Skip to main content
sharethis

รัฐบาลอังกฤษประกาศจะเข้าร่วมกับข้อตกลงการค้า CPTPP กับ 11 ประเทศในเอเชียและภูมิภาคแปซิฟิก ในวันที่ 1 ก.พ. นี้ โดยที่รัฐบาลให้เหตุผลว่าการเข้าร่วม "กลุ่มประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว" จะช่วยส่งเสริมการส่งออกให้อังกฤษ

ข้อตกลงทางการค้า CPTPP หรือที่มีชื่อเต็มว่า "ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก" ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมเรื่องการค้าา การบริการ และการลงทุน ที่รายงานของสำนักวิชาการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไทยเคยระบุว่า "เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออก" ไปยังประเทศที่ไม่เคยทำข้อตกลงมาก่อน แต่ก็อาจจะทำให้มีธุรกิจบางภาคส่วนในประเทศเสียผลประโยชน์ เช่น ภาคส่วนการบริการ และอุตสาหกรรมการเกษตร

สื่อบีบีซีระบุว่าข้อตกลง CPTPP นี้ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรอยู่ 500 ล้านคน มีประเทศสมาชิกคือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์ กลุ่มประเทศที่ร่วมจัดตั้งข้อตกลงการค้านี้ในปี 2561 คือ บรูไน, ชิลี, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม ขณะที่ไทยเคยประกาศว่าสนใจเข้าร่วมแต่ไม่ได้ลงนามเข้าร่วมเช่นเดียวกับไต้หวัน, จีน และฟิลิปปินส์

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า "อนาคตจะอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ที่ตลาดชนชั้นกลางกำลังเติบโต ที่สามารถรองรับผลิตภัณฑ์ของอังกฤษ"

ทรัสส์ กล่าวอีกว่า กลุ่มธุรกิจของอังกฤษเองก็ต้องเป็นฝ่ายออกหน้าคว้าโอกาสเหล่านี้เอาไว้ด้วย พวกเขาบอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำคือ "การสร้างโอกาส" โดยคาดหวังจากการได้รับโอกาสที่ว่านี้จากการลดกำแพงภาษี ซึ่งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาพจะทำให้อังกฤษได้รับการลดกำแพงภาษีจากวิสกี้และรถยนต์ รวมถึงอุตสาหกรรมภาคบริการ

อย่างไรก็ตาม CPTPP จะส่งผลต่ออังกฤษแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะอังกฤษเข้าร่วมสัญญาการค้าเสรีอื่นๆ อยู่ก่อนแล้วหลายข้อตกลง ซึ่งข้อตกลงบางตัวตกทอดมาจากตอนที่อังกฤษยังเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป โดยรวมแล้วกลุ่มประเทศสมาชิก CPTPP นั้นคิดเป็นร้อยละ 8.4 ของการส่งออกของอังกฤษเท่านั้นเมื่อวัดจากข้อมูลในปี 2562 เทียบเท่ากับการที่อังกฤษส่งออกให้เยอรมนีประเทศเดียว

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เองก็แถลงว่าสนใจจะร่วมสัญญาการค้า CPTPP ด้วย แต่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ยกเลิกการตัดสินใจนี้ ถ้าหากรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นสมาชิก CPTPP ด้วยนั้นจะยิ่งทำให้ข้อตกลงนี้น่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับอังกฤษ เพราะจะทำให้อังกฤษกับสหรัฐฯ เชื่อมสัมพันธ์กันได้โดยไม่ต้องรอให้มีการตกลงสัญญาทางการค้าระหว่างสองประเทศ

สัญญา CPTPP ระบุในเรื่องของการลดภาษีศุลกากรทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งมีการให้สัญญาว่าจะลดภาษีเหล่านี้ถึงร้อยละ 95 ในขณะเดียวกันก็จะยังคงคิดภาษีอัตราเดิมกับสินค้าบางอย่างที่มีผลิตในประเทศและได้รับการคุ้มครอง เช่น ข้าวของญี่ปุ่น หรืออุตสาหกรรมนมของแคนาดา โดยที่ประเทศสมาชิกเหล่านี้จะต้องให้ความร่วมมือในด้านการกำกับดูแลเช่นเรื่องมาตรฐานอาหาร แต่มาตรการกำกับดูแลเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดเสมอไปโดยที่ประเทศคู่ค้าสามารถสัญญาตกลงกันเองได้

ทรัสส์กล่าวว่ารัฐบาลต้องการวางแผนล่วงหน้าให้ประเทศอังกฤษไปอีก 10-30 ปีข้างหน้า โดยบอกว่าภาคส่วนการบริการ, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์, อุตสาหกรรมข้อมูลและดิจิทัล จะได้รับผลบวกซึ่งอาจจะส่งผลช่วยสร้างงานให้กับชาวอังกฤษ อีกทั้งประเทศสมาชิกอาจจะได้รับวีซ่าที่รวดเร็วและราคาถูกกว่าสำหรับนักธุรกิจ

นักข่าวด้านการค้าโลกของบีบีซี ดาร์ชินี เดวิด วิเคราะห์ว่า หลังจากอังกฤษออกจากอียูก็แสวงหากลุ่มข้อตกลงการค้าใหม่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ส่งผลดีกับทั้งอังกฤษเองและประเทศสมาชิก CPTPP เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีรายได้คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้ทั้งหมดในโลก และอังกฤษยังสามารถทำข้อตกลงกับที่อื่นๆ อีกได้ ในด้านการกำกับดูแลต่างๆ จะไม่ส่งผลอะไรมากต่ออังกฤษ แต่ทว่าในทางปฏิบัติแล้วผลดีในระยะสั้นอาจจะไม่มีให้เห็นมากนัก แต่ผลดีในระยะยาวคือการสร้างสัมพันธ์กับภาคส่วนวุตถุดิบการผลิตจากประเทศสมาชิกเหล่านี้ให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของอังกฤษ

หลังจากที่อังกฤษส่งคำร้องเข้าร่วมในวันที่ 1 ก.พ. นี้ จะมีการเจรจาหารือในอนาคตช่วงประมาณเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2564

 

เรียบเรียงจาก


UK applying to join Asia-Pacific free trade pact CPTPP, BBC, 31-01-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net