักรไดเวียดในเวียดนาม และทั้งสามอาณาจักรได้พัฒนามาเป็นราชอาณาจักรจากการครองรัฐที่เป็นแว่นแคว้นในศตวรรษที่ 15 และ 16

อาจารย์นิธิก็เล่าถึงการรวมอำนาจและการขยายตัวของอาณาจักร และอาจารย์สนใจการล่มสลายมากกว่าความสามารถในการรวมอำนาจขึ้นมาได้ และอาจารย์นิธิก็นิยามการล่มสลายโดยเขียนไว้ว่าเกิดขึ้นจากความล้าสมัยความตายตัวที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก อำนาจใหม่ บารมีใหม่และความใฝ่ฝันใหม่ สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบเก่าไม่ได้ จนกระทั่งราชอาณาจักรทั้งสามล่มสลายลงอย่างค่อนข้างซับซ้อน ที่จริงก็คิดว่าอันนี้เป็นนิยามการล่มสลายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะคำว่าความใฝ่ฝัน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ความใฝ่ฝันของคนในระบบเก่าและคนในระบบที่กำลังขึ้นมา เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกันและศึกษายากพอสมควร

และอาจารย์นิธิก็ใช้คำว่าว่างแผ่นดินและว่างขนบ เพื่อนิยามถึงช่วงหลังการล่มสลาย อยากจะเน้นว่า คำว่าว่างแผ่นดินก็คงเป็นคำที่หลายคนก็ใช้อยู่ แต่คิดว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่คนที่สนใจก็เอาโครงสร้างที่อยู่ในเล่มนี้ เอาไปใช้ต่อหรือใช้ในงานของตนเอง การคิดถึงคำว่าว่างขนบก็เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกัน เพราะคำนี้สะท้อนถึงการที่คนที่เข้ามาบริหารใหม่ก็ไม่ได้เลือกด้วยซ้ำ ใช้ระเบียบและประเพณีเก่า และสิ่งเหล่านี้เป็นไอเดียที่ใช้ในการอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 18 หรือในปัจจุบันได้ด้วยซ้ำ ก็เป็นไอเดียที่ออกมาจากกระบวนการการเปรียบเทียบ

มาถึงประเด็นที่ว่าทำไมการเขียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเชิงเปรียบเทียบจึงเป็นสิ่งที่ยากและไม่ค่อยมีใครทำแต่เป็นสิ่งสำคัญในเวลาเดียวกัน ประเด็นบางอย่างที่เหมือนกับอาจารย์นิธิก็จะไม่พูดซ้ำ แต่ก็อยากจะพูดว่าโดยที่สังเกตจากทั้งการที่เรียนประวัติศาสตร์แบบมีอาจารย์สอนโดยภาควิชาของรัฐศาสตร์ คือ นักประวัติศาสตร์มักจะไม่เหมือนนักรัฐศาสตร์ที่จะมีสนามการเมืองเปรียบเทียบโดยตรง หรือนักสังคมวิทยาที่เน้นการเปรียบเทียบกรณีต่าง ๆ ในงานวิจัย เพราะมีหลายกรณีให้เปรียบเทียบ ส่วนนักประวัติศาสตร์ก็จะตรงกันข้ามเลยคือ มักจะมีกรณีเดียวและบางครั้งก็เป็นแค่ช่วงเวลาเดียว 10 ปี

จริงๆ แล้วเราเขียนวิทยานิพนธ์ก็ต้องบอกว่าเราเขียนกันปี 2518 ความจริงก็ประมาณ 8 เดือนในปี 2518 ก็จะชัดที่สุด แทนที่จะพัฒนาไอเดียใหญ่ ๆ ที่ออกมาจากงานในเชิงเปรียบเทียบ นักประวัติศาสตร์มักจะเน้นการเขียนรายละเอียดของข้อมูลที่ลึกซึ้ง จริงๆ ก็เป็นสองมุมมองในการทำงานวิจัยในประวัติศาสตร์ก็มักจะคิดถึงอย่างที่สอง และงานของไทเรลเองบางครั้งก็เป็นคนที่ก็เขียนแต่ประวัติศาสตร์ไทยอย่างเดียว โดยเฉพาะมักจะมาจากคนที่เขียนประวัติศาสตร์ยุโรปเหนือ ประวัติศาสตร์อเมริกาใต้ ที่เขาจะเขียนหลาย ๆ ประเทศอาจจะเขียนเม็กซิโกและงานภาคใต้ก็เขียนอาร์เจนตินา ที่จริงคำตอบของวันที่กลับมาทบทวนก็เป็นคำตอบที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็ตอบว่าอ๋อไม่ได้เพราะว่าได้อ่านแต่ภาษาไทยจึงทำให้เรียนภาษาอื่นตอนเรียนปริญญาเอกไม่มากเพราะไม่ได้ใช้ ก็ลืมไปแล้ว ใช้ไม่ได้ แต่ความจริงต้องมีวิธีอื่นในการทำงานวิจัย ไม่ใช่แค่ว่าทุกคนต้องได้อ่านเอกสารเองก็ได้ใช้งานเขียนของนักประวัติศาสตร์คนอื่นเพื่อพยายามสร้างภาพใหญ่

และตามที่อ่านเล่มนี้ก็เริ่มนึกถึงงานวิจัยในเชิงการเปรียบเทียบ นึกถึงที่อาจารย์เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เคยเรียกร้องให้นักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและนักวิชาการที่สนใจ ว่าควรจะทำงานในการเปรียบเทียบ และอาจารย์เบนก็แนะนำว่าไม่ใช่แค่ควรอ่านงานของนักวิชาการในวิชาอื่นหรือที่สนใจประเทศอื่น ๆ แต่ควรยอมให้งานนั้นเข้ามาตั้งคำถามเกี่ยวกับงานก็เลยว่าจะอ่านงานและกลับมาคิดถึงพื้นฐานของงานของเราว่าน้ำหนักเป็นอย่างไร เคลียร์ไหม เห็นสิ่งอื่นที่ยังไม่ได้เห็นใหม่ ๆ หรือไม่

อาจารย์คนอื่นแนะนำว่า เราควรจะหาหรือตั้งสิ่งที่เขาเรียกว่า หัวเรื่องการเปรียบเทียบ สรุปย่อ ๆ ว่าค้นหารากฐานรายละเอียดที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเปรียบเทียบและเหตุผลที่เป็นแรงจูงใจที่ผลักให้เราควรดิ้นรนในกระบวนการเปรียบเทียบ ซึ่งก็ยากที่จะตามโครงสร้างที่จะได้เห็นความแตกต่างและก็ความเหมือนในบางประเด็นกรณี และก็คิดว่าเล่มว่างแผ่นดิน หัวเรื่องการเปรียบเทียบไม่ใช่สามราชอาณาจักรที่ล่มสลายแต่เป็นกระบวนการล่มสลายของทั้งสามราชอาณาจักร และทำไมสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และทำไมการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบจะสะท้อนอะไรเป็นพิเศษ

กรณีนี้อาจารย์นิธิก็อธิบายในหนังสือว่าแม้ว่าโดยการเปรียบเทียบจะทำให้มองเห็นความคล้ายคลึงกันของพัฒนาการต่อสู้ช่วงว่างระเบียบที่เกิดในสามรัฐ แต่การเปรียบเทียบก็ทำให้เห็นความแตกต่างของทั้งสามรัฐเช่นกัน ซึ่งก็ทำให้เกิดความเข้าใจลักษณะเฉพาะของราชอาณาจักรทั้งสามได้ชัดเจนขึ้น ในที่นี้จะหันมาพิจารณาระเบียบและช่วงว่างระเบียบ เป็นบันไดสู่ความเข้าใจว่าชนชั้นนำของระบอบเดิม ถูกทำลายไม่พร้อมกันและโดยวิธีไม่เหมือนกัน ทั้งอยุธยา อังวะและไดเวียด

ขอสรุปสั้น ๆ ว่า โดยการแบ่งความแตกต่างอย่างชัดเราจะได้เห็นและเข้าใจถึงอีกหลายมุมมองของอำนาจเก่า การสร้างและขั้นตอนอำนาจเก่านั้นได้ เราก็คิดว่าจะไม่ได้เห็นความแตกต่างและรายละเอียดของอำนาจในหลาย ๆ ที่ถ้าไม่มองทั้งสามในเวลาเดียวกัน อันนี้ก็เป็นพลังของการเปรียบเทียบ

ประเด็นที่สอง จริง ๆ แล้วก็เป็นทั้งคำถามและก็ประเด็นที่อยากให้อาจารย์นิธิตอบ คือ ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็มีความคิด ความหวังและความรู้สึกว่าได้มีประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษางานในศตวรรษที่ 16-18 ที่เป็นฉบับประชาชน ที่จริงการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับประชาชนไม่ว่าจะเป็นตะวันออกเฉียงใต้หรืออเมริกาก็เป็นสิ่งที่ยาก

