Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาองค์กรพุทธและมุสลิมแสดงบทบาทในฐานะ “สถาบันศาสนาของรัฐ” ที่สำคัญคือ มหาเถรสมาคม (มส.) มีมติให้วัดทั่วประเทศเจริญพระพุทธมนต์เสริมศิริมงคลแก่ประเทศทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ 7 พฤศจิกายนถึง 5 ธันวาคม และให้พระสงฆ์เทศนาสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกวันพระ และในโอกาสต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาขัดแย้งทางความคิด สร้างความสามัคคีและธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสามสถาบันหลักของชาติ

ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีนำชาวมุสลิมสวมเครื่องแต่งกายสีเหลืองร่วมงาน “รวมพลังมุสลิมปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ กรุงเทพฯ 

เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกิจกรรมดังกล่าว ก็ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าสำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรศาสนาอิสลามทุกระดับดำรง “ความเป็นกลางทางการเมือง” ในขณะที่สังคมไทยมีความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองสูงอย่างในปัจจุบัน แต่ก็ตระหนักว่าคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายในขณะนี้ต่างมีจุดยืนที่เห็นตรงกันในการปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นสถาบันหลักในสังคมสืบไป

คำถามคือ ความขัดแย้งทางความคิดคืออะไร ก็คือความขัดแย้งทางความคิดที่ยืนยันระบอบเสรีประชาธิปไตยผ่านการชุมนุมของราษฎรด้วยข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและหลักเสรีภาพในการวิจาร์ตรวจสอบ กับการต่อต้านข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยข้ออ้างปกป้องอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์โดยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่จัดตั้งสนับสนุน

แล้ว “ความเป็นกลางทางการเมือง” ระหว่างความขัดแย้งทางความคิดสองฝ่ายนั้นคืออะไร คำตอบก็น่าจะเป็นการยืนยัน “พื้นที่เสรีภาพ” ให้ทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งทางความคิดได้อภิปรายถกเถียงและนำไปสู่การลงมติภายใต้กระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม เช่น การแสดงจุดยืนที่เป็นกลางด้วยการเรียกร้องให้นำเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าสู่การอภิปรายในสภา หรือการทำประชามติ เป็นต้น เพราะนี่คือการสร้างพื้นที่ให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งทางความคิดได้อภิปราย ถกเถียง เสนอเหตุผลโต้แย้งได้เต็มที่แล้วตัดสินด้วยเสียงข้างมากกันอย่างแฟร์ๆ ผ่านการลงมติ 

แต่การที่มหาเถรสมาคมมีมติให้พระสงฆ์เทศนาสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และสำนักจุฬาราชมนตรีจัดกิจกรรมรวมพลังชาวมุสลิมปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ย่อมไม่ใช่จุดยืนที่เป็นกลางทางการเมือง แต่เป็นการเลือกข้างหรือเลือกจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนรัฐบาลประยุทธ์ที่ใช้วาทกรรมปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ต่อต้านข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั่นเอง

ปัญหาคือ ทำไมบทบาทของสถาบันศาสนาจึงสร้าง “มายาคติ” ในเรื่อง “ความเป็นกลางทางการเมือง” ทำไมไม่พูดตรงไปตรงมาว่าเลือกจุดยืนทางการเมืองแบบเดียวกับฝ่ายขวา คือเลือกสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ จะตอบคำถามนี้ได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจความซับซ้อนของ “ศาสนา” และ “สถาบันศาสนา” ให้ชัดเจน

โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่าศาสนาคือ “คำสอน” และเราก็จะเชื่อต่อไปว่าคำสอนศาสนาต่างๆ นั้นดีหรือถูกต้องในตัวเองอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ที่คนอาจตีความหรือนำคำสอนมาใช้ในทางที่ผิด แต่คำสอนที่เราเชื่อกันว่าดีหรือถูกต้องอยู่แล้วนั้นก็ชวนให้ตั้งคำถามต่อว่าดีหรือถูกต้องแบบไหนกันแน่

เมื่อพิจารณาจากความจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ศาสนาต่างๆ เกิดขึ้นในยุคโบราณที่รัฐกับศาสนาหรือการเมืองกับศาสนาเป็นเนื้อเดียวกัน ความดีหรือความถูกต้องของคำสอนศาสนาจึงเป็นความดีหรือความถูกต้องในความหมายหนึ่ง คือดีหรือถูกต้องในความหมายของสังคมยุคที่ไม่แยกศาสนากับรัฐหรือไม่แยกระหว่างศาสนากับการเมือง

เช่น ความดีหรือความถูกต้องในบรรทัดฐานของรัฐอิสลามเป็นแบบหนึ่ง ของรัฐพุทธศาสนาเป็นอีกแบบหนึ่งเป็นต้น ทั้งนี้เพราะใช้หลักคำสอนของศาสนาที่ต่างกันเป็นอุดมการณ์และบรรทัดฐานความชอบธรรมของรัฐ, สังคม และวิถีชีวิตผู้คน แต่ไม่ว่ารัฐพุทธหรือรัฐอิสลามในอดีตก็มีลักษณะเหมือนกันอย่างหนึ่งคือเป็นรัฐเผด็จการที่ไม่แยกชัดเจนระหว่าง “ส่วนตัว” กับ “ส่วนรวม” ของสถานะและอำนาจชนชั้นปกครองคือกษัตริย์ นักบวช และผู้นำศาสนา

เฉพาะสยามไทย แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 แต่เพราะไม่สามารถสถาปนา “ระบอบเสรีประชาธิปไตย” (liberal democracy) ได้สำเร็จและไม่แยกศาสนากับรัฐแต่แรก จึงทำให้ไม่สามารถแยกระหว่าง “ส่วนตัว” กับ “ส่วนรวม” ของสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์และสถาบันศาสนาได้ชัดเจน จึงกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องจนวันนี้ที่เป็นสาเหตุให้ต้องเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ขณะที่การมีสถาบันศาสนาของรัฐแบบที่ตกทอดมาจากยุคเก่า ก็ทำให้ไม่สามารถแยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมได้ชัดเจน เช่น กรณีจุฬราชมนตรีส่งลูกชายตัวเองไปเป็น สว.ในฐานะตัวแทนองค์กรอิสลามเป็นต้น ซึ่งขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยที่ปฏิเสธอภิสิทธิ์ทางสายเลือด (hereditary privilege) และอภิสิทธิ์ทางศาสนา (religious privilege) ส่วนการให้พระสงฆ์ทั่วประเทศสอนให้ประชาชนรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการจัดกิจกรรมรวมพลังมุสลิมปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็ขัดกับหลักการเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่าศาสนาเป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลไม่ใช่เครื่องมือสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ

การแยกศาสนากับรัฐตามไอเดียเสรีนิยม ไม่ใช่เพราะศาสนาไม่สำคัญ แต่เพราะมันสำคัญมากในการที่ปัจเจกบุคคลจะศรัทธาในศาสนาใดๆ ที่มีความหมายโดยตรงกับชีวิตจิตใจของเขาเอง ดังนั้น รัฐหรือสถาบันศาสนาของรัฐไม่มีสติปัญญาและความสามารถพอที่จะเลือกพระเจ้า หรือเลือกสัจธรรมทางศาสนาแบบใดๆ เพื่อบังคับยัดเยียดแก่ปัจเจกบุคคลได้ จึงต้องให้เสรีภาพแก่ปัจเจกบุคคลทุกคนได้เลือกโดยตรงด้วยตัวเขาเอง 

พูดอีกอย่างว่า การไม่เอาหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุดมการณ์หรือหลักการปกครองของรัฐ ไม่ใช้ศาสนจักรหรือองค์กรศาสนาใดๆ เป็นเครื่องมือรับใช้รัฐ ปล่อยให้เรื่องศาสนาเป็นกิจการขององค์กรเอกชนและเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ย่อมเกิดผลดีทั้งในทางการเมืองการปกครองและการเลือกศรัทธาของปัจเจกบุคคลแต่ละคนเอง

ส่วนการไม่แยกศาสนากับรัฐ การมีสถาบันศาสนาของรัฐเป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่ไม่แยกเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวมชัดเจน และทำให้ศาสนาเป็นเนื้อเดียวกับการเมืองในนามอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ก็คือกลุ่มคนที่มีตำแหน่งและอำนาจในสถาบันศาสนาของรัฐ ไม่ใช่ชาวพุทธและชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย

สุดท้ายแล้ว ศาสนาที่ตกเป็นเครื่องมือของรัฐก็เป็นเพียงศาสนาที่สร้าง “มายาคติ” ว่า “เป็นกลางทางการเมือง” บ้าง ว่าสร้างความสามัคคีของคนในชาติบ้าง แต่ที่จริงคือเลือกข้างอุดมการณ์ฝ่ายขวาตลอดมา ที่อ้างว่ารักษาคำสอนที่ถูกต้องของพระศาสดาไว้ ก็ไม่ชัดเจนว่าปฏิบัติตามคำสอนที่ถูกต้องนั้นๆ อย่างไร

ซ้ำร้ายชาวพุทธและชาวมุสลิมส่วนใหญ่ที่ต้องการประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสถาบันศาสนาของรัฐ แต่สถาบันศาสนาของรัฐกลับกลายเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเอง

 

ที่มาภาพ: BBC Thai facebook.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net