Skip to main content
sharethis

ปมร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับแก้ไชที่เพิ่งผ่านวุฒิสภาเมื่อวานนั้น ส่งผลต่อความ (ไม่) สำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญในรัฐบาลนี้ เพราะจะยืดเวลาไปอีกสูงสุด 8 เดือน ซึ่งนั่นจะทำให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ทันรัฐบาลนี้

 

1 ต.ค. 2567 ประชามติเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ก็เพราะ ‘รัฐธรรมนูญมีชัย’ กำหนดไว้ว่า จะแก้ รธน.จุดสำคัญๆ หรือเพื่อตั้ง สสร.ก็ตาม ต้องทำประชามติหลายครั้ง ซึ่งยังถกเถียงกันว่า 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ไม่นับว่าคำถามประชามติก็ยังเห็นไม่ตรงกันระหว่างพรรคฝ่ายค้าน ภาคประชาชน กับพรรครัฐบาลว่าจะล็อคหมวด 1 และ 2 หรือไม่

แล้วกฎหมายประชามติเดิมก็กำหนด ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’ นั่นคือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกิน 50% และการออกเสียงก็ต้องชนะเกิน 50% การจะให้คนมาใช้สิทธิเกินครึ่งหลายๆ ครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อมันไม่ใช่การเลือกตั้งใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนจึงเห็นร่วมกันว่าต้องปลดล็อคกฎหมายประชามติเสียก่อน ให้เหลือชั้นเดียว โดยไม่ต้องกำหนดว่าผู้ใช้สิทธิต้องออกมาใช้สิทธิเกินครึ่ง ไม่เช่นนั้นการแก้รัฐธรรมนูญจะยากลำบากยิ่งขึ้น

ประชามติ



สภาผู้แทนราษฎรเห็นร่วมกันในเรื่องนี้ โหวตผ่านการแก้ไขปลดล็อคกฎหมายประชามติไปแล้ว ตามขั้นตอนตามกฎหมายก็ต้องผ่านวุฒิสภา อันที่จริงแล้ววุฒิสภาก็จะยึดเอาเจตจำนงตัวแทนประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก หากจะมีการแก้ไขบ้างก็เป็นเพียงเรื่องปลีกย่อย มีไม่บ่อยนักที่ไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร หรือไปแก้ในส่วนสาระสำคัญ

แต่รอบนี้ วุฒิสภาใหม่หมาดที่สื่อวิเคราะห์ว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นสายสีน้ำเงิน สามารถพลิกเกมในชั้น กมธ.วุฒิสภา เปลี่ยนเนื้อหาสำคัญได้สำเร็จ จากไม่เป็น double majority ก็กลับไปเป็น double majority ล็อคสองชั้นแบบเดิม เสมือนไม่ได้แก้

การพลิกเกมของวุฒิสภาก็น่าสนใจ กรุงเทพธุรกิจรายงานคำให้สัมภาษณ์ของนันทนา นันทวโรภาส กลุ่ม ‘สว.พันธุ์ใหม่’ ไว้ว่า ในการประชุมนัดแรกๆ ที่ประชุมถกเถียงกันจนเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างของสภาผู้แทนฯ แต่ในการประชุมนัดสุดท้ายซึ่งส่วนมากจะ ‘ไม่มีอะไร’ ประธาน กมธ.กลับเอาคำแปรญัตติของ (ไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมาก) มาพิจารณาใหม่ แล้วโหวตอีกรอบ ในขณะที่สายสนับสนุนร่างของสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เข้าประชุมกันหลายคน นันทนาสรุปว่า เป็น ‘ความชะล่าใจ’ ที่นำสู่การพ่ายแพ้

หลังจากนี้ กระบวนการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็คือ วุฒิสภาต้องส่งร่างกลับมายังสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดหมายได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรย่อมต้องโหวตไม่เห็นด้วยกับร่างของวุฒิ ซึ่งเนื้อหาตรงกันข้ามกับร่างที่ตนส่งไป

เมื่อเห็นไม่ตรงกันก็ต้อง ‘คณะกรรมาธิการร่วม’  ของ 2 สภา เพื่อหาทางออกว่า กฎหมายประชามติหน้าตาจะเป็นอย่างไรแน่ เวลากำหนดไว้ไม่เกิน 60 วัน ยังไม่แน่ว่า กมธ.ร่วมจะโหวตให้ออกมาเป็นแบบไหน แต่ไม่ว่าเป็นแบบไหน ก็ต้องส่งคืนไปยังทั้ง 2 สภาเพื่อให้โหวตรับ ถ้าสภาหนึ่งสภาใดโหวตคว่ำขึ้นมา ก็เป็นอันว่า ต้อง ‘ยับยั้ง’ หรือแช่แข็งร่างนี้ไว้ 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรถึงจะสามารถยืนยันร่างของตัวเองที่ปลดล็อค double majority ได้ โดยต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะเสร็จสิ้นภารกิจ

เรียกว่าเดินอ้อมไปหลายกิโลเมตรกว่าจะได้ยืนยันอำนาจจากผู้แทนประชาชน

หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าพรรคแกนนำรัฐบาล แกนนำฝ่ายค้านจะเสนอการแก้เกมนี้อย่างไร จะลุยประชามติไปเลยหรือไม่ จะทำ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ซึ่งเดิมพันก็เสี่ยงสูงเพราะถ้าคนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งก็ต้องจอดแล้วจร ตัวใครตัวมัน ได้อยู่กับรัฐธรรมนูญมีชัยไปยาวๆ 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net