CPTPP 101 : ไทยได้หรือเสีย?

แฮชแท็กคัดค้าน CPTPP กลายเป็นเทรนด์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ส่วนภาครัฐและเอกชนแสดงท่าทียินดีปรีดาต้องการให้ไทยเข้าร่วม CPTPP คืออะไร ไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ เป็นประเด็นการต่อสู้เรียกร้องที่มีเดิมพันสูง

 

  • หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวจาก TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ประเทศสมาชิกที่เลือกจึงเดินหน้าต่อเป็น CPTPP หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก
  • หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท และการลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 หรือ 148.24 พันล้านบาท
  • CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เนื่องจากมีเนื้อหาหลายข้อที่ทำให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยาวนานขึ้น ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ต้องเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งจะนำไปสู่การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารตามมา

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แฮชแท็กคัดค้าน CPTPP ปลิวว่อนทั่วโซเชียล มีเดีย แตกต่างจากการคัดค้านข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ที่เชียงใหม่เมื่อปี 2549 ค่อนข้างชัด เพราะยุคนั้นโซเชียล มีเดียยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน

อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยสนใจและใส่ใจประเด็นการค้าเสรีมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบที่จะตามมา หากเกิดขึ้นแล้วอาจยากเกินกว่าจะหวนคืน โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงยาและการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่หลายฝ่ายเห็นพ้องว่าไม่ควรให้เกิดขึ้น

จาก TPP ถึง CPTPP

CPTPP หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก เป็นข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและบริการที่ตั้งต้นมาจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่มีสมาชิก 12 ประเทศคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งไทยก็สนใจเข้าร่วม TPP อยู่ก่อนแล้ว

แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาก็ถอนตัวออกจาก TPP ทำให้ขนาดตลาดเล็กลงอย่างมีนัยสำคัญ ถึงกระนั้น ประเทศอื่นๆ ที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อกันเองและแปรมาเป็น CPTPP ในที่สุด ทั้ง 11 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงนี้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อสมาชิกกึ่งหนึ่งให้สัตยาบัน

วันที่ 30 ธันวาคม ปีเดียวกัน เมื่อเม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบัน CPTPP จึงมีผลบังคับใช้ เกิดเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีกว่า 11 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 13 ของจีดีพีของทั้งโลก มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน

ภาพคำอธิบาย CPTPP  ของ เพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand อธิบายไว้เมื่อวันที่ 17 ต.ค.61 ว่า เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ โดยมีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ความตกลง CPTPP ไม่ใช่การจัดตั้งขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการปรับโฉมจากความตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกด้วย แต่หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 ประเทศสมาชิกที่เหลือก็ตัดสินใจเดินหน้าความตกลงต่อ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า CPTPP ซึ่งแตกต่างจาก TPP ตรงที่มีขนาดเศรษฐกิจและการค้าเล็กลง และมีกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการค้าขายกับประเทศในกลุ่ม CPTPP ถึง 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้ารวมของไทย ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศออกอาการไม่ดีมาต่อเนื่อง เครื่องยนต์ต่างๆ ที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนยังไม่ให้ดอกผลชัดเจน CPTPP ดูจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจ

13 ก.พ. 2563 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จึงมีมติให้กระทรวงพาณิชย์สรุปผลการศึกษา หารือ และการรับฟังความเห็น นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาเข้าร่วม CPTPP ในเดือนเมษายน 2563 ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ที่เม็กซิโก ซึ่งจะมีการหารือเรื่องการรับประเทศสมาชิกใหม่รวมอยู่ด้วย

ทำไมไทยจึงควรเข้าร่วม CPTPP?

ทำไมไทยจึงควรเข้าร่วม CPTPP ดูจากผลการศึกษาของกระทรวงพาณิชย์พบว่า หากไทยเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวร้อยละ 0.12 คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท และการลงทุนขยายตัวร้อยละ 5.14 หรือ 148.24 พันล้านบาท

แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วม จีดีพีของไทยจะได้รับผลกระทบ 26.6 พันล้านบาท หรือร้อยละ 0.25 และกระทบต่อการลงทุน 14,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.49 และอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามและสิงคโปร์ เนื่องจากในปี 2558-2562 ทั้งสองประเทศส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ส่วนไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23 ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าในปี 2562 เวียดนามมีมูลค่า 16,940 ล้านเหรียญสหรัฐ สิงคโปร์ 63,934 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

โดยกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปยัง CPTPP ของไทย ได้แก่ กลุ่มธัญพืชและของปรุงแต่ง เครื่องแต่งกาย เครื่องสูบของเหลว เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ยานยนต์ เครื่องหนังและรองเท้า น้ำตาลและขนม ส่วนด้านการบริการและการลงทุนจะได้ประโยชน์จากการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันเพียงร้อยละ 30 ของการส่งออกเท่านั้น ทั้งยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ

ที่มาภาพ http://radio.prd.go.th 

ระบบสาธารณสุขถูกทำลาย?

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไทยจะได้รับยังมีข้อกังขาและไม่แน่ว่าจะกระจายอย่างทั่วถึงหรือไม่ แต่ผลกระทบกลับค่อนข้างชัดและมีการกล่าวถึงอย่างอึงคะนึง เบื้องต้นคือพื้นที่ในการดำเนินนโยบายสาธารณะของไทยจะหดแคบลง จากการติดข้อจำกัดต่างๆ ใน CPTPP

ภาพรวมการบริหารจัดการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ดูแลสวัสดิการสุขภาพคนไทยประมาณ 48 ล้านคน ในส่วนยาบัญชี จ.(2) ตั้งแต่ปี 2553-2561 มีผู้ป่วยเข้าถึงยาในบัญชีนี้ 101,000 ราย และตั้งแต่ปี 2555-2561 ผู้ป่วยที่เข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษมีจำนวน 32,098 ราย การบริหารจัดการยานี้เองภาครัฐจึงประหยัดงบประมาณค่ายา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2560 ถึง 44,430.84 ล้านบาท แต่สิ่งนี้จะถูกทำลายลง

ตัวอย่างที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือการเข้าถึงยา ซึ่งข้อตกลงใน CPTPP หลายข้อก็ชวนให้วิตกกังวล เช่น การยกเลิกสิทธิพิเศษของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในที่นี้เราไม่นับรัฐวิสาหกิจที่ทำการค้าเพื่อผลกำไรทางธุรกิจ นั่นเป็นเพราะมีรัฐวิสาหกิจจำนวนหนึ่งที่มีพันธกิจทางสังคม โดยเฉพาะองค์การเภสัชกรรม อีกทั้งการรองรับนโยบายด้านยา เวชภัณฑ์ และวัคซีนที่จำเป็นต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขจะถูกจำกัดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

เมื่อไล่เรียงดูพบว่ามีข้อตกลงหลายประการที่จะสร้างผลกระทบด้านสาธารณสุขของไทยในระยะยาว เช่น ไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ด้านราคายาจากการลดภาษีศุลกากรแหล่งวัตถุดิบยาที่อยู่นอกประเทศสมาชิก CPTPP การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องเปิดให้อุตสาหกรรมจากประเทศสมาชิกเข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียม ย่อมเท่ากับกับทำลายนโยบายบัญชีนวัตกรรมไทย ระเบียบและกฎกระทรวงของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมยาในประเทศให้พังลง

สิทธิการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือซีแอล (Compulsory Licensing: CL) ของไทยอาจถูกกระทบ เพราะแม้ว่าในข้อตกลง CPTPP จะระบุว่าไม่กระทบสิทธิที่ประเทศภาคีมีอยู่ตามข้อตกลงอื่น แต่ก็มีเนื้อหาส่วนอื่นที่ระบุว่าถ้าคู่กรณีไม่เห็นด้วยกับการใช้สิทธิใด สามารถนำเรื่องเข้ากระบวนการระงับข้อพิพาทได้ เท่ากับนักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องรัฐได้นั่นเอง

ประการต่อมา CPTPP เชื่อมโยงระบบการขึ้นทะเบียนยากับระบบสิทธิบัตรเข้าด้วยกัน (patent linkage) ทั้งที่โดยหลักการแล้วต้องแยกจากกัน นั่นเป็นเพราะการขึ้นทะเบียนยาเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่มีขึ้นเพื่อตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของยาก่อนอนุญาตให้มีการจำหน่ายในประเทศ

ขณะที่การรับจดสิทธิบัตรเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในการพิจารณาให้หรือไม่ให้ความคุ้มครองการผูกขาดตลาดแก่ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรตามเกณฑ์ด้านสิทธิบัตร การนำ 2 เรี่องนี้มาปะปนกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ อย. จำเป็นต้องตรวจสอบว่ายาชื่อสามัญที่ขอขึ้นทะเบียติดสิทธิบัตรอยู่หรือไม่ โดยใน CPTPP กำหนดให้ อย. ต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิบัตรรู้ว่ามีบริษัทยาอื่นขอขึ้นทะเบียนยาตัวเดียวกันและทาง อย. จะยังไม่รับขึ้นทะเบียนให้หรือให้มีระยะเวลานานพอจนกว่าผู้ทรงสิทธิฯ จะดำเนินการทางศาลหรือทางปกครองเพื่อจัดการการละเมิดสิทธิบัตรให้มีการเยียวยาหรือการชดเชยก่อน อีกทั้งประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีกระบวนการอื่นแทนศาลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนยาให้บุคคลอื่นโดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ทรงสิทธิบัตร

กระบวนการเช่นนี้จะทำให้ยาชื่อสามัญไม่สามารถเข้าแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบจะผูกขาดตลาดนานขึ้นเกินกว่า 20 ปี แม้อายุสิทธิบัตรจะหมดลงแล้ว นอกจากนี้ยังเท่ากับเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐ ซึ่งก็คือ อย. เป็นกลไกดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ทรงสิทธิบัตร และยังกระทบกับการประกาศซีแอลด้วย เนื่องจากยาที่จะประกาศซีแอลก็ต้องผ่านการตรวจสอบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยจาก อย. เช่นกัน

มาตรการชายแดน (Border Measure) เป็นมาตรการที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถจับยึดสินค้าที่ส่งมาถึงแล้วหรือที่อยู่ในระหว่างขนส่ง เพียงแค่สงสัยว่าจะละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ ซึ่งขัดกับความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ให้รวมสินค้าที่อยู่ระหว่างการขนส่งเข้าไปด้วย

ใน CPTPP ไม่ได้หมายถึงเพียงเครื่องหมายการค้าที่ปลอมแปลง หากยังรวมถึงเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและไม่ได้ตั้งใจละเมิดสิทธิด้วย ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นกับดักก็ได้ เนื่องจากในธุรกิจยาชื่อสินค้าอาจคล้ายคลึงกันได้โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะบริษัทยามักตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ให้พ้องกับชื่อตัวยาสำคัญ ส่วนฉลากยาที่ระบุรายละเอียดของยาและวิธีการใช้ที่มากับบรรจุภัณฑ์ก็อาจถูกถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันและฉลากยาอาจถูกใช้เป็นสาเหตุในการเอาผิดได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเปิดช่องให้สามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นกรณีละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ โดยผู้ทรงสิทธิสามารถเอาผิดกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายก็ได้ บุคคลอื่นในที่นี้อาจรวมถึงเจ้าของสถานที่ที่ปล่อยให้มีสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ อย่างเช่นโรงพยาบาล

ความมั่นคงทางอาหารถูกทำลาย?

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ทำให้ CPTPP ถูกคัดค้านคือเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพ เนื่องจากข้อตกลง CPTPP กำหนด (บังคับ?) ให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชนและเกษตรกรไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ กลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ในการพัฒนายาจากสมุนไพรหรือทรัพยากรชีวภาพในประเทศเกิดความไม่เป็นธรรม เนื่องจาก CPTPP ไม่ระบุกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้

ราคาเมล็ดพันธุ์จะสูงขึ้นประมาณ 2-6 เท่า อันเป็นผลจากการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ถูกขยายระยะเวลาเป็น 20-25 ปี ซ้ำยังขยายการผูกขาดจากส่วนขยายพันธุ์ ให้กินความรวมไปถึงผลผลิต ผลิตภัณฑ์ และอนุพันธ์ของสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างเช่นพันธุ์พืชที่กลายพันธุ์จากพันธุ์พืชใหม่ให้ถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ หรือหากนำข้าวที่จากการปลูกเมล็ดพันธุ์ของบริษัทไปหมักเป็นเหล้า การผูกขาดก็จะขยายไปถึงเหล้าด้วย เป็นต้น

ทว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับทำการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เพื่อรองรับการเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991 ไปก่อนนี้แล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงท่าทีที่ต้องการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีก่อนที่จะมี CPTPP เสียอีก การแก้ไขกฎหมายนี้ส่งผลให้เกษตรกรที่พัฒนาพันธุ์ไปปลูกต่อกลับมีความผิดตามกฎหมาย

อนุสัญญา UPOV1991 ยังให้ความคุ้มครองสิทธิ์และประโยชน์กับนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ แต่กลับไม่ให้คุ้มครองแก่ชุมชนต้นทางของสายพันธุ์ โดยในมาตรา 18.37 para 4 ระบุว่า ไม่ให้สิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่ให้ inventions that are derived from plants ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นต้องการและพยายามจะบรรลุข้อตกลงนี้ตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ไม่สำเร็จ

ใน CPTPP ยังระบุด้วยว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาทำธุรกิจบริการด้านการวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพและทำการศึกษาทดลองได้ โดยไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การลงทุนนั้นแก่ไทย ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ทางกระทรวงสาธารณสุขแสดงความกังวล เป็นเพราะภูมิปัญญาท้องถิ่น สมุนไพร ยา วัคซีน และชีววัตถุ ล้วนเกี่ยวกับความมั่นคงทางยาของประเทศทั้งสิ้น

ท่าทีรัฐบาล-เอกชน-เอ็นจีโอ-ภาคประชาสังคมต่อ CPTPP

ในส่วนท่าทีของภาคเอกชนไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มีมติ เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทย เข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือนสิงหาคม 2563 นี้

ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุม กกร. กล่าวว่า

“การเข้าร่วมเจรจาทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วยการขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ กกร. เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน”

ขณะที่คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS) ก็เตรียมจัดเวทีสาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อรับฟังเสียงจากทุกภาคส่วน โดยเน้นหนักด้านความมั่นคงทางอาหารและระบบสุขภาพ ทั้งนี้ทาง NCITHS มีข้อกังวล 6 ประการต่อ CPTPP ได้แก่

1.ผลการศึกษาผลกระทบ CPTPP ที่มีการจัดทำไปแล้ว ข้อสมมติฐานเดิมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยหรือไม่ และผลของการค้าการลงทุนภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยได้ลงนามแล้ว เป็นไปตามผลที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

2.อนุสัญญา UPOV 1991 และความสอดคล้องกับบริบทของเกษตรกรไทย และความมั่นคงทางอาหาร

3.ความมั่นคงทางสุขภาพ ระบบสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วยการเข้าถึงยา ยาชื่อสามัญ การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

4.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

5.กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (ISDS) และ

6.ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบโลกใหม่หลังจากสถานการณ์ COVID-19 การเข้าสู่ New Normal สถานการณ์แรงงาน เป็นต้น ซึ่งมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศ

ในส่วนของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP โดยกำหนดให้มีกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 49 คน มีกรอบการศึกษาเป็นเวลา 30 วัน โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ในการประชุมนัดแรก ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญได้เลือก วีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

เรื่องนี้เป็นนิยายขนาดยาวที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด เพราะท่าทีของผู้คุมนโยบายเศรษฐกิจและภาคเอกชนเอนเอียงไปทางด้านต้องการให้ไทยเข้าร่วม CPTPP ขณะที่เอ็นจีโอโดยเฉพาะเอฟทีเอว็อทช์และไบโอไทยบวกเครือข่ายภาคประชาสังคมก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ไทยเข้าร่วม เนื่องจาก CPTPP ก็คือสิ่งเดียวกันกับที่สหรัฐฯ สหภาพยุโรปต้องการจากไทยในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีที่ผ่านๆ มา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท