ปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง แต่ความคับข้องใจยังไม่ได้รับการแก้ไข

สื่อ 'China Labour Bulletin' ที่จับตาประเด็นแรงงานในจีน ระบุแม้ในปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการระบาดของโรค COVID-19 แต่ความคับข้องใจของแรงงานยังคงไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหา 'ค้างจ่ายค่าจ้าง'

ปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง แต่ความคับข้องใจยังไม่ได้รับการแก้ไข
แฟ้มภาพ China Labour Bulletin

China Labour Bulletin ซึ่งเป็นสื่อที่จับตาประเด็นแรงงานในประเทศจีน รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564 ว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนประกอบกับรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการระบาดของโรค COVID-19 อย่างต่อเนื่องส่งผลให้จำนวนการประท้วงโดยรวมของแรงงานในจีนลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2563

แผนที่การประท้วงของ China Labor Bulletin ที่ได้บันทึกการประท้วงของแรงงานจีนในแต่ละปีไว้ในแผนที่นัดหยุดงานประท้วง (Strike Map) พบว่าในปี 2563 มีการประท้วงเพียง 800 ครั้งในปี 2563 เทียบกับ 1,385 ครั้ง ในปี 2562 และ 1,706 ครั้ง ในปี 2561

อย่างไรก็ตามจำนวนการประท้วงที่ลดลง ไม่ได้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสภาพการทำงานที่ดีขึ้นในจีน ทั้งนี้จากแผนที่ขอความช่วยเหลือของคนงานใหม่ของ China Labor Bulletin ได้แสดงให้เห็นว่าแรงงานจีนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากมากยิ่งขึ้นในปี 2563 และความคับข้องใจที่ยาวนานเหล่านั้นก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด

ปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง แต่ความคับข้องใจยังไม่ได้รับการแก้ไข

แทนที่จะทำการประท้วง ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และเสี่ยงต่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ พบว่าแรงงานจีนหลายคนหันมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อระบายความคับข้องใจ แต่เสียงของแรงงานในโซเชียลมีเดียก็มักจะหายไปเสมอจากการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลจีน ด้วยเหตุนี้ China Labor Bulletin จึงได้จัดทำแผนที่ขอความช่วยเหลือ (Calls-for-Help) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมกรณีสำคัญๆ ที่คนทำงานขอความช่วยเหลือแต่กลับถูกละเลยจากสื่อในกระแส นับตั้งแต่เปิดตัวในเดือน ก.ย. 2563 มีการรวบรวมเคสมากกว่า 175 รายการบนแผนที่ขอความช่วยเหลือนี้

ข้อมูลจากทั้งแผนที่นัดหยุดงานประท้วงและแผนที่ขอความช่วยเหลือ ระบุว่าส่วนใหญ่แล้วแรงงานเผชิญกับปัญหาการค้างจ่ายค่าจ้าง โดยสาเหตุนี้ปรากฎมากกว่าร้อย 80 ในชุดข้อมูลทั้ง 2 ชุดและมีแนวโน้มที่จะมีมากขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงที่ใกล้จะถึงวันตรุษจีนในช่วงกลางเดือน ก.พ. เมื่อแรงงานจากต่างถิ่นมักเรียกร้องค่าจ้างที่นายจ้างค้างชำระมาเป็นเวลานาน

'ค้างจ่ายค่าจ้าง' ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่คืบ

แม้รัฐบาลจีนได้ประกาศโครงการริเริ่มทั้งทางด้านนิติบัญญัติและด้านการบริหารนับไม่ถ้วนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาการค้างชำระค่าจ้าง แต่ปัญหายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเพราะหน่วยงานท้องถิ่นไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานได้

อุตสาหกรรมการก่อสร้างในจีน มีชื่อเสียงในเรื่องการค้างค่าจ้างมานาน และมีกรณีการนัดหนุดงานประท้วงจากแรงงานก่อสร้างถึงร้อยละ 45 ในแผนที่นัดหยุดงานประท้วงเมื่อปี 2563 และร้อยละ 68 ของการร้องเรียนที่รวบรวมในแผนที่ขอความช่วยเหลือ โดยข้อพิพาทแรงงานเรื่องค่าจ้างค้างจ่ายที่เกิดขึ้นเมื่อ 2563 พบทั้งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลฉุกเฉินเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID-19

นอกจากนี้แผนที่ขอความช่วยเหลือ ยังบันทึกกรณีค้างค่าจ้างในสัดส่วนที่สูงโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนงานก่อสร้างในเขตทางตะวันตกของซินเจียง กรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแรงงานชาวฮั่นที่อพยพเข้ามาในภูมิภาคเพื่อทำงานในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาใหม่ ๆ

ปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง แต่ความคับข้องใจยังไม่ได้รับการแก้ไข
ความโกลาหลที่โรงงาน Pegatron เซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 | ที่มาภาพ: HKCTU

แม้สัดส่วนของการประท้วงโดยรวมในภาคการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2563 โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 จากกรณีทั้งหมดในแผนที่นัดหยุดงานประท้วงปี 2563 ทั้งนี้การประท้วงจำนวนมากมักเกิดที่โรงงานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันมักใช้สัญญาจ้างงานระยะสั้น ตัวอย่างเช่นแรงงานชั่วคราวหลายพันคนของบริษัท Pegatron ที่ทำงานในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ออกมาประท้วงเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 หลังจากผู้บริหารสั่งให้พวกเขาย้ายไปที่โรงงานอื่นในคุนซาน

ปี 2563 แรงงานในจีนประท้วงลดลง แต่ความคับข้องใจยังไม่ได้รับการแก้ไข
ปี 2563 การประท้วงของแรงงานในภาคการส่งอาหารลดลงเนื่องจากมีการแทนที่แรงงานในอัตราที่สูง ทำให้การจัดตั้งแรงงานเป็นไปได้ยาก | ที่มาภาพ: China Labour Bulletin

หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสังเกตมากที่สุดว่ารูปแบบการประท้วงของคนงานเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อ 2563 คือในภาคการส่งอาหารซึ่งมีการประท้วงรวมกัน 57 ครั้ง ในปี 2561, 45 ครั้ง ในปี 2562 แต่เหลือเพียง 3 ครั้งในปี 2563 ตามที่นิตยสาร People (人物) เปิดเผยในเดือน ก.ย. 2563 แสดงให้เห็นว่าแม้ค่าจ้างและสภาพการทำงานแย่ลงเมื่อปี 2563 แต่ความสามารถของแรงงานในรวมตัวจัดตั้งการประท้วงถูกลดทอนลงจากคลื่นของแรงงานหน้าใหม่กว่า 5 แสนคนที่เข้ามาแทนที่คนเก่า ๆ ซึ่งแรงงานหน้าใหม่ในภาคการส่งอาหารเหล่านี้คืออดีตแรงงานในโรงงานที่ถูกเลิกจ้างนั่นเอง

'ภาคขนส่ง-อุตสาหกรรมเทคโนโลยี' แรงงานทำงานอย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ตามในภาคการขนสินค้าที่มีการแข่งขันสูง มีการประท้วง 31 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการจ่ายค่าจ้างล่าช้า การต่อสู้เหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากบนโซเชียลมีเดียของจีน ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสดประจำปี เมื่อแรงงานชั่วคราวจำนวนมากถูกโกงค่าจ้าง

เทศกาลช้อปปิ้งวันคนโสดประจำปี ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาร้ายแรงของภาระงานที่มากเกินไปและชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานในประเทศจีน การทำงานหนักเกินไปส่งผลกระทบต่อพนักงานหลายสิบล้านคนทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ และเป็นปัญหาเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งพนักงานถูกบังคับให้ทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน เป็นประจำ 6 วันต่อสัปดาห์ การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของพนักงาน 2 คน ของบริษัท Pinduoduo ในช่วงปีใหม่เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความกดดันอย่างมากในอุตสาหกรรมเหล่านี้

China Labor Bulletin ระบุว่าหากค่าจ้างและสภาพการทำงานของแรงงานยังไม่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นในปี 2564 นี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ก็มีแนวโน้มว่าการประท้วงและการเรียกร้องความช่วยเหลือจากแรงงานจะเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Collective protests decline but worker grievances remain unresolved (China Labour Bulletin, 27 January 2021)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท