Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเอ็นจีโอด้านแรงงานข้ามชาติส่งหนังสือถึง รมว.แรงงาน แสดง 6 ข้อกังวล พร้อมเสนอแนะ 5 ข้อเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องที่แรงงานพม่าราวๆ 3 แสนคนอาจหลุดจากระบบภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2567 เนื่องจากไม่สามารถจัดการทำเอกสารพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามกรอบเวลาที่ ครม.กำหนด หลังจากทางการพม่าขอให้กรมการจัดหางานปิดศูนย์รับรองเอกสาร CI จนเหลือเพียงแห่งเดียว

2 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อแสดงความกังวลใจและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย กรณีเอกสารแรงงานข้ามชาติและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่า สถานการณ์ต่อเนื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลให้เกิดการปิดด่านชายแดนไทย-พม่า และสถานการณ์การรัฐประหารในพม่าเมื่อ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และความรุนแรงด้านการสู้รบในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การสู้รบที่จังหวัดเมียวดีเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง ส่งผลต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง

สรุป 6 ปัญหา

หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานระบุว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนจัดหางานจังหวัดตาก ตัวแทนแรงงาน ภาคประชาสังคม ได้มีเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อในการจัดทำข้อเสนอระบบการจ้างงานภายใต้การทบทวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยมีข้อกังวลดังนี้

  1. แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกำลังหลุดออกจากระบบ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมาย และเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับ

  2. มีความเสี่ยงที่จะเกิดช่องว่างการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอื้อประโยชน์ให้เกิดเอกสารการคุ้มครองภายใต้ระบบการคอร์รัปชัน

  3. แรงงานไม่สามารถดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) ที่ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานพม่าแบบเบ็ดเสร็จ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนด วันที่ 31 ตุลาคม 2567 โดยศักยภาพการให้บริการของศูนย์ฯ ยังมีความไม่สอดคล้องกับจำนวนแรงงานที่ยังตกค้าง

  4. เสถียรภาพในการจัดการด้านเอกสารประจำตัวแรงงานของประเทศต้นทางที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานพม่าแบบเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ยังมีจำนวนแรงงานที่ยังตกค้างอยู่จำนวนมาก และระยะเวลาตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดก่อนเวลา 4 เดือน

  5. อัตรากำลังแรงงานขาดแคลน ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในธุรกิจ

  6. ความเสี่ยงเรื่องการถูกหลอกจากกระบวนการจัดหางาน พบว่ามีการจ่ายเงินให้นายหน้าดำเนินการให้ แต่เมื่อกระบวนการไม่ผ่านหรือติดขัดก็ไม่ได้รับเงินคืน ไม่มีการรับรองหรือยืนยันได้ว่าแรงงานจะได้เอกสารตามที่นายหน้าชี้แจงไว้ในประเทศต้นทาง บางกรณีภายหลังที่เข้ามาทำงานพบว่า ประเภทงานที่ทำไม่ตรงตามสัญญา

5 ข้อเสนอคุ้มครองที่สอดคล้องกับบริบท

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้มีข้อเสนอแนะดังนี้

  1. พิจารณาการบริหารจัดการในการขึ้นทะเบียนแรงงานรูปแบบศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service )

  2. พิจารณาการบริหารจัดการแรงงานฝ่ายเดียวในช่วงที่ประเทศพม่าอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เพื่อการบริหารจัดการแรงงานที่หมุนเวียนอยู่ในระบบประมาณ 3,000,000 คน โดยลดความเสี่ยงจากการหลุดออกจากระบบ

  3. พิจารณาการนำเข้าแรงงานระบบ MOU ในช่วงที่ประเทศพม่าขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการทั้งนี้เพื่อป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงาน ที่จะถูกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ

  4. พิจารณาการขึ้นทะเบียนโดยบริหารจัดการด้วยบัตรสีชมพู ในช่วงระหว่างที่สถานการณ์ประเทศพม่าขาดเสถียรภาพในการบริหารจัดการ โดยเป็นการเสนอสถานการณ์พิเศษ ซึ่งเคยถูกพิจารณาแล้วในปี 2558 โดยพิจารณาระยะเวลา 2 ปี เพื่อประเมินสถานการณ์

  5. ขอให้กระทรวงแรงงานมีการพิจารณาตามสถานการณ์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากอัตรากำลังและประเภทงานที่เข้ามาทดแทนประเภทงานที่ผู้ประกอบการต้องการใช้กำลังแรงงานข้ามชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ กล่าวว่าแรงงานพม่าที่จดทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีร่วม 3 แสนคนเสี่ยงหลุดจากระบบภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2567 เพราะปัญหาเรื่องการทำเอกสาร CI ของพม่า ส่วนหนึ่งหลุดเพราะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือถูกสงสัยว่ามีบทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเข้าไม่ถึงเพราะระบบการทำเอกสารมีความยุ่งยากล่าช้า ซึ่งทางการพม่ากับกรมการจัดหางานได้ยุบศูนย์ CI เหลือเพียงศูนย์เดียวที่สมุทรสาคร ซึ่งต้องทำงานหนักเฉลี่ยวันละกว่า 2 พันคน ทั้งๆ ที่ศักยภาพการดำเนินของศูนย์ฯ ต่อวันไม่ถึงพัน

“ระเบิดเวลาลูกใหญ่อยู่ที่หลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 คนงานพม่ามากกว่า 2 ล้านจะต้องต่อใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทิศทางของกรมการจัดหางาน อยากให้ทำ MOU แบบพิเศษที่ชายแดน แต่แรงงานพม่าส่วนใหญ่ยังกังวลใจเรื่องการเกณฑ์ทหารในพม่า พวกเขาไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยจากสถานการณ์สู้รบในพม่า และยังกังวลใจเรื่องการทำเอกสารหนังสือเดินทางที่จะต้องทำใหม่ ว่าทำได้หรือไม่ เพราะมีเรื่องการเสียภาษี 2% และบังคับโอนเงินกลับบ้านผ่านธนาคารในกำกับรัฐบาลทหารพม่า 25% ของค่าจ้าง มีบทลงโทษห้ามออกนอกประเทศ และไม่ออกหนังสือเดินทางให้ ดังนั้นถ้ามาตรการของไทยยังผลักให้แรงงานต้องมีเอกสารจากพม่าเดินทางกลับ มีแนวโน้มที่แรงงานจะอยู่แบบผิดกฎหมายมากขึ้น” อดิศร กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net