20 ต.ค. 2563 สื่อในเกาหลีใต้รายงานว่า พนักงานจัดส่งพัสดุของ Hanjin Express เสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ จากการเปิดเผยของกลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคลอจิสติกส์ โดยเครือข่ายอ้างว่าภาระงานที่หนักจนทนไม่ได้ทำให้เขาเสียชีวิต
พนักงานจัดส่งพัสดุอายุ 36 ปี ซึ่งมีสัญญาจ้างระยะสั้น ทำงานที่สาขาของ Hanjin Express ในย่านทงแดมุน กลางกรุงโซล ถูกพบว่าเสียชีวิตที่บ้านของเขาเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2563 แล้วตามรายงานของหน่วยงานพลเมืองที่ทำงานเพื่อสิทธิของพนักงานส่งของ
ในปี 2563 นี้ (ณ เดือน ต.ค.) มีพนักงานจัดส่งพัสดุ 10 ราย เสียชีวิตโดยเครือข่ายแรงงานเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานหนักเกินไปเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการซื้อของออนไลน์และปริมาณพัสดุเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคลอจิสติกส์อ้างว่าการจากไปของพนักงานรายนี้ "เป็นที่ไม่ต้องสงสัย" ว่าเกิดจากการทำงานหนักเกินไป
"เขาอายุค่อนข้างน้อย (อายุ 36 ปี) และเรายืนยันว่าเขาไม่มีปัญหาสุขภาพมาก่อน" จากการระบุของเครือข่ายแรงงานภาคลอจิสติกส์
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยข้อความที่เขาส่งถึงหัวหน้า 4 วันก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ในข้อความนั้นเขาขอให้ลดปริมาณงานลง ท่ามกลางตารางการทำงานที่หนักหนาสาหัสและไม่มีเวลาพักผ่อน
"ผมกลับบ้านเวลาตี 5 และหลังจากกินข้าว ทำความสะอาดแล้วตรงกลับไปที่เทอร์มินัลของบริษัท ผมต้องจัดเรียงพัสดุอีกครั้งโดยไม่ต้องนอนเลย" ข้อความที่เขาส่งให้หัวหน้าก่อนเสียชีวิตเพียง 4 วัน
แต่ Hanjin Group ซึ่งเป็นเจ้าของสายการบิน Korean Air ด้วย ได้แถลงว่าเขามีปัญหาด้านสุขภาพอยู่แล้ว และปริมาณการจัดส่งของพัสดุของเขาอยู่ที่ประมาณ 200 ชิ้นต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามกลุ่มเครือข่ายแรงงานโต้แย้งว่าปริมาณการส่งพัสดุประจำวันของผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 200-300 ชิ้น ในช่วงสัปดาห์ก่อนวันหยุดเทศกาลชูซ็อก
เครือข่ายแรงงานยังอธิบายด้วยว่าการส่งพัสดุของ Hanjin Express 200 ชิ้นนั้น อาจจะเทียบเท่ากับการส่งพัสดุ 300-400 ชิ้น เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ เช่นพนักงานที่ CJ Logistics ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากพื้นที่จัดส่งของพนักงานแต่ละคนของ Hanjin Express นั้นครอบคลุมในบริเวณกว้างกว่ามากเมื่อเทียบกับพนักงานของ CJ Logistics
ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายแรงงานภาคลอจิสติกส์ยังจัดแถลงข่าวที่หน้าสำนักงานใหญ่ Hanjin Express ในใจกลางกรุงโซล เพื่อเรียกร้องคำขอโทษและมาตรการในการปกป้องสิทธิและสุขภาพของพนักงานจัดส่งพัสดุ
จากรายงานปี 2561 โดยสถาบันการขนส่งของเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่าพนักงานขับรถส่งพัสดุทำงานเฉลี่ย 12.7 ชั่วโมงต่อวัน 25.6 วันต่อเดือน ซึ่งมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมากเมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานปกติของคนเกาหลีใต้ที่ 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ตัดสินใจตรวจสอบบริษัทจัดส่งพัสดุรายใหญ่เพื่อตรวจสอบว่าปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงการป้องกันการทำงานหนักเกินไป
"เราจะดำเนินการตรวจสอบจุดกระจายสินค้า 40 แห่ง และอีก 400 สาขาของ CJ Logistics, Hanjin Express และบริษัทอื่น ๆ เกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขภาพ ที่มุ่งป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่นการทำงานหนักเกินไปตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.-13 พ.ย. 2563 " รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้ กล่าวในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการจ้างงาน
ที่มาเรียบเรียงจาก
Another delivery worker dies from overwork: workers' group (Yonhap News Agency, 19/10/2020)