มช. ตั้งกรรมการสอบวินัย นักศึกษาเขียนข้อความ '112' บริเวณมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งกรรมการสอบวินัย นักศึกษาที่เขียนข้อความ '112' บริเวณมหาวิทยาลัย เจ้าตัวระบุเข้าให้ถ้อยคำแก่มหาวิทยาลัยในวันที่ 25 ก.พ. นี้

มช. ตั้งกรรมการสอบวินัย นักศึกษาเขียนข้อความ '112' บริเวณมหาวิทยาลัย
หนังสือจากมหาวิทยาลัยที่ รามิล-วิธญา คลังนิล ได้รับ

17 ก.พ.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.64) รามิล-วิธญา คลังนิล นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่แสดงออกทางศิลปะด้วยการทำ Performance Art เขียนข้อความ 112 ภายในมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.63 ได้รับหนังสือตั้งกรรมการสอบวินัยจากทางมหาวิทยาลัย

โดยทางมหาวิทยาลัยระบุว่า “ได้มีพฤติกรรมทำผิดวินัยนักศึกษา โดยการเขียนข้อความ 112 ด้วยสีแดง และระบายสีตามพื้นที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่”

รามิล ระบุว่าจะต้องเข้าให้ถ้อยคำแก่มหาวิทยาลัยในวันที่ 25 ก.พ. นี้ เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 7210 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้  เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.64) รามิลยังเป็น 1 ใน 37 นักศึกษา นักกิจกรรม และคนเสื้อแดงที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากกรณีการชุมนุมเชียงใหม่จะไม่ทน ที่สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.63 ในคดี ม.116  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกตการบรรยายพฤติการณ์ของคดีไม่มีการระบุชัดเจนว่าเข้าข่ายข้อหาตาม ม.116 

ทั้งนี้ ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชน 23 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 3 คดี ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท