Skip to main content
sharethis

ฤดูแล้งปีนี้ภาคเหนือตอนบนเกิดไฟป่ารุนแรงหลายพื้นที่ มีอาสาสมัครดับไฟป่าเสียชีวิตกว่า 7 ราย โดยชุมชนชี้ว่านโยบายรัฐที่ไม่สอดคล้องและความไม่เข้าใจชุมชน การทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนอยู่กับป่า และชุมชนที่ไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพยากร ยิ่งทำให้สถานการณ์ไฟป่ายิ่งหนักหน่วงขึ้น ทั้งนี้มีข้อเสนอจากชุมชนขอเป็นศูนย์กลางควบคุมไฟป่า มีรัฐเป็นผู้สนับสนุน เปลี่ยนจากการกล่าวหามาเป็นความร่วมมือ

000

“ไฟไหม้ครั้งนี้ใหญ่ที่สุดที่เคยเจอ ปกติก็ไหม้ในป่าทุกปี แต่ปีนี้ลามเข้ามาในป่าชุมชนด้วย”

เสียงสะท้อนจาก พฤ โอโดเชา ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เล่าถึงวิกฤตไฟป่าภาคเหนือในปีนี้

ชาวบ้านซิวาเดอ หมู่ 3 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ช่วยเคลื่อนย้ายพงษ์นรินทร์ แพรชมภู และวิลาวัลย์ สถาพรไพรวัลย์ สองสามี-ภรรยาที่บาดเจ็บ หลังเข้าไปทำแนวกันไฟแล้วเกิดไฟคลอกเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 63 ต่อมาสามีคือพงษ์นรินทร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 เม.ย. (ที่มา: Facebook/Chai Pongpipat)

พิธีฝังร่างพงษ์นรินทร์ แพรชมภู หมู่ 3 ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 63 ทั้งนี้พงษ์นรินทร์และภรรยาได้รับบาดเจ็บจากการทำแนวกันไฟเมื่อ 4 เม.ย. ภรรยาของเขาพ้นขีดอันตราย แต่พงษ์นรินทร์เสียชีวิตเมื่อ 14 เม.ย. นับเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าภาคเหนือรายที่ 6 (ที่มา: Facebook/Chai Pongpipat)

สิทธิชัย กองแก้วสีงาม เยาวชนชาวกะเหรี่ยงอายุ 21 ปี ประสบอุบัติเหตุถูกไฟคลอกและเสียชีวิตขณะช่วยดับไฟป่า ที่บ้านแม่โกปี่ หมู่ที่ 2 ต.แม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

 

นอกจากความสูญเสียของทรัพยกรธรรมชาติและสัตว์ป่าแล้ว ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปช่วยกันดับไฟก็ต้องสังเวยชีวิตกว่า 7 ราย ไม่นับคนที่บาดเจ็บอีกจำนวนมาก และที่น่าเศร้าไปกว่านั้นอาจเป็นรอยร้าวที่เพิ่มขึ้นระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ หลังจากที่รัฐประกาศห้ามคนเข้าป่า 100% หากพบใครฝ่าฝืนสามารถดำเนินการจับกุมได้ทันที

“ผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ประกาศว่าใครเข้าไปในป่าโดยไม่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ให้ตั้งสมมติฐานก่อนว่าเป็นคนเผาป่า ซึ่งผมคิดว่าเป็นสมมติฐานที่เลวร้ายมาก เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย กล่าวหาแบบเหวี่ยงแห ทำให้เกิดความหวาดกลัว ไม่มีใครอยากเข้าป่า ต้องไปเป็นกลุ่ม และจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายมากขึ้น จะเกิดความขัดแย้งไม่สิ้นสุด และชาวบ้านก็จะรู้สึกว่า จะไปควบคุมไฟป่าทำไม อยู่แต่ในบ้านก็ดีแล้ว ออกไปก็ซวยอีก” ประยงค์ ดอกลำไย มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือกล่าว

แผนที่จุดความร้อนรายวัน (9 จังหวัดภาคเหนือ) ระบบ VIIRS เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 (ที่มา: fire.gistda.or.th)

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์ไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ ณ เวลา 13.00 น. ของวันที่ 22 เมษายน 2563 พบว่า โดยรวมสถานการณ์ไฟป่าดีมากทุกจังหวัดต่อเนื่องเป็นวันที่สิบ โดยภาคเหนือตอนบนเกิดจุดความร้อน (Hotspot) 0-38 จุด มี 8 จังหวัดไม่มี Hotspot ในพื้นที่ป่า ได้แก่ จังหวัดพะเยา ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี

ทั้งนี้ มีจุดความร้อนสะสมในระบบ VIIRs รวม 210,675 จุด ซึ่งเกิดในเขตป่าไม้ 129,736 จุด หรือ 61% แบ่งเป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ 115,742 จุด หรือ 55% พื้นที่ทำเกษตรในเขตป่า 13,994 จุด หรือ 6% เกิดนอกเขตป่า 80,939 จุด หรือ 39% ในแง่ประสิทธิภาพถือว่าดีมากอยู่ในระดับ 79% สามารถดับไฟป่าได้ 113 จุด จาก 161 จุด ขณะที่ดับไฟป่าสะสมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 7,341 ครั้ง พื้นที่ 169,635 ไร่ ป่าสงวนแห่งชาติ 3,095 ครั้ง พื้นที่ 62,690 ไร่

ด้านการจับกุมดำเนินคดีเผาป่า วันที่ 22 เมษายน สามารถดำเนินคดีเพิ่ม 2 คดี ได้ผู้ต้องหาเพิ่ม 1 คน คดีสะสมระหว่างวันที่ 30 มีนาคม ถึงวันที่ 21 เมษายน 2563 จำนวน 1,047 คดี รวมผู้ต้องหาสะสม 42 ราย

เยาวชนกะเหรี่ยงเสียชีวิตขณะดับไฟป่าที่แม่ฮ่องสอน เป็นรายที่ 7, 23 เม.ย. 63

ไฟป่าภาคเหนือ: แก้ได้ต้องกระจายอำนาจ, 31 มี.ค. 63

รวมข่าวไฟป่า

ไฟป่าในช่วงฤดูแล้งปี 2563 ที่ป่าชุมชนของชาวปกาเกอะญอที่บ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โดยชาวบ้านใช้วิธีการเผาชนเพื่อสกัดไฟป่า (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

การทำแนวกันไฟป่าที่ บ้านดอยช้างป่าแป๋ (ต่าหลู่เก่อชอ) ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน (ที่มา: มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

 

เมื่อไร่หมุนเวียนและการชิงเผา ถูกโทษว่าเป็นสาเหตุของไฟป่า

วิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบนี้หากินอยู่กับป่ามายาวนานหลายร้อยปี ก่อนที่จะมีกฎหมายป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า และพวกเขาก็รักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดมา

ภูมิปัญญาของพวกเขาในการบริหารจัดการป่าคือการทำไร่หมุนเวียน และการชิงเผา การทำไร่หมุนเวียนคือการ ‘ตัดและเผา’ โดยจะมีการตัดต้นไม้ วัชพืช แล้วเผาเพื่อถางพื้นที่สำหรับเพาะปลูก และหลังเก็บเกี่ยวแล้วพื้นที่ไร่เก่าจะถูกปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้พื้นที่เริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์

การทำไร่หมุนเวียนนี้ได้รับการสนับสนุนและรับรองโดยงานวิจัยเพื่อเสนอให้ไร่หมุนเวียนขึ้นเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ

พฤเล่าว่าก่อนจะเผาไร่ ชาวบ้านจะทำแนวกันไฟ ไฟจะไม่ลามเกินจากขอบไร่ไป และใช้เวลาเผาไม่นาน ไฟก็ดับหมด

“เราจะจุดไฟเผาป่าให้มันมาไหม้ที่ทำกินเราทำไม ชาวบ้านไม่มีใครอยากให้ไฟลามในป่า เพราะไฟลามแล้วต้นไม้เล็กต้นไม้น้อยตาย เราก็สงสารมัน แต่เราจำเป็นต้องปลูกข้าวกิน การปลูกข้าวก็จำเป็นต้องใช้ไฟ เพราะถ้าเราทำซ้ำที่เดิม ข้าวจะมีโรคและจะไม่งาม หญ้าก็จะเยอะ วิธีการคือทำหนึ่งปี แล้วปล่อยให้มันฟื้นอย่างน้อย 7-10 ปี ถ้าไม่ทิ้งไว้ในระยะเวลาขนาดนี้ เวลาเราปลูก ต้นไม้จะแคระลงๆ แล้วจะกลายเป็นทุ่งหญ้าคา ไฟจะไหม้ทุกปีๆ ทำให้ไม่กลับเป็นป่า จะเป็นดอยหัวโล้น” พฤเล่า

“เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ ใช้เกณฑ์ว่าหากปล่อยทิ้งร้างเกิน 5-10 ปี ก็จะไม่ใช่ที่ของเราอีกต่อไป เวลาเจ้าหน้าที่มาก็จะมาถ่ายรูปต้นไม้ที่พวกเราตัดและเผา แล้วบอกว่าพวกเราตัดไม้และเผาป่า แต่วิถีชีวิตเราเป็นแบบนี้ อย่างอมก๋อยอยู่มา 700-800 ปีแล้ว ใช้การทำไร่หมุนเวียน ป่าเขาก็ยังอุดมสมบูรณ์” พฤกล่าว

ส่วนการ ‘ชิงเผา’ เป็นการเผาเชื้อเพลิงสะสม เช่น กองใบไม้แห้งที่ทับถม ก่อนช่วงอากาศแล้ง เผาก่อนจะเกิดการลุกลามของไฟ 

แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าการทำไร่หมุนเวียนที่ต้องมีช่วงเวลาเผาไร่ หรือการชิงเผาของชาวบ้าน คือต้นเหตุของการเกิดไฟป่า และหลังจากมีนโยบายห้ามเผา 100% หรือ Zero burning ชาวบ้านก็ไม่สามารถชิงเผาเพื่อจัดการเชื้อเพลิงสะสม ป้องกันการลุกลามของไฟป่าได้ 

“เวลาเราเห็นต้นไม้บางชนิดที่เป็นชนวนไฟไหม้อย่างดี หรือกองใบไม้แห้งที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง เราก็ชิงเผาก่อน มันก็จะไม่ลามไปที่อื่น เราก็ไล่เผาไปเป็นจุดๆ ถ้าหากเกิดไฟป่าขึ้นมันก็จะเหลือจุดให้ไหม้ได้ไม่มาก และดับง่ายกว่า แต่พอเขาห้ามเผา ไฟมันเลยดับยาก” พฤเล่า

ขณะที่ประยงค์เห็นว่า ไฟที่ลามเข้ามาในป่ามีหลายสาเหตุมาก และโอกาสที่จะเกิดไฟก็ง่ายมาก ประกอบกับการที่มีเชื้อเพลิงสะสมจากการที่ไม่สามารถชิงเผาได้ ถ้าป่าอยู่ใกล้ถนน คนขับรถผ่านมาดีดขี้บุหรี่เข้าไป ไฟก็ไหม้และลุกลามได้เหมือนกัน

ประยงค์กล่าวต่อว่า หากไฟเข้าไปใกล้ป่าดิบแล้ง ซึ่งต้นไม้เริ่มมีความหลากหลาย มีการทับถมมากๆ ไฟก็จะเริ่มไหม้ตรงโคนต้นและไหม้ตามเปลือกไม้ขึ้นไปด้วย ประกอบกับลมที่แรงขึ้นจะโหมกระหน่ำเอาลูกไฟพวกนี้ไปไกลเป็นร้อยเมตร ข้ามหุบเขา ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่และคนข้างนอกมักเข้าใจผิดว่ามีการวางเพลิง หรืออีกลักษณะ ไฟที่เกิดในพื้นที่สูง 600 เมตรขึ้นไป จะมีต้นสน ซึ่งเมื่อลูกสนติดไฟ และมีลมมา มันจะกลิ้งลงจากเขา ประหนึ่งเป็นการวางเพลิงตลอดเส้นทางจากยอดเขาลงมา ซึ่งจะทำให้เห็นเป็นแนวไฟ คนก็เข้าใจว่าชาวบ้านเข้าไปเผา แต่ปีนี้เพิ่งค้นพบว่าลูกสนเป็นตัวกระจายไฟได้อย่างดี 

โดยส่วนตัวแล้วประยงค์จึงไม่เห็นด้วยกับนโยบายห้ามเผา 100% รวมถึงนโยบายห้ามคนเข้าป่า เพราะนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืน

 

ไฟจากความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน

“ทำไมไฟป่าถึงรุนแรงที่ภาคเหนือ ถ้าเราไปดูตัวเลขป่าทั้งหมด 52% อยู่ภาคเหนือตอนบน ป่าครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ภาคเหนือ” ประยงค์กล่าว

ประยงค์ให้ข้อมูลว่า ไทยมีป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ แบ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติอีก 48 ล้านไร่ ดูแลโดยกรมป่าไม้ และป่าอนุรักษ์ 80 ล้านไร่ ดูแลโดยกรมอุทยาน โดยในป่าอนุรักษ์ 80 ล้านไร่ มีชุมชนอยู่ประมาณ 3,900 ชุมชน 

“ขณะที่ไทยต้องการป่า 40% ของประเทศ แต่ตอนนี้หลายจังหวัดไม่มีป่าแล้ว ภาคเหนือตอนบนที่วิกฤตเรื่องไฟป่ามาหลายปี เช่น น่าน มีป่า 61% ของพื้นที่ ที่เกินมา 21% เขารักษาไว้ให้จังหวัดอื่นที่ไม่มีป่าแล้ว แต่เขาก็ยังถูกรังแกด้วยการเอาอุทยานไปประกาศทับที่ทำกิน หรือนโยบายทวงคืนพื้นป่า หรือแม่ฮ่องสอน 87% เป็นป่า อีก 13% คือไร่หมุนเวียน ขณะที่แต่ละปีไร่หมุนเวียนของเขาจะถูกยึดด้วยเหตุผลที่รัฐบอกว่าเป็นการบุกรุกป่า เขาก็จะสูญเสียพื้นที่ทำกินไปเรื่อยๆ” ประยงค์ระบุ

ปัญหาสำคัญคือไร่หมุนเวียนเหล่านี้ไม่มีโฉนด ประยงค์ให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ดินเหล่านี้อยู่ในพื้นที่สูง อยู่ในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 ทับลงไปเมื่อปี 2528 และปี 2532 โดยมีนโยบายห้ามมิให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินในพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35% และหลังจากนั้นก็มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติทับลงไปอีก

“กลายเป็นความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด” ประยงค์กล่าว “ป่าใน พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 บอกว่า ป่า หมายถึงที่ดินที่ยังไม่มีผู้ใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เท่านี้เจ้าหน้าที่ก็บอกได้ว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ใครไม่มีเอกสารสิทธิถือว่าบุกรุกป่าหมด ทั้งที่เขาอยู่มาก่อนการประกาศอุทยานด้วยซ้ำ” 

ตรงกับพฤ ที่เล่าว่าพวกตนได้ต่อสู้เรื่องการขอสิทธิป่าชุมชนให้เป็นพื้นที่ทำกินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ประมาณปี 2535 จนถึงปัจจุบัน เมื่อจะมีการประกาศให้พื้นที่ป่าชุมชนของพวกตนเป็นเขตอุทยาน

“เราต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด เพราะเราดูกฎหมายเราก็คิดว่ามันไม่ได้ เราจะเข้าป่าทีต้องขออนุญาต จะใช้อะไรก็ต้องขอ แต่เราเข้าออกป่ากันเป็นปกติ เราไปเอาไม้มาสร้างบ้าน เอาฟืนมาเลี้ยงสัตว์ ที่นาเราปลูกข้าว เราก็ปล่อยวัวปล่อยควายเข้าป่า เราก็ต้องตามเข้าไปในป่า ไม่สบายก็หายา หาปลา กบ เขียด ปู ปลา ที่เราไม่ต้องเลี้ยง แค่เรากินไม่เยอะ มันก็ขยายให้เราเยอะๆ หาฟืน หุงข้าว ก่อไฟ มันมีชีวิต มันคือแหล่งซูเปอร์มาร์เก็ต แหล่งเซเว่น แหล่งพยาบาล แหล่งสวนหย่อม มันสำคัญกับเราแบบนี้เพราะเราพึ่งพาอาศัยมัน แล้วเราก็ดูแลโจรขโมยที่จะเข้ามาตัดไม้ทำลายป่าจากข้างนอก” พฤระบุ

นอกจากนี้พฤยังเล่าว่า เมื่อตนทำหนังสือขอจัดตั้งป่าชุมชนและคัดค้านการเป็นเขตอุทยาน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาจับชาวบ้านที่ตัดไม้มาสร้างบ้าน ซึ่งพวกตนอยู่ในป่าก็ต้องเอาไม้มาสร้างบ้านเป็นปกติอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยมาจับ แต่รอบนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่ยอมให้ประกาศเป็นอุทยานก็จะเจอแบบนี้

“ผมมองว่าไฟไหม้มันเกิดมาจากความขัดแย้งในสังคม ความไม่เข้าใจในสังคม ความเหลื่อมล้ำในสังคม มันเกิดมาจากการไม่มีประชาธิปไตย การไม่มีมีส่วนร่วม มันเหมือนมีอำนาจอันหนึ่งที่ไม่รู้จริง สั่งให้ทุกคนใส่รองเท้าคู่เดียวกัน แต่ประเทศไทยเรามีขนาดเท้าแตกต่างกัน พื้นที่ใกล้ทะเลก็อย่างหนึ่ง ภาคเหนือก็อย่างหนึ่ง อีสานก็อย่างหนึ่ง แต่ที่แน่ๆคือ ถ้าคุณทิ้งป่าไว้นานเกินไปมันก็จะเกิดไฟป่าเหมือนอย่างออสเตรเลีย เหมือนดอยสุเทพ” 

“เราต้องชิงเผาก่อน มนุษย์เรายอมรับได้ไหมว่ามันมีความขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง เราห้ามไม่ให้มันขัดแย้งไม่ได้ ในครอบครัวผัวเมียก็มีขัดแย้งกัน มันเกิดจากอารมณ์ของคน ความไม่พอใจ ความไม่เห็นด้วย หรือทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่เราตัดวงจรได้ด้วยการชิงเผา”

“รัฐบาลออกกฎหมายห้ามจุดไฟ ใครจุดไฟคนนั้นแย่ คนนั้นเลว ใครเผาป่าคือเผาชาติ เขาสร้างวาทกรรมชาตินิยมแบบนี้ขึ้นมา แต่ป่าบางชนิดต้องการไฟ ถ้าไฟไม่ไหม้พืชจะสูญพันธุ์ เจ้าหน้าที่ก็รู้ แต่ก็ได้รับคำสั่งมาแบบนี้ ก็ต้องทำตามหน้าที่ไป” พฤกล่าว 

เมื่อชุมชนที่แต่เดิมเคยบริหารจัดการป่าได้ด้วยตัวเอง ต้องเจอกับการถูกรุกไล่ที่ และการห้ามไม่ให้มีวิถีชีวิตกับป่า ด้วยนโยบายห้ามเผา 100% และห้ามคนเข้าป่า 100% นั่นจึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้ลุกลามใหญ่โตและดับยาก

 

ข้อเสนอกระจายอำนาจ
รัฐสนับสนุน ชุมชนเป็นศูนย์กลางควบคุมไฟป่า

ข้อเสนอของประยงค์คือ หนึ่ง-รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิด ต้องกระจายอำนาจ ให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางในการควบคุมไฟป่า โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน ต้องมองชุมชนอย่างแยกแยะ เปลี่ยนจากการกล่าวหาชุมชนเป็นการร่วมมือ อย่าคิดว่าชาวบ้านทุกคนในป่าเป็นศัตรูหรือคนที่คอยจ้องจะเผาป่า แม้จะไม่ใช่ทุกคนหรือทุกชุมชนจะมีระบบป้องกันป่าที่ดี แต่ชุมชนที่ทำดีก็ควรต้องมีมาตรการสนับสนุน และทำให้เป็นตัวอย่าง ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ

“เปลี่ยนจากหน่วยงานรัฐเป็นฮีโร่ เช่น ที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย รัฐมนตรีแถลงข่าวว่าควบคุมไฟได้แล้ว โดยใช้กำลัง 5,000 คน ใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำหลายร้อยเที่ยว ยังไม่สรุปรวมว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งดับไฟได้เฉพาะหน้าเท่านั้น ขณะที่ชุมชนดอยปุยมีการทำแนวกันไฟ จัดการไฟทุกปี แต่เวลาแถลงรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้านเหล่านี้เลย และในขณะที่ไฟที่อื่นปะทุเต็มไปหมด รัฐก็ไม่พูด” 

“ต้องกระจายอำนาจสู่ชุมชนและท้องถิ่น ให้มีอำนาจตั้งงบประมาณ ตอนนี้ปัญหาคือท้องถิ่นมีหน้าที่จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้มีหน้าที่จัดการควบคุมไฟป่า  ท้องถิ่นไม่สามารถตั้งงบประมาณมาสนับสนุนชุมชนได้ เพราะยังเป็นภารกิจของหน่วยงานรัฐ กรมป่าไม้ กรมอุทยานอยู่ เป็นช่องว่างที่ชุมชนต่อสู้อย่างเดียวดาย ท้องถิ่นช่วยไม่ไ่ด้” ประยงค์กล่าว

ประยงค์กล่าวเสริมว่า จากตัวเลขการรายงานฮอตสปอตของจิสด้า พื้นที่ไฟไหม้ส่วนใหญ่เป็นป่าอนุรักษ์ คือ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รองมาเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ขณะที่ในอุทยานมีชุมชนอยู่ 3,900 ชุมชนทั่วประเทศ ถ้ากระจายอำนาจการจัดการไปตามศักยภาพของชุมชน สักชุมชนละ 10,000 ไร่ จะมีพื้นที่ป่าซึ่งชุมชนเข้ามาช่วยดูแลจัดการถึง  39 ล้านไร่ คิดเป็นเกือบครี่งหนึ่งของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็ให้หน่วยงานรัฐดูแลเป็นหลักต่อไป 

สอง- บทบาทของรัฐในพื้นที่ 39 ล้านไร่ที่ชุมชนดูแลได้ รัฐควรเป็นหน่วยสนับสนุน ทั้งความรู้ วิชาการ หรือจุดไหนที่รุนแรงเอาไม่อยู่ ก็เข้าไปสนับสนุนในลักษณะของอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือกำลังเสริม 

สาม- การมีส่วนร่วมจากภาคธุรกิจเอกชน อย่างกรณีดอยสุเทพ เอกชนเข้ามาบริจาคจำนวนมาก และตอนนี้ศูนย์ชุมชนสู้ไฟป่ารวม 34 ชุมชน ก็มีภาคเอกชนบริจาคเงินเข้ามา 500,000 กว่าบาท รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลาย ซึ่งสะท้อนว่าภาคธุรกิจเอกชนมีศักยภาพ และมีความต้องการจะสนับสนุน รวมทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ก็ควรเป็นภาคที่ให้ความรู้กับสังคม เพียงแต่ยุทธศาสตร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

“ต้องเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ทำความเข้าใจเรื่องไฟและเรื่องป่ากันใหม่ นโยบายห้ามเผาต้องทบทวน เราพร้อมจะร่วมกับกระทรวงทรัพยากรฯ และชุมชนในการจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืนในปีถัดไป จากบทเรียนที่เราได้จากปีนี้” ประยงค์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net