Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนอื่นขออนุญาตท่านผู้อ่านพึงทราบว่าผมเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน (กฎหมายที่ว่าด้วยการควบคุมการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมาย) เท่าใดนัก แต่ผมขอเป็นกระบอกเสียงแทนมนุษย์เงินเดือนหลายๆ ท่าน ที่อยู่ในสภาวะวิกฤตครั้งนี้ว่า แม้พวกเราจะมีรายได้ที่มั่นคงแน่นอน แต่นั่นไม่ได้แปลว่า พวกเราไม่เดือดร้อน ไหนจะค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น

หลายท่านอาจจะนึกตำหนิว่า พวกเราใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายไป หรือใช้จ่ายตามอำเภอใจเอง เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ บัตรเครดิตฯ แต่ใครจะนึกว่าเราจะต้องเผชิญกับภาวะเช่นว่านี้ จริงอยู่ที่เราจำเป็นต้องออมเงินเผื่อไว้ในยามฉุกเฉิน ดังนั้นมาตราการหนึ่งที่ผมชื่นชมรัฐบาลว่าการหักเงินประกันสังคมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงเงินยอดเงินสมทบชราภาพ น่าจะพอมองออกถือเสมือนเป็นสวัสดิการบำนาญของราชการในอดีต แต่ในวิกฤตครั้งนี้ เราจะเห็นรัฐให้การช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน แต่คนมีรายได้ประจำก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ทุกข์ยากลำบาก ดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่หลายๆ คนตำหนินั้น โปรดอย่าลืมนะครับว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนโควิด 19 แต่บิลค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นหลังโควิด 19 ดังนั้นจะกล่าวให้ร้ายพวกเรา เห็นทีผมคงไม่ยอมรับ แต่ถ้าเป็นการสร้างค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นหากเกิดขึ้นหลังโควิด 19 อันนี้สมควรโดนตำหนิ 

กลับมาประเด็น เงินสมทบชราภาพ โดยหลักการจะเป็นเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนในยามแก่ชราอาจเพราะความสามารถในการหารายได้ลดลงด้วยสังขารและอายุ แต่เมื่อมีเหตุโรคระบาด (โควิด 19) แม้ผู้ประกันตนจะมีความสามารถในการหารายได้ แต่แหล่งรายได้ลดลง ผมไม่ทราบว่าจะพอเทียบเคียงกันได้หรือไม่ ถ้าในมิติของรัฐ คงตอบว่าไม่เพราะอายุและ/หรือความสามารถไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่ถ้ามองในมิติของผู้ประสบภัย ผมว่าก็ไม่ต่างกันมาก ดังนั้น ผมจึงอยากฝากภาครัฐช่วยพิจารณาให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินดังกล่าวมาใช้ในยามนี้จะได้หรือไม่ครับ ถ้าไม่ได้ รัฐสามารถออกกฎหมายให้ เงินสมทบชราภาพ ดังกล่าวถือเป็นหลักทรัพย์พิเศษในช่วงนี้ ที่สถาบันการเงินจะพิจารณาถือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ อีกทั้ง ภาษี ณ ที่จ่ายในช่วงนี้ รัฐสามารถอนุโลมให้มนุษย์เงินเดือนไม่ต้องเสียได้หรือไม่

ถ้ารัฐมองว่า รัฐอาจจะขาดรายได้มาบริหารจัดการ แต่ผมอยากจะแย้งว่ารัฐยังมีสิทธิเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่นะครับ ถ้าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงใจ ผมว่ารัฐควรออกมาตรการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและ/หรือบริการบางประเภท แม้รัฐจะอ้างว่าร้านค้าปลีก-ส่ง ลดราคาสินค้าอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่นะครับ ถ้ารัฐขืนยังไม่ออกมาตรการมาช่วยเหลือ

ถ้าท่านจะอ้างว่าไม่มีอำนาจ แล้ว “พระราชกำหนด” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 172 กำหนดว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
 
การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารสามารถออกกติกา-ระเบียบบ้านเมืองเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามจำเป็น นี่แหล่ะครับที่ถือเป็นอาวุธชั้นดีที่รัฐสามารถนำมาต่ออายุประชาชนได้ และเมื่อใดก็ตามที่สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ ผมเชื่อลึกๆ ว่า ประชาชนจะกลับมาให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลอย่างดี แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบว่าวิกฤตครั้งนี้จะจบลงเมื่อใด แต่ชีวิตประชาชนบางท่านได้จบลงแล้ว

ส่วนตัวผมมองว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่? ที่รัฐสมควรจะออกมายื่นมือช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ในฐานะที่ผมก็เป็นผู้เสียภาษีให้กับรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม ผมจึงอยากจะมาเรียกร้องแทนมนุษย์เงินเดือนหลายๆ ท่านว่า พวกเราก็เดือดร้อนเหมือนกัน ถ้าท่านจะอ้างว่า ไม่มีกฎหมายให้ทำได้” ผมขอย้อนกลับว่า “ไม่มีอำนาจ หรือไม่มีเงิน” ขอชัดๆ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net