Skip to main content
sharethis

ศบค. เผยไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 490 คน สะสม 23,134 คน พร้อมจับตาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หลังพบผู้ป่วยแพร่เชื้อ 7 ครอบครัว มีผู้ติดเชื้อแล้วรวม 11 คน - จ.สมุทรสาคร ล็อกพื้นที่-แรงงาน 2 ตำบล หลังพบติดเชื้อเกิน 7 พันคน

COVID-19: 6 ก.พ. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 490 คน สะสม 23,134 คน

6 ก.พ. 2564 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อสะสม 105,907,231 คน เสียชีวิตสะสม 2,308,853 คน เพิ่มขึ้นวันเดียว 14,246 คน สหรัฐฯ ยังคงมีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากสุด รองลงมาคือ อินเดีย และบราซิล ส่วนไทยอยู่อันดับ 115 ของโลก

“มาเลเซีย พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,391 คน โดย 4 รัฐที่มีชายแดนติดกับประเทศไทยทั้งนราธิวาส สงขลา ยะลา และสตูล ยังพบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องคุมเข้มด่านชายแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19”

ขณะที่สถานการณ์ในไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 490 คน แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 479 คน และติดเชื้อจากต่างประเทศ 11 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 23,134 คน รักษาหายแล้ว 16,274 คน ยังรักษาในโรงพยาบาล 6,781 คน เสียชีวิตคงที่ 79 คน

ผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศมาจาก จ.สมุทรสาคร 450 คน คิดเป็น 93.9% รองลงมาคือ กรุงเทพฯ 23 คน คิดเป็น 4.8% และจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ตาก สมุทรสงคราม สมุทรปราการ และเพชรบุรี อีก 6 คน คิดเป็น 1.3%

“ผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่ยังพบมากที่สุดใน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากคัดกรองเชิงรุกในชุมชน โดยคัดกรองไปแล้วกว่า 150,000 คน พบติดเชื้อกว่า 13,000 คน หลังจากนี้ จ.สมุทรสาคร ยังค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง อาจทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อจากสมุทรสาคร อย่างต่อเนื่องต่อไป”

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. - 6 ก.พ. 2564 ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 16 จังหวัด ซึ่งลดลงจากในช่วงต้นสัปดาห์ของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

พญ.พรรณประภา ยังได้กล่าวถึงกรณีผู้ป่วย COVID-19 เพศชาย อายุ 95 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง อาศัยใน กทม. หลังสอบสวนโรค พบมีลูกจ้างเมียนมา 3 คน ใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนนี้ ทั้ง 3 คน มีอาชีพเป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งถือว่าการติดเชื้อในครั้งนี้เป็นการนำเชื้อมาจากข้างนอก

“หากบ้านของใครมีแรงงานต่างชาติ ขอให้เฝ้าระวังการติดเชื้อจากภายนอกเข้ามาแพร่ในบ้านที่มีผู้สูงอายุ”

นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนโรคใน จ.ตาก หลังพบผู้ป่วยชาย อายุ 75 ปี ติดเชื้อใน อ.แม่สอด พบมีการติดเชื้อใน 7 ครอบครัว รวม 11 คน หลังจากนี้จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มขึ้นเพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กลาง และต่ำต่อไป โดยในช่วงบ่ายจะมีการแถลงรายละเอียดจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง

จ.สมุทรสาคร ล็อกพื้นที่-แรงงาน 2 ตำบล หลังพบติดเชื้อเกิน 7 พันคน

นายธีพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ลงนามในประกาศจังหวัดสมุทรสาคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยให้พื้นที่บางส่วนของ ต.นาดี และ ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร ภายในเขตเริ่มต้นจากวันพันธุวงษ์ไปทางตะวันออก ตามแนวถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ จนถึงปากซอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง จากปากซอยโรงเรียนบ้านบางปิ้ง ไปทางทิศใต้ตามแนวถนน จนถึงปากซอยหมู่บ้านกานดา ถ.พระราม 2 จากปากซอยหมู่บ้านกานดา ถ.พระราม 2 ไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนพระราม 2 จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน และจากสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ไปทางทิศเหนือตามแนวแม่น้ำท่าจีน จนสิ้นสุดที่วัดพันธุวงษ์ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 

สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวให้ปฏิบัติ ดังนี้ ห้ามลูกจ้าง สถานประกอบการออกนอกเคหสถานและเขตพื้นที่ควบคุม ยกเว้นไปที่ทำงาน (โรงงาน) หรือกลับจากที่ทำงาน หรือ มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัดหรือ สถานที่ชุมชนที่มีประชาชนหนาแน่น รวมทั้งให้ลูกจ้างของสถานประกอบการ ติดตั้งแอปพลิเคชัน " หมอชนะ" และ "DDC care" เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม

นอกจากนี้ ยังให้ผู้ประกอบการ กำกับดูแลแรงงาน ทำตามมาตาการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด อย่างเคร่งครัด พร้อมให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลชุมชน ทำตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากพบฝ่าฝืนอาจพิจารณาสั่งปิดสถานที่ สั่งหยุดประกอบกิจการ ให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเม้นต์ และสถานที่ที่ให้เช่าพักอาศัย ทำตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุม ตรวจตรา และกำชับผู้พักอาศัย ห้ามออกนอกเคหสถานและเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด ให้สอดส่องบุคคลภายนอก ไม่ให้เข้าภายในที่พักอาศัย และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ กำกับดูแล ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ-แรงงาน ให้ทำตามหลักป้องกันโควิดเคร่งครัด

ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวออกมาหลังจากสมุทรสาครเดินหน้าตรวจคัดกรองเชิงรุกในโรงงานขนาดใหญ่ 4 แห่ง ก่อนพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รวม 7,409 คน หรือจำนวนเกินครึ่งของผู้ติดเชื้อทั้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์โควิด-19 สมุทรสาคร ได้ออกมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 เพื่อเดินหน้าใช้กฎเหล็กในการซีลล็อก และให้โรงงานทั้ง 4 แห่งควบคุมการเดิน ทางของแรงงาน (บับเบิ้ล) ของโรงงาน เนื่องจากกังวลว่า หากไม่เร่งควบคุม จะทำให้ยังมีกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 20,000-30,000 คน ยังเดินทางได้ปกติ ทำให้ยังพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ต่อเนื่อง

อัปเดตไทม์ไลน์ โครงการ ม.33 เรารักกัน เริ่มลงทะเบียน 21 ก.พ.

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยไทม์ไลน์ โครงการ ม.33 เรารักกันที่ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว ภายหลังจากที่ได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งช่วงเวลาลงทะเบียนได้รับการยืนยันจากธนาคารกรุงไทยแล้ว

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการ ม.33 เรารักกัน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ช่วยดูแลพี่น้องแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้างผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างต้องปฏิบัติภายใต้กรอบของกฎหมาย และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) เพื่อหาแนวทางการในการเพิ่มการเยียวยาแก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 ให้เท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่รัฐได้ช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลจึงเยียวยารายละ 4,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1) ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย 2) เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 3) ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ 4) ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท

นายสุชาติ ยังกล่าวถึง ล่าสุดได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทยได้ยืนยันระยะเวลาการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ มาแล้ว โดยกำหนดไทม์ไลน์ ดังนี้ 1.ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33 เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.-7 มี.ค. 2564 2. ธนาคารทำการตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งประมวลผลคัดกรอง วันที่ 8-14 มี.ค. 2564 3.กดใช้งานและกดยืนยันตัวผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” วันที่ 15-21 มี.ค. 2564 4. ได้วงเงินผ่าน “เป๋าตัง” 1,000 บาท ในวันที่ 22,29 มีนาคม และวันที่ 5, 12 เม.ย. 2564 5.เริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายในโครงการเราชนะ ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.-31 พ.ค. 2564

ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ประกันตน ม.33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net