Skip to main content
sharethis

กระทรวงแรงงานของ 'NUG' ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย เรียกร้องให้มีมาตรการระงับหรือปฏิเสธเอกสารหนังสือ CI ซึ่งเป็นกระบวนการที่จัดทำโดยรัฐบาลสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เร่งทำบัตรชมูให้ชาวพม่าที่ยังไม่มีเอกสาร และยุติมาตรการส่งเงิน 25% ของเงินเดือนแรงงานพม่ากลับประเทศ 

 

20 ก.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก "Ministry of Labour - National Unity Government of Myanmar" รายงานเมื่อ 18 ก.ค. 2567 ระบุว่า กระทรวงแรงงานของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2024 (พ.ศ. 2567) อันเนื่องจากสถานาการณ์พลเรือนเมียนมา และแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ การขอให้ทางการไทยยกเลิกการทำเอกสารหนังสือ CI หรือ Certificate of Identity ขอให้รัฐบาลไทยระงับมาตรการกดดันให้แรงงานพม่าในต่างแดนส่งเงิน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนกลับประเทศผ่านช่องทางของธนาคารและบริการทางการเมืองที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) รับรอง และขอให้ทางการไทยอนุญาตให้ชาวพม่าที่พาสสปอร์ตหมดอายุ สามารถต่อใบอนุญาตทำงานและวีซา ในฐานะที่เป็นการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม

ทั้งนี้ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ตั้งขึ้นมาหลังการทำรัฐประหารเมียนมา เมื่อปี 2564 และสมาชิกส่วนใหญ่มาจาก สส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมียนมา และ สส.ชาติพันธุ์ และจุดมุ่งหมายเพื่อการแย่งชิงการบริหารประเทศจากรัฐบาลทหารพม่า หรือเรียกชื่อว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC)

แถลงของเพจเฟซบุ๊ก Ministry of Labour, National Unity Government of Myanmar หรือ NUG กล่าวอ้างถึงการกระทำของกองทัพพม่าที่ตอนนี้นอกจากการกระทำการ ‘ก่อการร้าย’ และกดปราบด้วยการเข่นฆ่า การทรมาน และการลักพาตัวประชาชนและแรงงานทั้งหมดในพม่า ไม่แค่นั้น กองทัพพม่ายังมีมาตรกรเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติ และผู้ที่อาศัยในต่างประเทศ

แถลงระบุต่อว่า กระทรวงแรงงานรัฐบาล NUG ได้รับรายงานว่า เอกสารบัตรประจำตัวผู้เป็นพลเมืองเมียนมา หรือเรียกย่อๆ ว่า CI เป็นเอกสารที่จัดทำโดยกองทัพพม่า สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร หากสามารถยื่นเอกสารที่จำเป็น อย่างบัตรประชาชน รายชื่อของสมาชิกครอบครัว และอื่นๆ แนบไปกับแบบคำขอ แต่เรื่องนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงต่อจุดมุ่งหมายเดิมของการทำหนังสือเล่มเขียว หรือ CI ที่ให้ทำสำหรับคนที่ไม่มีเอกสารการเป็นพลเมือง แต่ในขณะเดียวกัน การออกหนังสือ CI แทนการออกหนังสือเดินทางพาสสปอร์ต ให้คนที่สามารถเตรียมเอกสารที่จำเป็นได้นั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการถือครองหนังสือเดินทางของทางราชการ และเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติที่ทำงานหนักเพื่อหารายได้ ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการสร้างระบบจัดเก็บรายได้ เพื่อนำมาใช้ในกิจการทางการทหาร ซึ่งทางรัฐบาล NUG ใช้คำว่า "การก่อการร้ายที่โหดร้าย" ต่อประชาชน การบังคับจ่ายภาษีเงินได้จากเงินเดือนของประชาชนที่อาศัยในต่างแดน บังคับให้พวกเขาส่งเงินกลับบ้านให้ครอบครัวผ่านระบบธนาคารและบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน เพื่อผลประโยชน์และรักษาอำนาจของกองทัพเท่านั้น

แถลงการณ์กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ต้องการเรียกร้องไปยังรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภาของประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนชาวไทยผู้ให้ความสำคัญกับสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ และสิทธิแรงงาน จะไม่อนุญาตให้รัฐบาลทหารพม่าละเมิดในอิสรภาพและความยุติธรรมของไทย รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) พร้อมร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ และเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเมียนมาในประเทศไทย

แถลงการณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เสนอรัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับมาตรการ ดังต่อไปนี้

(a)เร่งออกบัตรชมพูให้กับแรงงานที่ยังไม่มีเอกสารให้เร็วที่สุด

(b)อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ถือครองบัตรชมพู ใบอนุญาตทำงาน หรือเอกสารคล้ายคลึงสำหรับใบอนุญาตทำงาน ให้สามารถอยู่และเดินทางได้อย่างมีอิสระภายในประเทศไทย

(c)ยกเลิกหรือปฏิเสธการทำเล่มหนังสือ CI ซึ่งเป็นกระบวนการของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในประเทศไทย และทบทวนนโยบายของรัฐบาลในกระบวนการการทำ CI นี้ใหม่

(d)ยุติมาตรการของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างมีประสิทธิภาพในการบังคับจ่ายภาษีจากเงินเดือนของพลเรือนที่อาศัยในต่างประเทศตามอัตราที่เผด็จการทหารพม่ากำหนด เนื่องจากเป็นการละเมิดข้อตกลงทวิภาคีที่จะไม่เก็บภาษีซ้ำซ้อนจากเงินเดือนของชาวเมียนมาในประเทศไทย และกดดันให้ชาวพม่าต้องส่ง 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนกลับประเทศให้ครอบครัว โดยผ่านการทำธุรกรรมผ่านธนาคารและบริษัทให้บริการทางเงินที่ทางการพม่ารับรอง

(e)ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติพม่าในประเทศไทย ซึ่งพาสสปอร์ตหมดอายุ สามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และวีซา ในฐานะเป็นการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานต่อไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก Ministry of Labour , National Unity Government of Myanmar

ขณะที่การยกเลิกการใช้หนังสือ CI เป็นเอกสารประจำตัวชาวพม่าในไทย ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ สืบเนื่องจากเมื่อ 7 ก.ค. 2567 วีระ แสงทอง ชาวพม่าในไทย และแกนนำกลุ่ม 'Bright Future' ได้เดินไปทางไปชุมนุมที่หน้าสำนักงาน โครงการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ (UN ESCAP) เพื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยพิจารณาให้มีการใช้ 'บัตรชมพู' เพียงใบเดียวเป็นหลักฐานประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย หลังจากเมื่อช่วงที่ผ่านมา ทางการเมียนมาได้ขอให้กรมการจัดหางานปิดศูนย์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ ศูนย์ CI เป็นจำนวน 7 แห่งใน 7 จังหวัด เหลือเพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดให้บริการคือ 'จังหวัดสมุทรสาคร'

ข้อมูลจาก Cofact ระบุว่า 'บัตรชมพู' หรือบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นบัตรที่ออกโดยกรมการปกครอง เพื่ออนุญาตให้ชาวพม่าที่ไม่มีเอกสารประจำตัวการเป็นพลเมืองอย่างถูกต้อง ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวจนกว่ากำหนดเวลาในใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลง

หนังสือเล่มเขียว ซึ่งเป็นชื่อเล่นของบัตร CI นี้เป็นเอกสารที่ทางการเมียนมา และลาว ออกให้พลเมืองที่ไม่มีเอกสารของตนที่เดินทางมาทำงานในประเทศไทย เพื่อยืนยันสัญชาติ ซึ่งทางการไทยกำหนดให้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนแล้วขอเอกสารนี้จากประเทศต้นทางเพื่อรับรองสัญชาติของตน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net