ภาค ปชช.เตือนลงนามค้าเสรี CPTPP เสียมากกว่าได้ ชวนจับตา 'สมคิด' นั่งหัวโต๊ะเคาะสัญญา 13 ก.พ.นี้

กลุ่มภาคประชาสังคมเตือนลงนามความตกลงการค้าเสรี CPTPP เสียมากกว่าได้ พร้อมชวนจับตา 'สมคิด' นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 13 ก.พ. นี้ หารือเคาะเซ็น CPTPP

แฟ้มภาพ

12 ก.พ.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า จากกระแสข่าวว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในวันที่ 13 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาและอนุมัติการลงนามในความตกลงการค้า CPTPP กลุ่มภาคประชาสังคมด้านการส่งเสริมการเข้าถึงยาแสดงความกังวลต่อข่าวดังกล่าว และคัดค้านการที่ไทยจะลงนามใน CPTPP และพร้อมที่จะร้องเรียนต่อรัฐสภาและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องคณะต่างๆ เพราะความตกลงนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แสดงความกังวลว่าความตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เพราะจะขัดขวางการแข่งขันของบริษัทยาชื่อสามัญ ทำให้ยาจำเป็นถูกผูกขาดโดยยาต้นแบบ และทำให้ยาราคาแพง

“ภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเข้าถึงยายังกังวลกับมาตรการที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมาการอาหารและยา (อ.ย.) ที่มีหน้าที่รับขึ้นทะเบียนยาและอนุญาติการจำหน่าย ไม่รับขึ้นทะเบียนยาให้ยาชื่อสามัญ ในกรณีที่บริษัทยาต้นแบบได้ยื่นขอสิทธิบัตรหรือได้รับสิทธิบัตรในยาชนิดเดียวกัน ซึ่งจะสะกัดกั้นการแข่งขันของยาชื่อสามัญ เมื่อไม่มีการแข่งขัน ยาจะถูกผูกขาดโดยบริษัทยาเพียงเจ้าเดียว และยาจะมีราคาแพง  นอกจากนี้ ยังเป็นมาขัดขวางการนำมาตรการซีแอลมาใช้ด้วย เพราะยาที่นำมาใช้ผ่านมาตรการซีแอล ก็ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนยาก่อน” เฉลิมศักดิ์ กล่าว

จากงานวิจัยผลกระทบต่อการเข้าถึงยาจากมาตรการทริปส์ผนวกในเอฟทีเอระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์ในปี 2553 ระบุว่า ถ้าไทยยอมเซ็นเอฟทีเอโดยยอมให้มีข้อผูกมัดในเรื่องที่ไม่ยอมให้ อ.ย. รับขึ้นทะเบียนยาถ้ามีบริษัทอื่นยื่นขอสิทธิบัตรสำหรับยาชนิดเดียวกันหรือมีสิทธิบัตรยานั้น (ซึ่งมาตรการนี้เรียกว่า “Patent Linkage”) ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศสูงขึ้น 822.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปีแรกและตัวเลขค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้น

“แม้ว่ามาตรการที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาได้ถูกระงับไม่เจรจาต่อ เพราะสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากการเจรจาไปก่อน แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเจรจาขอร่วมใน CPTPP และนำมาตรการทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดเกินกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลกกลับมาเจรจาอีก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการที่ส่งเสริมการผูกขาดให้ยาวนานยิ่งขึ้นและทำให้ยาราคาแพง”  ผู้ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยาฯ กล่าวเพิ่มเติม

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ในความตกลง CPTPP มาตรการใช้สิทธิโดยรัฐ หรือ CL จะถูกจำกัดการใช้ให้แคบลง โดยที่การใช้สิทธิโดยรัฐเพื่อการสาธารณสุขโดยไม่แสวงหากำไรจะนำมาใช้เป็นเหตุประกาศใช้ CL ไม่ได้เหมือนที่ไทยเคยประกาศใช้ในปี 2549 – 2550 นอกจากนี้ บทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐใน CPTPP ยังกำหนดให้ภาครัฐจะไม่สามารถสงวนสิทธิประโยชน์บางประการเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางยาและอุตสาหกรรมผลิตยาภายในประเทศได้ 

“ประเทศไทยแทบไม่ได้ประโยชน์ทางการค้าอะไรเพิ่มเติม เมื่อไม่มีอเมริกา เพราะไทยลงนามในเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ใน CPTPP เกือบหมดแล้ว เหลืออีก 2 ประเทศที่กำลังจะลงนาม  CPTPP ได้เจรจาเสร็จสิ้นหมดแล้ว การที่ไทยจะลงนามใน CPTPP ก็เหมือนการยอมรับเงื่อนไขและข้อผูกมัดต่างๆ โดยไม่ได้เจรจาอะไรเลย  มิหนำซ้ำ ยังจะต้องเสียค่าต๋งให้กับประเทศสมาชิก CPTPP ที่ลงนามไปก่อน โดยอาจต้องแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายให้กับประเทศเหล่านั้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนยอมให้ไทยเข้าร่วม” กรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand อธิบายไว้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.61 ว่า CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ความตกลง CPTPP ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท