Skip to main content
sharethis

ประมาณการณ์ว่ามีแรงงานข้ามชาตินอกระบบอีกกว่าล้านคนที่เข้าไม่ถึงเงินชดเชยจากการว่างงาน และถึงแม้เป็นแรงงานในระบบแต่ก็ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ ทั้งจากความไม่รู้และความซับซ้อนในการดำเนินการ ขณะที่มาตรการรัฐเน้นป้องกันโรค แต่ไม่เน้นชดเชยเยียวยา

 


ภาพจาก Benarnews

แม้ปัจจุบันสถิติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จะน้อยลงตามลำดับ โดยวันนี้ (7 พ.ค. 2563) พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม มียอดผู้ติดเชื้อสะสมที่ 2,992 ราย หายป่วย 2,772 ราย เสียชีวิต 55 ราย แต่กระนั้นด้วยมาตรการรองรับและเยียวยาของรัฐบาลที่อาจยังไม่ทั่วถึง ทั้งเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท และเงินประกันสังคมชดเชยการว่างงาน ที่ล้วนแต่มีปัญหาเรื่องความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อปากท้องแก่กลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งมีช่องว่างบางประการที่ทำให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติกลายเป็นกลุ่มที่ถูกหลงลืม

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือนมีนาคม 2563 คนต่างด้าว (พม่า กัมพูชา ลาว) ที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,814,481 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานนำเข้าตาม MOU จำนวน 1,086,494 คน 

การทำ MOU หรือ Menorandum Of Understanding สำหรับแรงงานข้ามชาติ คือ การทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับประเทศต้นทางประกอบด้วย พม่า,กัมพูชา,ลาว และเวียดนาม ในการนำเข้าแรงงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การทำ MOU มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน แรงงานส่วนใหญ่จึงพึ่งพาบริษัทนายหน้าเป็นคนจัดการติดต่อประสานงานระหว่างนายจ้างและแรงงาน เมื่อทำ MOU แล้ว สิ่งที่แรงงานข้ามชาติจะต้องจ่ายคือ ประกันสุขภาพ และประกันสังคม 

ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวถึงปัญหาของการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เนื่องจากเป็นแรงงานผิดกฎหมาย แรงงานตามฤดูกาล แรงงานที่ทำงานเป็นคนใช้ในบ้าน แรงงานภาคเกษตรกรรม และแรงงานประมง ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมล่าสุดเท่าที่หาได้ เดือนเมษายน 2562 ระบุว่า มีแรงงานต่างด้าว (พม่า กัมพูชา ลาว ไม่รวมสัญชาติอื่นๆ) ในระบบประกันสังคมจำนวน 1,017,732 คน นั่นหมายความว่าอาจมีแรงงานข้ามชาติอีกกว่าหนึ่งล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม

เมื่อสอบถามไปยัง สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ถึงตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่ยังตกค้างในประเทศไทย และที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สุชาติตอบว่า “เราไม่มีตัวเลข และไม่กล้ายืนยัน ” 

 

มาตรการรัฐที่เน้นป้องกันโรค แต่ไม่เน้นเข้าถึงการชดเชย

เมื่อมาดูมาตรการของรัฐบาลสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่ามีอยู่ด้วยกัน 10 มาตรการ ดังนี้

1) การชะลอการอนุมัตินำเข้าแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

2) การผ่อนปรนให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไปจนถึง 30 พ.ย.2563

3) ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกัน จัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้สามารถสื่อสารเข้าใจง่าย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาลดผลกระทบ การมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ถุงยังชีพ เป็นต้น รวมทั้งกระบวนการการเข้ารับการตรวจรักษาพยาบาลกรณีมีประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง ตลอดจนขั้นตอนการคัดกรอง การกักตัวเอง 14 วัน ตามกระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เสริมสร้างสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

4) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานข้ามชาติในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด 

5) แจ้งมาตรการให้นายจ้างในสถานประกอบการมีการคัดกรองลูกจ้างแรงงานต่างด้าวและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

6) ตรวจสอบคัดกรองและเฝ้าระวังแรงงานข้ามชาติ ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (PIPO) 

7) ขอความร่วมมือสถานประกอบการทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในสถานประกอบการ เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 

8) การให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคโควิด-19 

9) การปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 

10) ลดหย่อนอัตราเงินสมทบและขยายกำหนดเวลายื่นแบบอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน

ต่อมาวันที่ 5 พ.ค. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว กลุ่มที่ 1) เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง 2) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา ที่ถือบัตรผ่านแดนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนในลักษณะไป – กลับ หรือตามฤดูกาลซึ่งครบวาระการจ้างงานหรือการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เนื่องจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ตาม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 ที่ได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกระยะหนึ่ง (ประชาชาติธุรกิจ)

จะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐมุ่งไปที่การให้ความรู้ ป้องกันโรค มากกว่าจะพูดถึงสิทธิการได้รับเงินเยียวยา ซึ่งปฏิมามองว่ารัฐยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยปัญหาสำคัญสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติคือการไม่รู้สิทธิที่จะได้เงินชดเชยเยียวยาของตนเอง ทั้งกลุ่มที่อยู่ในประกันสังคม และกลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือถึงรู้สิทธิก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องเสียค่าใช้จ่าย

 

แม้อยู่ในประกันสังคมก็เข้าไม่ถึงสิทธิ

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) อธิบายว่า เรื่องประกันสังคมที่แรงงานควรจะได้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะเวลาแรงงานว่างงาน ต้องไปที่สำนักงานจัดหางานเพื่อทำเรื่อง และจะดำเนินการส่งต่อให้ประกันสังคม นายจ้างเก่าต้องออกเอกสารยืนยันการออกจากงานให้ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการจ้างทนายความ ดำเนินการ และต้องส่งกันหลายต่อ 

“ถ้ารัฐจริงใจกับการแก้ปัญหา ก็ควรอนุโลมให้ ไม่ต้องมีการขอใบแจ้งออก ไม่ต้องส่งหลายทอด สามารถส่งตรงไปที่ประกันสังคมได้เลย” สุธาสินีกล่าว

ขณะที่ จอห์นนี่ อาดิคารี แกนนำแรงงานเมียนมาในประเทศไทยยืนยันอีกเสียงว่า แรงงานส่วนใหญ่ 95 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้เรื่องสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม กรณีที่นายจ้างให้แรงงานพักงาน บางคนก็ไม่ได้เงินเต็มจำนวนที่ตกลงกันไว้ บางคนถูกไล่ออก พอไปปรึกษากับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็บอกว่าให้รอ 3 เดือนถึงจะรู้ผลว่าจะได้หรือไม่ได้เงินชดเชย ซึ่งแรงงานส่วนมากรอไม่ได้

ด้านปฏิมากล่าวว่า ประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือ โรงแรม ก่อสร้าง โรงงานขนาดเล็ก ลูกจ้าง SME ต่างๆ ที่ไม่ใช่กิจการขนาดใหญ่ 

“เมื่อขายของไม่ได้ ก็ให้คนงานหยุด ให้ข้าวสารไป แล้วก็เลิกจ้าง แรงงานบางคนหมดสัญญาในเดือนมีนาคม บริษัทก็ถือโอกาสเลิกจ้างไปเลย ไม่ต่อสัญญา ซึ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่คือคนที่เข้ามาโดยนายหน้า”

“ปัญหามี 2 ระดับ ระดับที่ 1 แรงงานมีช่วงที่ได้ทำงานบ้าง ไม่ได้ทำงานบ้าง บางส่วนทำงานอาทิตย์ละหนึ่งวัน หรือสลับกันมาทำงานรายได้น้อยลง แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ระดับที่ 2 คือ เลิกจ้างไปเลย ไม่มีเงินชดเชยให้ ต้องไปหางานใหม่” ปฏิมาระบุ

ปฏิมาอธิบายว่า การเลิกจ้าง ปกติแล้วต้องมีเงินชดเชยให้ ถ้าทำงานเกิน 1 ปี ก็จะชดเชยให้ 1 เดือน เป็นต้น แต่ตอนนี้ถ้าเลิกจ้างแล้วแรงงานไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ก็จะถูกลอยแพ ขณะเดียวกันการหางานใหม่ ต้องทำเอกสารต่างๆ มากมาย เพื่อที่จะได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย ต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร ซึ่งกลายเป็นต้นทุนเพิ่ม ซึ่งโดยปกติค่าทำเอกสารเปลี่ยนนายจ้างจะตกคนละประมาณ 1,000 บาท

 

ว่างงาน ไร้เงิน กลับบ้านไม่ได้

ปัญหาพบอีกประการคือแรงงานข้ามชาติกลับบ้านไม่ได้ เมื่อว่างงาน ไม่ได้เงินชดเชย และกลับบ้านไม่ได้ จึงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก 

จอห์นนี่ เล่าว่าตอนนี้มีแรงงานจำนวนมากตกงานและอยากกลับบ้าน เพราะการอยู่ในประเทศไทยต่อต้องมีค่าใช้จ่าย คือค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร แต่ชายแดนก็ปิด จะข้ามจังหวัดก็ไม่ได้ เนื่องจากรถโดยสารบางเส้นทางไม่เปิดให้บริการ

“ช่วงที่ไม่มีงาน รัฐหรือนายจ้างก็ไม่ได้มาช่วยเลย ตอนนี้ แรงงานไม่มีสิทธิอะไร เกิดเป็นปัญหา ผลกระทบมันสูง รายได้ก็น้อย เงินเก็บก็ไม่มี ประกันสังคมก็ไม่มี ถ้าได้เงิน 5,000 บาทก็อาจจะอยู่กันได้ แต่เขาไม่มีสิทธิ ถ้ามีงานให้เขาทำ เขาก็อยู่กันได้ แต่ถ้าไม่มีงานให้ทำก็ควรให้เขากลับบ้าน ไม่มีรัฐบาลไหน แม้แต่รัฐบาลพม่ามาดูแล ถ้าเจ็บไข้ ป่วยขึ้นมา ไม่มีบัตรที่จะรักษา ไม่รู้จะไปซื้อยาที่ไหน ไปโรงพยาบาลที่ไหน” จอห์นนี่กล่าว

ขณะที่สุธาสินีเห็นว่า ถ้ายังไม่อาจช่วยเหลือเยียวยาแรงงานข้ามชาติได้อย่างทั่วถึง ก็ควรให้แรงงานเหล่านั้นกลับบ้าน โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องหาแนวทางร่วมกัน หรือควรออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับให้แรงงานเหล่านี้ และถ้าสามารถให้แรงงานกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เมื่อใด ควรมีระบบคัดกรองที่ดี มีการทำประวัติเพื่อความสะดวกในการฟิื้นฟูเยียวยา

 

กรมจัดหางานยันคุ้มครองตามสิทธิ

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานให้ความคุ้มครองดูแลแรงงานต่างด้าวเหมือนกับแรงงานไทยทุกประการเพราะใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งหากไม่ได้รับค่าจ้าง ไม่ได้รับสวัสดิการ หรือถูกเลิกจ้าง แรงงานต่างด้าวสามารถร้องเรียนผ่านกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ 

สุชาติระบุว่า ประเทศไทยมีกองทุนที่คุ้มครองแรงงานไทยและต่างด้าว 2 กองทุน คือ กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่คุ้มครองแรงงานในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับอันตราย จากการทำงาน และกองทุนประกันสังคม ซึ่งคุ้มครองใน 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำประกันสังคม ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานในบ้าน แรงงานภาคเกษตรกรรม หรือแรงงานประมง สุชาติกล่าวว่า หากเข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมาย จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพอยู่แล้ว ดังนั้น แรงงานกลุ่มนี้ก็จะได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพด้วยเช่นเดียวกับแรงงานในระบบประกันสังคม

กรณีที่ถูกเลิกจ้าง หรือ นายจ้างล้มละลาย สุชาติกล่าวว่า แม้กฎหมายจะไม่ได้ระบุการช่วยเหลือ แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงแรงงานจะประสานงานกับหน่วยงานของประเทศต้นทางเพื่อให้การช่วยเหลือจัดหานายจ้างรายใหม่ให้ หรือถ้าประสงค์จะกลับประเทศก็สามารถทำได้ 

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งรัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโดยปิดพรมแดนระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงานไม่สามารถระบุได้ว่า จะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศต้นทาง หรือกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เมื่อใด

“ยืนยันว่า การจ่ายเงินชดเชยการว่างงานช่วงโควิด-19 ของประกันสังคม เราก็ให้คุ้มครองตามสิทธิ และเงื่อนเวลาที่ประกันสังคมกำหนดเช่นเดียวกับแรงงานไทย” สุชาติกล่าว

 

แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมาย: ระยะยาวต้องลดค่าใช้จ่าย-กระบวนการที่ซับซ้อน

ปฏิมาเสนอว่า รัฐควรจะมีมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือชดเชยเยียวยา และในระยะยาว หากการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง ธุรกิจต่างๆสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ปกติ รัฐบาลไทยควรที่จะมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินเอกสารแก่แรงงานต่างด้าว และควรสร้างระบบลงทะเบียน พิสูจน์สัญชาติ ของทั้งนายจ้าง และแรงงาน เพื่อความสะดวกในการตรวจสอบย้อนหลัง โดยกระบวนการทั้งหมดต้องไม่มีค่าใช้จ่าย

ขณะที่ สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูประบบบริหารจัดการแรงงานใหม่ โดยระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติต้องเข้าถึงได้ง่าย และสอดรับกับความต้องการ

“มาตรการคุ้มครองแรงงานของรัฐ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพานายจ้างมาก เช่น การทำประกันสังคม บางที่ลูกจ้างจ่ายเงินให้นายจ้างทุกเดือนเพื่อประกันตน แต่นายจ้างไม่ทำประกันสังคมให้ ไม่ยอมเอาเงินไปจ่าย หรือกรณี MOU ที่รัฐบาลไทยพยายามทำให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายทั้งหมด แต่การดำเนินเอกสารเอง หรือทำเอกสารผ่านนายหน้า ก็มีราคาแพง แรงงานไม่มีเงินจ่าย อย่างค่าวีซ่า 2 ปี 1,900 บาท บางรายเลยกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และก็ตามมาด้วยการถูกเอาเปรียบจากนายหน้า นายจ้าง หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่”

“ขอให้มีบัตรใบเดียวพอที่รับรองสิทธิเขาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยแรงงานต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีงานทำ มีนายจ้าง ” สมพงษ์ระบุ

นอกจากนี้สมพงษ์ยังเห็นว่า รัฐบาลต้องมีการวางแผนสำหรับรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือวิกฤต เพื่อให้สามารถดูแลแรงงานได้อย่างเหมาะสม ในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น การระบาดของโควิด-19 นี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net