‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ’ สมชาย ปรีชาศิลปกุล การดื้อแพ่งต่อกฎหมายไม่ใช่อาชญากรรม

“ภายใต้รัฐบาลซึ่งจับกุมคุมขังคนอย่างอยุติธรรม สถานที่อันแท้จริงเพียงแห่งเดียวสำหรับผู้มีใจเที่ยงธรรมก็คือคุก” การดื้อแพ่งต่อกฎหมายในต่างประเทศมิใช่อาชญากรรม ผิดกับในประเทศไทยที่รัฐใช้กฎหมายมากมายเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง ซึ่งการจับพวกเขาเข้าคุกไม่สามารถยุติการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2563 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’ สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนหนังสือ ‘สิทธิดื้อแพ่งต่อกฎหมาย’ กล่าวว่า

ผมมี 3 เรื่องที่จะชวนคุย เรื่องแรกผมจะลองพูดถึงงานเขียนที่สำคัญสำคัญเกี่ยวกับ civil disobedience ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เรียกว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แล้วต่อมาอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ก็ทำให้กลายเป็นอารยะขัดขืน

เรื่องที่ 2 คำอธิบายหรือความย้อนแย้งของสิ่งที่เรียกว่าการดื้อแพ่ง

เรื่องที่ 3 คือความยุ่งยากและข้อถกเถียง

วงเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ขัดขืนอย่างมีอารยะ: มุมมองทางกฎหมายและนิติปรัชญาเกี่ยวกับการดื้อแพ่ง’

ในทีนี้ผมจะพยายามอธิบายถึงงานเขียนที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์หรือพยายามทำให้เกิดกรอบคำอธิบายการดื้อแพ่งต่อกฎหมายในงานของฝรั่ง ซึ่งผมคิดว่า 2 เล่มนี้เป็นหลักหมายที่สำคัญของความพยายามที่จะพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า civil disobedience คือของ Ronald Dworkin เป็นเล่มที่มีชื่อเสียง Taking Right Seriously พิมพ์ปี 1977 อยู่ในบทที่ 8 อีกเล่มหนึ่งของ John Rawls คือ A Theory of Justice ที่พยายามตอบคำถามเรื่องความยุติธรรม เรื่องนี้อยู่ในบทที่ 6 คือเรื่อง Duty and Obligation ที่มีการพิจารณาถึงประเด็น civil disobedience ไว้ ซึ่งพยายามสร้างคำอธิบายว่า civil disobedience มีลักษณะอย่างไรบ้าง

ข้อสังเกตเบื้องต้น งานของทั้งสองคนเป็นงานที่ตีพิมพ์ในอเมริกาในทศวรรษ 1970 เพราะในช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวจำนวนมากที่เหมือนจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่เริ่มจากการเรียกร้องสิทธิของคนผิวสี การต่อต้านสงครามเวียดนาม หรือการปฏิเสธไม่เกณฑ์ทหาร มันมีการชุมนุมที่วอชิงตันหลายหมื่นคนเพื่อกีดขวางการจราจร แล้วมีคนหมื่นกว่าคนถูกจับ โดยทั่วไปในสังคมโอกาสที่เราจะเห็นคนฝ่าฝืนกฎหมายโดยเปิดเผยอย่างกว้างขวางไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันจึงเป็นประเด็นท้าทายว่าจะอธิบายการกระทำเหล่านี้ในแง่มุมทางกฎหมายอย่างไร

ถ้าใช้มาตรวัดทางกฎหมายอย่างเดียว นี่คืออาชญากร เราจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาชญากรได้หรือไม่ หรือว่ามีความแตกต่าง มีคุณลักษณะเฉพาะหรือเปล่า รวมถึงต้องรับโทษตามกฎหมายหรือไม่ ผมคิดว่างานทั้งสองพยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อไหร่ก็ตามเราเห็นคนในสังคมจำนวนมากทำผิดกฎหมายอย่างเปิดเผยและต่อเนื่อง ผมคิดว่านักปรัชญากฎหมายต้องตั้งคำถาม อย่างเช่นตอนนี้เราเห็นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทำผิดอันเนื่องจากการออกไปชุมนุมอย่างกว้างขวาง อย่างน้อยมันต้องตั้งคำถามว่าพวกเขาเพี้ยนผิดหรือเป็นความวิปริตของสังคม หมายความว่าที่เด็กทำมันไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่เป็นเพราะสังคมมีภาวะวิปริตอยู่ จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งพยายามแสดงตัวออกมาเพื่อเรียกร้องให้กลับไปสู่เส้นทางที่มันถูกต้องมากขึ้น หนังสือ 2 เล่มนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพิจารณาเรื่อง civil disobedience ในช่วงทศวรรษ 1970

ในภาคภาษาไทยอาจารย์จรัญ โฆษณานันท์ น่าจะเป็นคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในหนังสือนิติปรัชญา มีบทหนึ่งที่พูดถึง civil disobedience การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย ซึ่งในช่วงปี 2530 ผมเข้าใจว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายยังไม่เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง อีกเล่มคือของผมพิมพ์ในปี 2543 ช่วงทศวรรษนี้เป็นช่วงที่การเมืองภาคประชาชนเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ตอนนั้นสมัชชาคนจนมาล้อมทำเนียบอยู่ 99 วัน มันเป็นปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านในหลายที่ทำผิดกฎหมาย มายึดทำเนียบ ส่วนหนึ่งยึดเขื่อนปากมูน คำถามคือแล้วในสังคมไทยอธิบายเรื่องนี้อย่างไร เราจะอธิบายแค่ว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงควรถูกลงโทษใช่หรือเปล่า

แล้วอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ก็เสนอมว่าไม่ควรใช้คำว่า การดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แต่ควรต้องปลดปล่อยความหมายของการดื้อแพ่ง ทั้งยังเห็นว่าคำนี้เป็นการแปลที่ไม่สู้ต้องตรงกับความหมายอันแท้จริง ไม่ควรทำให้คำนี้ไม่อยู่ในกรงขังของความคิดทางกฎหมายจึงเสนอคำว่า อารยะขัดขืน แล้วภาคประชาชนก็หยิบคำนี้ไปใช้ เป็นความพยายามจำแนกการเคลื่อนไหวของประชาชนให้แยกออกจากอาชญากรรม 

แต่พอหนังสืออารยะขัดขืนของอาจารย์ชัยวัฒน์ออกมาในปี 2549 พอหลัง 2549 เกิดรัฐประหาร ความหมายของอารยะขัดขืนค่อยๆ ถูกฉวยใช้และถูกตั้งคำถาม หลังจากนั้นก็มีงานอีกชุดหนึ่งตามมาเป็นงานที่เป็นหมุดหมายช่วยให้เราพิจารณา civil disobedience ได้ง่ายมากขึ้น

ผมคิดว่าคนที่พยายามตั้งใจให้คำอธิบาย civil disobedience เป็นอย่างยิ่งคือ John Rawls ที่บอกว่าการฝ่าฝืนกฎหมายมีหลายแบบ แบบแรกคือการก่อการร้าย ชัดเจนว่าเป็นการข่มขู่ด้วยการใช้กำลัง ฝ่าฝืนกฎหมายแน่ๆ แบบที่ 2 การขัดขืนทางมโนธรรมคือมีคนที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่วางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของกลุ่มซึ่งอาจไม่ได้สัมพันธ์กับสังคมโดยรวม ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเข้าใจว่าน่าจะเข้ากับกรณีนี้คือกรณีของเฮนรี่ เดวิด ธอโร เป็นคนที่ไม่ทำตามกฎหมายบ่อยครั้งด้วยมโนธรรมส่วนตัว เช่น ไม่จ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกาเพราะกำลังไปยึดดินแดนจากเม็กซิโกอย่างไม่ชอบธรรม เขากล่าวว่า

“ภายใต้รัฐบาลซึ่งจับกุมคุมขังคนอย่างอยุติธรรม สถานที่อันแท้จริงเพียงแห่งเดียวสำหรับผู้มีใจเที่ยงธรรมก็คือคุก”

นี่คือตัวอย่างของการขัดขืนทางมโนธรรม คือเราจะไม่ทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อความเชื่อของเรา แต่สำหรับ John Rawls บอกว่าไม่ใช่ ถ้าพูดถึง civil disobedience เขาพยายามชี้ให้เห็นว่ามันมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งอาจารย์ต่อพงษ์ (กิตติยานุพงศ์)อธิบายไปแล้ว แต่โดยรวมๆ หมายถึงการฝ่าฝืนกฎหมายที่ทำต่อสาธารณะ ไม่ใช่ความรุนแรง อาจเป็นการกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ หมายความว่าฝ่าฝืนกฎหมายนั้นโดยตรงหรือฝ่าฝืนกฎหมายบางฉบับเพื่อคัดง้างในบางเรื่องก็ได้ เช่น ฝ่าฝืนปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฝ่าฝืนกับกฎหมายที่คัดค้านโดยตรง

ผมคิดว่าคุณลักษณะสำคัญของ civil disobedience คือมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ปฏิรูป โดยที่ยังคงยอมรับระบบกฎหมายโดยรวม นี่คือหัวใจสำคัญ หรือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยที่ยังเคารพกฎหมาย แปลว่าถ้าต้องเผชิญหน้ากับการลงโทษก็จะไม่หลบหนี พร้อมรับการลงโทษเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาต่อสู้เพราะเขาต้องการปรับอะไรบางอย่างให้มันดีขึ้น แต่ยังเคารพระบบโดยรวมอยู่จึงพร้อมจะรับโทษ แต่การรับโทษไม่ใช่การรับผิด เพราะฉะนั้นจึงมีสโลแกนสำหรับ civil disobedience ว่ารับโทษแต่ไม่รับผิด เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ผิด

เมื่อไหร่ก็ตามที่ใช้คำว่าปฏิรูปหมายถึงทำบางอย่างให้ดีขึ้น ไม่ใช่การล้มล้าง สิ่งนี้เรียกว่า civil disobedience แต่เมื่อไหร่ไม่เคารพระบบกฎหมายโดยรวม อันนี้ไม่ใช่ civil disobedience ดังนั้น ถ้าถามผมเทียบระหว่างคณะราษฎรกับ กปปส. คณะราษฎรเรียกร้องการปฏิรูปเพียง แต่เรื่องที่ต้องการปฏิรูปไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งหมายถึงการปฏิเสธกลไกพื้นฐานจึงไม่ใช่ civil disobedience เพราะไม่ยอมรับระบบโดยรวม civil disobedience เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นคุณค่าจึงเป็นการทำให้ระบบที่เป็นอยู่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่การล้มระบบ ผมจึงเรียกว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยยังเคารพกฎหมายโดยรวมอยู่

ภาพการชุมนุมยึดวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street) 13 ต.ค.54 (ที่มาภาพวิกิพีเดีย)

เรื่องที่ 3 ความยุ่งยากและข้อถกเถียง John Rawls เสนอว่าความยุ่งยากของ civil disobedience จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการละเมิดต่อหลักการพื้นฐานบางอย่าง แต่ผมคิดว่าประเด็นที่เป็นปัญหาและข้อถกเถียงคือเวลาพูดถึง civil disobedience มันไม่ใช่การประท้วงแบบผู้ดี เพียงแต่ไม่ใช่ความรุนแรงซึ่งไม่ใช่ต้องเท่ากับต้องพูดจาสุภาพหรือแต่งตัวดี

civil disobedience ไม่ได้หมายถึงโดยตัวการกระทำในการชุมนุมต้องสุภาพเรียบร้อย ต่ำสุดที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันคือไม่ใช่ความรุนแรง แต่พอบอกว่าไม่ใช่ความรุนแรงขนาดไหน บางกลุ่มบอกว่าใช้แก๊สน้ำตาตอบโต้เพื่อปกป้องตัวเองยังถือว่าสันติอยู่ บรรทัดฐานขั้นต่ำที่สุดคือต้องเคารพสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น สิทธิในชีวิตของผู้อื่นอาจจะเห็นพ้องกัน แต่ในทรัพย์สินของผู้อื่นอาจมีบางกลุ่มอย่าง Occupied Wall Street ที่ประท้วงระบบทุนนิยมด้วยการยึด ก็ว่ากันไป แต่ถามผม ผมคิดว่านี่เป็นบรรทัดฐานขั้นต่ำ

John Rawls พูดเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ เขาบอกว่า civil disobedience จะใช้ได้ในสังคมที่โดยรวมๆ ยังต้องมีความยุติธรรมอยู่ ความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม ของสื่อมวลชน ของระบบการเมือง อันนี้จึงเป็นข้อจำกัด แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความยุติธรรมอยู่หรือเปล่า ถ้าเป็นผม ผมส่ายหน้า ถามว่าโดยรวมๆ ยังพอมีความยุติธรรมหรือเปล่า ไม่แน่ใจ สำหรับหลายคนที่เลือกจะต่อสู่กับกระบวนการยุติธรรมและหลายคนที่เลือกไม่ต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม ผมเคารพทั้งสองฝ่าย เพราะก่อนหน้าปี 2563 เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเรามันบิดเบี้ยวมาก

civil disobedience ของ John Rawls จะเน้นสิ่งที่เรียกว่า sense of justice บอกว่า civil disobedience จะทำงานได้เพราะมี sense of justice ของสังคม หมายความว่าเมื่อการเรียกร้องโดยใช้ civil disobedience หวังว่าจะกระตุ้นสำนึกความยุติธรรมของสังคมโดยรวมเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาล ผู้มีอำนาจจะเปลี่ยนความเข้าใจหรือมุมมองหรือเปล่า ไม่รู้ แต่สำหรับ John Rawls คิดว่าสำนึกแห่งความยุติธรรมของสังคมจะไปกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นในแง่นี้ John Rawls ไม่เหมือนกับมหาตมะคานธีที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับภายในของบุคคลหรือให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในญาณทัศนะต่อผู้ที่ถูกเรียกร้อง

ปัญหาคือสำนึกความยุติธรรมในสังคมที่แตกแยก แบ่งฝักฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ง่ายหรือเปล่า John Rawls บอกว่ามันอาจไม่เป็นไปโดยง่าย

ยีน ชาร์ป (Gene Sharp) ผู้ได้รับการยกย่องเป็นต้นแบบของสันติวิธีสมัยใหม่

ผมคิดว่าข้อเสนอของอาจารย์จรัญมาแบบ radical การเสนอ revolutionary civil disobedience น่าสนใจเพราะว่าเวลาคิดถึง civil disobedience มันจะมีเพดานของมันอยู่คือการยอมรับระบบกฎหมายโดยรวม แต่อาจารย์จรัญพยายามจะทะลุเพดาน เพื่อให้เห็นว่าถ้า civil disobedience มันไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงหรือไม่นำมาซึ่งอะไรเลย มันอาจจะพลิกผันไปสู่สิ่งที่เรียกว่า revolutionary civil disobedience ก็ได้และอาจารย์จรัญก็ยืนยันว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

ผมเข้าใจว่าเวลาถกเถียงเรื่อง civil disobedience ในเมืองไทย มันจะถูกขังอยู่ในกรอบที่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป แต่ในอีกนัยหนึ่ง งานต้นแบบของ Gene Sharp มันไม่ได้มีเพดาน อันนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสื่อสารต่อสาธารณะ เพราะเวลาพูดถึง civil disobedience ผมเห็นด้วยกับอาจารย์จรัญว่าในหลายๆประเทศมันจะประสบผลก็ต่อเมื่อคนที่เป็นผู้นำเป็นเซเลบฯ จึงจะสามารถกระตุ้นความรู้สึกหรือการเข้ามามีส่วนร่วมได้พอสมควรซึ่งผมคิดว่าเป็นข้อที่น่าพิจารณาที่น่าสนใจ ส่วนอาจารย์ต่อพงษ์พยายามทำให้การจำแนก civil disobedience กับระบบกฎหมายไปด้วยกันได้อย่างไร

ตอนที่ผมเขียนครั้งนั้นข้อเสนอของผมไม่ได้ไปไกลมาก แค่คิดว่าคนที่กระทำการ civil disobedience เข้าสู่การพิจารณาของศาล ศาลควรจะต้องมีมุมมองที่มองเห็นว่านี่มิใช่อาชญากรรม ผมคิดว่าอย่างน้อยนี่คือพื้นฐานที่ต่ำสุด เวลาที่พูดถึงสิทธิในทางกฎหมาย ขั้นต่ำสุดศาลควรจำแนกแยกแยะให้เห็นว่านี่ไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่การกระทำที่เหมือนอาชญากรรมโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาที่จะกำหนดโทษหรือพิจารณาการลงโทษมันจึงควรต้องมีความแตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในหลายประเทศเขายอมรับการลงโทษ เราจะเห็นได้ว่าถ้าเป็น civil disobedience บทลงโทษมันต่ำมาก ถ้าพูดเป็นภาษาไทยก็คือปรับ 500 บาทแล้วกลับบ้าน

แต่ถ้าในบ้านเราจะมีข้อหาตามมาเยอะแยะเลย นอกจาก พ.ร.บ.จราจร ก็มีกฎหมายอาญา 215 คือชุมนุมเกิน 10 คน ตามมาด้วย 216 คือให้เลิกการชุมนุมแล้วไม่เลิก แต่ในปัจจุบันเราอาจต้องคิดถึงที่มันกว้างขวางกว่านั้น

ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่าการต่อต้านกฎหมายหรือการขัดต่อกฎหมายที่เรากำลังเห็นอยู่ในปัจจุบัน ความพยายามใช้กฎหมายหรือบทลงโทษอย่างรุนแรงมันไม่ได้ทำให้ประเด็นข้อขัดแย้งที่เห็นต่างกันในทางสาธารณะยุติลงได้

ข้อความของธอโรที่ผมยกขึ้นมาในตอนต้น ผมอยากจะอ่านอีก 1 วรรค ซึ่งผมคิดว่าสำคัญ

“และหากมีผู้ใดคิดว่าอิทธิพลของเสรีชนจะหมดสิ้นลงที่นั่นและเสียงของเขาจะไม่ได้ยินไปถึงรัฐอีกต่อไป ทั้งความเป็นปฏิปักษ์ของเขาก็จะจบสิ้นลงภายในกำแพงที่คุมขัง นี่ก็นับว่าเข้าใจผิดอย่างมหันต์และคนผู้นั้นก็หารู้ไม่ว่าสัจจะนั้นมีพลังอำนาจกล้าแข็งยิ่งกว่าความบิดเบือนฉ้อฉลเพียงใด ทั้งหารู้ไม่ว่าหากลองประสบด้วยตนเองแล้ว เขาจะสามารถต่อสู้กับความอยุติธรรมได้อย่างน่าเชื่อถือและประสบผลสำเร็จมากขึ้นเพียงไหน จงทุ่มคะแนนเสียงทั้งหมดที่ท่านมีลงไป มิใช่ลงในแผ่นกระดาษเท่านั้น แต่ด้วยชีวิตทั้งหมดของตน คนหมู่น้อยนั้นปราศจากอำนาจหากว่าปล่อยตนไหลไปตามกระแสมหาชน แต่ทว่ามันกลับไม่ได้เป็นคนกลุ่มน้อยอีกต่อไปหากโถมเข้าใส่จนสุดตัว”

ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้ คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยกำลังโถมเข้าใส่อย่างสุดตัวและผมไม่คิดว่าการจับเขาไปขังไว้ในคุกจะยุติความเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท