Skip to main content
sharethis
  • ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่ 'ใจแผ่นดิน' ในป่าแก่งกระจานมาก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมา ปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงไล่รื้อและเผาทำลายที่อยู่อาศัยและอพยพพวกเขามาอยู่ในที่ดินที่รัฐจัดสรรให้
  • ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถใช้เพาะปลูกตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานรับจ้าง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินเท้ากลับสู่บ้านเดิมที่ใจแผ่นดิน ท่ามกลางความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะจับกุมและขัดขวางการส่งเสบียงจากภายนอกเข้าไปที่ใจแผ่นดิน
  • กลางเดือน ก.พ. 2564 ประชาชนชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หยุดละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และบรรลุข้อตกลงร่วมกับฝ่ายรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ 1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด 2. หยุดการสกัดการขนส่งเสบียงเข้าไปที่ใจแผ่นดิน และ 3. ยุติคดีของสมาชิก ภาคี #SAVEบางกลอย ที่ไปยื่นหนังสือขอเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • มีกระแสข่าวตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2564 ว่าเจ้าหน้าที่จะจับกุมประชาชนออกจากพื้นที่ใจแผ่นดินให้หมดภายใน 18.00 น. ของวันที่ 22 ก.พ. 2564 สร้างความกังวลว่าอาจเกิดเหตุรุนแรงซ้ำรอยปี 2554
  • 22 ก.พ. 2564 ประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ทั้งที่แยกปทุมวัน, ประตูท่าแพ, และระหว่างเส้นทางที่ จ.สระบุรี ในกิจกรรมเดินทะลุฟ้าคืนอำนาจประชาชน 

22 ก.พ. 2564 ภาคี #Saveบางกลอย จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังมีกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะจับกุมชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินทางกลับสู่ใจแผ่นดิน

ประมาณ 17.20 น. ผู้จัดกิจกรรมกางป้ายผ้าข้อความว่า Save บางกลอย และป้ายผ้าสีขาวให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเขียนข้อความให้กำลังใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ผู้จัดกิจกรรมกางป้ายผ้าให้ประชาชนเขียนข้อความให้กำลังใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ผู้จัดกิจกรรมกางป้ายผ้าให้ประชาชนเขียนข้อความให้กำลังใจชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

ต่อมา 17.40 น. ธัชพงศ์ แกดำ กล่าวระหว่างกิจกรรม #Saveบางกลอย ว่ากว่า 25 ปีแล้ว ชาวบ้านที่ถูกเผาไล่ที่ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ใจแผ่นดิน ส่วนแกนนำที่ออกมาเรียกร้องอย่าง 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ ถูกอุ้มหาย และ 'อ.ป๊อด' ทัศน์กมล โอบอ้อม ถูกฆ่า

ธัชพงศ์กล่าวต่อว่า สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลทำ MOU ว่าจะถอนกำลังและไม่จับกุม ให้ชาวบ้านกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดิน แต่วันนี้กลับมีเจ้าหน้าที่จับกุม กวาดต้อนชาวบ้านออกจากที่อยู่ดั้งเดิมมาอยู่ด้านล่างอีกครั้ง

จากนั้น ธัชพงศ์เชิญชวนให้ประชาชนเขียนข้อความให้กำลังใจชาวบางกลอย ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าพื้นที่มาเพื่ออ่านข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลา 17.47 น.

ธัชพงศ์ แกดำ (ภาพโดยกันต์ แสงทอง)

ธัชพงศ์ แกดำ (ภาพโดยกันต์ แสงทอง)

ทั้งนี้ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ที่ 'ใจแผ่นดิน' ในป่าแก่งกระจานมาก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ต่อมา ปี 2554 เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงไล่รื้อและเผาทำลายที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย และอพยพพวกเขามาอยู่ในที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ แต่ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถใช้เพาะปลูกตามวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานรับจ้าง ทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งตัดสินใจเดินเท้ากลับสู่บ้านเดิมที่ใจแผ่นดิน นำไปสู่ความกังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจบังคับไล่รื้อและจับกุมด้วยความรุนแรง

ป้ายข้อความ "ชาวบ้านอยู่ที่ "ใจแผ่นดิน" มาก่อนก๋งรัฐมนตรีจะมาจากเมืองจีนเสียอีก" (ภาพโดย C.Faozee)

ป้ายข้อความ "ชาวบ้านอยู่ที่ "ใจแผ่นดิน" มาก่อนก๋งรัฐมนตรีจะมาจากเมืองจีนเสียอีก" (ภาพโดย C.Faozee)

สำหรับข้อตกลงร่วมหรือ MOU ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วยข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ ได้แก่ 1. ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากชุมชนบางกลอยทั้งหมด 2. หยุดการสกัดการขนส่งเสบียง รวมถึงจุดสกัดเดิม และจุดสกัดเพิ่มเติมทั้งหมด และ 3. ยุติคดีของสมาชิก ภาคี #SAVEบางกลอย นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 6 ข้อ ได้แก่

1. ให้ชาวบ้านที่ประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถกลับขึ้นไปอยู่อาศัย ทำกิน และดำเนินวิถีชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษได้ โดยรับรองสิทธิ์ในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม

2. ยุติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งจุดตรวจและลาดตระเวนในหมู่บ้านบางกลอยล่าง รวมทั้งยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับชาวบ้าน 36 ครอบครัวที่กลับไปอยู่อาศัยและทำกินอยู่ที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน

3. ยุติการขัดขวางการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นไปให้กับชาวบ้านบางกลอย

4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วย แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะมาตรการด้านการยุติการจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน

5. ในกรณีที่ชาวบ้านครอบครัวใดประสงค์จะอยู่บ้านบางกลอยล่าง ให้รัฐดำเนินการจัดสรรที่ดิน ทั้งที่อยู่อาศัยและทำกินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ เพื่อให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตได้อย่างมั่นคง

6. รัฐจะต้องยุติการดำเนินการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการตั้งจุดสกัดกั้น เดินลาดตระเวน และตรวจค้นสร้างแรงกดดันและความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านบางกลอย และมีมาตรการในการคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของสมาขิกชุมชนบางกลอยทุกคน

อดีต กสม. เผยต้องชุมนุมเร่งด่วนเพื่อปกป้องชาวบางกลอยซึ่งถูกกระทำมายาวนาน

ประมาณ 18.00 น. สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า วันนี้ต้องมาชุมนุมเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมามีการเจรจากัน มีการตั้งคณะทำงาน ซึ่งตอนนี้คณะทำงานอยู่ในพื้นที่บางกลอยเพื่อตรวจสอบข้อมูล พี่น้องบางกลอยเคยต่อสู้จนศาลปกครองสูดสุดมีคำตัดสินในคดีของปู่คออี้ ให้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 ส่วนบ้านใจแผ่นดินก็มีหลักฐานในแผนที่ทหารว่าอยู่มาเป็นร้อยๆ ปี พี่น้องอยู่ที่ใจแผ่นดินด้วยความชอบธรรม การเผาบ้านและบังคับอพยพเป็นเรื่องที่ผิด

สุนี ไชยรส (ภาพโดย C.Faozee)

สุนี ไชยรส (ภาพโดย C.Faozee)

อดีต กสม. กล่าวต่อว่า วันนี้พี่น้องอยู่ข้างล่างไม่ได้ จำเป็นต้องกลับขึ้นไปใจแผ่นดิน ทุกฝ่ายยอมรับ รัฐบาลก็เซ็น MOU แต่วันนี้กลับมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบังคับพี่น้องลงมา จึงต้องมีการชุมนุมอย่างฉุกเฉินเพื่อปกป้องพี่น้องบางกลอยที่เดินทางกลับขึ้นไปใจแผ่นดินอย่างชอบธรรม

สุนีกล่าวว่า อยากให้เข้าใจว่าวันนี้รัฐบาลตระบัตย์สัตว์ การเจรจาและการตั้งคณะทำงานจะมีประโยชน์อะไรในเมื่อคณะทำงานยังไม่ได้ทำงาน แต่มีการจับพี่น้องลงมาแล้ว ทำไมถึงต้องทำขนาดนี้ในเมื่อเขาได้รับความไม่เป็นธรรมมาเป็นสิบปี ถ้าวันนี้เราปกป้องพี่น้องบางกลอยไม่ได้ พี่น้องปกาเกอะญอที่เหลือก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม

สุนียังกล่าวอีกว่า พี่น้องบางกลอยไม่ใช่คนที่บุกรุกป่า แต่เป็นคนที่ถูกกระทำ หลังถูกอพยพลงมา ชาวบ้านขาดที่ดินทำกิน ใช้ชีวิตตามวิถีกะเหรี่ยงไม่ได้ ส่วนบิลลี่ก็ถูกอุ้มหาย ในขณะที่รัฐบาลก็ไม่คิดจะแก้ปัญหา และกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นอกจากนี้ยังตั้งคำถามว่ารัฐใช้กำลังเกินไปหรือไม่กับพี่น้องที่มีทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ วันนี้นอแอะ ลูกชายของปู่คออี้ตัดสินใจกลับขึ้นไปใจแผ่นดินและหวังว่าจะได้ไปอยู่ที่นั่น ส่วนพี่น้องชาวเลกำลังพยายามส่งอาหารขึ้นไปให้พี่น้องกะเหรี่ยง แต่กลับมีกองกำลังติดอาวุธขวาง เป็นเรื่องเกินไปหรือไม่

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ส่วนหนึ่งระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนชาวกะเหรี่ยงเรื่องอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม รวมถึงส่งเสริมสังคมให้มีความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมท่ีอยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม รวมถึงตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน การอยู่อาศัย และการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม

นักกิจกรรมชวนทำความเข้าใจว่าชนพื้นเมืองคือคนเท่ากัน

ด้าน 'ทาทา' ศิริ นิลพฤกษ์ นักกิจกรรม ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยลงนามในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) แต่ไม่เคยให้ความเข้าใจกับประชาชน มีแต่กล่าวหาชาวบ้านว่าทำลายระบบนิเวศ อยากให้เข้าใจว่าชนพื้นเมืองไม่มีเครื่องมือหนัก ไม่มีเลื่อยไฟฟ้าที่จะไปตัดไม้ ไม่มีปืนไรเฟิลเหมือนที่ไปยิงเสือดำ ชาวบ้านเหล่านี้คือคนเท่ากัน เขาอยากจะอยู่ในพื้นที่ของเขา บางคนก็อยากลงมาข้างล่าง ซึ่งเป็นสิทธิของเขา ภาครัฐต้องปฏิบัติตามพันธกรณีสากล อยากให้ทุกคนช่วยกันปกป้องพี่น้องบางกลอย อย่าให้เขาถูกอุ้มหาย

ศิริ นิลพฤกษ์ (ภาพโดยกันต์ แสงทอง)

ศิริ นิลพฤกษ์ (ภาพโดยกันต์ แสงทอง)

'ฟ้า' ผู้ปราศรัยรายหนึ่ง กล่าวว่าขอให้สื่อที่มาทำข่าวที่นี่ทำข่าวตามความจริง ไม่บิดเบือน ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลขีดเส้นตาย 18.00 น. เพื่อนำชาวบ้านบางกลอยลงมา ส่วนวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกให้ถอยคนละก้าวเพื่อเซฟประเทศไทย แต่ถ้าอยากให้ถอย ก็ควรเลิกตระบัดสัตย์กับประชาชน ที่ผ่านมามีรัฐมนตรี 4 ท่านที่เซ็น MOU แก้ไขปัญหาบ้านบางกลอย จึงขอประณามทั้งสี่คนที่ไม่รักษาสัญญา ตอนนี้มีการนำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปบังคับพี่น้องลงมาจากใจแผ่นดิน ขอถามว่ารัฐบาลมีมารยาทหรือไม่ พวกเรามาที่นี่เพื่อเซฟบางกลอย แต่มีตำรวจทหารที่เซฟตัวเอง ชาติพันธุ์ก็คือคน แต่มีตำรวจที่ละทิ้งความเป็นคน

ฟ้าระบุว่าอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าบางกลอยคืออะไร บ้านบางกลอยอยู่ที่ อ.แก่งกระจาน มาตั้งแต่ 2455 เราต้องลุกขึ้นมาเซฟบางกลอยเพราะเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา มีพี่น้องเดินทางกลับขึ้นไปที่บ้านใจแผ่นดิน หลังถูกเผาบ้านอพยพลงมาเมื่อ พ.ศ. 2554 ต้องเซฟเขาเพราะว่ารัฐใช้กฎหมายบุกรุกป่าบังคับชาวกะเหรี่ยงลงมา ไม่ให้ประกอบอาชีพได้ คนที่เรียกร้องสิทธิให้ชุมชนก็ถูกคุกคาม บิลลี่ก็ถูกอุ้มหายก่อนจะมีการพบศพ และสิ่งที่ MOU ระบุไว้ อยากให้รัฐทำตาม คือ ถอนกำลังออกจากบ้านบางกลอย หยุดสกัดกั้นการขนส่งเสบียง และให้ยุติการดำเนินคดีกับภาคี save บางกลอย 10 คน แต่รัฐบาลก็ทำไม่ได้ ฝากถึงพี่น้องบางกลอยว่าคุณไม่ได้สู้เพียงลำพัง ยังมีพี่น้องประชาชนที่อยู่เคียงข้างคุณ และวันหนึ่งพวกคุณจะได้บ้านเกิดของพวกคุณคืนอย่างสมศักดิ์ศรี

จากนั้น ประมาณ 18.55 น. ธัชพงศ์เปิดเผยว่า ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกควบคุมตัวจากใจแผ่นดิน ถูกเปรียบเทียบปรับและปล่อยตัวที่บ้านบางกลอยล่างแล้ว 13 คน แต่ยังวางใจไม่ได้เพราะยังมีอีกหลายสิบคนอยู่ที่ใจแผ่นดิน คณะทำงานในพื้นที่ก็ขึ้นไปข้างบนไม่ได้ ทำให้ไม่รู้ว่าพี่น้องที่อยู่ข้างบนเป็นอย่างไร

ประมาณ 19.10 น. มีการแสดงละครโดยกลุ่มละครมาร็องดู ดนตรีโดนวงสามัญชน และเผาหุ่นฟางที่รูปใบหน้าของวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนประกาศยุติการชุมนุมเวลาประมาณ 19.45 น.

ประชาชนเผาหุ่นฟางที่มีภาพใบหน้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประชาชนเผาหุ่นฟางที่มีภาพใบหน้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขณะไอลอว์รายงานว่า หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ควบคุมตัวชาวบางกลอยออกจากใจแผ่นดิน โดยมีรายงานว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขีดเส้นตายว่า 18.00 น. นี้ ต้องไม่มีชาวบ้านที่ใจแผ่นดิน ซึ่งการคุมตัวเกิดขึ้นหลังภาคี #saveบางกลอย กดดันให้รัฐเซ็น MOU

การกระทำของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้ปกป้องชาวบางกลอยที่แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และข่วงประตูท่าแพ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้นักกิจกรรมเดินทะลุฟ้าคืนอํานาจประชาชน ยังนำป้ายข้อความ เช่น "คนเท่ากันชาติพันธุ์ก็คน" และ "รัฐบาลตระบัดสัตย์" ไปติดบนสะพานลอยที่ จ.สระบุรี อีกด้วย

ป้ายข้อความ "คนเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คน", "#Saveบางกลอย", และ "รัฐบาลตระบัดสัตย์" แขวนอยู่บนสะพานลอยใน จ.สระบุรี

ป้ายข้อความ "คนเท่ากัน ชาติพันธุ์ก็คน", "#Saveบางกลอย", และ "รัฐบาลตระบัดสัตย์" แขวนอยู่บนสะพานลอยใน จ.สระบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net