อาจารย์ มช. เผาดอกไม้จันทน์ไว้อาลัย 'หลักวิชาชีพนักกฎหมาย' หลังศาลไม่ให้ประกัน 4 แกนนำราษฎร

อาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายกฎหมายเผาดอกไม้จันทน์ ไว้อาลัยให้หลักวิชาชีพนักกฎหมาย หลังศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกัน 4 แกนนำราษฎรเป็นครั้งที่ 3 ในคดี ม.112

ผศ.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อ.กฤษณ์พชร โสมณวัตร รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล  และคุณปสุตา ชื้นขจร เครือข่ายนักกฎหมาย

ผศ.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อ.กฤษณ์พชร โสมณวัตร รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล และปสุตา ชื้นขจร เครือข่ายนักกฎหมาย

23 ก.พ. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ก.พ.64) เวลา 18.00 น. อาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายกฎหมาย ประชาชนทั่วไป ร่วมกันจัดงานไว้อาลัยให้ต่อหลักวิชาชีพนักกฎหมายไทย หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลังวานนี้ (22 ก.พ.64) ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และหมอลำแบงค์ ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม เป็นครั้งที่ 3 ตามคำขอยื่นประกันตัวของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้หลักทรัพย์ 400,000 บาท ขอยื่นประกันตัวแกนนำทั้ง 4 คน ทำให้ทั้ง 4 ถูกขังจนถึงวันนี้เป็นวันที่ 15 แล้ว

เผาดอกไม้จันทน์ ไว้อาลัยให้หลักวิชาชีพนักกฎหมาย

เผาดอกไม้จันทน์ ไว้อาลัยให้หลักวิชาชีพนักกฎหมาย

สำหรับคำไว้อาลัยต่อหลักวิชาชีพนักกฎหมายไทยมีรายละเอียดดังนี้ 

คำไว้อาลัยต่อหลักวิชาชีพนักกฎหมายไทย

ในแวดวงความรู้ทางด้านนิติศาสตร์ มักมีการกล่าวอ้างกันว่าการทำหน้าที่ทางด้านกฎหมายมีลักษณะพิเศษอันแตกต่างไปจากการทำหน้าที่ในด้านอื่น ด้วยการให้ความเห็นว่าการปฏิบัติงานทางกฎหมายเป็น “วิชาชีพ” (profession) ที่มิได้เป็นเพียงการทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างเดียว หากมีลักษณะเช่นเดียวกันกับงานของนักบวช แพทย์ อันประกอบไปด้วยลักษณะ ดังนี้

หนึ่ง เป็นอาชีพที่ต้องอุทิศตนทำไปตลอดชีวิต, สอง ต้องมีการอบรมสั่งสอนในทางวิชาชีพที่ต้องอบรมกันเป็นระยะเวลานานหลายไป, สาม จะมีชุมชนหรือหมู่คณะที่มีขนบธรรมประเพณีที่สำนึกในจรรยาบรรณ เกียรติยศ ศักดิ์ศรีวิชาชีพ และมีองค์กรและกระบวนการเพื่อสอดส่องพิทักษ์รักษาขนบธรรมเนียม เกียรติยศ ศักดิ์ศรีและวิชาชีพ

ด้วยการกล่าวอ้างในลักษณะดังกล่าว นักกฎหมายจึงมักถือตนว่ามีเกียรติยศและศักดิ์ศรีที่แตกต่างและเหนือกว่าการปฏิบัติงานในด้านอื่น ๆ แม้จะเป็นการใช้ความรู้ในการทำงานเฉกเช่นเดียวกัน เฉพาะในสังคมไทย การทำงานด้านกฎหมายในองค์กรต่าง ๆ ของรัฐก็มักจะถือว่าตนดำรงตำแหน่งอยู่เหนือกว่า สูงกว่า ข้าราชการฝ่ายอื่น การอ้างอิงถึงหลักวิชาอันลึกซึ้งด้านกฎหมาย การผูกขาดการเข้าถึงความหมายที่ถูกต้อง หรือการกล่าวอ้างว่ากระทำการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจนี้ได้ไม่น้อย

ในขณะที่การรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของนักกฎหมายไทย นอกจากความพยายามในการเรียกร้องค่าตอบแทนและผลประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนพิเศษ เบี้ยประชุม รถประจำตำแหน่ง บ้านพัก เป็นต้น ก็มักมีการแสดงให้เห็นถึงบรรทัดฐานของการทำงานด้วยการอ้างถึงประมวลจริยธรรมมาปกป้องการทำงานของตน เช่น ประมวลจริยธรรมตุลาการ ประมวลจริยธรรมอัยการ เป็นต้น เพื่อเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการปฏิบัติงานของนักกฎหมายในองค์กรเหล่านี้จะเป็นการดำเนินไปบนพื้นฐานของหลักวิชาและด้วยความเป็นอิสระจากการครอบงำของฝ่ายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การปกครองของรัฐบาลอำนาจนิยมที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 และภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 อันนำมาซึ่งกลางการเคลื่อนไหว “3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน” ได้มีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกในการจับกุม คุมขัง ปราบปรามกับผู้คนที่มีความเห็นต่างเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง บุคคลที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยกลับต้องเผชิญกับการคุกคามด้วยกฎหมาย โดยหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต่างก็ทำหน้าที่สอดรับกันราวกับเป็นกลไกของระบอบอำนาจนิยมอย่างเต็มที่

นับตั้งแต่การตั้งข้อกล่าวหากับผู้คนอย่างครอบจักรวาลในการกระทำที่แม้ดูเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย การสั่งฟ้องคดีไม่ว่าจะมีพยานหลักฐานมากน้อยเพียงใด การตัดสินให้มีการควบคุมตัวของบุคคลแม้จะขัดกับสิทธิพื้นฐานในการประกันตัว หรือการลงโทษอย่างรุนแรงต่อความผิดบางด้านราวเป็นอาชญากรรมร้ายแรงทั้งที่เป็นเพียงการกระทำความผิดด้วยคำพูดหรือการแสดงออกทางร่างกายเท่านั้น

การทำงานที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการแสดงให้เห็นถึงการทำงานในฐานะของ “วิชาชีพ” ที่ได้มีการใช้ความรู้ตามที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมา การปฏิบัติงานถูกตั้งข้อสงสัยว่าอย่างกว้างขวางเป็นไปโดยอยู่ภายใต้อำนาจหรือแรงกดดันจากผู้มีอำนาจไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม รวมทั้งหน่วยงาน องค์กรทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต่างก็ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดานักกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรม ในหลายกรณีเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาชีพของนักกฎหมายตามที่ได้มีการอบรมสั่งสอนกันมา แต่ก็สามารถเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน่าละอายและหดหู่ใจ

พวกเราที่มาอยู่ร่วมกัน ณ ที่นี้เพื่อแสดงความอาลัยต่อ “หลักวิชาชีพนักกฎหมายไทย” เราเห็นว่ามาตรฐานและจริยธรรมดังกล่าวหากจะมีอยู่ก็เพียงในตำราเพื่อกล่อมเกลาความเชื่อของนักเรียนกฎหมายเท่านั้น แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงของสังคมไทย หลักวิชาชีพนักกฎหมายไทยได้ตายจากแวดวงนิติศาสตร์ไปเสียแล้ว ควรที่บรรดานักเรียนกฎหมายจะตระหนักถึงความเป็นจริงว่าสิ่งที่พบเห็นในสังคมไทยล้วนแล้วแต่เป็นแค่การปฏิบัติหน้าที่ของนักกฎหมายที่ปราศจากหลักการและหลักวิชาในการปฏิบัติงานแทบทั้งสิ้น

ขอแสดงความไว้อาลัยแด่มรณกรรมของหลักวิชาชีพนักกฎหมายไทย

23 กุมภาพันธ์ 2564

ในคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนั้น ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำสั่ง พิเคราะห์ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยแสดงเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงยังไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และให้ยกคำร้องขอปล่ยตัวชั่วคราว

ผู้ต้องหายิงกลุ่มการ์ดอาชีวะยังได้ประกันตัว

ขณะที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา 2564 ศาลอนุญาตให้ประกันตัว รัฐชา ศรีประเสริฐ ผู้ต้องหาก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มการ์ดอาชีวะในการชุมนุมของ #ม็อบ13กุมภา บริเวณร้านสะดวกซื้อ ท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ โดยนายรัฐชาถูกตั้ง 4 ข้อหา ได้แก่ พยายามฆ่าผู้อื่น, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือที่ชุมชน ก่อนที่นายรัฐชาจะได้รับการประกันตัวไปในวงเงิน 300,000 บาท

ส่วน 4 แกนนำราษฎรที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 และมาตรา 116 ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วเป็นเวลา 15 วัน และมีการยื่นขอประกันมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกในวันที่ 9 ก.พ. 2564 ทนายจำเลยยื่นประกันในวันสั่งฟ้องคดี โดยยื่นหลักทรัพย์คนละ 200,000 บาท และวันที่ 17 ก.พ. 2564 มีการยื่นของประกันตัวจำเลยเป็นครั้งที่ 2 ด้วยหลักทรัพย์ 300,000 บาท ก่อนที่ครั้งล่าสุด ชาญวิทย์ และพนัส เพิ่มหลักทรัพย์เป็น 400,000 บาท แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวดังกล่าว

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 อย่างน้อย 58 รายใน 44 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษโดยประชาชน 23 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 3 คดี ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

แม้กฎหมายมาตรานี้ 15 มิ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวผ่านสื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นั้น แต่ต่อมาหลังมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้มข้นขึ้นจน 21 พ.ย.63 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมากล่าวว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ซึ่งรวมทั้ง ม.112 ด้วย จนเกิดการฟ้องร้องและดำเนินคดีจำนวนมากดังกล่าว

สำหรับ ม.112 เป็นความผิดต่อองค์กษัตริย์ไทยบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา มีคดีที่มีการลงโทษด้วยมาตรานี้สูงที่สุด คือ อัญชัญ อดีตข้าราชการวัย 63 ปี ถูกศาลชั้นต้นโดยทิวากร พนาวัลย์สมบัติ และมาริสา เหล่าศรีวรกต ตัดสินจำคุก 87 ปี จากการแชร์คลิป 'เครือข่ายบรรพต' จำนวน 29 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพในชั้นพิจารณาที่ศาลอาญา อย่างไรก็ตามาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง กระทบจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี หากปล่อยตัวเชื่อว่าจะหลบหนี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท