Skip to main content
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดกรณีที่มีนักกิจกรรมที่มีข้อเท็จจริงว่าถูก “อุ้ม” ไปจริงๆ และสามารถติดตามตัวได้ในเวลาไม่นานจากความพยายามของบรรดาเพื่อนนักกิจกรรมในการส่งเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดเผยที่อยู่ของคนที่ถูกอุ้มไป ทั้งในกรณีของ สิริชัย นาถึง หรือนิว แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและกรณีของทศเทพ ดวงเนตร หรืออาร์ต สมาชิกกลุ่มวีโว

กรณีของสิริชัยแม้ว่าในข้อเท็จจริงขณะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบทำการจับกุมจะมีการแสดงหมายจับ แต่ก็พบว่าเขาไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อทนายความและบุคคลที่ไว้วางใจก่อนถูกควบคุมตัวไป จนถูกนำตัวไปถึงสภ.คลองหลวงจึงได้ติดต่อกับทนายความชตอนทำบันทึกจับกุมช่วงสั้นๆ แต่ก็ถูกยึดมือระหว่างคุย และเมื่อเพื่อนติดตามไปถึง สภ.คลองหลวงสิริชัยก็ถูกย้ายสถานที่คุมตัวไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวรชายแดน ภาค 1 ช่วงสั้นๆ และยิ่งเกิดความสับสนว่าตกลงเขาจะถูกคุมตัวไว้ที่ใดกันแน่เพราะเมื่อเพื่อนและทนายความไปติดตามถึงตชด.ภาค 1 เจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธว่าสิริชัยไม่ได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่นี่จนเพื่อนของเขาบังเอิญพบตัวเขาที่หอพักนักศึกษาหลังตำรวจทำการค้นห้องเสร็จและนำตัวขึ้นรถแล้ว แต่ต้องเน้นด้วยว่าตำรวจชุดปฏิบัติการในครั้งนี้มาในชุดนอกเครื่องแบบทั้งหมด

ภาพสิริชัยขณะถูกตำรวจคุมตัวหลังการตรวจค้น

ส่วนกรณีของทศเทพที่ไปพบตัวอยู่ที่ สภ.บางแก้ว หลังจากขาดการติดต่อไป2วันเต็มหลังจากกลับจากสำนักงานของวีโวตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.และเมื่อเพื่อนๆ ติดต่อกับญาติของทศเทพจึงทราบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปติดตามที่อยู่ตามภูมิลำเนาแต่ไม่พบตัว เพราะเจ้าตัวยังไม่กลับเข้าบ้าน แต่สุดท้ายสามารถติดตามตัวเจอที่ สภ.บางแก้วและมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดเนื่องจากทศเทพถูกกล่าวหาว่าได้ไปพ่นสีสเปรย์ยกเลิก 112 ในพื้นที่ลาดกระบังและบางพลีทำให้ถูกจับกุมไป

กรณีของทั้งสองอาจจะนับได้ว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ไม่มีคำสั่ง คสช. ให้ใช้คุมตัวบุคคลและเข้าค้นสถานที่เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีหรือทำการคุกคาม แต่ปฏิบัติการของตำรวจในการควบคุมตัวบุคคลและทำให้ขาดสิทธิในการเข้าถึงทนายความหรือแจ้งให้ทราบถึงสวัสดิภาพของตนแก่คนที่ไว้ใจในตอนนี้ กลับไม่ต่างกันมากนักกับกรณีที่เกิดขึ้นในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาลทหารที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อเดียวกับตอนนี้

หากย้อนไป ช่วงค่ำวันที่ 20 ม.ค.59 นิว หรือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำจัดกิจกรรม "นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง" ขณะนั้นถูกทหารในเครื่องแบบ จำนวน 8 นายไม่ระบุสังกัด อุ้มขึ้นรถปิคอัพไม่ติดทะเบียนไปขณะเดินกลับเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณประตูเชียงราก แต่ด้วยความที่มีกระแสเรียกร้องในโซเชียลมีเดียจำนวนมากทำให้ 2 ชั่วโมงต่อมาถูกพบตัวที่สถานีตำรวจ และครั้งนี้มีหลักฐานการกระทำชัดเจนมาเพราะกล้องวงจรปิดหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยสามารถถ่ายเหตุการณ์เอาไว้ ภายหลังนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ลงโทษทางวินัยและอาญากับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการดังกล่าว กลับไม่ปรากฏความคืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.และนายกฯ ขณะนั้น ก็ยังอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารจับตามหมายจับ

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นข่าวดังในช่วงรัฐบาล คสช.คือกรณีกลุ่ม 8 แอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบบุกจับกุมถึงบ้านถึงกับงัดบ้านเข้าไปแล้วเอาเข้าค่ายทหารถึง 8 คน โดยปฏิบัติการของทหารนี้เริ่มจับกันตั้งแต่หกโมงเช้าของวันที่ 27 เม.ย.2559 จากนั้นพวกเขาก็ถูกเอาเข้าค่ายทหารทั้งหมด การจับกุมนี้ทางฝ่ายรัฐอ้างว่าเป็นไปตามอำนาจของคำสั่ง คสช. และพวกเขาทั้ง 8 คนถูกคุมตัวทั้งที่ไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ และไม่สามารถติดด่อใครได้ แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวก็มีการแชร์เรื่องราวของพวกเขาในโซฌชียลมีเดียและมีความพยายามติดตามหาตัวพวกเขาในทันที

แต่เพียงวันรุ่งขึ้นพวกเขาก็ถูกนำตัวไปส่งกองบังคับการปราบปราม เมื่อทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามเข้าให้ความช่วยเหลือก็ถูกตำรวจขวางโดยอ้างว่าจัดหาทนายความให้แล้ว แต่พวกเขาทั้ง 8 ในเวลานั้นไม่ทราบว่าทางครอบครัวได้ติดต่อทนายความไว้ให้เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกันได้ในระหว่างที่มีการควบคุมตัว

นพเกล้า คงสุวรรณเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนเองเคยทหารบุกจับกุมในตอนนั้นเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็น 1 ใน 8 แอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์”

นอกจากทั้งสองกรณียังมีอีกเป็นจำนวนมาที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปี ภายใต้การปกครองของ คสช.

“ผมเคยถูกอุ้ม 5 ครั้ง รอดได้เพราะมีคนรู้”

ข้อความนี้อยู่บนเฟซบุ๊กของ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยและอดีตนักโทษคดี ม.112 ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องในช่วง2-3 ปีก่อน เขาถูกคุกคามหลายรูปแบบทั้งการดักทำร้ายร่างกายถึงหน้าศาลยุติธรรม และยังเคยถูกอุ้มไปเข้าค่ายทหารหรือไปต่างจังหวัดเป็นเวลาหลายวัน เขาโพสต์ข้อความนี้ไว้เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2564 หลังมีการถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียในประเด็นหากมีเพียงเบาะแสการอุ้มหายโดยที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมดควรจะต้องออกมาเรียกร้องหรือไม่

เมื่อประชาชนถูกอุ้มไป จะรอดได้เพราะมีคนรู้

ประชาไทได้ขอสัมภาษณ์เอกชัยอีกครั้งเพราะน่าจะเป็นนักกิจกรรมที่ถูกอุ้มบ่อยครั้งที่สุด จนเขาก็บอกว่าจริงๆ แล้วก็จำจำนวนครั้งไม่ได้แล้ว แต่จากที่ประชาไทเคยรายงานข่าวกรณีของเขา เขาถูกทั้งทหารตำรวจคุมตัวไปโดยที่ไม่มีการตั้งข้อหาถึง 6 ครั้งในช่วงปี 2560-2562 และนี่ยังไม่ได้นับกรณีการคุกคามจากบุคคลลึกลับที่ไปดักทำร้ายร่างกายและบุกไปเผารถถึงหน้าบ้านถึงสองครั้งจนซ่อมไม่ได้ เพราะถ้าหากรวมเข้าไปด้วยเขาได้เผชิญการคุกคามทั้งจากเจ้าหน้าที่และบุคคลลึกลับมาแล้วถึง 16 ครั้ง

“ครั้งที่ไปกาญฯ นะแหละ เพราะพาไปไหนก็ไม่รู้เข้าดงเข้าป่าไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่ไป มทบ.11 สำนักงานเขต หรือ บก.น.4 คืออย่างน้อยก็รู้ว่าไปไหน แต่นี่ไปกาญฯ ใครจะไปรู้ว่าตรงไหนของกาญฯ” เอกชัยเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2560 ที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรวม 11 คน โดยทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปที่บ้านของเขาและพยายามคุมตัวไปถึงกาญจนบุรีถึง 5 วัน เพราะเขาประกาศจะใส่เสื้อแดงในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 และจะทำกิจกรรมที่คาดไม่ถึง เอกชัยบอกว่าการถูกอุ้มครั้งนั้นเป็นครั้งที่รู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของตัวเองมากที่สุด

เอกชัย หงส์กังวาน ภาพของ Realframe

เอกชัยเล่าว่าตอนที่ถูกอุ้มเป็นเวลาเช้าเขาเพิ่งเดินออกมาเปิดประตูบ้าน ขณะที่ไม่ทันได้ตั้งตัวก็มีทหารและตำรวจในชุดนอกเครื่องแบบรออยู่ที่หน้าบ้าน เข้ามาพยายามลากตัวเขาไปขึ้นรถที่จอดรออยู่หน้าบ้าน เขาเองก็พยายามสู้ทหารก็พยายามดึงจนทำให้ล้มและได้รับบาดเจ็บ แต่เอกชัยก็ยังพยายามตะโกนเพื่อให้คนในบริเวณนั้นช่วยจนมีคนบริเวณบ้านออกมาดูเหตุการณ์

“เขาคงจ้องเราตลอดจนรู้ว่าจะมาเปิดประตูตอนกี่โมง เขาถึงมาดักตั้งแต่ 6 โมง 7 โมงเช้า พอจังหวะเปิดประตูปุ๊ปเขาก็เข้ามาเลย เพราะเป็นประตูม้วนมันปิดไว้ก็มองไม่เห็นข้างนอก”

เอกชัยบอกว่าตอนนั้นหลังจากถูกลากดึงและพยายามเถียงกับทหาร ตำรวจก็มาคุยแทนด้วยท่าทีอ่อนกว่า ระหว่างที่เจรจากับตำรวจนี้พล.ต.ต.สราวุฒิ การพาณิชย์ รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล(ตำแหน่งในตอนนั้น) ก็โทรมาคุยแล้วบอกว่าให้เลือกว่าจะไปเข้าค่ายทหารหรือจะไป “เที่ยวกาญจนบุรี” แล้วก็บอกว่าให้โทรหาเพื่อนได้ 1 คน เพื่อให้ไปด้วยกัน

“ก็เลยโทรหาอานนท์ (นำภา) บอกว่าตำรวจทหาร 20 คนบุกมาบ้าน จะพาไปกาญฯ อานนท์ก็เลยไปโพสต์ จนเป็นข่าวคนก็เลยรู้ ไม่งั้นก็คงจะหายสาบสูญไปเลยหรือเปล่าก็ไม่รู้”

“ตอนนั้นเขาก็ยึดมือถือไปไม่ให้โทรหาใครเลย 5 วัน ก็หาจังหวะทีเผลอส่งข่าวมาข้างนอกเป็นระยะๆ” เอกชัยบอกว่าการพยายามทำให้สังคมรู้ทำให้เขาปลอดภัยมากขึ้นเพราะอย่างน้อยยังมีคนรับรู้ดีกว่าโดนอุ้มไปไหนแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากที่ต้องทำให้คนรู้

หลังจากผ่านไป 5 วัน เอกชัยก็ถูกนำตัวพากลับมาที่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้ถูกปล่อยตัวทันทีแต่ถูกพาเจอตำรวจระดับบังคับบัญชาที่ร้านอาหารชื่อ “รถเสบียง” ใกล้สถานีรถไฟสามเสน ในระหว่างการสนทนานายตำรวจคนดังกล่าวก็มีการพูดจาข่มขู่ไม่ให้เขาเคลื่อนไหวและหากพลาดเมื่อไหร่จะรวมคดีทั้งหมดมาดำเนินการให้ติดคุกยาว หลังคุยก็มีการให้เขาเซนเอกสารจำนวน 4-5 แผ่น ว่าเขาไปอย่างเต็มใจและได้รับการปฏิบัติอย่างดี แต่เอกชัยก็ยืนยันว่าเขาถูกทหารใช้ความรุนแรงทำให้บาดเจ็บระหว่างคุมตัว แต่ก็ถูกขู่อีกว่าถ้าไม่เซนก็ไม่ได้กลับ แต่เอกชัยก็ยืนยันไม่เซนจนตำรวจยอมให้เติมว่ามีการใช้ความรุนแรงโดยทหาร เขาจึงเซน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากการคุกคามหลายครั้งวิตกกังวลหรือมีความเครียดบ้างไหม เอกชัยบอกว่าก็กังวลบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเครียด แล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตประจำวันไป

เมื่อขอให้เอกชัยแนะนำว่าถ้าจะต้องป้องกันและรับมือจากการถูกอุ้มและการคุกคามอย่างไร เขาบอกว่าสำหรับเขาต้องเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้กับตัวเอง เขาใช้วิธีติดลูกกรงเหล็กที่หน้าบ้านซ้อนประตูบ้านอีกชั้น แล้วก็ต้องเปลี่ยนวิธีเดินทางจากเดินทางด้วยรถประจำทางมาเป็นแท็กซี่

“ที่ป้องกันไม่ได้เช่นจังหวะออกจากบ้าน ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะบอกให้คนอื่นรู้หรือมีคนตามไปด้วย ขึ้นรถไปด้วยกันให้เขาขับรถมารับหรือขึ้นแกร๊บ ถ้ากรณีมีกันไปหลายคนก็โอเคแต่ถ้าไปคนเดียวก็ควรบอกคนที่ไว้ใจ แต่ไม่ใช่ไปโพสต์ในเฟซ” เอกชัยให้คำแนะนำอีกว่าถึงเป็นกรณีรถส่วนตัวก็ต้องระวังเพราะสามารถถูกดักได้ กรณีแบบนี้ทางที่ดีที่สุดก็คือโพสต์เฟซบุ๊กหรือถ่ายไลฟ์ ไม่ว่าจะเป็นการโดนอุ้มหรือโดนทำร้าย เพราะเขาเองพอโดนทำร้ายก็โพสต์เฟซบุ๊กทันทีแล้วก็ถ่ายรูปที่ตัวเองถูกทำร้าย ที่ผ่านมาเขามักถูกทำร้ายระหว่างเดินทางอยู่บนถนนเพราะคนร้ายใช้วิธีขับรถมาทำให้ลงมือเสร็จแล้วก็ต้องหนีให้เร็วที่สุดด้วย

กรณีของสิริชัยและทศเทพที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด กรณีของเอกชัย 8 แอดมินฯ หรือนิว สิรวิชญ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทหาร การพยายามช่วยกันติดตามหาตัวและการเป็นข่าวและมีการติดตามหาตัวกันอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าล้วนส่งผลต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ต้องเปิดเผยที่อยู่และสวัสดิภาพของพวกเขา 

คงเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ต้องประชาชนจะต้องอยู่อย่างหวาดกลัวคอยระมัดระวังตัวและต้องหาทางปกป้องตัวเองจากการถูกอุ้ม ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐควรปฏิบัติไปตามขั้นตอนทางกฎหมายและดำเนินการอย่างเปิดเผยและตรวจสอบได้ แต่กลับเป็นทางตำรวจเองที่ชี้แจงต่อการจับกุมสิริชัยว่าจะจับเมื่อไหร่ก็ได้และเป็นเรื่องทางเทคนิคของตำรวจในการดำเนินการย้ายสถานที่ไปมา

ศาลให้ 'นิว สิริชัย' ประกัน ศูนย์ทนายฯ ชี้รูปคนที่เสียหายไม่เข้าข่าย 112

ก่อนหน้านี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยมีข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการควบคุมตัวสิริชัยว่าการออกหมายค้นในยามวิกาลคือ 21.00 น.ของศาลนั้นเป็นไปโดยไม่เข้าขอยกเว้นตามกฎหมายเนื่องจากไม่ได้มีเหตุฉุกเฉินอันใดที่จะทำให้ต้องทำการตรวจค้นในยามวิกาล อีกทั้งสิริชัยก็มีเพียงโอกาสสั้นๆ ในการติดต่อกับทนายความแล้วก็มีการยึดโทรศัพท์ไปจากสิริชัยเสียก่อน

นอกจากนั้นศูนย์ทนายฯ ยังระบุอีกว่า ตำรวจไม่ยอมแจ้งสถานที่ควบคุมตัวและสร้างความสับสนเรื่องสถานที่ควบคุมตัวว่าเป็นที่ใดกันแน่ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้บุคคลอยู่นอกความคุ้มครองกฎหมาย เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ ทำให้ผู้ต้องหาถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วในขณะหนึ่ง (short term disappearance) เป็นการละเมิดสิทธิขั้นร้ายแรง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net