Skip to main content
sharethis

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 237 คน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 23,371 คน รักษาหายเพิ่ม 668 คน รวมรักษาหายสะสม 16,942 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 79 คน - สธ.ให้สถาบันบำราศนราดูร จัดระบบการให้บริการวัคซีน COVID-19 เป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมี 8 ขั้นตอน ใช้เวลารวม 37 นาที ตั้งแต่คัดกรองถึงกลับบ้าน 

COVID-19: 7 ก.พ. ผู้ติดเชื้อใหม่ 237 คน สะสม 23,371 คน เผย 8 ขั้นตอนฉีดวัคซีนใช้เวลา 37 นาที

7 ก.พ. 2564 พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค.รายงานสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก วันนี้ (7 ก.พ.) พบผู้ติดเชื้อสะสม จำนวน 106,342,867 คน เสียชีวิตสะสม จำนวน 2,320,445 คน เพิ่มขึ้นวันเดียว จำนวน 10,998 คน ขณะที่ สหรัฐฯ ยังคงมีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากสุด รองลงมา คือ อินเดีย บราซิล รัสเซีย อังกฤษ ไทยอยู่อันดับ 115 ของโลก

ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 237 คน ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 225 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ จำนวน 12 คน ผู้ป่วยสะสม 23,371 คน รักษาหาย จำนวน 16,942 คน รักษาในโรงพยาบาล จำนวน 6,350 คน เสียชีวิตสะสม จำนวน 79 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้ เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังฯ จำนวน 113 คน ค้นหาเชิงรุกในชุมชน จำนวน 112 คน และมาจากต่างประเทศ จำนวน 12 คน รวม 237 คน

ผู้ป่วยรายใหม่ภายในประเทศ รวม 225 คน แบ่งรายจังหวัด 1.กรุงเทพฯ จำนวน 14 คน 2.ตาก จำนวน 3 คน 3.สมุทรสงคราม จำนวน 1 คน 4.สมุทรสาคร จำนวน 95 คน และจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน จำนวน 112 คน จ.ตาก จำนวน 2 คน กทม.จำนวน 3 คน จ.สมุทรสาคร จำนวน 107 คน และติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 คน

ขณะที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และสะสม ช่วงวันที่ 18 ธ.ค. 2563 - 7 ก.พ. 2564 โดย 5 อันดับแรก 1.สมุทรสาคร 2.กรุงเทพฯ 3.ชลบุรี 4.ระยอง 5. สมุทรปราการ

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.กังวลความยากลำบากบากในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีโรงงานเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ชุมชนที่ค่อนข้างแออัด และอาจปรับยุทธศาสตร์ในการป้องกันและควบคุมการระบาด โดยพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตรวจคัดกรองเชิงรุกไปแล้วกว่า 1.5 แสนคน และจากเดิมในเดือน ก.พ.จะปรับลดจำนวนการตรวจจากวันละ 1 หมื่นคน ลดเหลือวันละ 2,000 - 3,000 คน แต่ว่าจะยังคงตรวจเชิงรุกในวันละ 10,000 คนต่อไป และหากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงก็จะมีความมั่นใจได้ และจะมีมาตรการผ่อนคลายทั้งใน จ.สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ขณะที่ จ.อื่น ตัวเลขลดลงอย่างชัดเจน โดยวันนี้ จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อลดลงเหลือ 4 จังหวัด

ขณะที่ ระบุบ AIMASK ได้รายงานข้อมูลการใส่หน้ากาก ช่วงวันที่ 28 ม.ค. 2564 - 4 ก.พ. 2564 พบมีผู้สวมหน้ากากฯ ถูกต้องร้อยละ 98.07 แต่ยังพบว่าในวันเสาร์-อาทิตย์ ยังคงมีการสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง

8 ขั้นตอนบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ใช้เวลา 37 นาที

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ระบุว่าจากการตรวจเยี่ยมการทดสอบระบบการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็นสถาบันเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ โรคติดเชื้อของประเทศ พบว่าระบบที่จัดไว้มี 8 ขั้นตอน เป็นลำดับอย่างต่อเนื่องผ่านไปด้วยดี ใช้เวลารวม 37 นาที สามารถเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้ โดยก่อนเข้ารับบริการจะมีการคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล และจัดให้เว้นระยะห่างทุกขั้นตอน 

จุดที่ 1 ลงทะเบียน โดยใช้เครื่อง KIOSK ลดการสัมผัส

จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต

จุดที่ 3 คัดกรอง ซักประวัติ

จุดที่ 4 รอฉีดวัคซีน

จุดที่ 5 รับการฉีดวัคซีน ใช้เวลาเพียง 5-7 นาที

จากนั้นจุดที่ 6 ให้นั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที มีการจัดห้องปฐมพยาบาล แพทย์ วิสัญญีพยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตพร้อมดูแล และทุกรายต้องสแกน Line official account “หมอพร้อม” เพื่อใช้ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน แจ้งเตือนรับวัคซีนเข็มที่ 2

จุดที่ 7 ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะตรวจสอบเวลาว่าครบ 30 นาที สอบถามอาการ และให้คำแนะนำ พร้อมแจกเอกสารให้ความรู้

และจุดที่ 8 มี Dash Board จาก Line OA “หมอพร้อม” แสดงการประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีน และอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนแต่ละชนิด ทั้งนี้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทาง Line OA “หมอพร้อม” อีกด้วย

ทั้งนี้ ขอให้บุคลากรการแพทย์และประชาชนกลุ่มเป้าหมายมั่นใจการให้วัคซีนครั้งนี้ รัฐบาลเน้นย้ำความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการคัดเลือกวัคซีนสำหรับคนไทย และสถานพยาบาลได้เตรียมความพร้อม จัดระบบให้คำแนะนำ เฝ้าระวัง ติดตามอาการไม่พึงประสงค์ไว้พร้อมแล้ว

ขณะที่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะประธานคณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และกำกับติดตามผล กล่าวว่า ระบบบริการฉีดวัคซีน COVID-19 ของสถาบันบำราศนราดูร มีขั้นตอนที่ครบถ้วน จะนำไปเป็นต้นแบบให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมา โรงพยาบาลต่าง ๆ มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้ประชาชนทุกปีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม วัคซีน COVID-19 ที่จะมีการฉีดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนมากที่สุด จึงต้องมีการจัดขั้นตอนที่มากกว่าการฉีดวัคซีนอื่น ๆ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนมั่นใจและมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยโรงพยาบาลสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่แต่ละแห่ง ตามบริบทของพื้นที่

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net