ทำไมยากเพราะความยากในการเข้าถึงหลักฐานหรือแหล่งข้อมูล  จริง ๆ หลักฐานที่ค้นพบ ที่ค้นหาได้มักจะเป็นงานที่เขียนโดยคนมีอำนาจไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ นายทุน ทหารหรือนักการเมืองก็ตาม มักจะเป็นคนที่ครองอำนาจอยู่ วิธีการตอบอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่ชอบนักการเมืองหรือทหารแต่อันนี้ก็ตอบไม่ครบ เพราะการเขียนจากมุมมองแบบนี้คือภาพที่ออกมาก็ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าสังคมไม่ได้สร้างแต่โดยมีผู้อำนาจ แต่ถูกสร้างโดยประชาชนหรือคนตัวเล็กตัวน้อยด้วย แต่การเข้าถึงเสียงของพวกเขาก็ยากและก็สิ่งที่คิดตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ คือ อาจารย์ศึกษาช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ช่วงอำนาจเก่ากำลังลงไปและอำนาจใหม่เข้ามา แม้เป็นช่วงสั้น ๆ ได้เข้ามาอยู่เป็นช่วงที่น่าจะช่วยที่ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน แต่ไม่แน่ใจจึงอยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่าเห็นด้วยหรือเปล่า

สิ่งที่ทำให้คิดว่าอาจจะเป็นเช่นนี้คือ อาจารย์ก็อธิบายว่าสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนในช่วงนั้นคือคนที่อยู่ในเครือข่ายที่สนับสนุนคนที่ครองอำนาจและในช่วงที่ว่างแผ่นดินว่างขนบเป็นช่วงสั้น ๆ และหลังจากนั้นอำนาจเก่า ๆ ก็กลับมาน่าสนใจว่าช่วงสั้น ๆ นี้ คนไทยก็อยู่ในเครือข่ายในแต่ละที่และได้มองว่าเป็นคนเล็กคนน้อยหรือเปล่าหรืออาจารย์ก็พยายามหาเสียงคนเล็กคนน้อยตลอด ก็ยังไม่แน่ใจ

ประเด็นที่สามคือความสำคัญระหว่างอดีตหรือปัจจุบันหรือทำไมทุกคนควรจะอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ แม้ว่าก็สนใจแต่ปัจจุบันหรือวันนี้เลย อันนี้ก็ต้องอธิบายว่าพออ่านเล่มนี้ในช่วงสองอาทิตย์ที่ผ่านมาก็อ่านไปก็ฟังข่าวการเมืองไปและคิดว่าเป็นหนังสือที่ช่วยให้คนที่กำลังติดตามการเปลี่ยนผ่านที่กำลังเกิดขึ้นที่ไทเรลเห็นในสิ่งที่แปลกประหลาดในรัฐสภาหรือในตึกต่าง ๆ ที่พรรคการเมืองอยู่

จะเห็นว่านี่ก็เป็นช่วงที่ว่างขนบเหมือนกัน สิ่งที่ระบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ยังไม่ชัดแน่นอนว่าช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่มีสิ่งที่กำลังเปลี่ยนผ่านเหมือนกันก็คิดว่าบทบาทของนักวิชาการ ปัญญาชนก็กำลังวิเคราะห์วิจารณ์ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นอย่างไรและกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร และมีการเสี่ยงภัยอันตรายอะไรบ้างในช่วงนั้นและก็คิดว่าถ้าจะเขียนอีกบทหนึ่งในเล่มนี้ก็อาจจะเขียนถึงเกี่ยวกับปัจจุบันเหมือนกัน คิดว่าคงยากแต่ก็คิดว่าเป็นไปได้

000

ชัยพงษ์ สำเนียง (ผู้ดำเนินรายการ) อาจารย์ไทเรลได้พูดถึง 2-3 เรื่องคือการศึกษาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คล้าย ๆ กับอาจารย์นิธิคือนำไปสู่การศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ และประเด็นที่สองอาจารย์ก็ได้พูดถึงการเขียนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเขียนถึงประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำให้เสียงของคนเหล่านั้นมีพลังหรือมีตัวตนโลดแล่นในประวัติศาสตร์ และท้ายที่สุดอาจารย์อธิบายว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กัน คือประวัติศาสตร์ก็คือบทสนทนาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน บิดาของประวัติศาสตร์สมัยใหม่หรือ บิดาของวิชาของประวัติศาสตร์ก็พูดถึงการสนทนา คือประวัติศาสตร์มันไม่ได้เป็นเรื่องของอดีตอย่างเดียวแต่มันคือเรื่องของปัจจุบันที่ไปทาบท้าอดีตหรือที่เรามีปฏิสัมพันธ์กัน นี่คือสิ่งที่อาจารย์ไทเรลเสนอและทิ้งคำถามให้อาจารย์นิธิว่าในช่วงเวลานี้ เราสามารถจะเขียนประวัติศาสตร์แบบที่อาจารย์นิธิใช้ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ได้หรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท