สภาสหรัฐฯ ผ่านร่าง กม. ทบทวนสวัสดิภาพฮ่องกงรายปี ปธน. สั่งคว่ำบาตรได้

สภาคองเกรสสหรัฐฯ ลงมติ 417-1 เสียง รับร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง ให้มีการตรวจสอบสถานภาพฮ่องกงเป็นรายปีว่าเป็นไปตามข้อตกลงเรื่องการยืนยันเสรีภาพหลายๆ ด้านอยู่หรือไม่  ให้อำนาจประธานาธิบดีคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลิดรอนเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนชาวฮ่องกง ยูเอ็นแถลง ประณามผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยกระดับความรุนแรง ขอให้หาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

แฟ้มภาพสมาพันธ์สหภาพแรงงานฮ่องกง

21 พ.ย. 2562 เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ตามเวลาของสหรัฐฯ สภาคองเกรสสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง ซึ่งให้สหรัฐฯ ต้องมีการตรวจสอบพิจารณาสถานภาพของฮ่องกงเป็นรายปีว่ายังคงมีเสรีภาพหรือไม่เพื่อประกอบการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ฮ่องกง โดยผลการโหวตสนับสนุนนั้นท่วมท้นถึง 417 ต่อ 1 เสียง

การลงคะแนนเสียงในสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 พ.ย.) ที่วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ในการผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกง โดยขั้นตอนต่อไปคือการให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้

สื่อ CNN ระบุว่าการลงมติสนับสนุนร่างฯ ดังกล่าวจะถูกมองว่าเป็นการส่งเสริมการประท้วงของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และจะถูกมองว่าเป็นการท้าทายรัฐบาลจีนในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังถดถอยจากสงครามการค้าและการขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ปฏิบัติต่อเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแตกต่างจากจีนในแง่ของการควบคุมทางการค้าและการส่งออก ทั้งนี้ ภายใต้หลักการ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่จีนมีกับฮ่องกงนั้น ทำให้ฮ่องกงมีระบบกฎหมาย การตัดสินใจทางเศรษฐกิจและระบอบการเมืองของตัวเอง เพียงแต่ไม่มีกองกำลังทหารและนโยบายต่างประเทศเป็นของตัวเอง

กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะทำให้มีการพิจารณาสถานะของฮ่องกงเป็นรายปีแล้ว ยังอนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คว่ำบาตรและสั่งจำกัดการเดินทางของคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการข่มขู่คุกคามหรือกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ต่อชาวฮ่องกงไม่ว่าจะเป็นการคุมขังโดยพลการ การทารุณกรรม และการบีบบังคับให้สารภาพผิด

ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มนักกิจกรรมล่ารายชื่อเรียกร้องผ่านเว็บไซต์ Change.org ให้มีการผ่านร่างกฎหมายนี้ โดยที่การผ่านร่างกฎหมายนี้เป็นไปอย่างเอกฉันท์และได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองสหรัฐฯ ทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ โดยที่ในขั้นตอนต่อไปคือการส่งต่อให้สภาผู้แทนฯ ซึ่งเพิ่งผ่านร่างกฎหมายชุดที่ต่างกันเล็กน้อยเมื่อเดือน ต.ค. และส่งให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ พิจารณาในขั้นตอนต่อไป

มีการตั้งข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ค่อยแสดงออกต่อเรื่องการชุมนุมในฮ่องกงนัก ก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. ที่เริ่มมีการชุมนุมในฮ่องกง ทรัมป์เคยโทรศัพท์พูดคุยกับสีจิ้นผิงว่าสหรัฐฯ จะไม่พูดอะไรเกี่ยวกับการประท้วงในขณะที่ยังคงมีการเจรจาในเรื่องการค้า

ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในฮ่องกงมีการอ้างอิงถึงเรื่องที่จะพิจารณาสถานะของฮ่องกงตามข้อตกลงระหว่างจีน-อังกฤษปี 2527 ที่ระบุให้ฮ่องกงมีเสรีภาพในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพทางการชุมนุม การเดินทาง การรวมกลุ่ม การหยุดงานประท้วง การเลือกทำงาน เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางศาสนาความเชื่อ แบบที่เรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ถ้าหากใครก็ตามละเมิดสิทธิฯ เหล่านี้ผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถคว่ำบาตรได้

หลายชาติล่ารายชื่อหนุนสหรัฐฯ ผ่านร่างฯ 'สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง'

ทางการจีนมีปฏิกิริยาโต้ตอบในเรื่องการลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายนี้่ด้วยความไม่พอใจและการประณามสหรัฐฯ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนแถลงว่า กฎหมายดังกล่าว "ละเลยข้อเท็จจริงและความจริง มีการปรับใช้แบบสองมาตรฐาน และเป็นการแทรกแซงกิจการของฮ่องกงกับกิจการภายในอื่นๆ ของจีน อย่างเห็นได้ชัด"

ทางการจีนอ้างอีกว่าประเด็นในตอนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย แต่เกี่ยวกับการหยุดยั้ง "ความโกลาหล" ที่ก่อโดย "อาชญากรรมหัวรุนแรง" และจีนจะใช้มาตรฐานแข็งกร้าวเพื่อ "ปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ทางการพัฒนาของประเทศ" ถ้าหากสหรัฐฯ ยังคงยืนยันจะ "ตัดสินใจในทางที่ผิดต่อไป"

ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่และภักดีต่อจีนแผ่นดินใหญ่แถลงว่ากฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงระบุให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอยู่แล้ว และวิจารณ์ว่ากฎหมายจากสหรัฐฯ จะ "ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างฮ่องกงกับสหรัฐฯ"

ขณะที่สภาคองเกรสมีนักการเมืองหลายคนแถลงในเชิงสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ ชัค ชูเมอร์ ส.ว. แห่งนิวยอร์กจากพรรคเดโมแครตกล่าวว่าการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ต่อการรับร่างกฎหมายนี้เป็นการส่งสารถึงผู้นำจีนว่า "สหรัฐฯ ยืนอยู่ข้างเดียวกับผู้ประท้วงในฮ่องกง"

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ซึ่งเคยงดเว้นพูดถึงประเด็นฮ่องกงมาโดยตลอดก็แถลงว่าสหรัฐฯ กำลังจับตามองความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นในฮ่องกงอย่างใกล้ชิดและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติต่อวิกฤตการเมืองในครั้งนี้

การประท้วงในฮ่องกงดำเนินมาเป็นเดือนที่ 5 แล้วนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่เริ่มต้นจากการคัดค้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน การประท้วงดำเนินไปท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นประปราย และค่อยๆ ยกระดับขึ้น แม้จะมีการถอนการพิจารณากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วก็ตาม แต่ประเด็นการเคลื่อนไหวก็ลุกลามไปยังเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องเรื่องการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ การเรียกผู้ชุมนุมว่าการจลาจล ไปจนถึงเรื่องการเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองที่มากขึ้นของฮ่องกง

ล่าสุดโฟกัสความตึงเครียดอยู่ที่วิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง ที่ตำรวจมีการปิดล้อม กดดันและเข้ารุกไล่ผู้ประท้วงที่ปักหลักอยู่ภายในในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ โดยทางตำรวจได้ใช้ทั้งแก๊สน้ำตา รถหุ้มเกราะ ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง ทางผู้ชุมนุมมีการตอบโต้ด้วยระเบิดขวด ก้อนอิฐไปจนถึงธนู ตัวเลขจากฝ่ายความมั่นคงฮ่องกงเมื่อวานนี้ ระบุว่ามีผู้ยอมจำนนแล้วทั้งสิ้น 900 คน ทั้งนี้ ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังปักหลักอยู่ในพื้นที่วิทยาลัย

อดีตอธิบดี InvestHK เสนอทุกฝ่ายปลดล็อกความรุนแรงจากเหตุชุมนุมฮ่องกง

เมื่อ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีแถลงการรณ์แสดงความกังวลและประณามความรุนแรงที่ผู้ชุมนุมฮ่องกงบางส่วนกระทำในลักษณะที่ยกระดับมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้มีการสานเสวนา หาทางออกอย่างสันติจากทุกภาคส่วน

แถลงการณ์ระบุว่าชาวฮ่องกงส่วนมากใช้สิทธิว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติตามกฎหมายซึ่งทางรัฐเองก็เคารพการใช้เสรีภาพนั้นมาก แต่การใช้ความรุนแรงอย่างมาก รวมถึงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเองถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างสุดซึ้งและไม่สามารถให้อภัยได้ โดยทาง UN เรียกร้องให้รัฐบาลพยายามมากยิ่งขึ้นในการนำทุกภาคส่วนในสังคม รวมไปถึงกลุ่มนักศึกษา นักธุรกิจ ผู้นำทางการเมือง ผู้นำชุมชนและอื่นๆ ให้มาสานเสวนากันเพื่อหาทางออกอย่างสันติ โดยสำนักงานสิทธิมนุษยชน UN พร้อมที่จะให้คำปรึกษาและช่วยรัฐบาลหาทางออกผ่านเส้นทางดังกล่าว

"การรับผิดชอบต่อความรุนแรงก็เป็นกุญแจสำคัญ - ทั้งในกรณีที่บุคคคลได้ฝ่าฝืนกฎหมายและกระทำความรุนแรง และในกรณีข้อกล่าวหาต่อตำรวจในเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุเช่นกัน" แถลงการณ์ระบุ

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขพาดหัว และเนื้อความเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ เนื่องจากเพิ่งมีการเผยแพร่ไม่นานว่าร่างฯ ได้รับอนุมัติจากสภาคองเกรสทั้งสภาเมื่อวานนี้ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ แก้ไขเมื่อ 21 พ.ย. 2562 เวลา 11.03 น.

เรียบเรียงจาก

Hong Kong rights Bill clears US Congress, heads to Trump, Channel News Asia, Nov. 11, 2019

US Senate unanimously passes Hong Kong rights and democracy bill, CNN, Nov. 20, 2019

In Pictures: Quiet despair among hold-outs at Hong Kong’s PolyU campus, following days of violent clashes, HKFP, Nov. 21, 2019

Press briefing on China/Hong Kong SAR, OHCHR, Nov. 19, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท