แพทย์ทดลองวัคซีนวัณโรคต้านโควิด-19 หลังพบลดติดเชื้อทางเดินหายใจ

นักวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกทดลองใช้วัคซีนป้องกันวัณโรคกับบุคลากรทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในความพยายามหาวัคซีนให้เร็วที่สุดสำหรับคนทำงานสาธารณสุข ถึงแม้ว่าวัคซีนวัณโรคที่ถูกคิดค้นมาเมื่อราวร้อยปีที่แล้วจะมีสรรพคุณเสริมภูมิต้านทานโดยทั่วไปได้ ก็ยังมีข้อกังขาว่าจะนำมาใช้กับโควิด-19 ได้จริงหรือไม่

การทดลองเกี่ยวกับโควิด-19 ที่แล็บของรัฐในเมืองเอ็กซตัน มลรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา (ที่มา:flickr/ Governor Tom Wolf)

7 เม.ย. 2563 นิวยอร์กไทม์รายงานเรื่องที่มีการนำวัคซีนป้องกันวัณโรคหรือบีซีจีมาทดลองเพื่อตรวจสอบว่าสามารถช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่ เนื่องจากพวกเขาได้ค้นพบว่าวัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพที่ทำได้มากกว่าการป้องกันวัณโรค เพราะยังสามารถป้องกันการเสียชีวิตของทารกได้ในหลายสาเหตุและลดจำนวนการเกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างมา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า วัคซีนเป็นสิ่งที่ "สอน" ให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายคนเราสามารถรับรู้และโต้ตอบกับการติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิต แม้ว่าในตอนนี้จะยังมีหลักฐานน้อยมากว่าวัคซีนบีซีจีจะสามารถป้องกันโควิด-19 ได้

ในสัปดาห์ที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียเริ่มทำการทดลองโดยให้บีซีจีวัคซีนกับยาหลอก (placebo) กับแพทย์ พยาบาล นักบำบัดด้านทางเดินหายใจ และคนทำงานสาธารณสุขอื่นๆ หลายพันคน ซึ่งเป็นการทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมเป็นครั้งแรกเพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนว่าจะใช้กับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ อีกแห่งหนึ่งที่มีการทดสอบกับคนทำงานสาธารณสุขเช่นเดียวกันคือในเนเธอร์แลนด์

ถึงแม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่ามันอาจจะไม่ใช่ยาสารพัดนึก แต่พวกเขาก็ต้องการลดเวลาการป่วยของคนทำงานทางการแพทย์เพื่อให้กลับมาทำงานได้เร็วขึ้น เดนิส เฟาสต์แมน ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิคุ้มกันวิทยาจากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตต์กล่าวว่า ผลความคืบหน้าเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้วัคซีนทดลองกับมนุษย์นี้อาจจะใช้เวลา 4 เดือน

วัคซีนบีซีจี หรือแบคซีลัส คาลเมตต์ เกียฮัน นี้มีประวัติความเป็นมาจากการที่มีคนสังเกตเห็นว่าผู้หญิงที่รีดนมวัวไม่เป็นวัณโรค ทำให้มีแพทย์สองคนคือ อัลแบร์ คาลเมตต์ และคามิลล์ เกียฮัน นำเชื้อที่ทำให้วัวเกิดวัณโรคคือ ไมโครแบคทีเรียม โบวิส มาทำเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรคตั้งแต่เมื่อราว 100 ปีก่อน พวกเขาสกัดเอาเชื้อจากวัวเอามาทำให้มันอ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้

การทดลองดำเนินต่อไปด้วยการทดสอบกับสัตว์ทดลองในห้องแล็บมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการนำมาใช้กับคนครั้งแรกในปี 2464 และถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงทุกวันนี้ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่มีปัญหาเรื่องวัณโรคอยู่มาก โดยมีการให้วัคซีนนี้กับเด็กมากกว่า 100 ล้านคนต่อปี

ต่อมามีคนพบว่าวัคซีนนี้อาจจะมีฤทธิ์อย่างอื่นนอกจากช่วยกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักและป้องกันเชื้อวัณโรค มันยังสามารถส่งผลในการลดความเจ็บป่วยจากไวรัส การติดเชื้อทางเดินหายใจ และการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ รวมถึงเสริมระบบภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นกับวัคซีนอื่นๆ เช่นกัน

ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาวิจัยพบว่าการให้วัคซีนกับเด็กทารกที่น้ำหนักตอนเกิดต่ำกว่าเกณฑ์จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กได้มากกว่าร้อยละ 40 การศึกษากับเด็กใน 33 ประเทศพบว่าสามารถลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างแบบเฉียบพลันได้ถึงร้อยละ 40 เช่นกัน ขณะที่การศึกษาวิจัยกับผู้สูงอายุพบว่าสามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้

องค์การอนามัยโลกระบุสรุปในรายงานเมื่อไม่นานนี้ว่าบีซีจีมีประโยชน์มากกว่าการป้องกันวัณโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาทดสอบต่อไปในการติดเชื้อแบบอื่นๆ แต่ก็เน้นย้ำว่ามันอาจจะไม่ใช่วัคซีนที่ใช้สำหรับโควิด-19 ได้โดยเฉพาะ และไม่ควรนำมาใช้กับผู้มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะวัคซีนชนิดนี้ใช้เชื้ออ่อนแรงที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายเรียนรู้สร้างภูมิคุ้มกัน

เฟาสต์แมนเตือนว่าวัคซีนนี้ยังไม่ควรนำมาใช้กับคนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลที่ยังคงมีโรคโควิด-19 อยู่ เพราะมันอาจจะมีผลต่อการรักษาช้าเกินไป และอาจจะกลายเป็นการไปรบกวนการรักษาในส่วนอื่นๆ

ขณะที่บางส่วนก็มองว่าวัคซีนป้องกันวัณโรคอาจจะไม่ได้ถึงขั้นกลายเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดเมนนิโก แอคซีลี แพทย์ด้านต่อมไร้ท่อจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียบอกว่า ถึงแม้วัคซีนบีซีจีจะช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในแบบทั่วๆ ไปโดยไม่ได้เฉพาะเจาะจง แต่ก็ควรจะหาการหาเครื่องมือรักษาหรือป้องกันที่เหมาะสมกว่านี้สำหรับโควิด-19

เรียบเรียงจาก

Can an Old Vaccine Stop the New Coronavirus?, The New York Times, Apr. 4, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท