Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คนที่มีการศึกษาสมัยใหม่เชื่ออย่างปราศจากคำถามได้อย่างไรว่า ศาสนามีแต่ด้านดี ไม่มีด้านร้าย มีแต่ด้านสว่าง ไม่มีด้านมืด หากจะมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นเนื่องด้วยศาสนา ก็เพราะคนนำศาสนามาใช้ในทางที่ผิด การเชื่อเช่นนี้ไม่ต่างจากการเชื่อว่าสถาบันกษัตริย์มีแต่ด้านดีไม่มีด้านร้าย หากจะมีการกระทำไม่ดีใดๆ ในนามสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นเพียงการอ้างสถาบันกษัตริย์ทำสิ่งที่ผิด ด้านไม่ดีของสถาบันกษัตริย์จึงกลายเป็น “ข้อยกเว้น” ที่จะพูดถึงอย่างเป็นสาธารณะ หรือเป็นข้อยกเว้นจากการมีเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ 

ศาสนาก็เช่นกัน ในบ้านเราแม้จะมีการวิจารณ์พฤติกรรมของบรรดานักบวช แต่ “ศาสนา” มักจะเป็นข้อยกเว้นในการวิจารณ์เสมอ ทว่าในหนังสือ “A little History of Religion” (หน้า 231) Richard Holloway กลับให้ภาพความเป็นจริงของศาสนาอีกด้านว่า

เมื่อพิจารณาเนื้อหาในคัมภีร์ เราได้เห็นความคิดที่ว่า ศาสนาคือปฏิปักษ์ร้ายแรงที่สุดต่อพระเจ้า เราพบแง่นี้ของศาสนาในคำกล่าวของเยซูที่ตั้งข้อสังเกตว่า มันเป็นเรื่องง่ายเพียงใดที่คนเราจะใช้ศาสนาเป็นทั้งเหตุผลเพื่อทำสิ่งชั่วร้าย และเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่ทำความดี เช่น ศาสนาที่ชั่วร้ายกระตุ้นให้นักบวชและผู้ช่วยของเขาเพิกเฉยต่อชายที่ล้มลงกลางฝูงโจร เพียงเพราะคนผู้นั้นไม่ใช่หนึ่งในพวกเขา! 

ผู้รู้พุทธศาสนาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสในบ้านเรา ไม่ลังเลเลย (หรืออาจเรียกว่า “กระตือรือล้น”) ที่จะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กดขี่และรุนแรง เป็นที่มาแห่งสงครามศาสนาและนิกายศาสนาคือศาสนาคริสต์และอิสลาม ขณะที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ไม่ได้มีประวัติศาสตร์การกดขี่และความรุนแรงเช่นนั้น

แต่แท้ที่จริงคือ พุทธศาสนาเป็นพันธมิตรกับระบบเผด็จการจารีตมายาวนาน ระบบสังคมศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาสที่ยึดปรัชญาการเมืองแบบพุทธศาสนา ไม่ใช่ระบบสังคมการเมืองที่กดขี่และรุนแรงดอกหรือ ในขณะที่คริสต์ศาสนาในโลกตะวันตกถูกทำให้หมดอำนาจบังคับศรัทธาและอำนาจทางการเมือง ด้วยการยกเลิกรัฐคริสเตียนแทนที่ด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัยที่แยกศาสนากับรัฐ แต่สังคมไทยพุทธศาสนาก็ยังคงเป็นพันธมิตรหรือเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบอำนาจโบราณที่อยู่เหนือเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน

ชนชั้นนำฝ่ายจารีตทั้งทางการเมืองและทางศาสนาเก่งในเรื่องเปรียบเทียบให้เห็นว่า ศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กดขี่และรุนแรงคือคริสต์และอิสลาม โดยไม่สนใจพิจารณา “บริบท” ทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง แต่ครั้นคนรุ่นใหม่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย พวกเขาตัดบททันทีว่านั่นเป็น “ของฝรั่ง” ที่เขามีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างจากเรา สำหรับประเทศของเราต้องเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทย” (ที่ต้องคงอภิสิทธิ์ทางสถานะอำนาจทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของชนชั้นฝ่ายจารีตทางการเมืองและทางศาสนา) เท่านั้น

แท้จริงแล้ว การครอบงำกดขี่และความรุนแรงทางศาสนาต่างหากที่ขึ้นกับ “บริบท” ทางสังคนแต่ละแห่งมากกว่า มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะอ้างในเชิงเปรียบเทียบว่า คริสต์และอิสลามมีประวัติศาสตร์การครอบงำ บังคับศรัทธา กดขี่และรุนแรงมากกว่าเพื่อที่จะบอกว่า พุทธศาสนาที่รุ่งเรืองมายาวนานในระบบศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ไม่ใช่ศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและครอบงำกดขี่รุนแรงเอาเสียเลย ที่ต้องถามคือ ขณะที่ในโลกสมัยใหม่ ศาสนาในสังคมตะวันตกถูกควบคุมด้วยหลักการเสรีภาพแบบโลกวิสัยแล้ว เหตุใดพุทธศาสนาไทยยังกลายเป็นพันธมิตรหรือเป็นเนื้อเดียวกับระบบอำนาจที่ขัดกับหลักเสรีภาพแบบโลกวิสัย

หลักเสรีภาพและประชาธิปไตยต่างหากเล่า ที่เราจำเป็นต้องพิจารณาอย่างเชื่อมโยงกับ “ความเป็นมนุษย์” ที่ต้องมีความเป็นสากลในบางมิติที่สำคัญ จริงอยู่ความเป็นคนของคนไทยอาจถูกหล่อหลอมผ่านบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย แต่คนไทยก็มีความเป็นคนที่สามารถจะมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่าเทียมกับมวลมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ได้เช่นกัน ไม่ควรที่จะต้องเป็นได้เพียง “ข้ารับใช้” ของระบบอำนาจจารีตทางการเมืองและศาสนาเท่านั้น

ความเชื่อผิดๆ อีกอย่าง ที่ปลูกฝังกันมานานคือ “การพัฒนาจิตใจต้องอาศัยศาสนาเท่านั้น” แท้จริงแล้วศาสนาอาจช่วยให้จิตใจคนดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้ ความงมงาย ความเกลียดชัง ความรุนแรง การก่อการร้าย และสงครามก็เกิดขึ้นเพราะศาสนา จิตใจของนักบวชและฆราวาสก็มีกิเลสโลภ โกรธ หลงไม่ต่างกัน เผลอๆ นักบวชอาจกิเลสหนามากกว่า

ขณะเดียวกัน “การรู้แจ้ง” หรือยุคสมัยแห่งการรู้แจ้ง (the Enlightenment) ก็เกิดขึ้นได้จากสติปัญญาและจิตสำนึกปฏิเสธการครอบงำบังคับด้วยความเชื่อแบบศาสนา เสรีภาพทางสังคมและการเมืองเกิดขึ้นได้เพราะหลุดพ้นจากอิทธิพลของระบบการปกครองที่ใช้ปรัชญาการเมืองทางศาสนาหรือรัฐศาสนา, รัฐกึ่งศาสนา แทนที่ด้วยรัฐเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย

ส่วน “เสรีภาพด้านใน” ก็เกิดขึ้นได้จากสติปัญญาของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาศาสนา แท้จริงแล้วนับเป็นเรื่องตลกร้ายที่ศาสนาโปรโมท "พระอริยะเจ้า" ต่างๆ แต่พวกเขาเหล่านั้นล้วนเป็นพันธมิตรกับระบบอำนาจเผด็จการโบราณ

ดังนั้น สติปัญญา ศีลธรรมที่ก้าวหน้าขึ้น จิตใจที่สูงขึ้น ดีงามขึ้นของบุคคลและสังคมย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยปรัชญาความคิด ความรู้ ศิลปวรรณกรรมและอื่นๆ มากกว่าที่จะอาศัยเพียงศาสนาเท่านั้น ในโลกปัจจุบัน หากศาสนาจะยังมีบทบาทพัฒนาจิตใจผู้คนได้บ้าง ก็ต่อเมื่อเป็นศาสนาที่สามารถปรับตัวเคารพสิทธิมนุษยชนได้เป็นอย่างน้อย แต่ศาสนาเช่นนี้มักจะหายาก

เมื่อพูดบนจุดยืนภูมิปัญญายุครู้แจ้ง ศาสนามักเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพ เพราะศาสนามักเป็นพันธมิตรกับเผด็จการทรราช

นักบวชก็ไม่ใช่ผู้นำทางจิตวิญญาณ เพราะอันที่จริง "จิตวิญญาณ" ของปัจเจกบุคคลไม่ได้ต้องการนักบวชเป็นผู้นำ การที่สิทธารถะปฏิเสธที่จะเดินตามพุทธะในฐานะ "ศิษย์ตถาคต" ย่อมยืนยันชัดเจนว่าเราแต่ละคนคือผู้นำจิตวิญญาณของตนเอง

ปัญญา ความรัก ความเมตตากรุณา อาจบ่มเพาะขึ้นผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในมิติต่างๆ ผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้ของตนเอง ไม่ใช่เกิดขึ้นจากคำสอนศาสนาหรือนักบวช (หรือหากจะเกิดขึ้นก็เป็นเพียงความหมายหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งหมด) 

บางทีนักบวชอาจใช้สถานะ อำนาจที่สูงส่งกว่าคนธรรมดาครอบงำ และชี้นำไปตามจุดประสงค์ของพวกเขา ดังเราได้เห็นบ่อยๆ ว่า บรรดาผู้คลั่งศาสนาตามคำสอนของนักบวชมักจะ "ถูกล้วงกระเป๋า" ในนามของการสั่งสมบุญกุศล จนกระทั่งทุ่มเททำบุญจนครอบครัวลำบาก

นักบวชมักกระหายศรัทธาความเลื่อมใส แค่พวกเขาพูดอะไรๆ ที่ดูดีหรือเป็น "คำคม" อันแสนตื้นเขิน พวกเขาก็ปลื้มปริ่มอิ่มใจที่มีคนอนุโมทนาสาธุ แต่อย่าไปแย้งกับนักบวชตรงๆ ล่ะ เดี๋ยวได้เห็นโมหะ โทสะพลุ่งพล่าน

เมื่อนักบวชสอนให้ประชาชนเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ก็มักจะเป็นชาติบ้านเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพและประชาธิปไตย เพราะบรรดานักบวชมักจะเชื่อฟัง เชื่อง และใช้คำสอนศาสนาอวยชนชั้นปกครองเกินจริงจนเป็นประเพณีหรือเป็น "นิสัย" ของพวกเขามายาวนาน

จงเป็นผู้นำจิตวิญญาณของตนเอง จิตวิญาณแบบโลกวิสัย (secular spirituality) ที่ปฏิเสธการครอบงำกดขี่ทุกรูปแบบ อันเป็นจิตวิญญาณแบบที่ไม่มีนักบวชใดๆ เป็นผู้นำให้เราได้

พูดอีกในแง่หนึ่ง การเมืองแบบที่ “เยาวชนปลดแอก” หรือ “คณะประชาชนปลดแอก” เรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มานั่นแหละคือการเมืองที่มี “ความดี” แต่การเมืองแบบการอวยชนชั้นปกครองเกินจริงด้วยภาษาวิจิตรของบรรดานักบวชหาใช่ความดีไม่ เป็นเพียงการใช้สถานะของนักบวชเป็น “โทรโข่ง” โฆษณาชวนเชื่อแก่ระบบอำนาจจารีตเท่านั้น

ดังนั้น ศาสนาที่ยังไม่หลุดพ้นจากระบบอำนาจจารีต ยังเป็นพันธมิตรหรือเป็นเนื้อเดียวกันกับระบบอำนาจจารีต จึงไม่ใช่ศาสนาที่สามารถจะช่วยพัฒนาจิตใจให้มีเสรีภาพด้านในที่สัมพันธ์กับเสรีภาพทางสังคมและการเมืองได้ ไม่ใช่ศาสนาที่ส่งเสริมความดีสาธารณะในสังคมประชาธิปไตยได้ เป็นได้เพียงศาสนาที่เป็นกลไกของการครอบงำกดขี่เท่านั้นเอง

 

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/thai/thailand-46901485

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net