เกาหลีใต้มีประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการส่งใบปลิวต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือเข้าไปสู่ฝั่งเกาหลีเหนือีกครั้ง หลังจากที่นายกเทศมนตรีจังหวัดคย็องกี ส่งจดหมายขอให้สหประชาชาติและสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ช่วยสนับสนุนการออกกฎหมายห้ามส่งใบปลิวไปเกาหลีเหนือเพราะเกรงว่าจะเป็นชนวนสงคราม แต่กลุ่มผู้สนับสนุนการรวมชาติเกาหลีก็ทักท้วงห้ามไม่ให้สภาคองเกรสสนับสนุนกฎห้ามส่งใบปลิว
ลีแจ-มย็อง นายกเทศมนตรีจังหวัดคย็องกีส่งจดหมายให้กับองค์การสหประชาชาติและสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการสนับสนุนกฎหมายสั่งห้ามการปล่อยใบปลิวต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือไปยังฝั่งเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าเป็นมาตรการขั้นต่ำในการปกป้องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดคย็องกีที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับเกาหลีเหนือ
ลีแจ-มย็อง เป็นหนึ่งในคนที่ถูกวางว่าจะเป็นตัวเก็งในการลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีคนถัดไป เขากล่าวย้ำอีกว่ากฎหมายนี้จะเป็นวิธีการสันติที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความตึงเครียดทางการทหารระหว่างสองประเทศจนนำมาซึ่งการปะทะกันได้ และเพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้
ชาวเกาหลีใต้บางกลุ่มดำเนินกิจกรรมส่งใบปลิวเข้าไปในเกาหลีเหนือมาเป็นเวลาหลายปีแล้วโดยมักจะใช้วิธีการผูกข้อมูลส่งผ่านลูกโป่งขนาดใหญ่ยาว 12 เมตร มีอยู่จุดหนึ่งที่พวกเขาเริ่มใช้โดรนบังคับระยะไกล นอกจากเนื้อหาใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเผด็จการเกาหลีเหนือแล้ว พวกเขายังมักจะส่งสินค้าต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ถูกแบนในเกาหลีเหนือ เช่น ธนบัตรดอลลาร์สหรัฐฯ ดีวีดีหรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลอื่นๆ ที่มีเนื้อหาสื่อบันเทิงที่ถูกห้ามในเกาหลีเหนือ
กลุ่มสนับสนุนการรวมชาติเกาหลีเคยแถลงก่อนหน้านี้ในเชิงต่อต้านกฎหมายห้ามการส่งข้อความข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีเหนือและเรียกร้องให้สภาคองเกรสอย่ารับฟังเกาหลีใต้ในเรื่องนี้ โดยบอกว่าถ้าหากทางการสหรัฐฯสนับสนุนจะถือเป็นการ "ละเมิดอธิปไตย" ของประเทศและ "แทรกแซง" กิจการภายในของเกาหลีใต้ โดยที่พวกเขาส่งถ้อยแถลงเหล่านี้ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ คณะกรรมการกิจการต่างประเทศของวุฒิสภาและสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ
ทางการเกาหลีใต้เคยผ่านร่างกฎหมายห้ามใบปลิวข้ามพรมแดนมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ในฐานะความผิดทางอาญา
ขณะเดียวกันในวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา คริส สมิทธ์ ส.ส.พรรครีพับลิกันของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทอม ลานทอส กล่าวว่าคณะกรรมการจะเปิดให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ช่วงต้นเดือน มี.ค. ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้านี้สมิทธ์เป็นผู้ที่ประณามการออกกฎหมายสั่งห้ามการโปรยใบปลิวข้ามประเทศโดยระบุว่าเป็นการละเลยเสรีภาพพลเมืองขั้นพื้นฐาน
การออกกฎหมายสั่งห้ามส่งใบปลิวนี้มีขึ้นหลังจากที่ประเทศเกาหลีเหนือโต้ตอบความตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ด้วยการระเบิดสำนักงานประสานงานความร่วมมือเกาหลีที่เมืองแคซองทิ้งเพื่อเป็นการประท้วง โดยที่กลุ่มนักวิจารณ์อ้างว่ากฎหมายนี้ออกมาเพราะไปให้ความสำคัญกับการกดดันของเกาหลีเหนือ
ลีปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์กล่าวเน้นย้ำว่ากฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการปกป้องชีวิตและให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน และจะกลายเป็นก้าวแรกในการที่จะคืนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศคาบสมุทรเกาหลีเพื่อให้ความสัมพันธ์เดินหน้าต่อไปได้
นอกจากสหประชาชาติกับสภาคองเกรสแล้ว ลีได้ส่งจดหมายดังกล่าวนี้ให้หน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและการต่างประเทศ รวมถึงเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำเกาหลีใต้ และผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือของยูเอ็น
เรียบเรียงจาก
Hearing on Seoul’s leaflet ban to open soon: US congressman, The Korea Herald, 31-01-2021
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Balloon_propaganda_campaigns_in_Korea